วิธีปฏิบัติและของบูชาพระรัตนตรัย
---เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยนั้น ชาวพุทธไทยเราทั้งหลาย นิยมนำมาบูชาเป็นประจำเสมอ ในการประกอบพิธีกรรม ในทางพระพุทธศาสนาทั้งงานมงคลและงานอวมงคลมี ๓ อย่างคือ
---๑.ธูป
---๒.เทียน
---๓.ดอกไม้
---ธูปสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า นิยมจุดบูชาครั้งละ ๓ ดอก เป็นอย่างน้อย โดยมีความมุ่งหมายว่า พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงมีพระคุณเป็นอันมาก ยากที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ แต่เมื่อประมวลกล่าวเฉพาะพระคุณ ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานแห่งพระคุณทั้งปวง คงมี ๓ ประการ คือ
---๑.พระปัญญาธิคุณ
---๒.พระบริสุทธิคุณ
---๓.พระมหากรุณาธิคุณ
---ธูปทั้ง ๓ ดอกนั้น สำหรับจุดเพื่อบูชาพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ แต่บางท่านก็อธิบายความมุ่งหมายแตกต่างออกไปว่า ธูป ๓ ดอกนั้น เพื่อบูชาพระพุทธทั้ง ๓ ประเภท คือ
---๑.อดีตสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต
---๒.อนาคตสัมมาพุทธะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคต
---๓.ปัจจุบันสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน
---ธูป สำหรับบูชาพระพุทธเจ้านั้น นิยมใช้ธูปมีกลิ่นหอม โดยมีความหมายว่า ธรรมดากลิ่นธูปนี้เป็นกลิ่นหอมที่น่าอัศจรรย์ กว่ากลิ่นหอมต่าง ๆ ที่ชาวโลกนิยมใช้กัน
---กลิ่นหอมที่ชาวโลกนิยมใช้กันอยู่ทุกชนิด เมื่อบุคลได้สูดกลิ่นแล้วเป็นเหตุทำให้กิเลสฟูตัวขึ้น ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่วนกลิ่นหอมของธูปนั้น เมื่อบุคคลได้สูดกลิ่นแล้วเป็นเหตุทำให้กิเลสยุบตัวลง ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน
---อนึ่ง ธูปนั้นแม้จะถูกไฟไหม้หมดไปแล้ว แต่กลิ่นหอมของธูปนี้ก็ยังหอมอบอวลอยู่ในบริเวณนั้นได้เป็นเวลานานฉันใด พระคุณของพระพุทธเจ้า ก็เป็นที่ซาบซึ้งเข้าถึงจิตใจของชาวบุคคลทั้งหลาย โดยที่สุด แม้แต่มหาโจรใจเหี้ยม เช่น องคุลีมาลโจร เป็นต้น ย่อมทำให้ผู้นั้นมีจิตใจสงบระงับจากการทำความชั่ว หันหน้าเข้าสู่ความดีและแม้แต่พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานถึง ๒ พันปีเศษแล้วก็ตาม แต่พระพุทธคุณก็ยังปรากฏ ซาบซึ้งตรึงอยู่กับจิตใจของชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ฉันนั้น
---เทียนสำหรับบูชาพระธรรม นิยมจุดบูชาครั้งละ ๒ เล่ม เป็นอย่างน้อย โดยความมุ่งหมายว่า พระศาสนธรรม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แยกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ
---๑.พระวินัย สำหรับฝึกหัดกายและวาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
---๒.พระธรรม สำหรับอบรมจิตใจ ให้สงบระงับจากความชั่วทุจริตทุกประการและเทียนที่นิยมจุดบูชาครั้งละ ๒ เล่ม ก็เพื่อบูชาพระวินัยเล่มหนึ่งและบูชาพระธรรม อีกเล่มหนึ่ง
---เทียน สำหรับบูชาพระธรรมนั้น นิมยมใช้เทียนขนาดใหญ่พอสมควรแก่เชิงเทียน ความนิยมใช้เทียนจุดบูชาพระธรรมนั้น โดยมุ่งหมายว่า ธรรมดาเทียนนี้ บุคคลจุดขึ้น ณ สถานที่ใด ย่อมเกิดจำกัดความมืดในสถานที่นั้น ให้หายหมดไป ทำให้เกิดเเสงสว่างขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ฉันใด
---พระศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บุคคลใดมาศึกษาอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นแล้ว ย่อมกำจัดความมืด คือ โมหะ ความโง่เขลาเบาปัญญาในจิตใจของบุคคลนั้น ให้หายหมดไป ทำให้เกิดแสงสว่าง คือ ปัญญาขึ้นภายในจิตใจของตนฉันนั้น
---ดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์ โดยความมุ่งหมายว่า ธรรมดาดอกไม้นานาพันธุ์ เมื่อยังอยู่ ณ สถานที่เกิดของมันก็ย่อมมีความสวยงามตามสมควรแก่สภาพของพันธุ์ไม้นั้น ๆ ครั้นบุคคลเราเก็บดอกไม้นานาพันธุ์เหล่านั้น มากองรวมกันไว้โดยมิได้จัดสรร ย่อมหาความเป็นระเบียบมิได้ ย่อมไม่สวยงาม ไม่น่าดูไม่น่าชม ต่อเมื่อนายมาลาการ คือ ช่างดอกไม้ผู้ฉลาด มาจัดสรรดอกไม้เหล่านั้น โดยจัดใส่แจกันหรือจัดใส่พานประดับให้เข้าระเบียบแล้ว ย่อมเป็นระเบียบเรียบร้อยเกิดความสวยงามน่าดูน่าชม ฉันใด
---บรรดาพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สมัยเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์อยู่บ้านเรือนของตน ๆ ย่อมมีกิริยามารยาททางกาย ทางวาจาและจิตใจ เรียบร้อยตามสมควรแก่ภูมิชั้นแห่งตระกูลของตน ๆ หยาบบ้าง ปานกลางบ้าง ละเอียดบ้าง ครั้งคฤหัสถ์เหล่านั้น ซึ่งต่างชาติกัน ต่างตระกูลกัน มีนิสัยอัธยาศัยต่าง ๆ กัน มีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่มีระเบียบปฎิบัติเป็นแบบแผนเดียวกัน พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ก็จะหาความเป็นระบียบมิได้ ย่อมไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใสของผู้ได้ประสบพบเห็น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าผู้เปรียบเสมือนนายมาลาการผู้ฉลาด ได้ทรงวางพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผนประพฤติปฎิบัติ จัดพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ให้ประพฤติปฎิบัติอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าเคารพ น่าสักการะบูชา ฉันนั้น
*อนึ่ง ดอกไม้สำหรับให้บูชาพระสงฆ์ นิยมไช้ดอกไม้ที่เพรียบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
---๑.มีสีสวย
---๒.มีกลิ่นหอม
---๓.กำลังสดชื่น
---ดอกไม้ที่บูชาพระประจำวันนั้น นิยมจัดเปลี่ยนให้สดอยู่เสมอ อันนี้เป็นนิมิตหมายแห่งความสดชื่น ความรุ่งเรือง ไม่นิยมปล่อยให้เหี่ยวแห้ง เพราะความเหี่ยวแห้ง เป็นนิมิตหมายแห่งความหดหู่ใจ ความเสื่อมโทรม เป็นต้น
---บุคคลผู้บูชาด้วยดอกไม้ที่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่นหอม เช่น บูชาพระด้วยดอกไม้พลาสติก หรือดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น ต่อไปในภายหน้าบุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีรูปร่างลักษณะดี มีรูปสวย แต่คุณภาพไม่ดี ดังคำพังเพยว่า “สวยแต่รูป แต่จูบไม่หอม”
---บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้มีกลิ่นหอม แต่มีสีไม่สวย ต่อไปในภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีคุณภาพดีแต่รูปร่างลักษณะไม่สวย ไม่งดงาม ดังคำพังเพย “ ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจดี”
---บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้กำลังสดชื่น ต่อไปภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่เป็นของใหม่ ๆ ไม่ต้องใช้ของที่เขาใช้แล้ว เป็นมือหนึ่ง ไม่ต้องเป็นมือสองรองใคร ดังตัวอย่างเช่น ชูชกมีอายุคราวปู่ได้นางอมิตตดาซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นคราวลูกคราวหลานเป็นภรรยา เพราะอานิสงส์ที่ชูชกได้เคยบูชาพระด้วยดอกบัวตูมที่กำลังสดชื่น ฉะนั้น
---บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้ที่บอบช้ำเหี่ยวแห้ง ต่อไปในภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่เป็น ของเก่า ๆ เหี่ยว ๆ แห้ง ๆ เป็นของที่ผ่านมือผู้อื่นมาแล้ว ตัวอย่างเช่น นางอมิตตดาได้ชูชกแก่คราวปู่เป็นสามี เพราะโทษที่ได้เคยบูชาพระด้วยดอกไม้ที่บอบช้ำเหี่ยว ๆ ฉะนั้น
---การทำบุญใส่บาตรประจำ ช่วงเช้าชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน มีฐานะเป็นอุบาสกบริษัทและอุบาสิกา บริษัทซึ่งมีหน้าที่จะต้องช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้ดำรงอยู่และให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมตลอดถึงชาวโลกด้วย
---พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระสงฆ์พุทธสาวกเป็นผู้รับมรดก ทรงจำพระศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ พระพุทธศาสนาจึงยังดำรงอยู่ได้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
---พระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหลาย ย่อมดำรงอยู่ได้ ด้วยปัจจัยที่ทายกอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายจัดถวาย ตราบใดที่ทายกอุบาสกอุบาสิกทั้งหลาย ยังบริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์อยู่ พระสงฆ์ก็ยังศึกษาเล่าเรียน ทรงจำรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตราบนั้น
---หากทายกอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เลิกบริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์เมื่อใด เมื่อนั้น พระสงฆ์ก็จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้และพระพุทธศาสนาก็จะอันตรธาน เสื่อมสูญไปโดยไม่ต้องสงสัย
---เพราะฉะนั้น การที่ทายกอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ช่วยกันบริจาคปัจจัยอุปถัมภ์บำรุงด้วยการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ เวลาเช้าประจำวันนี้ จึงนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยกันสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่และให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปได้ตลอดกาลนาน
---ความจริง การใส่บาตรประจำวัน นี้เป็นวิธีการสร้างบุญวาสนาบารมีอันจะเป็นปุพเพกตปุญญตา สำหรับตนต่อไปในอนาคตโดยตรงและเป็นผลดีที่ได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาโดยอ้อม
---การใส่บาตรประจำวัน นิยมจัดทำตามกำลังศรัทธาและตามความสามารถแห่งกำลังทรัพย์เท่าที่จะทำได้ โดยไม่เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ เช่น ใส่บาตรวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เป็นต้น
---การทำบุญที่มีผลานิสงส์มาก การทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่มีผลานิสงส์มาก เช่น การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ เป็นต้น จะต้องประกอบพร้อมด้วยองค์คุณ ๓ ประการ คือ
---๑.ปัจจัย วัตถุสิ่งของ สำหรับทำบุญบริสุทธิ์
---๒.เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์
---๓.พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์
*ปัจจัยวัตถุสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ของปัจจัยวัตถุสิ่งของที่นำมาทำบุญ นั้นมีลักษณะดังนี้
---๑.เงินที่จับจ่ายใช้สอย ซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านั้น ต้องเป็นเงินที่ได้มาด้วยการะประกอบสัมมาอาชีวะ เกิดขึ้นจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนโดยตรง
---๒.สิ่งของที่นำมาทำบุญนั้นเป็นของบริสุทธิ์ คือ มิได้เบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่น เช่น ฆ่าสัตว์มาทำบุญ เป็นต้น
---๓.วัตถุสิ่งของที่นำมาทำบุญนั้นเป็นของมีคุณภาพดีและเป็นส่วนดีที่สุดในบรรดาสิ่งของที่มีอยู่ เช่น ข้าวสุก ที่นำมาใส่บาตรนั้น ก็เป็นข้าวปากหม้อ แกงก็เป็นแกงถ้วยแรกที่ตักออกจากหม้อ เป็นต้น
---๔.วัตถุสิ่งของนั้นสมควรแก่สมณะบริโภค ไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร และมีประมาณเพียงพอแก่ความต้องการ
*เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์ เจตนา คือ ความตั้งใจของผู้ทำบุญนั้น ต้องบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๔ คือ
---๑.ปุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนจะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา ไม่มีความตระหนี่ถี่เหนี่ยว ไม่มีความเสียดาย
---๒.มุญจนเจตนา ความตั้งใจขณะทำบุญ มีความเลื่อใสศรัทธา มีความปลาบปลื้มปีติยินดีในการทำบุญนั้น
---๓.อปรเจตนา ความตั้งใจหลังจากทำบุญไปแล้ว ภายใน ๗ วัน หวนระลึกถึงการทำบุญที่ล่วงมาแล้ว มีความปีติโสมนัสในบุญกุศลนั้น ไม่มีความเสียดาย
---๔.อปราปรเจตนา ความตั้งใจภายหลังจาก ๗ วันไปแล้วแม้เป็นเวลานาน ๆ หวนระลึกนึกถึงการทำบุญ ครั้งใดก็ปลาบปลื้มปีติโสมนัสครั้งนั้น
*ผลานิสงส์เจตนาบริสุทธิ์
---บุคคลที่ทำบุญด้วยเจตนาความตั้งใจบริสุทธิ์ ทั้ง ๔ กาลดังกล่าวแล้ว ต่อไปในอนาคตเมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ย่อมจะมีความสุขความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่เกิดจนตลอดอายุขัยในภพและชาตินั้น ๆ
*โทษของเจตนาไม่บริสุทธิ์
---ถ้าปุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนจะทำบุญไม่บริสุทธิ์ เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ เบื้องต้นแห่งชีวิต คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๒๕ ปี จะมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก เดือดร้อน จะหาความสุขได้ยาก จะเริ่มมีความสุขความเจริญ ตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี เป็นต้นไปจนตลอดอายุขัย
---ถ้ามุญจนเจตนาความตั้งใจขณะทำบุญไม่บริสุทธิ์จะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนตั้งแต่ อายุ ๒๖ ปี จนถึงอายุ ๕๐ ปี หลังจากนั้นจึงจะมีความสุขตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไป จนตลอดหมดอายุขัย
---ถ้าอปรเจตนา ไม่บริสุทธิ์ คือนึกเสียดาย จะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไป จนถึงอายุ ๗๕ ปี หลังจากนั้นจะมีความสุขจนตลอดอายุขัย
---ถ้าอปราปรเจตนา ไม่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนตั้งแต่อายุ ๗๖ ปี เป็นต้นไปจน ตลอดอายุขัย
---อนึ่ง บุคคลที่ทำบุญให้ทานแล้ว นึกเสียดายในภายหลังคือ อปรเจตนาและอปราปรเจตนาไม่บริสุทธิ์ เมื่อ เกิดในภพใหม่ชาติใหม่ แม้จะเป็นคนร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่ก็เป็นเศรษฐีขี้เหนียวเพราะโทษที่เกิดจากการทำบุญให้ทานแล้วนึกเสียดายในภายหลัง
---พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์ พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น ได้แก่ พระภิกษุสามเณรอันเป็นบุญเขตนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ คือปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง หมายถึงพระอริยบุคคล หรือ พระภิกษุสามเณรเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์และเป็นผู้กำลังปฎิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ
---เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้จะทำบุญในพระพุทธศาสนา จึงนิยมพิจารณาเลือกบุญเขตที่เหมาะสม ดังพระบาลีว่า "วิเจยฺยทานํ ทาตพฺพํ วิเจยฺยทานํ สุคตปฺปสฏฐํ" แปลว่า พึงเลือกให้ทาน การเลือกให้ทาน พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญไว้แล้ว ดังนี้
*วิธีปฎิบัติในการใส่บาตรพระสงฆ์
---เมื่อนำภัตตาหารออกจากบ้าน ไปรอคอยการใส่บาตรอยู่นั้นนิยมตั้งใจว่าจะทำบุญใส่บาตรแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในพระพุทธศาสนา โดยไม่เฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดผ่านมา ณ ที่นั้น ก็ตั้งใจใส่บาตรแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น และรูปอื่น ๆ ต่อไปตามลำดับ
---การตั้งใจใส่บาตร แบบไม่เป็นการเจาะจงอย่างนี้ มีผลานิสงส์มากกว่า การตั้งใจใส่บาตร โดยเจาะจงแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ
---ก่อนใส่บาตรอย่าลืมถอดรองเท้าออกก่อน แล้วลงยืนที่พื้นดินอย่ายืนบนรองเท้า ถึงแม้ว่าจะถอดรองเท้าแล้วก็ตาม เพราะจะทำให้ผู้ที่ใส่บาตรจะยืนสูงกว่าพระภิกษุสามเณรที่มารับบิณฑบาต ซึ่งพระภิกษุสงฆ์สามเณรนั้นจะเดินเท้าเปล่ามารับบิณฑบาต จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่คฤหัสจะยืนสูงกว่าพระภิกษุสามเณร
*คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร
---ก่อนอื่นจะใส่บาตรนั้น นิยมตั้งอธิษฐานก่อน โดยถือขันข้าว ด้วยมือทั้งสองข้าง นั่งกระหย่ง ยกขันข้าว ขึ้นเสมอหน้าผากพร้อมกับกล่าวคำอธิษฐานก่อนบริจาค ทำบุญด้วยวัตถุสิ่งของทุกชนิด ดังนี้ "สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ"
"ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส ฯ"
*คำอธิษฐานก่อนใส่บาตรอีกแบบหนึ่ง
---เมื่อนั่งกระหย่ง ยกขันข้าวด้วยมือทั้งสองข้างขึ้นเสมอหน้าผากแล้ว ตั้งจิตกล่าวคำอธิษฐานว่า
"ข้าวขาวเหมือนดอกบัวยกขึ้นทูนหัว ตั้งใจจำนงค์ ตักบาตรพระสงฆ์ ขอให้ทันพระศรีอารย์ ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุพระนิพพาน ในอนาคตกาล เทอญ"
---เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ลุกขึ้นยืน มือซ้ายถือขันข้าว มือขวาจับทัพพี ( ถ้าคนถนัดซ้าย ก็ถือขันข้าวด้วยมือขวา จับทัพพีด้วยมือซ้าย ) ตักข้าวให้เต็มทัพพี บรรจงใส่ให้ตรงบาตร อย่าให้เมล็ดข้าวหล่นออกมานอกบาตร
---ถ้าเมล็ดข้าวติดทัพพี อย่าเอาทัพพีเคาะกับขอบบาตร กิริยาอาการที่ตักข้าวใส่บาตรนั้น อย่าตักแบบกลัวข้าวสุกจะหมด เพราะมีคำพังเพยอยู่ว่า อย่าแสดงความขี้เหนียวขณะทำบุญ
---ขณะที่ใส่บาตรนั้น อย่าชวนพระสนทนา อย่าถามพระ เช่น ถามว่า ท่านชอบฉันอาหารอย่างนี้ไหม ท่านต้องการเพิ่มอีกไหม เป็นต้น เพราะมีคำพังเพยอยู่ว่า "ตักบาตรอย่าถามพระ".
...........................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย…แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
แก้ไขแล้ว (ก้อย) นะจ๊ะ
ความคิดเห็น