อานิสงส์ของการบูชา
---"ต้นไม้เมื่อยังเล็กเป็นต้นกล้าอยู่ จำเป็นต้องมีหลักค้ำประกันไม่ให้ล้ม รากขาด ตายเสียก่อนฉันใดผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้า ก็จำเป็นต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไว้เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูกเป็นหลักใจ ป้องกันความเห็นผิดและอกุศลกรรมต่าง ๆ มิให้ย้อนกลับกำเริบขึ้นมาอีกฉันนั้น"
*การบูชาคืออะไร
---การบูชา คือ การยกย่อง เชิดชู เลื่อมใส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจไม่เสแสร้งแกล้งทำ หมายถึงกิริยาอาการสุภาพ ที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้า เป็นการแสดงให้ท่านทราบว่าเรามีความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจ การแสดงลับหลัง เป็นการเตือนใจตัวเราเอง ให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอ ๆ ไม่เลื่อมไหลไปในทางชั่วร้าย
---การบูชา เป็นอุบายอย่างหนึ่งสำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้างเพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่น ให้ละเอียดอ่อนลง ผู้ที่ยังด้อยปัญญายังไม่เข้าใจในคุณธรรมความดีของผู้ที่ควรบูชานัก แต่หากไม่เคยชินกับการบูชาแล้วในที่สุดย่อมสามารถเล็งเห็นคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชาได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริงอยากทำความดีตามท่านบ้าง ผู้ใหญ่จึงควรสอนบุตรหลานให้รู้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยเป็นการปุลูกศรัทธาตั้งแต่เล็ก ๆ
*บุคคลที่ควรบูชา
---คือ บุคคลที่มีคุณความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา สูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวลสรุปได้ดังนี้
---๑.พระพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตที่ประเสริฐสุดในโลก ทรงไว้ด้วยพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ จัดเป็นบุคคลควรบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
---๒.พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีมีปฏิบัติชอบก่อน แล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลควรบูชาของพุทธศาสนิกชน
---๓.พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชาจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของประชาชน
---๔.บิดามารดา และญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิตอยู่ในฐานะสูงเกินกว่าจะคบ จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา หรือปูชนียบุคคลของบุตรหลาน
---๕.ครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิต อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าศิษย์จะคบหา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของศิษย์
---๖.ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ
---บัณฑิตที่มีเพศ ภาวะ สูงเกินกว่าที่จะคบในฐานะผู้เสมอกันได้ล้วนจัดเป็น บุคคลที่ควรแก่การบูชาทั้งสิ้น วัตถุที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ ก็จัดเป็นวัตถุที่ควรบูชาอีกเช่นกัน เพราะเมื่อเราบูชาวัตถุเหล่านี้ ก็ทำให้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่วัตถุนี้ความเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างคือ
---๑.วัตถุที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถาน
---๒.วัตถุที่เนื่องด้วยพระสงฆ์ เช่น พระธาตุ รูปพระสงฆ์สาวก
---๓.คำสั่งสอน รูปภาพของบิดา มารดา ของครูบาอาจารย์ ของผู้บังคบบัญชา ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งใจประพฤติธรรมเป็นบัณฑิตจัดเป็นวัตถุที่ควรบูชาทั้งสิ้น
*การแสดงออกถึงความบูชา
---๑.ทางกาย ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบกิจใด ๆ ก็อยู่ในอาการสำรวม เมื่ออยู่ต่อหน้าท่านหรือสัญลักษณ์ตัวแทนท่าน เช่น รูปปั้นภาพถ่าย
---๒.ทางวาจา สรรเสริญยกย่องคุณความดีของท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น การสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย การนำความดีของท่านไปสรรเสริญ ฯลฯ
---๓.ทางใจ ตามระลึกนึกถึงคำสอนของท่านด้วยความเคารพและซาบซึ้ง
*ประเภทของการบูชา
---การบูชาในทางปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ
---๑.อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่นบุตรระลึกถึงคุณของบิดามารดา ศิษย์ระลึกถึงคุณของอาจารย์ จึงบูชาด้วยการนำทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ ฯลฯ ไปมอบให้ เป็นต้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูปเที่ยน ก็จัดเป็นอามิสบูชาเช่นกัน
---๒.ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ตามคำสอน ตามแบบอย่างที่ดีของท่าน เช่น พยายามกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามคำสอนของท่าน การปฏิบัติบูชานี้ จัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้กาย วาจา ใจ ใสสะอาดเป็นบัณฑิตตามท่านได้โดยเร็ว
*ข้อเตือนใจ
---สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือนักปฏิบัติธรรม ถึงระลึกเสมอว่าสิ่งที่เราจะเรียนรู้นั้น ถ้าเราเทอดทูนบูชา ตั้งใจประคองรักษาอย่างดี ไม่นำไปล้อเลียน หรือพูดเล่น ผลของการศึกษาเล่าเรียนตลอดจนการปฏิบัติธรรมของเรา ย่อมจะมีความเจริญก้าวหน้าประสบผลสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์
---ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เคารพ ลบหลู่ครูอาจารย์ และสิ่งที่จะเรียนรู้ความเข้าใจ ความซาบซึ้งที่จะปฏิบัติตามคำสอนก็หมดไป เกิดความรู้สึกไม่อยากบูชา หรือไม่ศรัทธา ใจที่ควรจะตรึกนึกธรรมะหรือบทเรียนต่าง ๆ ก็ มืดมิด เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะเข้าถึงปัญญา อันจะเป็นแสงสว่างส่องนำวิถีชีวิตให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ควร ที่ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น
*ข้อควรระวัง
---อย่าบูชาสิ่งที่ไม่ควรบูชา เพราะจะชักนำไปสู่ความงมงายหลงผิดจิตใจขุ่นมัวเป็นพาลไป ซึ่งทำได้ดังนี้
---๑.ไม่บูชาคนพาล คือ ไม่ยกย่อง ไม่เชิดชู ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่ว่าคนพาลนั้นจะมียศศักดิ์สถานภาพสูงส่งเพียงไรก็ตาม
---๒.ไม่บูชาสิ่งที่เนื่องด้วยคนพาล เช่น รูปภาพ รูปปั้น ผลงาน สิ่งของ เครื่องใช้ของคนพาล
---๓.ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้ว ไม่ทำให้เกิดสิริมงคล ไม่ทำให้เกิดปัญญา เช่น รูปภาพดารา นักร้อง นักกีฬาที่ไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ภาพโฆษณาเกี่ยวกับอบายมุข ฯลฯ อย่านำมาประดับบ้านเรือน
---๔.ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วโง่ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ภูเขาสูง ศาลพระภูมิ คนทรง ภูตผีปีศาจ ลูกรอก ฯลฯ กราบ ๓ อย่าง
*วิธีการบูชาพระพุทธรูปที่ใช้กันมาก คือ การกราบ ซึ่งมีหลายประเภท คือ
---๑.ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย คือ พวกที่เห็นคนอื่นกราบพระก็กราบตามเขาโดยไม่รู้ความหมายทำลวก ๆ เหมือนลิงไหว้เจ้า ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรเมื่อยเปล่า
---๒.ยิ่งกราบยิ่งโง่ คือ พวกที่กราบพระแล้วขอในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น กราบพระขอหวย หรือไม่ดูหนังสือแล้วกราบพระขอให้สอบได้
---๓.ยิ่งกราบยิ่งฉลาด คือ พวกที่กราบพระแล้วยึดถือพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น
---กราบครั้งที่ ๑ระลึกถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณา เห็นทุกข์ และคิดค้นวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เป็นเพราะพระองค์ทรงศึกษาธรรมและฝึกสมาธิมามากจึงมีใจใสสว่าง จนสามารถ ตรัสรู้ปราบกิเลสในตัวได้หมด เราก็ต้องตั้งใจหมั่นฝึกสมาธิศึกษาธรรม ตามอย่างพระองค์ด้วย
---กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลายโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงฝึกหัดให้ทานช่วยเหลือสัตว์โลก มานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ เราก็ต้องตั้งใจหมั่นให้ทาน มีความกรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นตามอย่างพระองค์ด้วย
---กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระวิสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมากไม่เคยให้ร้ายแก่ใครเลยเป็นตัวอย่างใน การรักษาศีลได้อย่างดี เราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างพระองค์ด้วย
*อานิสงส์การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
---๑.ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
---๒.ยังความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
---๓.ทำให้มีกิริยามารยาท สุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ
---๔.ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ
---๕.ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้น เพราะมีความสำรวมระวังเป็นการป้องกันความประมาท
---๖.ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสอมว่าผู้ที่มีคุณธรรมสูง กว่าตนยังมีอยู่
---๗.ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่าง ๆ ได้
---๘.เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมเพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตผู้มีคุณธรรม---๙.เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญกรณียกิจได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น
*อามิสบูชา-ปฏิบัติบูชา
---เคย ได้ยินกันบ่อย คำสอนที่ว่า "ควรบูชาสิ่งที่ควรบูชา" การที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพ กราบไหว้ ให้ความยำเกรงต่อองค์พระบรมศาสดาผู้ก่อตั้งประดิษฐานพระพุทธศาสนา ต่อพระธรรมคำทรงสอนอันประเสริฐ และต่อพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา เรียกว่า "การบูชาพระรัตนตรัย"
---โดยกินความหมายรวมถึงการให้ความตระหนัก การให้ความสำคัญ การใส่ใจให้ความเอื้อเฟื้อ การอุปถัมภ์คุ้มครองหรือการสนับ สนุนอื่นๆ อีกด้วย
*หลักการบูชาในพระพุทธศาสนามี 2 ประเภท คือ "อามิสบูชา" กับ "ปฏิบัติบูชา"
---อามิส บูชา หมายถึงการบูชาด้วยเครื่องสักการะที่เป็นวัตถุสิ่งของ เช่นการถวายดอกไม้ธูปเทียน เป็นเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย การถวายเครื่องไทยธรรมหรือปัจจัย 4 เป็นการอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ หรือแม้การที่พุทธศาสนิกชนได้จัดสร้างถาวรวัตถุเป็นพุทธศาสนสถาน เช่น สร้างพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์ เป็นต้น ก็นับว่าเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสเหมือนกัน
---ปฏิบัติ บูชา หมายถึง การบูชาด้วยการปฏิบัติ หรือเรียกว่า ปฏิบัติบูชา คือ การประพฤติธรรมด้วยความตระหนักเอื้อเฟื้อในพระสัทธรรมคำสอนและปฏิบัติ ตามอย่างเคร่งครัด ไม่ดื้อรั้นมีทิฏฐิมานะโดยประการใดๆ ได้แก่ การฟังหรือศึกษาเล่าเรียนคำสั่งสอนที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
---ใน บูชาทั้ง 2 อย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญธรรมบูชาหรือปฏิบัติบูชาว่าเลิศประเสริฐ ด้วยสามารถที่จะรักษาพระสัทธรรมหรือดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้นานยิ่งกว่าอามิส บูชา ถือว่าเป็นการบูชาพระองค์โดยตรง
---ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสรับรองไว้ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20) ความว่า
---"ภิกษุทั้งหลาย การบูชามีอยู่ 2 อย่าง คือ อามิสบูชา 1 ปฏิบัติบูชา 1 ...การบูชา 2 อย่างนี้ ปฏิบัติบูชาจัดเป็นเลิศ"
---และที่ตรัสกับพระอานนท์ เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10) ความว่า
---"ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าเป็นผู้ที่บริษัทสักการะเคารพ นับถือ บูชา หรือนอบน้อมแล้วด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้ก็หามิได้"
---อานนท์ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้น อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม ดังนี้ .
...................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 22 กันยายน 2558
ความคิดเห็น