ใช้ธรรมะ...กำจัดความยากจนและพุทธวิธีสร้างความร่ำรวย
---ความยากจน โดยทั่วไปจะหมายถึง ความยากจนที่วัดกันที่ระดับรายได้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคล ว่ามีรายได้ไม่เพียงพอ หรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน คุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่ยอมรับในแต่ละสังคม ครอบคลุมถึงการขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน การไร้ซึ่งอำนาจ การขาดสิทธิ ขาดเสียง ตลอดจนการตกอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัว มีปราชญ์โบราณ ได้จำแนกประเภทของความยากจน ไว้ดังนี้
---1.จนทรัพย์ ไม่มีเงินใช้
---2.จนตรอก ไม่มีทางไป
---3.จนใจ ไม่มีทางคิด
---4.จนแต้ม ไม่มีทางเดิน
---5.จนมุม ไม่มีทางหนี
---6.จนปัญญา หาทางออกไม่มี
*และมีวิธีแก้ไขอย่างน่าสนใจว่า
---จนเพราะไม่มี ขัดข้องขัดสน แก้ที่เศรษฐกิจ
---จนเพราะไม่พอ ถมไม่เต็ม พร่องอยู่เป็นนิตย์ แก้ที่ใจ
---จนเพราะไม่เจียม ไม่กตัญญู ต้องรู้ประมาณตน
---จนเพราะไม่จำ ขาดสำนึก คิดแต่แก้ตัว ต้องแก้ไขที่ตน
---การที่จะใช้ธรรมะ แก้ปัญหาความยากจนนั้น ต้องปฏิบัติตามหลักอริยสัจ คือ ต้องวิเคราะห์ไปถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ซึ่งมีหลักใหญ่ ๆ 2 ประการ คือ สาเหตุภายนอก และสาเหตุภายใน เมื่อทราบประเด็นแล้วจึงหาวิธีการแก้ไขให้สอดคล้อง ซึ่งหลักธรรมสำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น ได้แก่
---1.หลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4 คือ การรู้จักขยันหมั่นเพียรและรู้จักรับผิดชอบ ในการประกอบสัมมาชีพ รู้จักอดออมใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น คบเพื่อนที่ดี และเป็นอยู่อย่างเหมาะสม กับฐานะทางเศรษฐกิจของตน
---2.หลักมัชฌิมาปฏิปทา คือ เดินทางสายกลางในการเลี้ยงชีวิตตามความพอดีกับความสามารถและฐานะของตน
---3.หลักปัจจัยปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณาปัจจัย 4 ก่อนบริโภค โดยใช้ปัญญา พิจารณาว่าสิ่งใดมีประโยชน์และจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิ่งใดไม่มีประโยชน์และไม่จำเป็น ไม่หลงติด อยู่กับรูป สี สัณฐาน ค่านิยม แต่เน้นที่คุณค่าและความจำเป็นต่อการดำรงชีพเป็นสำคัญ
---4.เว้นจากอบายมุข คือ สุรา ยาเสพติด เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น คบคนชั่ว และเกียจคร้านในการทำงาน อันเป็นต้นเหตุแห่งความหายนะของทรัพย์สินและชีวิต
---5.ปัญญา คือ การดำเนินชีวิตโดยใช้ปัญญานำในการแยกแยะดีชั่ว สิ่งที่จำเป็น ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หลีกเลี่ยงจากเหตุที่จะทำให้ตนและครอบครัวหายนะ หมั่นพัฒนาตนและคนในครอบครัว ตลอดทั้งอาชีพ หน้าที่การงาน ฐานะเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยยึดหลักของสัมมาชีพเป็นบรรทัดฐาน
---6.หลักกุลจิรัฏฐตธรรม 4 ประการ คือ
---รู้จักแสวงหาของที่หายไปแล้วหรือหามาทดแทน
---รู้จักซ่อมแซมของเก่าที่ชำรุดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
---รู้จักประมาณในการกินการใช้
---ผู้ที่จะเป็นผู้นำครอบครัวต้องเป็นผู้มีศีลธรรม
---ปัญหาความล่มสลายของครอบครัวที่เกิดจากการไม่รู้จักรักษาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ เมื่อหายไปแล้วก็ไม่รู้จักแสวงหาหรือหามาทดแทน ของที่ชำรุดพอที่จะนำกลับมาซ่อมแซมเพื่อใช้ใหม่ได้ ก็ไม่ทำ ตั้งท่าจะซื้อใหม่อย่างเดียว การไม่รู้จักกินไม่รู้จักใช้ และผู้นำครอบครัวไม่มีศีลธรรม ประกอบ มิจฉาชีพ มีความประพฤติที่ไม่ดี ติดอยู่ในอบายมุข เป็นต้น เป็นสาเหตุ ที่ทำให้ครอบครัวหรือตระกูล ที่มั่งคั่งตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งเราจะพบเห็นปัญหานี้ได้ทั่วไปในสังคมไทย เพราะฉะนั้น หลักธรรมทั้ง 4 ประการนี้ สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
---7.จักร 4 มรรคาแห่งความเจริญรุ่งเรืองของครอบครัว
---ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่ดีมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
---สัปปุริสูปัสสยะ คบคนดีมีความสัตย์
---อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ (การมีศีล จิตมีธรรม)
---ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว คือ ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
---ทั้ง 4 ประการนี้ เป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจของคนได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันยังเป็นหลักที่ป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวด้วย ตัวอย่างเช่น การอยู่ในประเทศที่ดี มีความเหมาะสมทั้งสิ่งแวดล้อมและบุคคล จะช่วยป้องกันปัญหายาเสพติด การพนันได้ เป็นต้น
*พุทธวิธีสร้างความร่ำรวย กำจัดความยากจน
---หลักคิดในการทำงานสร้างฐานะความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีคนหนึ่ง คือ
---1.ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้
---2.ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้
---3.ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่
---กลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจที่ลึกกว่านั้น คือ "ไม่เหมือนใคร" "ไม่หยุดอยู่กับที่" และ "พร้อมจะเปลี่ยนแปลง" รวมทั้งมีปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอันได้แก่
---ความกล้าในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว กล้าทดลองลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน ก็กล้าที่จะปรับทิศทางธุรกิจในเครือในจังหวะที่เหมาะสม
---ความเป็นนักเจรจา ความกว้างขวางในการสร้างพันธมิตร บริหารสายสัมพันธ์ จนสามารถประสานกับทุกฝ่าย อย่างลงตัว
---วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง พร้อมกับกำหนดกลยุทธ์ ได้ตรงกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
*สูตรเศรษฐี หรือ "คาถาหัวใจเศรษฐี" ที่พระพุทธเจ้าประทาน คือ อุ อา กะ สะ ซึ่งมีความหมายดังนี้
---1.อุ = อุฏฐานสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ได้แก่ ขยันหมั่นเพียร ประกอบการงาน หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต หนักเอาเบาสู้ ไม่เกียจคร้านสันหลังยาว เอาแต่นอน เอาแต่เที่ยวเล่น ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า ๆ เป็นต้น ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน
---2.อา = อารักขสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษา ได้แก่ การรู้จักคุ้มครองและรักษาโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่นเพียร โดยชอบธรรมด้วยความสุจริตนั้น ไม่ให้เป็นอันตราย สูญหายไปโดยทางไม่สมควร เป็นต้น
---3.กะ = กัลยาณมิตตตา คือ การคบหาคนดีเป็นมิตร ได้แก่ การรู้จักเลือกคบคนดี ไม่เอาอย่างในทางเสื่อมเสียของเพื่อน เมื่อเพื่อนชักจูงไปในทางเสื่อมเสียก็ไม่ใจอ่อนคล้อยตาม เป็นตัวของตัวเองในทางที่ถูกต้อง เป็นต้น
---4.สะ = สมชีวิตา คือ การเลี้ยงชีวิตแต่พอดี ได้แก่ การรู้ประมาณรายรับและรายจ่ายของตน ไม่ให้ฝืดเคืองจนลำบาก ไม่จ่ายมากจนเป็นหนี้ ดำเนินตามหลัก "มัชฌิมา" คือ ไม่ตึง จนเดือดร้อน และไม่หย่อนจนตกเป็นทาส ทุกวันนี้สินค้า "ส่วนเกินของชีวิต" มีมาก ต้องมีปัญญาประกบความคิดด้วย ต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็นสิ่งบำรุง อะไรเป็นสิ่งบำเรอ อะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นแก่ชีวิต เป็นต้น ถ้ามีแต่ความคิดความขยันหาเงินเก่ง แต่ขาดปัญญาที่จะช่วยวินิจฉัยว่า สิ่งใดควรหรือสิ่งใดไม่ควร ชีวิตนี้ก็จะถมไม่รู้จักเต็ม หาเงินกันจนตายก็ไม่พบความสุข หรือมีเงินมากมายเท่าไรก็ไม่พบความสุข
---มะเร็งร้ายในสังคมปัจจุบันคือ การใช้ของเงินผ่อน หรือใช้สิ่งที่ไม่ควรจะใช้ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่เพราะเห็นว่าเพื่อนบ้านเขามีใช้ เกรงว่าจะน้อยหน้าเขา ก็จำต้องมีต้องใช้ตามเขาไป การประหยัด ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้ และปลูกฝังให้ลูก ๆ เกิดค่านิยมให้ได้ ควรจะแนะนำและทำให้ดูเสียแต่ลูกยังเล็ก ๆ เพราะไม้อ่อนย่อมดัดง่ายอยู่แล้ว จากการปฏิบัติตามพุทธวจนะ ด้วยการเว้นอบายมุขทุกชนิด ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า ๆ เราก็พอมีกินมีใช้ ไม่ต้องเป็นหนี้ใคร
*พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความรู้จักพอเป็นยอดทรัพย์ คนส่วนใหญ่จนเพราะไม่รู้จัก คำว่า "พอ"
---ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล
---จนทั้งนอกทั้งในไม่ได้การ ต้องคิดอ่านแก้จนเป็นคนพอ
---คนที่มีความสุขในชีวิตต้องเป็นคนรู้จักพอ หมายถึงว่า "ความพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ทำ" ใครไม่มีสิ่งที่ตัวชอบก็ต้องชอบสิ่งที่ตัวมี ภาษิตฝรั่งว่า "นกตัวเดียวในกำมือ ดีกว่า นกสองตัวบนต้นไม้"
---คนไทยทุกวันนี้น่าเป็นห่วง คือ หลงวัตถุนิยมกันมาก ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ทำให้ต้องขวนขวายดิ้นรนจนหน้าดำคร่ำเครียด เบียดเบียนกันเพื่อให้ตัวเองได้สิ่งต่าง ๆ มาเพื่อจะได้ พ้นจากคำครหาว่า "จน"
---ดังนั้น ขออันเชิญพระราชดำรัสบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ทรงได้มีพระมหากรุณาธิคุณอธิบายถึงคำว่า "พอเพียง" หมายถึง "พอมีพอกิน" ไว้ดังนี้
---" .พอมีพอกิน ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี . . .
---พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ . . .
---ถ้าคนเราพอใจในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของ หรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติงานก็พอเพียง".
...........................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 24 กันยายน 25558
ความคิดเห็น