/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

กุศลคือทุน กลไกแห่งความสำเร็จของพม่า=คลิป

กุศลคือทุน  กลไกแห่งความสำเร็จของพม่า=คลิป

กุศล คือ ทุน  กลไกแห่งความสำเร็จของพม่า







 

---ชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท เช่นเดียวกับไทยเรา แต่ถ้าเทียบวิถีชีวิตระหว่างชาวไทยกับชาวพม่าในยุคสมัยนี้ คนพม่าดูจะมีความเหนือกว่าในด้านศรัทธาและความใกล้ชิดต่อศาสนา จนอาจกล่าวได้ว่า วิถีพุทธกับวิถีชีวิตของชาวพม่าเป็นสิ่งเดียวกัน ดังพบว่า คนพม่าทุกวัยไม่ว่าเด็กเล็ก คนหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างนิยมสวดมนต์และนั่งสมาธิ ในเวลาว่าง จะไปยังพระเจดีย์เพื่อสรงน้ำพระและทำบุญ  ชาวพุทธทุกบ้านต้องมีหิ้งพระ และมีการถวายอาหารและผลไม้แด่พระประจำบ้านอยู่เป็นประจำ



---ทั้งยังนิยมสวดมนต์ไหว้พระ ทั้งในเวลาก่อนนอนและตื่นนอน ที่หิ้งพระจะมีกังสดาลแขวนไว้ เพื่อใช้ตีแผ่ส่วนกุศล แทบทุกบ้านมักจะมีหนังสือสวดมนต์ คนขับรถแท็กซี่บางคน จะพกหนังสือสวดมนต์ติดไว้กับรถ รถโดยสารประจำทางบางคัน จะเปิดเทปธรรมะก่อนที่จะออกเดินทาง สื่อของรัฐไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุ หรือโทรทัศน์ต่างเอาใจใส่ต่อกิจที่เนื่องกับศาสนา ดังมีรายการต่าง ๆ อาทิ รายการสวดพระปริตรในทุกเช้า รายการธรรมเทศนา รายการเพลงพุทธศาสนา รายการนิทานธรรมะ และข่าวกิจกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ ทางสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน มักจะมีเรื่องราวทางพุทธศาสนาแทรกอยู่ตลอดเวลา หนังสือและตำราเกี่ยวกับพุทธศาสนา มีวางจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จึงนับว่าพุทธศาสนาได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนในสังคมพม่าอย่างกว้างขวาง


---ในความเป็นสังคมพุทธนั้น สังคมพม่า มักมีกิจกรรมตามพุทธประเพณีอยู่ตลอด จึงทำให้ผู้คนไม่ห่างเหินจากศาสนาจนนาน อาทิ ถวายอาหารและปัจจัยแด่สงฆ์ ชี และโยคี จัดงานบวชให้กับบุตรธิดา  มีการสร้างและบูรณะศาสนสถานกันอยู่เนืองๆ อีกทั้งยังมีการสืบทอดประเพณีสิบสองเดือนของชาวพุทธไว้อย่างครบครัน นอกจากนี้ ชาวพม่ายังมีค่านิยมในการประกอบกิจทางศาสนา นานา อาทิ บริจาคทรัพย์ ฟังธรรม บวชเรียน สักการะพระพุทธรูปและพระเจดีย์ แผ่เมตตา สวดมนต์ บริกรรมนับสร้อยประคำ และนั่งสมาธิเจริญภาวนา


---ชาวพม่าถือว่าบุญกริยาเช่นนี้ ถือเป็นกิจที่จะต้องยึดเป็นพุทธานุสติโดยสม่ำเสมอ ด้วยเชื่อว่าผลแห่งการทำบุญและปฏิบัติบูชาตามกล่าว จะค่อย ๆ งอกงามเป็นกุศล อันจะเกื้อให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข จิตใจสงบแจ่มใส ปัญญาแหลมคม สุขภาพดี ความคิดดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นที่รักของทั้งคนและเทพ และจักมีผู้คอยให้การเกื้อกูลอยู่เสมอ อีกทั้งยังเชื่อว่า กุศลจะเป็นทุนหนุนให้ การขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัมฤทธิ์ตามที่จิตปรารถนา เหตุนี้คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าชาวพุทธพม่า จะยึดพุทธศาสนาไว้เป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ ทั้งทางโลกียสุขและโลกุตรสุข พุทธศาสนาจึงสอดคล้องกับความต้องการของชีวิตอย่างปุถุชน ซึ่งเป็นไปตามแนวศรัทธาที่สืบทอดกันมานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน


---การที่จะทำความเข้าใจในเบื้องลึกแห่งศรัทธาต่อพุทธศาสนาของชาวพม่านั้น จึงอาจมองได้จากค่านิยมในการสั่งสมบุญกุศล ที่ถูกวิจารณ์ว่ามักโยงใยไว้กับความปรารถนาทางโลกเป็นหลักใหญ่ การสร้างสมกุศลวิธีหนึ่งที่นิยมกันมาก ด้วยถือเป็นบุญกริยาสำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธพม่า คือ การเดินทางแสวงบุญ พม่าเรียกการแสวงบุญนี้ ว่า พยาพู  คำว่า พยา หมายถึง “พระเจดีย์หรือพระพุทธรูป” ส่วน พู (z^t) แปลว่า “ไหว้,นมัสการ”  คำว่า พยาพู จึงแปลง่ายๆ ได้ว่า “ไหว้พระ” ชาวพม่าเชื่อว่า การบำเพ็ญบุญด้วยการเดินทางไปนมัสการพระพุทธรูปและพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น ไม่เพียงได้กุศลมาก หากยังถือเป็นกำไรชีวิต สำหรับผู้แสวงบุญอีกด้วย กำไรชีวิตที่ว่านั้น ได้หมายรวมเอาการขอพรเป็นเป้าประสงค์อันสำคัญ


---ในบรรดาศาสนสถานของประเทศพม่า ซึ่งจำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ โบราณสถาน ปูชนียสถาน สถานปฏิบัติธรรม และสถานศึกษาพระธรรมวินัยนั้น ชาวพม่าจะนิยมเดินทางไปแสวงบุญยังศาสนสถานที่เป็นปูชนียสถานเป็นส่วนมาก พม่ามีปูชนียสถานมากมาย และมีปูชนียสถานที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีหลายแห่ง อาทิ เจดีย์ชเวดากองที่ย่างกุ้ง เจดีย์ชเวมอดอ (พระธาตุมุเตา) ที่เมืองพะโค เจดีย์ไจ้ก์ทีโย (พระธาตุอินทร์แขวน) ที่รัฐมอญ เจดีย์ชเวซังดอที่เมืองแปร เจดีย์มยะตะลวนและชเวแซะดอ (พระพุทธบาท) ที่เมืองมะเกว เจดีย์ชเวซีโก่งและเขาโปปาที่พุกาม พระมหามัยมุนีที่มัณฑะเล เป็นต้น เส้นทางที่นิยมในการเดินทางไปแสวงบุญ เช่น ย่างกุ้ง-พุกาม-มัณฑะเล, ย่างกุ้ง-พะโค และย่างกุ้ง-เมาะลำไย


---ชาวพม่าส่วนมาก นิยมเดินทางแสวงบุญกันในฤดูหนาว รองลงไปเป็นฤดูร้อน และมักงดการเดินทางกันในฤดูฝน และนิยมเดินทางเป็นหมู่คณะ โดยเหมารถตู้ รถบัส รถกระบะ หรืออาจไปด้วยรถส่วนตัว หากเหมารถ จะตกวันละราวหนึ่งหมื่นจั๊ต ซึ่งนับว่าแพง หากต้องการประหยัด ก็จะเดินทางไปด้วยรถที่จัดสำหรับการแสวงบุญโดยเฉพาะ แต่ในการบริการลักษณะนี้นั้น ทางบริษัทนำเที่ยวจะกำหนดเส้นทางและช่วงเวลาไว้ตายตัว ดังนั้น การไปแสวงบุญเป็นหมู่คณะโดยเหมารถไปเอง จึงเป็นที่นิยมเพราะสะดวกและเพลิดเพลินมากกว่า สามารถใช้เวลาไหว้พระได้เต็มที่ โดยไม่ต้องรีบร้อน


---ในการเดินทางไปแสวงบุญ มักมีการกำหนดเส้นทางให้สามารถแวะไหว้พระสำคัญให้ได้มากที่สุด อาจใช้เวลาเดินทาง ๕-๑๐ วัน ชาวพม่าส่วนมาก จะพักค้างคืนตามวัดต่างๆ บางวัดมีการจัดที่รับรองไว้สำหรับคณะแสวงบุญ ส่วนค่าที่พักนั้น ค่อนข้างประหยัด เพราะสามารถบริจาคเงินทำบุญให้กับวัดตามแต่กำลังทรัพย์ ส่วนชาวต่างชาติ จำเป็นต้องพักตามโรงแรม และต้องจ่ายค่าที่พักเป็นเงินดอลลาร์ หรือ เงิน FEC (ดอลลาร์พม่า) เว้นแต่จะปฏิบัติตัวกลมกลืนไปกับชาวพม่า ก็อาจพักตามวัด ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากในขณะเดินทางไปตามเส้นทางแสวงบุญ   มักจะพบปะรำบอกบุญตั้งอยู่ริมทางเป็นระยะ มีการโบกดักทางเพื่อเรี่ยไรเงินจากผู้สัญจรไปมา ผู้โดยสารที่เดินทางไปแสวงบุญมักจะต้องเตรียมเงินปลีก ใบละ ๑ จั๊ต ๕ จั๊ต หรือ ๑๐ จั๊ต เพื่อโปรยให้กับปะรำบอกบุญริมทาง (โดยไม่จำเป็นต้องหยุดรถ)  บางทีอาจพบเด็กๆ วิ่งไล่กวดรถเพื่อขอเงิน ชาวพม่าบางคน มักไม่โปรยทานให้กับเด็กเหล่านั้น เพราะเชื่อว่า ได้กุศลน้อยกว่าการทำบุญให้กับวัดโดยตรง การมุ่งในกุศลด้วยศรัทธาจริตและหวังผลตอบแทนจากการประกอบกรรมดีเช่นนี้นั้น ดูจะเป็นปกติในสังคมพม่า


---ชาวพม่าเชื่อว่า พระพุทธรูปและพระเจดีย์แต่ละองค์ จะมีความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นานา เช่น เชื่อว่าหากเดินทางไปไหว้พระเจดีย์ไจ้ก์ทีโยหรือพระธาตุอินทร์แขวนที่รัฐมอญ จนครบ ๓ ครั้ง จะช่วยให้มั่งมีศรีสุข แต่เล่ากันว่าเส้นทางนี้เคยเป็นเส้นทางค้ายาเสพติด หากขนได้ถึง ๓ เที่ยว ก็คงร่ำรวยได้ทันตา 


---หากไปไหว้พระมารอ่องมุนีที่เมืองซโลน จะไม่ต้องพลัดพรากจากถิ่นกำเนิด หรือไม่ต้องห่างจากครอบครัว หากของหายหรือเงินหายก็จะได้คืนโดยง่าย ตามประวัติ พระมารอ่องมุนีเป็นพระพุทธรูปที่อังกฤษเคยนำไปไว้ที่อินเดียและจำต้องส่งกลับคืนมาที่พม่าในภายหลัง  ประวัติมีกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ที่ออกจะพิสดาร แต่ชาวพม่าที่จะเดินทางไปเป็นลูกเรือในต่างประเทศจะไม่กล้าไปไหว้พระองค์นี้ เพราะกลัวถูกส่งตัวกลับบ้านเร็ว


---ถ้าอยากให้ก้าวหน้าในตำแหน่งการงานหรือธุรกิจการค้ารุ่งเรือง ก็ต้องไปไหว้พระชเวโบงป้วง ที่ย่างกุ้ง; หากไปไหว้พระชเวแมะหม่าง (พระสวมแว่น) ที่เมืองแปร ความคิดอ่านจะดี และท่องจำเก่ง;  หากอยากมีบ้านมีรถ คนพม่าจะไปขอพรจาก โพโพจี (พ่อปู่) ที่วัดโพตะทองในย่างกุ้ง;  หากไปไหว้พระที่วัดสัมพุทเธ ที่เมืองโมงยวา จะคลาดแคล้วจากอุบัติเหตุทางรถ ;  หากต้องการได้รับการอภัยโทษ ก็ควรไปไหว้พระอะมแยะด่อปะเหย่ ที่พุกาม ; หากไปไหว้พระกะเด๊าะปะเลงที่พุกาม ความผิดที่มีต่อบิดามารดาจะได้รับการอภัย ; หากต้องการให้ได้รับความเป็นธรรมในคดีความ ให้ไปไหว้พระไจ้ก์มะยอ ที่รัฐมอญ


---ส่วนชาวพม่าที่อยากไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น จะนิยมไปขอพรจากพระกัมมาปุระที่พระเจดีย์มอด่อในเมืองพะโค เนื่องเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ ชาวญี่ปุ่นนำมาถวายวัด; แต่ถ้าปรารถนาจะมาเมืองไทย มักนิยมไปไหว้พระแก้วมรกตจำลองที่พระเจดีย์ไจ้ก์กะลวนป่วนที่เมืองธนุผยู่ เป็นต้น


---ความเชื่อต่อความศักดิ์สิทธิ์นานาของพระพุทธรูปและพระเจดีย์นั้น  จึงเป็นที่มาของความนิยมในการเดินทางเพื่อแสวงบุญ   ดังนั้น นักแสวงบุญที่ประสงค์จะเดินทางไปไหว้พระไหว้เจดีย์ในประเทศพม่า จึงมักต้องมีความรู้เหล่านี้ หากไปขอพรในสิ่งที่พระท่านไม่ชำนาญ ก็จะกลายเป็นเพียงนักแสวงบุญที่ขาดความรอบรู้


---นอกจากนี้ ชาวพม่ายังมีความเชื่อว่า การแสวงบุญภายในวันเดียวและไหว้พระให้ได้ครบตามกำหนด จะช่วยให้ได้กุศลมาก และพรที่ขอก็จะสัมฤทธิ์ผล ดังเช่น การเดินทางไหว้พระเจ้า ๙ องค์ภายในวันเดียว เป็นต้น เหตุที่นิยมกันนั้น เข้าใจว่า เป็นเพราะเชื่อตามคำแนะนำของหมอดู ส่วนมากจะทำกันเช่นนี้ ก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ คนที่มีความปรารถนามากหรือมีความกังวลมาก และมีศรัทธาสูง ก็คงต้องปฏิบัติกันไปตามนั้น


---ชาวพม่าทั่วไป ต่างมีความปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาโอกาสเดินทางแสวงบุญ เคยมีเรื่องเล่าว่า หญิงชราผู้หนึ่งอายุกว่า ๙๐ ปี เป็นชาวอำเภอกะวะ ในจังหวัดพะโค เมื่อวัยสาว เธอว่าตนเคยสิ้นใจไปหนหนึ่ง แล้วนอนแน่นิ่งอยู่หลายวัน แต่ญาติไม่ทันได้จัดงานศพ ด้วยร่างของเธอไม่ได้เน่าเปื่อยอย่างคนตายปกติ เมื่อฟื้นขึ้น เธอเล่าว่า มีพ่อปู่ห่มผ้าขาว พาเธอไปไหว้พระเจดีย์หลายแห่ง ต่างเป็นเจดีย์ที่เธอรู้จักเพียงชื่อ และไม่เคยเดินทางไปสักการะด้วยตนเองมาก่อน เธอมีปีติอย่างที่สุด และเชื่อว่าเป็นการแสวงบุญอย่างแท้จริงของเธอ


---เธอยังเชื่ออีกว่า พ่อปู่ผู้นั้น เป็นปฐมังโพโพอ่อง นักบุญที่ไม่มีวันตายของพม่า การฟื้นจากความตายและคำอ้างของเธอ ที่ได้ไปไหว้พุทธเจดีย์เป็นตุเป็นตะนั้น บอกถึงความศรัทธาอย่างสุดซึ้ง ที่เธอมีต่อพุทธเจดีย์ และเมื่อราวกลางปี ๒๕๔๑ เงินจั๊ตของพม่ามีค่าตกลงมาอย่างมาก อัตราที่เคยแลกได้ราว ๓๐๐ จั๊ตต่อ ๑ เหรียญสหรัฐ มีค่าตกลงไปถึงกว่า ๔๐๐ จั๊ต รัฐบาลจึงออกคำสั่งปิดร้านแลกเงินตราต่างประเทศ ร้านที่เคยได้รับอนุญาตจึงต้องหยุดกิจการไปอย่างไม่มีกำหนด ในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีร้านแลกเงินร้านหนึ่ง ได้เขียนป้ายติดไว้ที่หน้าร้านว่า “เจ้าของร้านไปแสวงบุญ”  จึงประจักษ์ชัดว่า การแสวงบุญนั้น มีความหมายต่อชาวพม่ามากเพียงใด


---จะเห็นว่าชาวพุทธพม่า นิยมเดินทางแสวงบุญกันมาก ก็ด้วยมีความปรารถนาในบุญกุศล สำหรับชาวพุทธพม่าแล้วสิ่งที่มีค่าควรต่อการทำบุญสร้างกุศลนั้น ก็คือ พระพุทธรูปและพระเจดีย์สำคัญ เพราะเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นกองบุญที่ยิ่งใหญ่เสมอด้วยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเชื่ออีกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์จะสามารถประสาทพร ให้ได้เฉพาะสิ่ง เฉพาะเรื่อง ความเชื่อดังนี้ จึงดูจะคล้อยตามความเชื่อในเรื่องผีนัต ของชาวพม่า ที่เชื่อกันว่า ผีนัตแต่ละองค์ จะมีความจัดเจนในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญ ยังถือเป็นการสั่งสมกุศลที่ยิ่งใหญ่ และยังเป็นโอกาสดี ที่จะได้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดเส้นทางที่ท่องไปนั้น


---โดยทั่วไปแล้ว ชาวพม่ามักจะขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเป็นปกตินิสัย จนดูประหนึ่งว่า การขอพรเป็นกิจจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาชีวิต มักต้องยึดเอาการขอพรเป็นหนทางหนึ่ง พม่าเรียกการขอพรว่า "ซุตอง"  คำว่า "ซุ" แปลว่า “พร”  หรือ “รางวัล”  ส่วน  "ตอง"  แปลว่า “ขอ”  คนพม่า   นับแต่วัยเยาว์ จะได้รับการปลูกฝัง ให้กราบไหว้และขอพรจากองค์  พุทธเจดีย์และพระพุทธรูป และสอนให้รู้จักรับพรจากปูชนียบุคคล อันได้แก่  พระสงฆ์  พ่อแม่ และครูบาอาจารย์ โดยต้องกระทำด้วยใจกายที่นอบน้อม อีกทั้งชาวพม่าอีกไม่น้อย ยังยำเกรงต่อองค์เทพ วิญญาณ และผู้วิเศษ ที่พม่าเรียกรวมๆ ว่า "นัต"  และนิยมขอพรต่อสิ่งเหล่านี้ตามโอกาส ทั้งนี้ เป็นเพราะชาวพม่า มีความเชื่อมั่นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่เป็นองค์แทนวิสุทธิเทพ (พระพุทธเจ้า พระอรหันต์) อุปัตติเทพ (เทวดา) และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (ภูตผี) ต่างมีอิทธิฤทธิ์ที่จะช่วยคุ้มครอง ป้องกันภัย และประทานลาภให้ได้ พม่าจึงมีการนับถือและขอพรจากพระพุทธรูป พระเจดีย์ ตลอดจนเทพนัต และภูติผี


---การกล่าวขอพรเป็นภาษาพม่า จะกล่าวเริ่มที่คำที่เป็นพรต่างๆ แล้วตามด้วยถ้อยคำว่า  "บ่าเส่"   ซึ่งเทียบกับไทยว่า “ขอให้” เช่น ขอให้มีความสุข พม่าจะพูดว่า "ชางต่าบ่าเส่"  คำว่า  "ชางต่า"  แปลว่า “มั่งมี, สุขสบาย, สงบสุข” พรที่ชาวพม่านิยมขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีมากมาย หากไม่รู้จะขออะไร พรที่ขอมักจะเป็นเรื่องดังต่อไปนี้


---ขอให้มีความสุข          พูดว่า     ชางต่าบ่าเส่


---ขอให้มีสุขภาพดี          พูดว่า     จางหม่าบ่าเส่


---ขอให้พ้นภยันตราย          พูดว่า     เบยางกีงบ่าเส่


---ขอให้อายุยืนยาว          พูดว่า     อะแต๊ะเชบ่าเส่


---ขอให้ประสบผลสำเร็จ          พูดว่า     อ่องเหมี่ยงบ่าเส่

 

---หากประสงค์ที่จะได้พรอย่างเฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการที่หมายมั่นไว้ ก็ต้องแล้วแต่จะขอกันไป พรที่ชาวพม่านิยมขอและมักจะเขียนติดไว้ตามที่เสี่ยงทายในศาสนสถานเกือบทุกแห่งมีอาทิ

 

---ขอให้ถูกหวย          ถี่เป้าบ่าเส่


---ขอให้สอบไล่ได้          ซาเมบ่วยอ่องบ่าเส่


---ขอให้ได้เลื่อนตำแหน่ง          ยาทูโตเมี่ยงบ่าเส่


---ขอให้เป็นเศรษฐี          ตะเทพิ๊จบ่าเส่


---ขอให้ได้ไปต่างประเทศ          ไหน่หงั่งชาไหน่หงั่งเย่าบ่าเส่

 

---สำหรับคำอธิษฐานที่มักจะกล่าวร่วมในการขอพรอื่นๆและเป็นพรที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ แต่อาจดูห่างไกลจากวิถีชีวิตของปุถุชนโดยทั่วไป ก็คือ


---ขอให้เข้าถึงนิพพาน          เนะบานเย่าบ่าเส่


---หากพิจารณาจากการแสวงบุญ ที่เน้นการขอพรของชาวพม่านั้น กล่าวได้ว่า ชาวพุทธพม่า ก็ดูคล้ายกับชาวพุทธทั่ว ๆ ไป นั่นคือ ในด้านหนึ่งเราอาจจะได้พบกับชาวพม่า ที่มีความรู้และศรัทธาในหลักธรรมอย่างแท้จริง ส่วนอีกด้านหนึ่งเรามักจะได้พบชาวพม่า ที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจพุทธคุณ ชาวพุทธพม่าจำนวนไม่น้อย จะยึดคำสวดมนต์เป็นดุจคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ มีความนิยมบริกรรมบทสวด ขณะที่นับลูกประคำเพื่อบูชาและวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีพระเจดีย์เป็นอาทิ และสังเกตได้ว่าชาวพม่า ทำบุญโดยมีเป้าหมายเพื่อความสุขในโลกนี้เป็นหลักแรก


---รองลงไป อาจเป็นไปเพื่อความสุขในโลกหน้า แต่คงเป็นส่วนน้อย ที่จะหวังบรรลุนิพพานอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความดีงามของพุทธศาสนา คงจะซึมแทรกอยู่ในพิธีกรรมและวัตรปฏิบัติเหล่านั้น และแม้พุทธศาสนาจะสอนให้พึ่งตนเองแทนที่จะพึ่งอำนาจวิเศษใดๆ แต่การขอพรก็กลายเป็นวิถีชีวิตหนึ่งของชาวพุทธพม่า ที่สืบทอด ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนมาแต่โบราณ จึงพอจะกล่าวได้ว่า ชาวพม่าที่เชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้น อาจไม่หวังพึ่งการแสวงหาทางออกให้กับชีวิตด้วยปัญญาเพียงหนทางเดียว เพราะคงจะพอใจกับความสุขลึกๆ จากการสร้างกุศลและขอพรในโลกทัศน์ของชาวพุทธพม่า การสั่งสมกุศลและความสัมฤทธิ์ในพร จึงดูจะมีความสอดคล้องกันอย่างเป็นมรรค เป็นผล บุญกุศลจึงมีความหมายเป็นสิ่งที่สามารถแทนได้ กับความปรารถนาทางโลก กุศลในนัยเช่นนี้ จึงอาจเปรียบได้กับเงินทุนที่ฝากไว้กับธนาคาร ในขณะที่พรที่ได้รับจากการอธิษฐาน ออกจะคล้ายกับดอกเบี้ยที่งอกออกจากทุนที่สะสมไว้นั้น นั่นหมายความว่า หากไม่สั่งสมกุศลหรือประกอบกรรมดีไว้ ก่อนบ้างเลย โอกาสที่จะได้รับพรใดๆ ก็ย่อมเป็นไปโดยยาก ความเชื่อในอนิสงส์แห่งกุศล จึงเอื้อประโยชน์ต่อปัจเจกชนและสังคมพม่าได้โดยอ้อม ความเชื่อที่ว่ากุศล คือ กองทุนเพื่อสร้างความสุขและความสำเร็จนั้น นับว่ามีส่วนอย่างมากต่อการเข้าพึ่งศาสนาของชาวพม่า ชาวพม่าส่วนใหญ่ จึงสนใจในการปฏิบัติบูชา บริจาคทรัพย์บำรุงศาสนา  และเดินทางแสวงบุญ


---หากตั้งคำถามกับคนพม่าว่า ถ้าหาเงินได้สักก้อนหนึ่งจะทำอย่างไรกับเงินนั้น ชาวพุทธพม่ามักจะตอบเหมือนๆกันว่า แรกสุดจะต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งสำหรับทำบุญ นอกนั้น จะแบ่งให้พ่อแม่ จุนเจือคนที่ใกล้ชิด หรือซื้อของที่อยากได้ ความคิดในการออมเงินหรือนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มพูนเป็นรายได้ จะเป็นความคิดที่มาทีหลัง หรืออาจไม่ค่อยได้คิดกันนัก หรือ ถ้าหากมีคนนำอาหารดีๆ หรือผลไม้มาให้เป็นของฝาก ชาวพุทธพม่าส่วนมาก จะนำไปถวายพระพุทธรูปในบ้านก่อนที่จะนำมารับประทาน หลายคนตั้งความหวังไว้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะใช้ชีวิตอุทิศให้กับการปฏิบัติธรรม พุทธศาสนาจึงฝังอยู่ในใจของชาวพม่า และมักต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดเสมอ


---ความสำเร็จในชีวิตโดยยึดมั่นในแนวทางพุทธศาสนาที่เน้นการสร้างสมกุศล ย่อมต้องมีตัวอย่างให้พบเห็นและกล่าวถึงอยู่เสมอ ดังเรื่องราว คหบดีผู้ตั้งมั่นปฏิบัติพุทธานุสติพร้อมไปกับการทำงานโดยชอบเป็นนิตย์ มักถูกนำมายกเป็นอุทาหรณ์ อาทิ อูหม่องหม่อง ผู้มีฉายาว่า "ลูเปี่ยงด่อปัตตะมยา" เป็นผู้มั่งมีที่ประสบความสำเร็จในอาชีพขายยาพื้นบ้าน เขาเดินทางเร่ขายยาเลี้ยงชีพมาแต่วัยเยาว์ ยามเหน็ดเหนื่อยในขณะเร่ขายยา อูหม่องหม่อง มักหลบร้อนเข้านั่งพักที่ใต้ร่มไม้พร้อมกับสวดมนต์ จากการปฏิบัติเช่นนี้ เชื่อว่าได้เป็นปัจจัยให้อูหม่องหม่อง กลายเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง สามารถสร้างวัด สร้างเจดีย์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างคหบดีทั้งหลาย


---ด้วยความเชื่อที่ว่า กุศลจากการทำบุญและปฏิบัติธรรม จะนำมาซึ่งทรัพย์ และทรัพย์จะพาเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ในที่สุดนั้น กุศลจึงกลายเป็นกลไกหนึ่งแห่งความสำเร็จในการสร้างฐานะไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ กุศลในโลกทัศน์ของชาวพุทธพม่า จึงมีความหมายมากไปกว่าความดีที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากการครอบงำของกิเลส หรือ เครื่องที่ทำให้ใจเศร้าหมอง สำหรับชาวพุทธพม่าแล้ว กุศลจึงไม่ใช่พลังลึกลับ ไม่ใช่อำนาจที่เลื่อนลอย และไม่ใช่สิ่งงมงาย กุศลจะต้องอยู่เบื้องหลังของการนำพาชีวิตพร้อมๆ ไปกับโชคชะตาและกำลังความสามารถของตน และด้วยเหตุที่มีความคาดหวังจากการทำกุศลกันไปต่างๆ นานา กุศลจึงถูกโยงให้สัมพันธ์กับการ


---อธิษฐานพร โดยเฉพาะ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ผลดีจากความเชื่อในกุศลดังนี้ อาจก่อให้เกิดเป็นภาวะ “อิ่มบุญ” ที่เป็นปีติเฉพาะหน้าและบังเกิดทุกคราที่ได้ทำบุญขอพร แต่ผลร้ายที่สุดของความเชื่อ ตามกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะ “หิวบุญ” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ในยามมองภาพที่ชาวพม่าเข้านอบน้อมกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอพรตามศาสนสถานต่างๆ จึงอาจได้พบภาพของชีวิตที่โหยหาในสิ่งที่ปรารถนา มีทั้งด้วยอาการอันปีติ และท่าทีที่อิดโรย


---พม่านั้นปิดตัวเองมาเป็นเวลานาน ดังนั้น การเปิดประเทศรับกระแสโลกภายนอก ย่อมต้องมีผลต่อวิถีชีวิตและแนวคิดดั้งเดิมของชาวพม่าไม่น้อย ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อกุศลที่ผูกพันต่อชีวิต กับกลไกแห่งความสำเร็จอย่างโลกสมัยใหม่ อาจก่อพลังขัดแย้งขับเคี่ยวอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของชาวพม่า และหากพม่าไม่เร่งสร้างกระแสเพื่อปฏิรูปแนวคิดต่อพุทธศาสนาอย่างถูกทาง พุทธศาสนาในพม่าที่เน้นการสร้างกุศลเพื่อขอพรอาจผิดเพี้ยนไปจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจนแยกไม่ออกจากไสย์หรือฝ่ายลัทธิ เหมือนกับสภาพที่ส่อเค้าให้พบเห็นอยู่ในขณะนี้.









......................................................................






 

วิรัช นิยมธรรม

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว ป.)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 1 ตุลาคม 2558


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท02/06/2024
ผู้เข้าชม7,699,969
เปิดเพจ11,861,907
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view