มหาสมัยสูตร
*พระสูตรที่เทพในหมื่นจักรวาลชื่นชอบฟังมากที่สุด
---เอวัมเม สุตังฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สักเกสุ วิหะระติ กะปิละวัตถุสะมิง มะหาวะเน มะหะตา ภิกขุสังเฆนะ สัทธิง ปัญจะมัตเตหิ ภิกขุสะเตหิ สัพเพเหวะ อะระหันเตหิฯ ทะสะหิ จะ โลกะธาตูหิ เทวะตา เยภุยเยนะ สันนิปะติตา โหนติ ภะคะวันตัง ทัสสะนายะ ภิกขุสังฆัญจะฯ อะถะโข จะตุนนัง สุทธาวาสะกายิกานัง เทวานัง เอตะทะโหสิฯ อะยัง โขภะคะวา สักเกสุ วิหะระติ กะปิละวัตถุสะมิง มะหาวะเน มะหะตา ภิกขุสังเฆนะ สัทธิง ปัญจะมัตเตหิ ภิกขุสะเตหิ สัพเพเหวะ อะระหันเตหิ ทะสะหิ จะ โลกะธาตูหิ เทวะตา เยภุยเยนะ สันนิปะตะตา โหนติ ภะคะวันตัง ทัสสะนายะ ภิกขุสังฆัญจะ ยันนูนะ มะยัมปิ เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะเมยยามะ อุปสังกะมิตะวา ภะคะวะโต สันติเก ปัจเจกะคาถา ภาเสยยามาติฯ
---อะถะโข ตา เทวะตา เสยยะถาปิ นามะ พะละวา ปุริโส สัมมิญชิตัง วา พาหัง ปะสาเรยยะ ปะสาริตัง วา พาหัง สัมมิญเชยยะ เอวะเมวะ สุทธาวาเสสุ เทเวสุ อันตะราหิตา ภะคะวะโต ปุระโต ปาตุระหังสุฯ อะถะโข ตา เทวะตา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตะวา เอกะมันตัง อัฏฐังสุ เอกะมันตัง ฐิตา โข เอกา เทวะตา ภะคะวะโต สันติเก อิมัง คาถัง อะภาสิฯ
---มะหาสะมะโย ปะวะนัสะมิง เทวะกายา สะมาคะตา อาคะตัมหะ อิมัง ธัมมะสะมะยัง ทักขิตาเยวะ อะปะราชิตะสังฆันติฯ อะถะโข อะปะรา เทวะตา ภะคะวันโต สันติเก อิมัง คาถัง อะภาสิฯ ตัตระ ภิกขะโว สะมาทะหังสุง จิตตัง อัตตะโน อุชุกะมะกังสุ สาระถีวะ เนตตานิ คะเหตะวา อินทะริยานิ รักขันติ ปัณฑิตาติฯ อะถะโข อะปะรา เทวะตา ภะคะวะโต สันติเก อิมัง คาถัง อะภาสิฯ เฉตะวา ขีลัง เฉตะวา ปะลีฆัง อินทะขีลัง โอหัจจะมะเนชา เต จะรันติ สุทธา วิมะลา จักขุมะตา สุทันตา สุสู นาคาติฯ อะถะโข อะปะรา เทวะตา ภะคะวันโต สันติเก อิมัง คาถัง อะภาสิ เย เกจิ พุทธัง สะระณัง คะตา เส นะ เต คะมิสสันติ อะปายะภูมิง ปะหายะ มานุสัง เทหัง เทวะกายัง ปะริปูเรสสันตีติฯ
---อะถะโข ภะคะวา ภิกขู อามันเตสิ เยภุยเยนะ ภิกขะเว ทะสะสุ โลกะธาตูสุ เทวะตา สันนิปะติตา โหนติ ตะถาคะตัง ทัสสะนายะ ภิกขุสังฆัญจะ เยปิ เต ภิกขะเว อะเหสุง อะตีตะมัทธานัง อะระหันโต สัมมาสัมพุทธา เตสัมปิ ภะคะวันตานัง เอตะปะระมาเยวะ เทวะตา สันนิปะติตา อะเหสุง เสยยะถาปิ มัยหัง เอตะระหิ เยปิ เต ภิกขะเว ภะวิสสันติ อะนาคะตะมัทธานัง อะระหันโต สัมมาสัมพุทธา เตสัมปิ ภะคะวันตานัง เอตะปะระมาเยวะ เทวะตา สันนิปะติตา ภะวิสสันติฯ เสยยะถาปิ มัยหัง เอตะระหิ อาจิกขิสสามิ ภิกขะเว เทวะกายานัง นามานิ กิตตะยิสสามิ ภิกขะเว เทวะกายานัง นามานิ เทสิสสามิ ภิกขะเว เทวะกายานัง นามานิตัง สุณาถะ สาธุกัง มะนะสิ กะโรถะฯ ภาสิสสามีติ เอวัมภันเตติ โข เต ภิกขู ภะคะวะโต ปัจจัสโสสุงฯ ภะคะวา เอตะทะโวจะฯ
---สิโลกะมะนุกัสสามิ ยัตถะ ภุมมา ตะทัสสิตา เย สิตา คิริคัพภะรัง ปะหิตัตตา สะมาหิตา ปุถู สีหาวะ สัลลีนา โลมะหัง สาภิสัมภุโน โอทาตะมะนะสา สุทธา วิปปะสันนะมะนาวิลา ภิยโย ปัญจะสะเต ญัตะวา วะเน กาปิละวัตถะเว ตะโต อามันตะยิ สัตถา สาวะเก สาสะเน ระเต เทวะกายา อะภิกกันตา เต วิชานาถะ ภิกขะโว เต จะ อาตัปปะมะกะรุง สุตะวา พุทธัสสะ สาสะนัง เต สัมปาตุระหุ ญานัง อะมะนุสสานะ ทัสสะนัง อัปเปเก สะตะมัททักขุง สะหัสสัง อะถะ สัตตะริง สะตัง เอเก สะหัสสานัง อะมะนุสสานะมัททะสุง อัปเปเกนันตะมัททักขุง ทิสา สัพพา ผุฎา อะหุง ตัญจะ สัพพัง อะภิญญายะ วะวักขิตวานะ จักขุมา ตะโต อามันตะยิ สัตถา สาวะเก สาสะเน ระเต เทวะกายา อะภิกกันตา เต วิชานาถะ ภิกขะโว เย โวหัง กิตตะยิสสามิ คิราหิ อะนุปุพพะโสฯ
---สัตตะสะหัสสาวะ ยักขา ภุมมา กาปิละวัตถะวา อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---ฉะสะหัสสา เหมะวะตา ยักขา นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---อิจเจเต โสฬะสะสะหัสสา ยักขา นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---เวสสามิตตา ปัญจะสะตา ยักขา นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะมันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---กุมภิโร ราชะคะหิโก เวปุลลัสสะ นิเวสะนัง ภิยโย นัง สะตะสะหัสสัง ยักขินา ปะยิรุปาสะติ กุมภิโร ราชะคะหิโก โสปาคะ สะมิติง วะนังฯ
---ปุริมัญจะ ทิสัง ราชา ธะตะรัฏโฐ ปะสาสะติ คันธัพพานัง อาธิปะติ มะหาราชา ยะสัสสิ โสฯ ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโว อินทะนามา มะหัพพะลา อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---ทักขินัญจะ ทิสัง ราชา วิรุฬโห ตัปปะสาสะติ กุมภัณฑานัง อาธิปะติ มะหาราชา ยะสัสสิ โสฯ ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโว อินทะนามา มะหัพพะลา อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะมันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---ปัจฉิมัญจะ ทิสัง ราชา วิรูปักโข ปะสาสะติ นาคานัง อาธิปะติ มะหาราชา ยะสัสสิ โส ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโว อินทะนามา มะหัพพะลา อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---อุตตะรัญจะ ทิสัง ราชา กุเวโร ตัปปะสาสะติ ยักขานัง อาธิปะติ มะหาราชา ยะสัสสิ โส ปุตตาปิ ตัสสะ พะหะโว อินทะนามา มะหัพพะลา อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---ปุริมะทิสัง ธะตะรัฎโฐ ทักขิเณนะ วิรุฬหะโก ปัจฉิเมนะ วิรูปักโข กุเวโร อุตตะรัง ทิสังฯ จัตตาโร เต มะหาราชา สะมันตา จะตุโร ทิสา ทัททัลละมานา อัฏฐังสุ วะเน กาปิละวัตถะเวฯ เตสัง มายาวิโน ทาสา อาคู วัญจะนิกา สะฐา มายา กุเฏณฑุ เวเฏณฑุ วิฏู จะ วิฏุโต สะหะ จันทะโน กามะเสฏโฐ จะ กินนุฆัณฑุ นิฆัณฑุ จะ ปะนาโท โอปะมัญโญ จะ เทวะสูโต จะ มาตะลิ จิตตะเสโน จะ คันธัพโพ นะโฬราชา ชะโนสะโภ อาคู ปัญจะสิโข เจวะ ติมพะรู สุริยะวัจฉะสา เอเต จัญเญ จะราชาโน คันธัพพา สะหะ ราชุภิ โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---อะถาคู นาภะสา นาคา เวสาลา สะหะตัจฉะกา กัมพะลัสสะตะรา อาคู ปายาคา สะหะ ญาติภิ ยามูนา ธะตะรัฏฐา จะ อาคู นาคา ยะสัสสิโน เอราวัณโณ มะหานาโค โสปาคะ สะมิติง วะนังฯ
---เย นาคะราเช สะหะสา หะรันติ ทิพพา ทิชาปักขิ วิสุทธะจักขู เวหาสะยา เต วะนะมัชฌะปัตตา จิตรา สุปัณณา อิติ เตสะนามัง อะภะยันตะทา นาคะราชานะมาสิ สุปัณณะโต เขมะมะกาสิ พุทโธ สัณหาหิ วาจาหิ อุปวะหะยันตา (ให้อ่านออกเสียงว่า อุเปา-หะ-ยัน-ตา) นาคา สุปัณณา สะระณะมะกังสุ พุทธังฯ
---ชิตา วะชิระหัตเถนะ สะมุททัง อะสุรา สิตา ภาตะโร วาสะวัสเสเต อิทธิมันโต ยะสัสสิโน กาละกัญชา มะหาภิสมา อะสุรา ทานะเวฆะสา เวปะจิตติ สุจิตติ จะ ปะหาราโท นะมุจี สะหะ สะตัญจะ พะลิปุตตานัง สัพเพ เวโรจะนามะกา สันนัยหิตะวา พะลิง เสนัง ราหุภัททะมุปาคะมุง สะมะโยทานิ ภัททันเต ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---อาโป จะ เทวา ปะฐะวี จะ เตโช วาโย ตะทาคะมุง วะรุณา วารุณา เทวา โสโม จะ ยะสะสา สะหะ เมตตากะรุณากายิกา อาคู เทวา ยะสัสสิโน ทะเสเต ทะสะธา กายา สัพเพ นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---เวณฑู จะ เทวา สะหะลี จะ อะสะมา จะ ทุเว ยะมา จันทัสสู ปะนิสา เทวา จันทะมาคู ปุรักขิตา สุริยัสสูปะนิสา เทวา สุริยะมาคู ปุรักขิตา นักขัตตานิ ปุรักขิตะวา อาคู มันทะพะลาหะกา วะสูนัง วาสะโว เสฏโฐ สักโก ปาคะ ปุรินทะโท ทะเสเต ทะสะธา กายา สัพเพ นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---อะถาคู สะหะภู เทวา ชะละมัคคิสิขาริวะ อะริฏฐะกา จะ โรชา จะ อุมมา ปุปผะนิภาสิโน วะรุณา สะหะธัมมา จะ อัตจุตา จะ อะเนชะกา สุเลยยะรุจิรา อาคู อาคู วาสะวะเนสิโน ทะเสเต ทะสะธา กายา สัพเพ นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---สะมานา มะหาสะมานา มานุสา มานุสุตตะมา ขิฑฑาปะทูสิกา อาคู อาคู มะโนปะทูสิกา อะถาคู หะระโย เทวา เย จะ โลหิตะวาสิโน ปาระคา มะหาปาระคา อาคู เทวา ยะสัสสิโน ทะเสเต ทะสะธา กายา สัพเพ มานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---สุกกา กะรุมหา อะรุณา อาคู เวฆะนะสา สะหะ โอทาตะคัยหา ปาโมกขา อาคู เทวา วิจักขะณา สะทามัตตา หาระคะชา มิสสะกา จะ ยะสัสสิโน ถะนะยัง อาคู ปะชุนโน โย ทิสา อะภิวัสสะติ ทะเสเต ทะสะธา กายา สัพเพ นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณธวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---เขมิยา ตุสิตา ยามา กัฏฐะกา จะ ยัสสิโน ลัมพิกะตา ลามะเสฏฐา โชตินามา จะ อาสะวา นิมมานะระติโน อาคู อะถาคู ปะระนิมมิตา ทะเสเต ทะสะธา กายา สัพเพ นานัตตะวัณณิโน อิทธิมันโต ชุติมันโต วัณณะวันโต ยะสัสสิโน โมทะมานา อะภิกกามุง ภิกขูนัง สะมิติง วะนังฯ
---สัฏเฐเต เทวะนิกายา สัพเพ นานัตตะวัณณิโน นามันวะเยนะ อาคัญฉุง เยจัญเญ สะทิสา สะหะ ปะวุตถะชาติมักขีลัง โอฆะติณณะมะนาสะวัง ทักเขโมฆะตะรัง นาคัง จันทังวะ อะสิตาติตัง สุพรัหมา ปะระมัตโต จะ ปุตตา อิทธิมะโต สะหะ สันนังกุมาโร ติสโส ตะ โสปาคะ สะมิติง วะนังฯ
---สะหัสสะพรัหมะโลกานัง มะหาพรัหมาภิติฏฐะติ อุปะปันโน ชุติมันโต ภิสะมากาโย ยะสัสสิโน ทะเสตถะ อิสสะรา อาคู ปัจเจกะวะสะวัตติโน เตสัญจะ มัชฌะโต อาคา หาริโต ปะริวาริโต เต จะ สัพเพ อะภิกกันเต สินเท เทเว สะพรัหมะเก มาระเสนา อะภิกกามิ ปัสสะ กัณหัสสะ มันทิยัง เอถะ คัณหะถะ ราเคนะ พันธะมัตถุ โว สะมันตา ปะริวาเรถะ มา โว มุญจิตถะ โกจิ นัง อิติ ตัตถะ มะหาเสโน กัณหะเสนัง อะเปสะยิ ปาณินา ตะละมาหัจจะ สะรัง กัตะวานะ เภระวัง ยะถา ปาวุสสะโก เมโฆ ถะนะยันโต สะวิชชุโก ตะทา โส ปัจจุทาวัตติ สังกุทโธ อะสะยังวะเส ตัญจะ สัพพัง อะภิญญายะ วะวักขิตวานะ จักขุมา ตะโต อามันตะยิ สัตถา สาวะเก สาสะเน ระเต มาระเสนา อะภิกกันตา เต วิชานาถะ ภิกขะโว เต จะ อาตัปปะมะกะรุง สุตะวา พุทธัสสะ สาสะนัง วีตะราเคหิ ปักกามุง เนสัง โลมัมปิ อิญชะยุง สัพเพ วิชิตะสังคามา ภะยาตีตา ยะสัสสิโน โมทันติ สะหะ ภูเตหิ สาวะกา เต ชะเนสุตาติฯ
*มหาสมัยสูตร (แปล)
---ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
---สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกะ ชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วน เป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดาจากโลกธาตุทั้ง ๑๐ ประชุมกันมาก เพื่อทัศนา พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฯ
---ครั้งนั้น เทวดาชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริว่า
---พระผู้มีพระภาค พระองค์นี้แล ประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวก เทวดาจากโลกธาตุทั้ง ๑๐ ประชุมกันมาก เพื่อทัศนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุ สงฆ์ ไฉนหนอ แม้พวกเราก็ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว พึงกล่าวคาถาเฉพาะองค์ละคาถา ในสำนักพระผู้มีพระภาค
---ลำดับนั้น เทวดา พวกนั้น หายไป ณ เทวโลกชั้นสุทธาวาสแล้วมาปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้ มี พระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดออกเข้า ฉะนั้น เทวดาพวกนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ว่า
---การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่ หมู่เทวดามาประชุมกันแล้วพวกเรา พากันมาสู่ธรรมสมัยนี้ เพื่อได้เห็นหมู่ท่านผู้ชนะมาร ฯ
---ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่าภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น มั่นคง กระทำจิตของตนๆ ให้ ตรง บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมรักษาอินทรีย์ เหมือนสารถีถือบังเหียนขับม้า ฉะนั้น ฯ
---ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า
---ภิกษุเหล่านั้น ตัดกิเลสดุจตะปู ตัดกิเลสดุจลิ่มสลัก ถอน กิเลสดุจเสาเขื่อนได้แล้ว เป็นผู้ไม่หวั่นไหว หมดจด ปราศ จากมลทิน เที่ยวไป ท่านเป็นหมู่นาคหนุ่ม อันพระผู้มีพระภาค ผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว ฯ
---ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า
---ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าว่า เป็นสรณะ เขาจัก ไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์แล้ว จักยังเทวกายให้บริบูรณ์ ฯ
*ชื่อของหมู่เทวดา
---ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า
---ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเทวดาในโลกธาตุทั้ง ๑๐ ประชุมกันมาก เพื่อทัศนา ตถาคตและภิกษุสงฆ์ พวกเทวดาประมาณเท่านี้แหละได้ประชุมกัน เพื่อทัศนา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้มีแล้วในอดีตกาล เหมือนที่ ประชุมกันเพื่อทัศนาเราในบัดนี้ พวกเทวดาประมาณเท่านี้แหละ
---จักประชุมกันเพื่อ ทัศนาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมีในอนาคตกาล เหมือนที่ประชุมกัน
---เพื่อทัศนาเราในบัดนี้ เราจักบอกนามพวกเทวดา เราจักระบุนามพวกเทวดา เราจักแสดงนาม พวกเทวดา พวกเธอจงฟังเรื่องนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา จักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส พระคาถานี้ว่า
---เราจักร้อยกรองโศลก ภุมมเทวดาอาศัยอยู่ ณ ที่ใด พวกภิกษุก็ อาศัยที่นั้น ภิกษุพวกใดอาศัยซอกเขา ส่งตนไปแล้ว มีจิตตั้งมั่น ภิกษุพวกนั้น เป็นอันมาก เร้นอยู่ เหมือนราชสีห์ ครอบงำความขนพองสยองเกล้าเสียได้ มีใจผุดผ่อง เป็นผู้ หมดจด ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว พระศาสดาทรงทราบภิกษุประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่อยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์
---แต่นั้นจึงตรัสเรียกสาวกผู้ยินดีในพระศาสนา ตรัสว่า
---ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่เทวดามุ่งมากันแล้ว พวกเธอจงรู้จักหมู่เทวดานั้น ภิกษุเหล่านั้นสดับรับสั่งของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ กระทำความเพียร ญาณเป็นเครื่องเห็นพวกอมนุษย์ ได้ปรากฏแก่ ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางพวก ได้เห็นอมนุษย์ร้อยหนึ่ง บางพวก ได้เห็นอมนุษย์พันหนึ่ง บางพวกได้เห็นอมนุษย์เจ็ดหมื่น บาง พวกได้เห็นอมนุษย์หนึ่งแสน บางพวกได้เห็นไม่มีที่สุด อมนุษย์ได้แผ่ไปทั่วทิศ พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงใคร่ครวญ
---ทราบเหตุนั้นสิ้นแล้ว แต่นั้น จึงตรัสเรียกสาวกผู้ยินดีใน พระศาสนาตรัสว่า
---ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่เทวดามุ่งมากันแล้ว พวกเธอจงรู้จักหมู่เทวดานั้น เราจักบอกพวกเธอด้วยวาจา ตามลำดับ ยักษ์เจ็ดพันเป็นภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในพระนคร กบิลพัสดุ์ มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศยินดี มุ่งมายัง ป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์หกพันอยู่ที่เขาเหมวตามี รัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์สามพันอยู่ที่เขา สาตาคีรี มีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ
---ยักษ์เหล่านั้นรวม เป็นหนึ่งหมื่นหกพัน มีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพมีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ยักษ์ ห้าร้อยอยู่ที่เขาเวสสามิตตะ มีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มี อานุภาพ มีรัศมี มียศยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุม ของภิกษุ ยักษ์ชื่อกุมภีระอยู่ในพระนครราชคฤห์ เขาเวปุลละ เป็นที่อยู่ของยักษ์นั้น ยักษ์แสนเศษแวดล้อมยักษ์ชื่อกุมภีระ นั้น ยักษ์ชื่อกุมภีระอยู่ในพระนครราชคฤห์แม้นั้น ก็ได้มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ฯ
---ท้าวธตรัฏฐอยู่ด้านทิศบูรพา ปกครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์ เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมากมีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ
---ท้าววิรุฬหก อยู่ด้านทิศทักษิณ ปกครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มาก มีนามว่า อินทมีกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายัง ป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ
---ท้าววิรูปักษ์อยู่ด้านทิศปัจจิม ปก ครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกนาค เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มี อานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ
---ท้าวกุเวร อยู่ด้านทิศอุดร ปกครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวก ยักษ์ เธอเป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของเธอก็มากมีนามว่าอินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าวธตรัฏฐเป็นใหญ่ทิศ บูรพา ท้าววิรุฬหก เป็นใหญ่ทิศทักษิณ ท้าววิรูปักษ์เป็นใหญ่ ทิศปัจจิม ท้าวกุเวรเป็นใหญ่ทิศอุดร ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ยังทิศทั้ง ๔ โดยรอบให้รุ่งเรืองได้ยืนอยู่แล้วในป่าเขตพระนครกบิลพัสดุ์ ฯ
*ท้าวโลกบาลทั้ง ๔
---พวกบ่าวของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น มีมายา ล่อลวง โอ้อวด เจ้าเล่ห์ มา ด้วยกัน มีชื่อคือกุเฏณฑุ ๑ เวเฏณฑุ ๑ วิฏ ๑ วิฏฏะ ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑ กินนุฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ และท้าวเทวราชทั้งหลายผู้มีนาม ว่าปนาทะ ๑ โอป มัญญะ ๑ เทพสารถีมีนามว่า มาตลิ ๑ จิตตเสนะ ผู้คนธรรพ์ ๑ นโฬราชะ ๑ ชโนสภะ ๑ ปัญจสิขะ ๑ ติมพรู ๑ สุริยวัจฉสา เทพธิดา ๑ มาทั้งนั้น ราชาและคนธรรพ์พวกนั้น และพวกอื่น กับเทวราชทั้งหลายยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุอนึ่งเหล่านาคท ี่อยู่ใน สระชื่อนภสะบ้าง อยู่ในเมืองเวสาลีบ้าง พร้อมด้วยนาคบริษัทเหล่าตัจฉกะ กัมพลนาค และอัสสตรนาคก็มา นาคผู้อยู่ในท่า ชื่อปายาคะ กับญาติ ก็มา นาคผู้อยู่ใน แม่น้ำยมุนา เกิดในสกุลธตรัฏฐ ผู้มียศ ก็มาเอราวัณเทพบุตรผู้เป็นช้างใหญ่ แม้นั้นก็มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ฯ
---ปักษีทวิชาติผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์ นำนาคราชไปได้ โดยพลันนั้น มาโดยทางอากาศถึงท่ามกลางป่า ชื่อของปักษีนั้นว่า จิตรสุบรรณ ในเวลานั้น นาคราชทั้งหลาย ไม่ได้มีความ กลัวพระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ นาคกับ ครุฑเจรจากัน ด้วยวาจาอันไพเราะ กระทำพระพุทธเจ้าให้เป็นสรณะ พวกอสูรอาศัยสมุทรอยู่ อันท้าววชิรหันถ์รบชนะแล้ว เป็นพี่น้องของท้าววาสพ มีฤทธิ์ มียศ เหล่านี้คือพวก กาลกัญชอสูร มีกายใหญ่น่ากลัวก็มา พวกทานเวฆสอสูรก็มา เวปจิตติอสูรสุจิตติอสูร ปหาราทอสูร และนมุจีพระยามารก็มาด้วยกัน บุตรของพลิอสูรหนึ่งร้อย มีชื่อว่าไพโรจน์ทั้งหมดผูกสอดเครื่องเสนาอันมีกำลัง เข้าไปใกล้อสุรินทราหู แล้วกล่าว ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ บัดนี้ เป็นสมัยที่จะประชุมกัน ดังนี้แล้ว เข้าไปยังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ฯ
*เทวนิกาย
---ในเวลานั้น เทวดาทั้งหลาย ชื่ออาโป ชื่อปฐวี ชื่อเตโช ชื่อวาโย ได้พากันมาแล้ว เทวดา ชื่อวรุณะ ชื่อวารุณะ ชื่อโสมะ ชื่อยสสะ ก็มาด้วยกัน เทวดาผู้บังเกิดในหมู่เทวดาด้วยเมตตาและกรุณาฌาน เป็นผู้มียศ ก็มา หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุม ของภิกษุ เทวดา ชื่อเวณฑู ชื่อสหลี ชื่ออสมา ชื่อยมะ ทั้งสองพวก ก็มา เทวดาผู้อาศัยพระจันทร์ กระทำพระจันทร์ไว้ในเบื้องหน้าก็มา
---เทวดาผู้อาศัยพระอาทิตย์ กระทำพระอาทิตย์ไว้ในเบื้องหน้าก็มา เทวดากระทำนักษัตรไว้ใน เบื้องหน้าก็มา มันทพลาหกเทวดาก็มา แม้ท้าวสักกปุรินททวาสวะ ซึ่งประเสริฐกว่าสุเทวดาทั้งหลายก็เสด็จมา
---หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์มีอานุภาพมีรัศมี ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ อนึ่งเทวดาชื่อสหภูผู้รุ่งเรืองดุจเปลวไฟก็มา เทวดาชื่ออริฏฐกะ ชื่อโรชะ มีรัศมีดังสีดอกผักตบก็มา เทวดาชื่อวรุณะ ชื่อสหธรรมชื่ออัจจุตะ ชื่ออเนชกะ ชื่อสุเลยยะ ชื่อรุจิระก็มา เทวดา ชื่อวาสวเนสีก็มา
---หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมด ล้วนมีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมีมียศ ยินดี มุ่ง มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ เทวดาชื่อสมานะ ชื่อ มหาสมานะ ชื่อมานุสะ ชื่อมานุสุตตมะ ชื่อขิฑฑาปทูสิกะ ก็มา เทวดาชื่อมโนปทูสิกะก็มา อนึ่ง เทวดาชื่อหริ เทวดาชื่อโลหิต วาสี ชื่อปารคะ ชื่อมหาปารคะ ผู้มียศ ก็มา
---หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวกทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ เทวดา ชื่อสุกกะ ชื่อกรุมหะ ชื่ออรุณะ ชื่อเวฆนสะก็มาด้วยกันเทวดาชื่อโอทาตคัยหะ ผู้เป็นหัวหน้า เทวดาชื่อวิจักขณะ ก็มา เทวดาชื่อสทามัตตะ ชื่อหารคชะ และชื่อมิสสกะ ผู้มียศ ก็มา ปชุนนเทวบุตร ซึ่งคำรามให้ฝนตกทั่วทิศก็มา
---หมู่เทวดา๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุเทวดาชื่อเขมิย ะ เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้นยามะ และเทวดาชื่อกัฏฐกะ มียศ เทวดาชื่อลัมพิตกะ ชื่อลามเสฏฐะ ชื่อโชตินามะ ชื่ออาสา และเทวดาชั้นนิมมานรดีก็มา อนึ่ง เทวดาชั้นปรนิมมิตะก็มา
---หมู่เทวดา ๑๐เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่างๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ หมู่เทวดา ๖๐เหล่านี้ ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่างๆ กัน มาแล้วโดยกำหนดชื่อ และ เทวดาเหล่าอื่นผู้เช่นกัน มาพร้อมกันด้วยคิดว่า เราทั้งหลายจัก เห็นพระนาคผู้ปราศจากชาติ ไม่มีกิเลสดุจตะปู มีโอฆะอัน ข้ามแล้ว ไม่มีอาสวะข้ามพ้นโอฆะ ผู้ล่วงความยึดถือได้แล้ว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น. ฯ
*พรหมนิกาย
---สุพรหมและปรมัตตพรหม ซึ่งเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้มี ฤทธิ์ ก็มาด้วย สนังกุมารพรหม และติสสพรหมแม้นั้น ก็มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ ท้าวมหาพรหมย่อมปกครอง พรหมโลกพันหนึ่ง ท้าวมหาพรหมนั้นบังเกิดแล้วในพรหมโลก มีอานุภาพ มีกายใหญ่โต มียศ ก็มา
---พรหม๑๐ พวก ผู้เป็น อิสระในพวกพรหมพันหนึ่ง มีอำนาจเป็นไปเฉพาะองค์ละอย่างก็มา มหาพรหมชื่อหาริตะ อันบริวารแวดล้อมแล้ว มาในท่ามกลางพรหมเหล่านั้น มารเสนา ได้เห็นพวกเทวดา พร้อมทั้ง พระอินทร์ พระพรหมทั้งหมดนั้น ผู้มุ่งมา ก็มาด้วย แล้วกล่าวว่าท่านจงดูความเขลาของมาร พระยามารกล่าวว่า พวกท่านจงมาจับ เทวดาเหล่านี้ผูกไว้ ความผูกด้วยราคะ จงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงล้อมไว้โดยรอบ อย่าปล่อยใครๆ ไป พระยามารบัง คับเสนามารในที่ประชุมนั้นดังนี้แล้ว เอาฝ่ามือตบแผ่นดิน กระทำเสียงน่ากลัว เหมือนเมฆยังฝนให้ตก คำรามอยู่ พร้อมทั้ง ฟ้าแลบ ฉะนั้น เวลานั้น พระยามารนั้นไม่อาจยังใครให้เป็นไป ในอำนาจได้ โกรธจัด กลับไปแล้ว พระศาสดาผู้มีพระจักษุทร พิจารณาทราบเหตุนั้นทั้งหมด แต่นั้น จึงตรัสเรียกสาวกผู้ ยินดีในพระศาสนาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารเสนามาแล้ว พวกเธอจงรู้จักเขา
---ภิกษุเหล่านั้นสดับพระดำรัสสอนของพระ พุทธเจ้าแล้ว ได้กระทำความเพียร มารและเสนามารหลีกไป จากภิกษุผู้ปราศจากราคะ ไม่ยังแม้ขนของท่านให้ไหว (พระยามารกล่าวสรรเสริญว่า) พวกสาวกของพระองค์ทั้งหมดชนะ สงครามแล้ว ล่วงความกลัวได้แล้ว มียศปรากฏในหมู่ชนบันเทิงอยู่กับด้วยพระอริยเจ้า ผู้เกิดแล้วในพระศาสนา ดังนี้แล. ฯ
บทวิจารณ์
*นี้คือพระสูตรที่ "พระพุทธองค์" ทรงแสดงแล้วเหล่าเทพจะมาประชุมฟังกันมากที่สุด ชื่นชอบมากที่สุด
---และเมื่อมีการสวดมหาสมัยสูตรที่ไหน เทพเทวาในหมื่นจักรวาลจะมาชุมนุมกันฟังด้วยความชื่นชอบที่นั่น พร้อมอภิบาลรักษาผู้พร่ำมนต์ภาวนาให้สุข-ศานติตลอดไป.
*10 ม.ค. 2551(เปลว สีเงิน)
---หนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์”
---เรื่องสุดท้าย มีบางท่านโทร.มาถามว่า บทสวดมนต์ "มหาสมัยสูตร" ที่ผมคัดลอกให้ไปสวดกันตอนปีใหม่นั้น จะสวดเฉพาะบทแปลภาษาไทยได้ไหม ขอตอบว่า "ได้เลย" ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น
---จะสวดบทภาษาบาลี หรือบทภาษาไทย สรรพคุณเหมือนกัน ๑๐๐% ทุกประการ โดยมีเงื่อนไขอยู่อย่างเดียว คือ ใจต้องมีสมาธิ ปีติ ศรัทธา ต่อการสวดนั้น คำว่าศรัทธาหมายความว่า
---ต้องไม่มีความสงสัย ข้องใจใดๆ ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และในสวรรค์-นรกว่ามีจริง หรือไม่มีจริง เป็นต้น
---และถ้าจิตถึงสมาธิในฐานศรัทธานั้นแล้ว บทสวดก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ
---แต่เอาหละ เราๆ ท่านๆ รวมทั้งผม ยังอยู่ในภาวะ "ผู้ต่ำต้อยในพุทธภูมิ" เหมือนลอยคอในทะเล ถึงว่ายเป็น แต่เอาพวงชูชีพใส่เอวไว้ด้วยก็ไม่เสียหายอะไร เรื่องสวดมนต์ก็เหมือนกัน หมั่นสวดไว้เถอะครับ เพราะบทสวดนั้นจะเป็นหลักให้ "ใจ" เราเกาะ
---บางท่านอาจสงสัย การสวดมนต์นั้น สวดในใจกับสวดเปล่งเสียง เหมือนหรือไม่เหมือนกัน "พระชุมพล พลปัญโญ" ท่านรวบรวมประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ "พุทธมงคลอานิสงส์" อย่างนี้ครับ
---หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์แห่งพระกรรมฐานทางภาคอีสานใต้ กล่าวแสดงอานิสงส์แห่งการสวดสาธยายพระพุทธมนต์ไว้ ดังนี้
---การสาธยายมนต์ หรือพุทธมนต์ จะเป็นผู้ใดสวดก็ตาม คือจะเป็นพระสงฆ์สวดตามกิจวัตรของพระสงฆ์เช้า-เย็น หรือชาวพุทธสวดเพื่อระลึกถึงพุทธคุณ ย่อมจะมีอานิสงส์แตกต่างกันดังต่อไปนี้
---ระลึกในใจ มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล
---สวดออกเสียงพอตัวเองได้ยิน มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนจักรวาล
---สวดออกเสียงธรรมดา มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนโกฏิจักรวาล
---สวดออกเสียงเต็มที่ มีอานุภาพแผ่ไปได้อนันตจักรวาล
---แม้แต่สัตว์ที่เสวยกรรมอยู่ในภพที่สุดแห่งอเวจีมหานรก ก็ยังได้รับความสุข เมื่อแว่วเสียงแห่งพระพุทธมนต์ ผ่านเข้าถึงชั่วขณะหนึ่ง-ครู่หนึ่ง ยังดีกว่าหาความสุขไม่ได้ตลอดกาลเป็นนิตย์
---ที่ผมคะยั้นคะยอให้ท่านสวดมนต์-สวดพรกันนั้น ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ คือตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นไปนี้ และอีกหลายเดือน เทพเทวดา ผู้หลักผู้ใหญ่ที่รักษาบ้านรักษาเมืองท่านคล้ายอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
---พูดง่ายๆ ก็คือ เทพผู้คุ้มครองบ้านเมืองทั้งหลาย ท่าน "ขาดกำลังใจ" น่ะครับ
---เราก็ต้องให้กำลังท่าน ให้ด้วยการสวดมนต์ภาวนา โดยเฉพาะ "มหาสมัยสูตร" ซึ่งเป็นบทสวดที่เทพเทวาในหมื่นจักรวาลนิยมชมชอบเพื่อสดับตรับฟังมากที่สุด
---เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์แสดงมหาสมัยสูตรนี้ ปรากฏว่า เฉพาะเทวดาที่ฟังแล้วบรรลุพระอรหัตผลตั้งแสนโกฏิ และที่บรรลุในชั้นธรรมลดหลั่นลงมาอีกสุดจะประมาณได้
---ฉะนั้น ถ้าเราช่วยกันสวดมหาสมัยสูตรมากๆ ก็เหมือนการชาร์ตแบต เป็นการให้กำลังเทพเทวดาที่รักษาบ้านรักษาเมืองอยู่ให้มีจิตใจพลิกฟื้น กระปรี้กระเปร่าด้วยโอสถพระพุทธมนต์
---และใครสวดมหาสมัยสูตรที่ไหน เทพเทวดาก็จะไปห้อมล้อมอยู่ที่นั่น ฉะนั้น ก่อนหลับ ก่อนนอน ท่านนั่งสวดมนต์อยู่ที่บ้าน ทั้งเทวดารักษาเมือง รักษาบ้านท่าน และเทวดาประจำตัวท่าน ก็จะมาห้อมล้อม แซ่ซ้องสาธุการอำนวยพรให้กับท่าน
---เทวดารักษาเรา เราก็ต้องรักษาเทวดา เข้าทำนอง "ถ้าเรารักษาความดี ความดีนั้นก็ย่อมรักษาเรา"
---เอาหละ..เราเคยคุยกันถึงเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปแล้ว โดยผมได้อัญเชิญ "พระบรมราโชวาท" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาให้ได้ทราบถึงแนวทางดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว ๒-๓ ตอน
---ทีนี้มาศึกษาตัวอย่างจากปฏิบัติการที่ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้กันบ้างดีไหม เผื่อพี่น้องร่วมชาติของเราที่พบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกขณะนี้จะได้กระจ่างในแนวทาง และจะได้มีกำลังใจพลิกฟื้นคืนสังคมชาติ
---"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ทรงสอน และทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไว้แล้วเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีโน่นด้วยซ้ำ แต่พวกเราไม่สนใจกันเอง ผมจะอัญเชิญคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระองค์ท่านมาให้ได้อ่านกันอีกครั้ง
---ยาว-ด้วยความละเอียดในเนื้อหาสุดจะประมาณค่าได้ ลงติดต่อกัน ๓ วันก็ไม่แน่ว่าจะจบ แต่ถ้าท่านได้อ่านจะต้องอุทานว่า "จบแล้วหรือ" เพราะกำลังเพลิดเพลิน ดื่มด่ำฉ่ำชื่นใจ ได้ทั้งความรู้ และทั้งตื้นตันในน้ำพระทัยรัก โอบเอื้อต่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน
---เริ่มตั้งแต่ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๒ มกราคมไปเลยนะครับ อาจติดต่อกันทุกวันบ้าง อาจมีข่าวสารอื่นแทรกเป็นบางวันบ้าง ท่านที่ตั้งใจจะ "สู่ชีวิตใหม่" ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เตรียมต้นทุน ๓ อย่างพอ คือ ๑.พอใจ-ใฝ่เพียร-เวียนดู-เป็นครูตัวเอง ๒.มีที่ดินทำกิน และ ๓.มีลมหายใจ ส่วนนอกนั้น "มีพร้อม" สำหรับคนที่พร้อม..เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง.
เนื้อหาโดยย่อ ตำนานมหาสมัยสูตร
(รวบรวมโดย พระมหาเหลา ประชาษฎร์)
---มหาสมัยสูตรปรากฎความในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกามหาวรรค ภายหลังการบรรลุอนุตราสัมมาสัมโพธิญาณของพระบรมศาสดา พระองค์ได้เสด็จจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก และเมื่อทราบทราบว่าพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาประชวรหนัก จึงเสด็จกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์อีกครั้งเพื่อเยี่ยมอา การพระพุทธบิดา พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก ทรงถวายพยาบาลพระพุทธบิดาตามพุทธวิสัย และโปรดให้พระพุทธบิดาได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมปฏิสัม ภิทาทั้งหลาย ในกาลต่อมาพระพุทธบิดาก็ปรินิพพานบนพระแท่นบรรทมภายใต้เศวตฉัตรนั้งเอง ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา พระพุทธองค์ตรัสว่า "บุคคลใดมีจิตปรารถนาพระโพธิญาณ จงอุตสาหะภิบาลบำรุงบิดามารดา ประพฤติกุศลสุจริตธรรม จักสมปรารถนาทุกประการ"
---รุ่งขึ้นอีกวัน ขณะทีพระองค์ประทับอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพันดุ์ เหล่าพระญาติข้างฝ่ายศากยะ และ โกลิยะที่ตั้งหลักแหล่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโรหิณีได้วิวาทกันเรื่องแย่งน้ำทำนา กษัตริย์ทั้งสองจึงยกกองทัพออกไปจะทำสงครามกัน เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุการณ์นั้นด้วยพระญาณ ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงแจ้งให้ใคร ๆ ทราบ เสด็จพุทธดำเนินแต่เพียงพระองค์เดียว ไปประทับนั่งขัดบัลลังก์ระหว่างกองทัพกษัตริย์ทั้งสองนคร
---ครั้นกองทัพชาวเมืองกบิลพัสดุ์และชาวเมืองโกลิยะเห็น พระองค์นั้น ต่างก็คิดว่าพระศาสดาผู้เป็นพระญาติ ผู้ประเสริฐของพวกเราเสด็จมา จึงทิ้งอาวุธเขาไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทั้งที่พระองค์ทรงทราบสถานการณ์ขณะนั้นดีแต่ก็ตรัสถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วตรัสสอนว่า มหาบพิตร พวกพระองค์อาศัยน้ำที่มีค่าน้อยแล้วทำให้กษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหายทำไมกัน
---ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัส ผันทนชาดก ทุททุภายชาดก และลฏุกิกชาดก เพื่อระงับการวิวาทของพระญาติทั้งสองฝ่าย และตรัสรุกขธรรมชาดก และวัฏฏชาดก เพื่อให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันว่า "หมู่ญาติยิ่งมากยิ่งดี ต้นไม้ที่เกิดในป่าแม้จะโตเป็นเจ้าป่า ถ้าตั้งอยู่โดดเดี่ยวย่อมถูกแรงลมพัดโค่นลงได้ และว่านกทั้งหลายมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ย่อมพาตาข่ายไปได้" และในที่สุดก็ตรัส อัตตทัณฑสูตร
---กษัตริย์เหล่านั้นได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความสังเวชพากันทิ้งอาวุธกล่าวว่า หากพระบรมศาสดา ไม่เสด็จมา พวกเราก็จะฆ่าฟันซึ่งกันและกันเลือดไหลนองเป็นสายน้ำ ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเห็นหน้าลูกเมียญาติพี่น้อง กษัตริย์ทั้งสองพระนครจึงถวายพระราชกุมาร 500 องค์ คือ ฝ่ายละ 250 องค์ ให้บรรพชา อุปสมบทกับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
---อรรถกถามหาสมัยสูตร เล่าถึงเหตุการณ์ที่ภิกษุราชกุมารเหล่านั้นบรรลุธรรม ไว้ว่า เมื่อพระพุทธองค์นำภิกษุราชกุมารเหล่านั้นมาสู่ป่ามหาวัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ภิกษูปูถวาย ในโอกาสทีสงัด ตรัสบอก กัมมัฏฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับกัมมัฏฐานแล้ว ต่างแยกย้ายกันไปเจริญวิปัสสนาตามเงื้อมผา และโคนไม้ในโอกาสที่เงียบสงัด และก็ทยอยบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ลุกขึ้นจากที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จนครบทั้ง 500 รูป
*อรรถถาได้อธิบายความคิดของพระที่ได้บรรลุพระอรหันต์ไว้ว่า พระผู้บรรลุพระอรหัตสิ้นกิเลสอาสวะทั้งหลายแล้ว ย่อมมีความคิดอยู่ 2 อย่างคือ
---1.มีความคิดว่า คนทุกคนตลอดจนเทวดาทั้งหลาย ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมตามที่เราบรรลุได้เช่นเดียวกัน
---2.พระที่บรรลุธรรมไม่ประสงค์จะบอกคุณธรรมที่ตนได้บรรลุ แก่ผู้อื่น เหมือนคนที่ฝังขุมทรัพย์ไว้ไม่ต้องการให้ใครรู้ที่ฝังขุมทรัพย์ของตน
---เมื่อเทวดาทั้งหลายทราบว่า พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ ์ พร้อมด้วยภิกษุ 500 รูป ล้วนเป็นพระอรหัตบวชจากราชตระกูล ต่างก็กล่าวว่า นี้เป็นสมัยแห่งการประชุมใหญ่ในป่ามหาวัน พวกเราจักไปชมความงดงามของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ผู้หมดจด ต่างก็แต่งคาถากล่าวสรรเสริญ พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก เทวดาที่มาประชุมกันใวนนั้นมีจำนวนมากมาย ภิกษุบางรูปก็เห็นเทวดาร้อยหนึ่ง บางรูปก็เห็นพันหนึ่ง บางรูปก็เห็นหมื่นหนึ่ง บางรูปก็เห็นแสนหนึ่ง บางรูปก็เห็นไม่มีที่สิ้นสุด แตกต่างกันไปตามกำลังญาณของแต่ละองค์
---ในยุคของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะมีการประชุมเทวดาจำนวนมากเช่นนี้ ก็เพียงครั้งเดียว พระพุทธองค์ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า เทวดาในแสนจักรวาลมาประชุมกัน เพื่อชมตถาคตและหมู่ภิกษุสงฆ์ เทวดาประมาณเท่านี้แหละได้เคยประชุมกันเพื่อชม พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตกาลแล้ว และพวกเทวดาประมาณเท่านั้นแหละจักประชุมกันเพื่อชมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล แล้วพระองค์ก็ทรงแนะนำเทวดาแต่ละจำพวกให้ภิกษุทั้งหลายฟังตามลำดับ ตั้งแต่กุมมเทวดาไปจนถึงพรหมโลก
---ขณะที่เทวดาจากหมื่นจักรวาลมาประชุมกันจนครบนั้น ท้องฟ้าโปร่งใส่ไม่มีเมฆหมอก ก็กลับเกิดเมฆฝนคำรณคำรามกึกก้องฟ้าแลบแปล๊บพราย พระพุทธองค์ทรงพิจารณาทราบว่า หมู่มารก็ได้มาด้วย จึงทรงแนะนำให้ภิกษุรู้จักพญามารเอาไว้ พญามารกำลังสั่งบังคับเสนามารให้ผูกเหล่าเทวดาไว้ในอำนาจแห่งกามราคะ แต่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานไม่ให้เหล่าเทวดาเห็น พญามารไม่ได้ดั่งใจจึงทำให้เกิดฟ้าร้องกึกก้องกัมปนาทไปทั่ว โดยปกติในที่จะไม่มีการบรรลุมรรคผล พระพุทธองค์จะไม่ทรงห้ามมารแสดงสิ่งอันน่ากลัวของมาร แต่ในที่จะมีการบรรลุมรรคผล พระองค์จะทรงอธิษฐานไม่ให้ใครรู้เห็นสิ่งที่พญามารกำ ลังทำ เนื่องจากการประชุม ใหญ่ของเทวดาครั้งนั้น จะมีเทพบรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐานไม่ให้พวกเทวดา รับรู้สิ่งอันน่ากลัวของหมู่มารนั้น พญามารนั้นจึงกลับไปด้วยความเดือดดาลฯ
*สวดเมื่อไร สวดแล้วได้อะไร
---มหาสมัยสูตร เป็นสูตรว่าด้วยสมัยเป้นที่ประชุมใหญ่ของเหล่าเทพ ในยุคของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีการประชุมใหญ่ของเหล่าเทวดาทั้งหลายเช่นนี้เพียงครั้งเดียว เทวดาทั้งหลายจึงพากันคิดว่าพวกเราจะฟังพระสูตรนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงมหาสมัยสูตรจบ เทวดาจำนวนหนึ่งแสนโกฎิได้บรรลุพระอรหันตฺ
---พระสูตรนี้จึงเป็นที่รักที่ชอบใจของพวกเทวดา เทวดาทั้งหลายต่างก็คิดว่าพระสูตรของตน เมื่อสวดพระสูตรนี้จะทำให้เหล่าเทวดาทั้งหลายประชุมกัน เมื่อเทวดาประชุมกันก็จะทำให้สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายถอยห่างออกไป เป็นการป้องกันสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้เข้ามาใกล้ตัวเรานั้นเอง
---พระอรรถกถาจารย์จึงแนะนำว่า "มหาสมัยสูตรนี้ เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดา ในสถานที่ใหม่เอี่ยม เมื่อจะกล่าวมงคลกถา ควรสวดพระสูตรนี้" หมายความว่าในสถานที่สำคัญที่จะประกอบกิจใหม่ หรือในสถานใดที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ เมื่อจะสวดมงคลกถาในสถานที่เช่นนี้ควรสวดมหาสมัยสูตรนี้
---เนื่องจากมหาสมัยสูตรเป็นสูตรใหญ่ จึงไม่นิยมใช้สวดในงานทำบุญทั่ว ๆ ไป แต่จะนิยมนำไปสวดเฉพาะในพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอยู่เย็นเป็นสุขของทางบ้านเมืองเป็นหลัก นอกนั้นแล้ว การเจริญพระพุทธมนต์ยังเป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรมให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ ก็ใช้วิธีจิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นเกาะแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความรัก โลภ โกรธ หลง กามราคะ อาฆาตพยาบาท ได้โอกาสแทรกเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตมีความผ่องใส เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ คือสงบจากกามราคะ อาฆาตพยาบาท หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่าย จึงชื่อว่า "จิตเป็นสมาธิ"
*พระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัย
---พระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัย หมายถึงพระสูตรเมื่อแสดงออกมาแล้ว มีเทวดาบรรลุมรรคผลกันมาก อย่างน้อยๆ ก็ประมาณ ๑๘ โกฏิ อย่างมากก็คือไม่สามารถจะนับจำนวนได้ มีอยู่ ๖ สูตรคือ
---๑.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
---๒.มงคลสูตร
---๓.มหาสมัยสูตร
---๔.ราหุโลวาทสูตร
---๕.ปราภวสูตร
---๖.สมจิตตสูตร
*ห้าสูตรแรกนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงแสดงเอง
---แต่สูตรสุดท้าย คือสมจิตตสูตรนั้น พระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาซึ่งเลิศด้วยปัญญาเป็นผู้แสดง
---ความสำคัญของพระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัย ก็คือมีเทวดาบรรลุมรรคผลจากพระสูตรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และก็เป็นธรรมดาที่ว่า ผู้ใดบรรลุมรรคผลเพราะพระสูตรใด ก็จะมีความชอบในพระสูตรนั้นเป็นพิเศษ แสดงว่าเทวดาที่ชอบพระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัยนั้น จะมีมากกว่าพระสูตรทั่วๆ ไป ฉะนั้นท่านโบราณจารย์ท่านจึงแนะนำให้พุทธศาสนิกชน นำพระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัยมาสวดกันบ่อยๆ เพราะว่าผู้สวดจะเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาจำนวนมาก เทวดาทั้งหลายก็จะคุ้มครองรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข จะประกอบกิจการอันใด ก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยเทวานุภาพ และเมื่อนำไปสวดในสถานที่ใด จะทำให้บังเกิดเป็นมงคลสถานเจริญรุ่งเรือง สถานที่นั้นและบุคคลในสถานที่นั้น จะได้รับการคุ้มครองรักษาจากเทวดาทั้งหลาย
---พระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัยที่นิยมนำมาสวดกัน คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มงคลสูตร และมหาสมัยสูตร สำหรับธัมมจักกัปปวัตนตสูตรและมงคลสูตรนั้น มีพิมพ์เผยแพร่แพร่หลายตามหนังสือสวดมนต์ทั่วไป อย่างเช่นในหนังสือมนต์พิธี สามารถหาดูได้ง่าย แต่สำหรับมหาสมัยสูตรนั้น จะมีครบถ้วนเต็มสูตรอยู่ในหนังสือสวดมนต์ ๑๒ ตำนานและหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ในหนังสือมนต์พิธีนั้นไม่มีมหาสมัยสูตรครบเต็มสูตรมีแต่ท่อนท้าย จะปรากฏอยู่ในหนังสือมนต์พิธีว่า ท้ายมหาสมัยสูตร
---ในหนังสือเล่มนี้ ได้นำธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนท้ายของมหาสมัยสูตร และเต็มสูตรของมงคลสูตรมาพิมพ์เอาไว้ พร้อมทั้งจะอธิบายมงคลทั้ง ๓๘ ประการ เพื่อประโยชน์แก่ท่านพุทธบริษัทจะนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย และท่านสาธุชนท่านใดจะนำมงคลสูตรไปสวดทุกวันก็ขออนุโมทนา จะบังเกิดเป็นมงคลชีวิตแก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง วิธีการสวดมงคลสูตร จะเริ่มสวดแต่เริ่มต้นตรง เอวัมเม สุตัง ก็ได้ หรือจะลัดมาเริ่มต้นสวดตรง อะเสวะนา จะ พาลานัง ก็ได้เช่นเดียวกัน
---บัดนี้จะได้ชักนิทานมาแสดงแก่ท่านสาธุชน ให้เห็นถึงความที่มหาสมัยสูตรนั้นเป็นที่รักที่ชอบใจแก่เทวดาทั้งหลาย เพื่อจะได้พอกพูนศรัทธาปสาทะแก่ท่านสาธุชน นิทานเรื่องนี้มาในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค ตอนมหาสมัยสูตร ท่านกล่าวว่า มหาสมัยสูตรนี้เป็นที่รักที่ชอบใจของพวกเทวดา ฉะนั้นในสถานที่ใหม่เอี่ยม (เช่นวัดเริ่มสร้าง บ้านสร้างใหม่) เมื่อจะกล่าวมงคล ก็พึงกล่าวแต่พระสูตรนี้นั่นเทียว
---ได้ยินว่า ในช่วงเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังแสดงมหาสมัยสูตรอยู่นั้น พวกเทวดาพากันคิดว่า พวกเราจะฟังพระสูตรนี้ แล้วก็เงี่ยโสตลงฟัง ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจบ เทวดาจำนวนหนึ่งแสนโกฏิได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ส่วนมรรคผลเบื้องต่ำทั้ง ๓ คือ อนาคามี สกิทาคามี โสดาบันนั้น จำนวนเทวดาที่บรรลุไม่สามารถที่จะนับได้ ฉะนั้นเพราะเหตุนี้มหาสมัยสูตรจึงเป็นสูตรหนึ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลายเป็นอันมาก
---มีเรื่องเล่าว่า ที่วัดโกฏิบรรพต มีเทพธิดาองค์หนึ่งอยู่ที่ต้นกากะทิง ใกล้ประตูถ้ำกากะทิง ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งท่องมหาสมัยสูตรภายในถ้ำ เทพธิดาองค์นั้นได้ฟังแล้ว ในเวลาจบพระสูตรเทพธิดาก็ได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง
---ภิกษุหนุ่มจึงถามว่า "นั่นใคร"
---เทพธิดาตอบว่า "ดิฉันเป็นเทพธิดาเจ้าค่ะ"
---ภิกษุหนุ่มถามอีกว่า "ทำไมจึงได้ให้สาธุการ"
---"ท่านเจ้าคะ ดิฉันได้ฟังพระสูตรนี้ในวันที่สมเด็จพระทศพลประทับนั่งแสดงในป่ามหาวัน วันนี้ได้ฟังอีก ธรรมบทนี้ท่านถือเอาดีแล้ว เพราะไม่ทำให้อักษรแม้ตัวเดียวคลาดจากคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ที่ป่ามหาวันเมื่อครั้งโน้นเลย"
---ภิกษุถามอีกว่า "เมื่อพระทศพลกำลังแสดงอยู่ คุณได้ฟังหรือ"
---"อย่างนั้น เจ้าค่ะ"
---"เขาว่าเทวดาเข้าประชุมมาฟังกันมาก แล้วคุณยืนฟังที่ไหน"
---"ท่านเจ้าคะ ดิฉันเป็นรุกขเทวดาอยู่ในป่ามหาวัน มีศักดิ์น้อย ก็เมื่อเทวดาชั้นผู้ใหญ่กำลังพากันมา ดิฉันไม่ได้ที่ว่างในชมพูทวีปเลย ต้องถอยร่นไปสู่ตามพปิณณิทวีป ยืนริมฝั่งที่ท่าชัมพูโกล แต่แม้จะถอยมาถึงท่านั้นแล้วก็ตาม เมื่อเทวดาชั้นผู้ใหญ่ทยอยมาเพิ่ม ดิฉันก็ต้องถอยร่นมาโดยลำดับ แช่น้ำทะเลลึกแค่คอ ทางส่วนหลังของหมู่บ้านใหญ่ในจังหวัดโรหณะ แล้วก็ยืนฟังในที่นั้น"
---"จากที่ซึ่งคุณยืนอยู่มันไกลนัก แล้วคุณเห็นพระศาสดาหรือ เทพธิดา"
---"ทำไมจะไม่เห็นท่าน ด้วยพุทธานุภาพนั้น ดิฉันรู้สึกว่า พระศาสดาซึ่งกำลังทรงแสดงธรรมอยู่ในป่ามหาวัน ทรงแลดูดิฉันโดยเฉพาะเจาะจงอยู่เสมอ จนดิฉันรู้สึกเกรงและละอาย"
---ภิกษุจึงถามต่อว่า "เขาเล่าว่า วันนั้นมีเทวดาแสนโกฏิสำเร็จพระอรหัตผล แล้วคุณล่ะตอนนั้นได้สำเร็จพระอรหัตผลด้วยหรอกหรือ"
---"ไม่หรอกค่ะ ท่านผู้เจริญ"
---"สำเร็จอนาคามิผล กระมัง"
---"ไม่หรอกค่ะ ท่านผู้เจริญ"
---"เห็นจะสำเร็จสกิทาคามิผล กระมัง"
---"ไม่หรอกค่ะ ท่านผู้เจริญ"
---"เขาว่า พวกเทวดาที่สำเร็จมรรคผลตั้งแต่โสดาบันไปจนถึงอนาคามีนั้นไม่สามารถนับจำนวนได้ แล้วคุณล่ะเทพธิดา สงสัยจะได้บรรลุโสดาบันกระมัง"
---ซึ่งความจริง ในวันนั้นเทพธิดาองค์นี้ได้บรรลุโสดาปัตติผล เมื่อถูกภิกษุถามเจาะจงเข้าจึงรู้สึกเขินอาย เทพธิดาจึงได้กล่าวตัดบทว่า "พระคุณเจ้าไม่น่าถามซอกถามแซก"
---ลำดับนั้น ภิกษุนั้นจึงกล่าวกับเทพธิดาว่า "นี่แน่ะ คุณเทพธิดา คุณจะสามารถแสดงกายให้อาตมาเห็นได้หรือไม่"
---เทพธิดาตอบว่า "จะแสดงหมดทั้งตัวไม่ได้หรอกค่ะท่านผู้เจริญ ดิฉันจะแสดงแก่พระคุณเจ้าแค่ข้อนิ้วมือ" ว่าแล้ว เทพธิดาก็เอานิ้วสอดเข้าไปในถ้ำ นิ้วมือก็ปรากฏแก่ภิกษุนั้นเหมือนกับว่าพระจันทร์พระอาทิตย์ขึ้นเป็นพันๆ ดวง เทพธิดากล่าวว่า "จงอย่าประมาทในธรรมนะ ท่านเจ้าคะ" แล้วไหว้ภิกษุหนุ่ม ก่อนจากไป
---อันว่ามหาสมัยสูตรนี้ ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลายอย่างนี้ เพราะว่าเทวดาทั้งหลายย่อมถือว่าพระสูตรนั้นเป็นของเราด้วยประการฉะนี้แล
---อนึ่งมิใช่แต่มหาสมัยสูตร พระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัยย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของหมู่เทวดาทั้งหลายเช่นเดียวกัน ฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลายจงปลูกศรัทธาให้บังเกิดขึ้นในดวงจิต หมั่นสวดสาธยายพระสูตรที่เป็นธัมมาภิสมัยอยู่เถิด ท่านจะเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดา เทวดาทั้งหลายจะคอยคุ้มครองปกปักรักษาให้อยู่ดีมีสุขเจริญรุ่งเรือง คิดจะประกอบกิจการอันใดก็จะสำเร็จผลเป็นอัศจรรย์เหนือมนุษย์ทั้งปวง ด้วยอำนาจเทวานุภาพช่วยเหลือเกื้อกูลดังนี้แล
------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
ที่มา...http://www.geocities.com/palapanyo/files/anisong/ddhampis.html
http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/praythaisoadmon05.htm
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัปเดทวันที่ 29 ส.ค. 59
ความคิดเห็น