/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

น้ำตกอโนดาดวัดเขาไกรลาศ สุพรรณบุรี(ใหม่)คลิป

น้ำตกอโนดาดวัดเขาไกรลาศ สุพรรณบุรี(ใหม่)คลิป

ารท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์







 

*ความหมายและองค์ประกอบ


---ในช่วงที่กระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แพร่ขยายไปทั่วโลก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาและอนุรักษ์การท่องเที่ยว โดยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา เรื่อง Ecotourism ระยะแรก คณะทำงานมีมติ ใช้คำจำกัดความ Ecotourism ในความหมายภาษาไทยว่า "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์"โดยมีความประสงค์ ที่จะสื่อความหมายให้กับชาวไทยทุกระดับเข้าใจว่า รูปแบบการท่องเที่ยว Ecotourism นับเป็นรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยว อย่างมีคุณภาพเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ในการรับรู้ของชาวไทย คือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์


---ต่อมา ททท.ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์  และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.)ทำการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบายการท่องเที่ยว เพื่อรักษาระบบนิเวศและขอให้ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดความหมาย ในที่สุดได้ความหมาย ของคำว่า Ecotourism คือ  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หมายถึง   การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบในแหล่งธรรมชาติ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่อง กับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การจัดการอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึก ต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน


*องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


---องค์ประกอบหลักที่สำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 4 ประการ คือ


*1.องค์ประกอบด้านพื้นที่


---เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว ที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น (Identity or Authentic or Endemic or Unique) ทั้งนี้รวมถึง แหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ (Eco-system)ในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น องค์ประกอบด้านพื้นที่ จึงเป็นการท่องเที่ยวที่มีพื้นฐานอยู่กับธรรมชาติ (Nature-based tourism)


*2.องค์ประกอบด้านการจัดการ


---เป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (Responsibletravel)โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีการจัดการที่ยั่งยืน ครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันและกำจัดมลพิษ และควบคุมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีขอบเขต จึงเป็นการท่องเที่ยวที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน (Sustainably managed tourism) เพื่อให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (Responsible travel) ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม


*3.องค์ประกอบด้านกิจกรรมและกระบวนการ


---เป็นการท่องเที่ยวทีมีกระบวนการเรียนรู้ (Learningprocess)โดยมีการให้การศึกษา เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึก ที่ถูกต้องต่อนักท่องเที่ยว ประชาชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อมเพื่อศึกษา (Environmental education-based tourism)


*4.องค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วม


---เป็นการท่องเที่ยวที่มีการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนท้องถิ่น (Involvement of local community or People participation) ที่มีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติตามแผน ได้รับประโยชน์ ติดตามตรวจสอบ ตลอดจนร่วมบำรุงรักษาทรัพยากรท่องเที่ยว อันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในท้องถิ่น ทั้งกระจายรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิตและการได้รับผลตอบแทน เพื่อกลับมาบำรุงรักษาและจัดการ แหล่งท่องเที่ยวด้วย และในที่สุดแล้วท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในการควบคุมการพัฒนาการท่องเที่ยว อย่างมีคุณภาพ ท้องถิ่นในที่นี้ เริ่มต้นจากระดับรากหญ้า (Grass root) จนถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจรวมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมชุมชน (Community participation-based tourism)


---หากการท่องเที่ยวใด มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น จัดได้ว่า เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สมบูรณ์ หากขาดหรือปราศจากข้อใดข้อหนึ่งไป ความสมบูรณ์จะลดน้อยลง จนอาจกลายเป็นการ ท่องเที่ยวรูปแบบอื่น ๆ


---ลักษณะเฉพาะประการหนึ่ง ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การมุ่งเน้นในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เพื่อประสานการท่องเที่ยวกับความพอใจ ในการเรียนรู้และสัมผัสกับระบบนิเวศ (Eco-system)มีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับความสนใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์ ในการเอาชนะธรรมชาติ (ที่รวมเอาลักษณะวัฒนธรรม ที่มีวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ไว้)


---ลักษณะเฉพาะนี้ จึงทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่ใช่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม (Cutural tourism และ Historical tourism)แม้ว่า จะมีความคาบเกี่ยวกัน ในพื้นที่ก็ตาม ในทำนองเดียวกัน การท่องเที่ยวธรรมชาติ (Natural tourism)จึงไม่ใช่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการการท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงมีบางส่วนจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ หรือแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งๆ อาจมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ ได้


*จากลักษณะดังกล่าว จึงมีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้


---1.การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่แตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบปกติหรือแบบประเพณีนิยม ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้น ความพอใจของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และเน้นการส่งเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ


---2. การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับการท่องเที่ยวแบบคณะใหญ่ (Mass tourism) เพราะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม่ได้ถูกจำกัดที่ขนาดของการท่องเที่ยว แต่จำกัดที่รูปแบบกิจกรรมและขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน หรือมากกว่านักท่องเที่ยวคณะใหญ่ หากปราศจากการจัดการที่ดี การจัดการกับการท่องเที่ยวคณะใหญ่ในทิศทางและภายใต้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ จัดเป็น Mass ecotourism


---3.การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่จำเป็นต้องเป็นการจัดการที่ง่ายๆ ราคาถูก มีรูปแบบการท่องเที่ยว ที่ยากลำบาก มีรายได้จากการท่องเที่ยวน้อย เพียงแต่มีการจัดการที่ดี มีการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประสานความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวและให้ประโยชน์ที่เหมาะสมตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยวแล้ว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อาจตอบสนองนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม ทุกระดับและมีรายได้สูงได้เช่นกัน


---4.การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงให้ความสำคัญในการให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกมากกว่าการให้ความพึงพอใจ อย่างไม่มีขอบเขตของนักท่องเที่ยว ดังนั้น จึงเป็นการท่องเที่ยวที่ต้องมีการประสานความเข้าใจกันอย่างเหมาะสม ตลอดกระบวนการ


---จากการศึกษา กำหนดความหมายและนโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว ทำให้ทราบว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Conservation tourism) ที่หมายถึง รูปแบบของการท่องเที่ยวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการจัดการการท่องเที่ยวที่รักษาคุณภาพ ทั้งการท่องเที่ยว ในแหล่งธรรมชาติ (Natural - based tourism) และแหล่งวัฒนธรรม (Cultural - based tourism) อันจะนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable tourism) ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุนทรียภาพ โดยใช้ทรัพยากรอันทรงคุณค่า อย่างชาญฉลาดสามารถรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้นานที่สุด เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และใช้ประโยชน์ได้ตลอดกาล ยาวนานที่สุด


*กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


---กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถกระทำได้หลายรูปแบบในพื้นที่ธรรมชาติ ที่มีระบบนิเวศต่าง ๆ กัน เช่น กลุ่มระบบนิเวศป่าเขา จะเน้นกิจกรรมที่อาศัยทรัพยากร นันทนาการ ประเภท ป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ น้ำตกต่าง ๆ สภาพภูมิทัศน์ ของลักษณะสัณฐานที่ดิน (Land Forms)และสัณฐานทางธรณี ที่เป็นลักษณะเด่น แปลกตา หรือลักษณะเด่น ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรม ของชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่เป็นหลักสำคัญ


---ส่วนกลุ่มระบบนิเวศแบบเกาะแก่ง ชายฝั่ง มักจะได้รับความสนใจในด้านทรัพยากรทาง ทะเล (Marine Resources) ที่ยังคงสภาพธรรมชาติสมบูรณ์สวยงาม เช่น ปะการัง ปลาสวยงาม ชายหาดที่สวยงาม


---ส่วนสภาพป่า-เขา หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ จะได้รับความสนใจ เป็นอันดับรองลงมา ดังนั้น กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะเน้นไปในส่วนที่เป็นชายฝั่ง (Wetland)กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ได้รับความนิยมมาก คือ การดูนกต่าง ๆ โดยเฉพาะ นกต่างถิ่นที่หาดูได้ยาก


---การพิจารณาว่า กิจกรรมการท่องเที่ยวใด ควรที่จะพัฒนาส่งเสริมให้เกิดขึ้น ในพื้นที่ธรรมชาติ ภายใต้แนวความคิดในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้น ควรพิจารณาปัจจัยหลัก 2 ประการ กล่าวคือ


---1.ปัจจัยเกี่ยวกับพื้นที่และทรัพยากร นันทนาการในพื้นที่ที่จะรองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecotourism Site) ทั้งนี้ สภาพดั้งเดิมและคุณค่าที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ เป็นหัวใจของกิจกรรม ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ดังนั้น ในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่แม้จะมีความงดงาม แต่ถ้าหากมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างมาก จนกระทั่งรูปลักษณ์เดิมสูญเสีย เหล่านั้นจะไม่อยู่ในเกณฑ์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


---นอกจากนั้น กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะต้องไม่ทำให้พื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่เสื่อมโทรมลงไป จนไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก พื้นที่ธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อจัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น แหล่งพืช สัตว์ป่าหายาก บริเวณที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ฯลฯ ควรที่จะละเว้นการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว


---2.ปัจจัยเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ควรส่งเสริม นอกจากมุ่งให้นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลิน พึงพอใจและใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว ควรเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสเรียนรู้กับธรรมชาติ ไม่มากก็น้อย โดยผ่านทางโปรมแกรม สื่อความหมายธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ


---อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในพื้นที่ธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องพิจารณากิจกรรมการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องของการเรียนรู้ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อมประกอบกันไป เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้นักท่องเที่ยว ได้รับความเพลิดเพลินมากขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่า กิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  กล่าวคือ เป็นกิจกรรมที่กระทำในพื้นที่ธรรมชาติ มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อกลุ่มกิจกรรม เพื่อไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ


---กิจกรรมเสริมดังกล่าว อาจจัดกลุ่มได้เป็น กลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยว ที่เน้นการใกล้ชิด ชื่นชมธรรมชาติ (Appreciative Recreational Activities) และกลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยวที่เน้นการผจญภัย ตื่นเต้น ท้าทายกับธรรมชาติ (Adventurous Recreational Activities) สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (กิจกรรมหลัก) กิจกรรมการท่องเที่ยวแบบชื่นชมธรรมชาติ (กิจกรรมเสริม) และกิจกรมผจญภัยตื่นเต้น (กิจกรรมเสริม) พอที่จะสรุปได้ดังนี้


*กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

(กิจกรรมหลัก)


---1.กิจกรรมการเดินป่า (Hiking / Trekking)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นการเดินป่าระยะใกล้ ( 2 กิโลเมตรขึ้นไป)เป็นกิจกรรม  ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยการนำตัวเองไปสู่ธรรมชาติด้วยเส้นทางเดินเท้า ที่ตัดผ่านเข้าไปในป่าที่มีจุดสวยงาม ดึงดูดความสนใจตามธรรมชาติรายทาง นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้สรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติจากไกด์นำทาง ที่มีความรู้ด้านนิเวศวิทยาและชำนาญพื้นที่เป็นอย่างดี กิจกรรมเดินป่ายังแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ การเดินป่าที่สมบุกสมบัน มีจุดมุ่งหมายสร้างความตื่นเต้นให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นการเดินป่าในเส้นทางที่ค่อนข้างยากลำบาก ท้าทายความสามารถของนักท่องเที่ยว เช่น การปีนป่าย หรือเดินขึ้นลงเขาที่สูงชัน ฯลฯ


---ส่วนกิจกรรมเดินป่า  ควรมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดต่อกลุ่มไม่เกิน 15 คนและมีไกด์ท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับท้องถิ่น   ตลอดจนมีความรู้ด้านนิเวศวิทยา  ที่จะให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวระหว่างทางได้เป็นอย่างดี กิจกรรมเดินป่า อาจมีการพักแรมในป่า สิ่งของอุปโภคทั้งหลายจะต้องนำออกจากป่าทั้งหมด รวมทั้งเศษขยะต่าง ๆ จากการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะของที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีถุงหรือภาชนะที่จะเก็บขยะเหล่านั้น ออกจากป่าให้หมด ทุกครั้งไป


---การจัดเส้นทางเดินเท้าในป่า ควรมีความกว้างขนาดหนึ่งหรือสองคนเดิน และคงสภาพเดิมไว้มากที่สุด ไม่ควรตัดต้นไม้กิ่งไม้ออกโดยไม่จำเป็น ไม่ควรตัดเส้นทางเดินเท้า ผ่านจุดที่มีระบบนิเวศเปราะบาง หรือเป็นแหล่งพืช / สัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะบริเวณที่จำเป็น สำหรับสัตว์ป่าในการดำรงชีพและสืบพันธุ์ ซึ่งถ้ามนุษย์ผ่านเข้าไปแล้ว จะรบกวนกิจกรรมทางธรรมชาติของสัตว์ป่าเหล่านั้น


---ควรกำหนดเส้นทางผ่านหรือมีมุมมองเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ สภาพภูมิทัศน์ที่งดงามและแหล่งน้ำ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายเส้นทางเดินป่า ไม่ควรตัดผ่านจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของเส้นทางเดินป่า ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ห้องสุขา ที่นั่งพักผ่อน และป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรเป็นผู้กำหนดเส้นทางเดินป่าที่เหมาะสมและดูแลสภาพของเส้นทางเดินป่าให้ใช้การได้ ผู้ที่ควรมีบทบาทสำคัญ ในการรักษาเส้นทางเดินป่า คือ ไกด์นำเดินป่าและนักท่องเที่ยว ที่จะต้องช่วยรักษาความสะอาดและไม่ทำลายสภาพธรรมชาติต่าง ๆ และเข้าใจถึงการปฏิบัติตนเมื่อท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติเหล่านั้น

---2. กิจกรรมศึกษาธรรมชาติ (Nature Education)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่ได้สนับสนุนให้นักท่องเที่ยว นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินจากการได้มาเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในเรื่องต่างๆ ผ่านทางโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นในพื้นที่


---สิ่งอำนวยความสะดวก ที่ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทนี้ คือ  ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (Visitor-Center)ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ   ณ จุดต่าง ๆ ที่น่าสนใจ (Wayside Exhibit) นิทรรศการกลางแจ้ง (Outdoor Exhibit) ตลอดจนเส้นทางเดินเท้า ที่จัดทำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ ในพื้นที่ (Nature Interpretive Trail)


---ลักษณะเส้นทางเดินเท้าดังกล่าว ควรเดินได้อย่างไม่ลำบากมากนัก ตัดผ่านจุดที่น่าสนใจและสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้ อาจจัดให้มีป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ เพื่ออธิบายและ /หรือให้ความรู้ ที่ไม่ยากแก่การเข้าใจ แก่นักท่องเที่ยวทั่วไปตลอดเส้นทาง หรือจัดทำเป็นเอกสารแผ่นพับให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาด้วยตนเอง (Self - Guided Trail) เส้นทางเดินเท้าดังกล่าว ไม่ควรมีระยะทางไกลนัก (ประมาณ 1-2 กิโลเมตร) ควรจัดเส้นทางเป็น loop (เข้า - ออกทางเดียว)


---การดูแล บำรุงรักษา ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และนิทรรศการกลางแจ้ง เป็นหน้าที่ ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ การจัดโปรแกรมสื่อความหมายประเภทต่างๆ ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาจได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน การดูแลรักษาเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ร่วมกับนักท่องเที่ยว ตลอดจนไกด์นำเที่ยว (ถ้ามี) หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่รับผิดชอบให้เส้นทางเดินเท้าดังกล่าว อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี ไม่ทรุดโทรม ดูแลเรื่องความสะอาด เช่น จัดเตรียมถังขยะ ไว้ตามจุดที่เหมาะสมและมีการกำจัดขยะอย่างสม่ำเสมอ


---นักท่องเที่ยวมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ รักษาความสะอาด และไม่กระทำพฤติกรรมเชิงทำลายต่าง ๆ เช่น ถอนป้ายทิ้ง ขีดฆ่า / เขียนสิ่งต่าง ๆ ลงบนป้าย หิน หรือต้นไม้ รวมทั้งไม่ส่งเสียงดังหรือนำเครื่องเสียง เครื่องดนตรีต่าง ๆ ไปเปิดรบกวนความสงบตามธรรมชาติ ไกด์นำเที่ยวมีหน้าที่ ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว ก่อนที่จะเข้าไปทำกิจกรรม กิจกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ การควบคุมดูแลความเป็นระเบียบของนักท่องเที่ยว ขึ้นกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ


---3.กิจกรรมถ่ายรูปธรรมชาติ บันทึกเทปวิดีโอ เทปเสียงธรรมชาติ


(Nature Photography, Video Taping and Sound of Nature Audio Taping)


---ลักษณะกิจกรรม เป็นการถ่ายรูปและการบันทึกเทปวิดีโอวิวธรรมชาติ และสิ่งที่น่าสนใจ อันเป็นรายละเอียดอยู่ในธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ป่า พืชหายาก และรอยเท้าสัตว์ป่า เป็นต้น การบันทึกเสียงธรรมชาตินิยมทั้งเสียงน้ำตก น้ำไหล เสียงนก แมลง และสัตว์ป่าต่าง ๆ


---สิ่งอำนวยความสะอาด ที่ควรจัดเตรียมสำหรับกิจกรรมประเภทนี้ คือ เส้นทางที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายรูปธรรมชาติและบันทึกเสียงข้อมูล เกี่ยวกับแหล่งหรือจุดที่บันทึกได้ดี และ / หรือสามารถจะถ่ายรูปได้สวยงาม ช่วงระยะเวลาที่ควรถ่ายรูป ตลอดจนรายละเอียดหรือประวัติที่น่าสนใจ ของสิ่งที่ควรบันทึกภาพ / เสียงไว้ แนวทางในการดูแลรักษาเส้นทางเดินเท้า เพื่อกิจกรรมประเภทนี้เป็นไปในลักษณะเดียวกับการดูแลรักษาเส้นทางเดินเท้า เพื่อการศึกษาธรรมชาติ


---4.กิจกรรมส่อง / ดูนก (Bird Watching)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมเฉพาะสำหรับผู้มีความสนใจในเรื่องนก สิ่งดึงดูดที่สำคัญ คือ นกชนิดต่าง ๆ ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น นกอพยพ และนกหายาก เส้นทางเดินเท้า ที่รองรับกิจกรรมประเภทนี้ ควรมีขนาดกว้าง 2 คนเดิน ไม่ควรมีการพัฒนาใด ๆ นอกจาก จุดหยุดพักบางจุด เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนกต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น กลุ่มนักดูนก ไม่ควรมีขนาดใหญ่มากนัก ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 5 คน ต่อกลุ่ม ควรมีมัคคุเทศก์นำทาง ที่มีความรู้เกี่ยวกับนกและธรรมชาติของนก ที่มีในพื้นที่สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่มีความชำนาญในกิจกรรมประเภทนี้มาก่อน


---ตลอดจนมีกล้องส่องตาดูนก และคู่มือดูนก (Bird Guides) เตรียมไว้ ให้กลุ่มและเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการยืม เพื่อใช้ในกิจการด้านการอนุรักษ์นกและถิ่นที่อยู่อาศัยของนก ประการสำคัญ การกำหนดเส้นทางเดินเท้า ไม่ควรผ่านบริเวณทำรังหรือวางไข่ของนก ตลอดจน ควรมีการควบคุมเข้มงวด ไม่ให้มีการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่ไม่ควรรบกวน นก เช่น ฤดูวางไข่ ผสมพันธุ์ เป็นต้น


---5.กิจกรรมศึกษา / เที่ยวถ้ำ (Cave Exploring / Visiting)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องของถ้ำ เช่น กระบวนการเกิดถ้ำ ลักษณะของหิน /แร่ และสัณฐานธรณี ประเภทของถ้ำ สิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ การดูแลรักษาถ้ำ ฯลฯ นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังได้รับความเพลิดเพลินและตื่นตากับความงามแปลก เด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำอีกด้วย การเที่ยวถ้ำ โดยเฉพาะถ้ำที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอและเป็นถ้ำที่ลึกและวกวน จำเป็นต้องมี มัคคุเทศก์นำทางเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว


---การจัดการถ้ำ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยอำนวย ความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และช่วยในการดูแลรักษาถ้ำ เช่น การทำทางเดินเท้ายกระดับ ในกรณีที่ถ้ำมีน้ำท่วมขัง เป็นต้น มีโปรแกรมสื่อความหมาย ให้คำแนะนำเรื่องการเที่ยวถ้ำ และให้ความรู้เกี่ยวกับถ้ำ แก่นักท่องเที่ยวในบริเวณนอกตัวถ้ำ การสำรวจถ้ำ จัดทำแผนโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งอาจประสานขอความร่วมมือจากนักวิชาการ หน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชน นอกจากนั้น หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ยังมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้นักท่องเที่ยว ปฏิบัติตามกฎระเบียบ รักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย


---6.กิจกรรมศึกษาท้องฟ้าและดาราศาสตร์ (Sky Interpretation)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของท้องฟ้าและดาราศาสตร์ ชนิดของดาวและกลุ่มดาว รูปร่าง ตำแหน่ง และวงโคจร ตลอดจนประวัติและตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ธรรมชาติที่จัดกิจกรรมประเภทนี้ได้ดี ได้แก่ บริเวณที่โล่ง และ /หรือบนที่สูง เช่น เกาะแก่ง ชายหาดที่โล่ง ทุ่งหญ้าที่อยู่บนเขา ที่ไม่มีต้นไม้บดบังท้องฟ้า เป็นต้น ฤดูที่เหมาะต่อกิจกรรมประเภทนี้ คือ ฤดูหนาว ท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกบดบัง กิจกรรมประเภทนี้ จำเป็นต้องอาศัยผู้ชำนาญในการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนมีอุปกรณ์ เช่น กล้องดูดาว และแผนที่ดาวประกอบด้วย


---7.กิจกรรมล่องเรือศึกษาธรรมชาติ (Boat Sightseeing)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยว ได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ จำเป็นจะต้องมี มัคคุเทศก์ในการให้ความรู้ ความเพลิดเพลิน การล่องเรือ ทำได้ทั้งในลำน้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทะเล หรืออ่างเก็บน้ำ ที่ยังคงมีสภาพธรรมชาติแวดล้อมอยู่ สิ่งที่ควรระมัดระวัง จากการกระทำกิจกรรมประเภทนี้ ได้แก่ น้ำมันปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ขยะ เสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ การรบกวนบริเวณวางไข่ /ผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวที่จะต้องระมัดระวัง และช่วยกันดูแลรักษา แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมการท่องเที่ยว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งสภาพธรรมชาติ เสื่อมโทรมลง นอกจากนั้น การพัฒนาพื้นที่ที่จำเป็น เช่น จุดขึ้น - ลงเรือ จะต้องออกแบบให้ผสมผสานกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ


---8.กิจกรรมพายเรือแคนนู (Canoeing) / เรือคายัค (Kayak) / เรือบด (Browbeating) / เรือใบ (Sailing)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยว ได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ ทั้งยังให้นักท่อง เที่ยว ได้ใช้ความสามารถในการบังคับเรือและได้ออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งในลำน้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทะเล หรืออ่างเก็บน้ำ ที่ยังคงมีสภาพธรรมชาติแวดล้อมอยู่

 

---สิ่งที่ควรระมัดระวัง จากการกระทำกิจกรรมประเภทนี้ ได้แก่ จำนวนเรือต่อหน่วยพื้นที่ ขยะ และการรบกวนบริเวณวางไข่ / ผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ ของนักท่องเที่ยวที่จะต้องระมัดระวังและช่วยกันดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมให้การท่องเที่ยว ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรมลง สำหรับกิจกรรมการพายเรือ ควรมีสัดส่วนในการใช้พื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดครั้งนี้


--- เรือแคนู คายัค เรือบด 1 ลำ ต่อความยาวลำน้ำ 2.4 กิโลเมตร


--- เรือใบ 1 ลำ ต่อ 0.004 ตารางกิโลเมตร


--- 9.กิจกรรมดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น (Snorkel Skin Diving)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินและใกล้ชิดกับธรรมชาติใต้ทะเลที่มีสีสันสวยงาม นักท่องเที่ยว มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ พืชและสัตว์ใต้น้ำ โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีเพียงหน้ากาก (Snorkel) บริเวณที่ควรจัดกิจกรรมประเภทนี้ จะต้องเป็นน้ำตื้น ที่มีความลึกไม่เกิน 0.9 เมตร เป็นแหล่งของปะการังหลายชนิด ที่ยังอุดมสมบูรณ์และสวยงาม มีพืชและสัตว์ใต้น้ำประเภทอื่น ๆ ประกอบกับกระแสน้ำไม่รุนแรง และน้ำใสสะอาด ควรจัดให้มี การทำเส้นทางดำน้ำใต้ทะเล (Undersea Self - Guided Trail) และมีคู่มือศึกษาทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่นักท่องเที่ยว


---สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง ในการจัดกิจกรรมประเภทนี้คือ เรือที่นำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำ อาจทำลายปะการังใต้น้ำ เมื่อน้ำลดหรือเมื่อทอดสมอเรือลงไป จึงควรหมายแนวเขตที่มีปะการัง ความลึกต่ำสุดและสูงสุดของน้ำ พร้อมทั้งควรจัดทุ่นจอดเรือให้เป็นระเบียบ นอกจากนั้น ควรควบคุมไม่ให้เรือปล่อยน้ำมันเรือ และทิ้งขยะลงน้ำ นอกจากนั้น ปะการังอาจถูกทำลายจากการประมง เช่น การระเบิดปลา และอวนลากได้ จึงควรมีการห้ามการประมงหรือระเบิดปลาในบริเวณแนวปะการัง


---กิจกรรมดำน้ำนี้ อาจเสนอแนะให้มีกิจกรรมในการอนุรักษ์ / ฟื้นฟูทรัพยากรใต้ทะเลไปด้วยกันได้ เช่น ให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสช่วยดำน้ำเก็บขยะและปลูกปะการัง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยว มีความรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม


---10.กิจกรรมดำน้ำลึก (Scuba Diving)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมทีให้ความเพลิดเพลินและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ใต้ทะเลที่มีสีสันสวย  งาม เช่นเดียวกับกิจกรรมดำน้ำตื้น กิจกรรมดำน้ำลึกนี้ นักดำน้ำต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ บริเวณที่ควรจัดกิจกรรมดำน้ำ เพื่อนันทนาการ ควรมีความลึกประมาณไม่เกิน 30 เมตร เป็นแหล่งของปะการังหลายชนิดที่ยังอุดมสมบูรณ์และสวยงาม โดยมีพืชและสัตว์ใต้ทะเลประเภทอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ  กระแสน้ำไม่รุนแรงและน้ำใสสะอาด


---ควรจัดให้มีการทำเส้นทางดำน้ำใต้ทะเล (Undersea Self-Guided Trail) และมีคู่มือศึกษาทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่นักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับกิจกรรมดำน้ำตื้น แต่ควรเอาใจใส่ เกี่ยวกับความปลอดภัยมากกว่ากิจกรรมท่องเที่ยวประเภทชื่นชมธรรมชาติ (Appreciative Recreational Activities) และกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทตื่นเต้นผจญภัย (Adventurous Recreational Activities


*กิจกรรมเสริม


---1.กิจกรรมชมทิวทัศน์ธรรมชาติในบรรยากาศที่สงบ (Relaxing)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริม กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศอื่น ๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น การชมทิวทัศน์ อาจทำได้ในลักษณะการเดินเล่น ตามเส้นทางที่จัดไว้ให้ และ / หรือตามชายหาดต่าง ๆ หรือเป็นจุดอยู่กับที่ โดยนักท่องเที่ยวได้หยุดชมธรรมชาติ ณ จุดต่าง ๆ


---ทั้งนี้ คุณค่าความงามของธรรมชาติและความสงบ เป็นทรัพยากรนันทนาการที่สำคัญ สำหรับกิจกรรมประเภทนี้ กล่าวกันว่า การได้ชื่นชม ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นโอกาสหนึ่ง ที่ทำให้นักท่องเที่ยว ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ณ จุดที่จัดให้ชมธรรมชาติ ควรมีป้ายสื่อความหมาย เกี่ยวกับธรรมชาติ ที่อยู่รอบตัวของนักท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวมีคุณค่ามากขึ้น


---นอกจากนั้น การชมทิวทัศน์ธรรมชาติ อาจกระทำในลักษณะของการนั่งรถยนต์ไปตามทาง ที่ผ่านธรรมชาติที่สวยงาม (Sight Seeing) และมีจุดพักชมวิวทิวทัศน์ เป็นระยะตามความเหมาะสม ซึ่งควรจัดให้มี Wayside Exhibit ณ จุดพักต่าง ๆ สิ่งที่เป็นทรัพยากรนันทนาการที่สำคัญสำหรับกิจกรรมนี้คือ สภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามแปลกตา ตลอดจนลำดับของสภาพภูมิทัศน์สองข้างทางที่มีความหลากหลาย (Sequences of Landscape) กิจกรรมประเภทนี้ ควรเน้นคุณภาพของการท่องเที่ยว ที่ให้ความเคารพกับความเป็นธรรมชาติ เช่น ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนความสงบ การรักษาความสะอาด ฯลฯ


---2.กิจกรรมขี่จักรยานตามเส้นทางธรรมชาติ (Terrain / Mountain Biking)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยอุปกรณ์คือ จักรยานภูเขา (Mountain Biking) เส้นทางขี่จักรยาน ไม่ควรเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางเดินเท้า เพื่อกิจกรรมเดินป่า หรือศึกษาธรรมชาติ หรือดูนก มีความลาดชันในระดับต่าง ๆ กันตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ 0-20%หลักเกณฑ์ในการเลือกเส้นทาง เป็นเช่นเดียวกับการพัฒนาเส้นทางเดินเท้า คือ ไม่ควรผ่านบริเวณที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สืบต่อพันธุ์ของสัตว์ป่า


---สภาพภูมิประเทศควรมีลักษณะต่าง ๆ เพื่อความท้าทายและไม่น่าเบื่อ ตลอดจนมีจุดสนใจและความงดงามตามธรรมชาติ การพัฒนาเส้นทางจักรยาน ควรเน้นให้เข้ากับสภาพธรรมชาติ ไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องทำเส้นทางด้วยวัสดุก่อสร้าง อาจมีการทำร่องระบายน้ำ หรือสะพานไม้ อย่างง่ายในบริเวณที่ลุ่มและร่องน้ำ


---หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่ในการดูแลเส้นทางขี่จักรยาน ให้อยู่ในสภาพใช้การได้และดูแลรักษาความสะอาด ตลอดจนกวดขันให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น ขี่จักรยานในเส้นทางที่จัดเตรียมให้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น เมื่อนักท่องเที่ยวต้องการ นักท่องเที่ยวมีหน้าที่เคารพกฎระเบียบของพื้นที่ รักษาความสะอาด ด้วยการไม่ทิ้งขยะตามเส้นทาง ตลอดจนไม่ส่งเสียงอึกทึกในระหว่างขี่จักรยาน


---3.กิจกรรมปีน / ไต่เขา (Rock / Mountain Climbing)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในแง่การท้าทายความยากลำบาก ที่ธรรมชาติสร้างไว้ บริเวณที่อนุญาตให้มีการไต่เขา หรือปีนเขา ควรมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติ ทั้งในและนอกขอบเขตที่จัดไว้ให้ในเส้นทางปีน / ไต่เขา


---4.กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ (Tent Camping)


---ลักษณะของกิจกรรม การพักแรมแบบกางเต็นท์มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่พักแรมแบบเต็นท์ ที่มีการพัฒนาแล้วในเขตบริเวณต่าง ๆ จนกระทั่งพักแรมกลางป่า ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ อย่างไรก็ดี กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ มุ่งให้นักท่องเที่ยวได้อยู่กับธรรมชาติและสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยไม่อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยเกินความจำเป็น เป็นกิจกรรมที่กระทำร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ ส่อง / ดูนก ฯลฯ


---หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่ดูแลให้บริเวณที่กางเต็นท์สะอาดเรียบร้อย ในกรณีที่กางเต็นท์ในเขตบริการ ควรจะเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น ลานกางเต็นท์ ถังขยะ ห้องน้ำ ห้องสุขารวมบริเวณที่ชำระล้าง เช่น ที่ซักผ้า ล้างจาน บริเวณที่ประกอบอาหาร และลานแค้มป์ไฟรวม ตลอดจนจัดกิจกรรมแค้มป์ไฟให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติหรือ พฤติกรรมที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวพื้นที่ธรรมชาติ


---กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ ควรเน้นให้นักท่องเที่ยว ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่ามาสนุกสนาน ด้วยการรวมกลุ่มกันร้องเพลง ดื่มของมึนเมา จนทำลายความสงบของพื้นที่ บริเวณที่กางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ควรแยกห่างจากกันและมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร


---กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์นี้ เป็นการนำตัวเองใกล้ชิดธรรมชาติและแสวงหาความสงบ ที่เมืองให้ไม่ได้มากกว่าเป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อความสนุกสนานเฮฮา จนกระทั่งรบกวนความสงบของพื้นที่ ดังนั้น นักท่องเที่ยว จึงควรมีส่วนช่วยดูแลรักษาพื้นที่บริเวณกางเต็นท์ให้สะอาดและเรียบร้อย ด้วยการทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ควรใช้สิ่งที่ทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ หรือย่อยสลายได้ยาก หากจำเป็นต้องใช้ ก็ควรนำออกไปจากพื้นที่ด้วย


---5.กิจกรรมเครื่องร่อนขนาดเล็ก (Hang Glider)


---ลักษณะของกิจกรรม  เป็นกิจกรรมที่อาศัยเครื่องร่อนที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ แต่อาศัยหลัก Aerodynamic เป็นตัวบังคับให้เครื่องร่อนบินชมธรรมชาติจากที่สูง สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น คือ บริเวณส่งเครื่องร่อนที่หน้าผา แต่กิจกรรมประเภทนี้ ก่อให้เกิดมลภาวะทางสายตาได้ ถ้ามีมากจนเกินไป


---6.กิจกรรมล่องแพยาง / แพไม้ไผ่ (White Water Rafting)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยว ได้สัมผัสธรรมชาติ และได้รับความตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจ จากความเร็วของกระแสน้ำ ความต่างระดับของลำน้ำ และสภาพภูมิทัศน์ของสองฝั่ง การล่องเรือยาง / แพ ควรมีไกด์ที่มีความสามารถในการล่องเรือ / แพ และความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา


---จำนวนนักท่องเที่ยวต่อเรือยาง / แพ ประมาณ 4-6 คน ขึ้นกับขนาดของเรือ / แพ จำนวนแพต่อพื้นที่นั้น ใช้เกณฑ์เดียวกับกิจกรรมพายเรือแคนู ก่อนการประกอบกิจกรรม ควรมีการแนะนำ เกี่ยวกับลักษณะของกิจกรรม การปฏิบัติตนและอื่น ๆ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยและประสบการณ์ที่ดี จากการประกอบกิจกรรม อาจจัดให้มีกิจกรรมพักแรมริมฝั่งเสริมจากกิจกรรมล่องเรือ / แพ กิจกรรมนี้จำเป็นจะต้องจัดให้มีจุดขึ้น-ลงเรือ / แพ

---7.กิจกรรมพักผ่อนรับประทานอาหาร (Picnicking)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมพักผ่อน โดยการนำอาหารมารับประทานหรือซื้อจากร้านค้าใกล้เคียง ในบริเวณที่จัดไว้ให้ เป็นกิจกรรมที่มักกระทำร่วมกับกิจกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น การเที่ยวน้ำตก การเดินป่า เดินชมธรรมชาติ ฯลฯ ควรจัดให้มีสถานที่นั่งพักผ่อน รับประทานอาหาร ในพื้นที่กิจกรรมท่องที่ยวเชิงนิเวศ ที่มีบรรยากาศสงบและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับธรรมชาติ มากกว่าบรรยากาศ ที่ให้มีเครื่องดนตรีที่เสียงดัง


---หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ จำเป็นต้องจัดพื้นที่ไว้สำหรับกิจกรรมนี้ ประกอบด้วยชุดสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ โต๊ะ ม้านั่ง ถังขยะ ที่ล้างมือ ห้องสุขา และอาจมีเตาย่างอาหาร บริเวณที่จัด ควรเป็นที่ร่ม มองเห็นน้ำและมีสภาพภูมิทัศน์สวยงาม ไม่เป็นแหล่งที่เปราะบางทางนิเวศ ควรจัดให้มีเส้นทางเดินเท้าที่ไม่ไกลจากที่จอดรถ


---นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องรักษาความสะอาด ระมัดระวัง เรื่องไฟ และไม่ให้อาหารแก่สัตว์ป่า หรือทิ้งอาหารไว้ โดยไม่มีผู้ใดดูแล หลังจากเสร็จสิ้นจากการับประทานอาหาร ภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จะทิ้งเป็นขยะ ควรเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ง่าย หากเป็นบริเวณพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่มีการกำจัดขยะควรนำขยะกลับไปด้วย


---8.กิจกรรมเที่ยวน้ำตก (Waterfall Visits / Exploring)


---ลักษณะของกิจกรรม  เป็นกิจกรรมที่นิยมที่สุดสำหรับการเที่ยวป่า-เขา ที่มีน้ำตกเป็นองค์ประกอบสำคัญของแหล่งท่องเที่ยว การเที่ยวน้ำตก อาจมีกิจกรรมหลายอย่างประกอบกัน เช่น เล่นน้ำตก เดินสำรวจน้ำตก นั่งรับประทานอาหาร หรือชมทิวทัศน์บริเวณน้ำตก ซึ่งควรจัดโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติ ให้แก่นักท่องเที่ยวได้รับความรู้เกี่ยวกับน้ำตก และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่น่าสนใจควบคู่ไปด้วย


---ควรเน้นกิจกรรม ที่ไม่ทำลายความสงบตามธรรมชาติและจัดเขตปลอดอาหารและเครื่องดื่มบริเวณน้ำตก เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของน้ำตก


---นักท่องเที่ยวควรช่วยกันดูแลรักษา ไม่ส่งเสียงอึกทึกรบกวนผู้อื่นและปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ควรดูแลเรื่องความสะอาด ดูแลให้ท่องเที่ยวปฏิบัติตามระเบียบ และรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว


---10.กิจกรรมวินด์เซิร์ฟ (Wind Surfing)


---ลักษณะของกิจกรรม เป็นกิจกรรมทางน้ำ ที่ให้ความสนุกสนานตื่นเต้น ตลอดจนความพึงพอใจความสามารถของตนเองในการบังคับที่เล่นวินด์เซิร์ฟได้ บริเวณที่เหมาะสำหรับกิจกรรมนี้ ควรเป็นแหล่งน้ำที่กว้างโล่ง มีกระแสลม แต่ไม่ปั่นป่วน (Turbulence) รอบข้างมีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม


---กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเหล่านี้ สามารถพิจารณาส่งเสริมได้ในพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ดี การส่งเสริมกิจกรรมใด จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถึงความเป็นไปได้ ในการรองรับของพื้นที่ และขีดจำกัดในการจัดการดูแล มิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการกระทำกิจกรรมดังกล่าวตามมา เพื่อให้การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ธรรมชาติ บรรลุเจตนารมณ์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเหมาะสมกับประเทศไทย


*หลักเกณฑ์การกำหนดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


---1.เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีระบบนิเวศน์สมบูรณ์


---2.มีความพร้อมในการบริการจัดการ มีศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ภายในศูนย์มีบริการอำนวยความสะดวกเบื้องต้น มีเคาน์เตอร์บริการข่าวสาร มุมนิทรรศการ ห้องสุขา มุมจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม


---3.มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทั้งเส้นทางไปและกลับทางเดิม เส้นทางเป็นแบบวงรอบและวงกลม ระยะทางตั้งแต่ 1 กิโลเมตรเป็นต้นไป อย่างน้อย 1 เส้นทาง


---4.มีป้ายสื่อความหมาย บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นระยะๆ เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว


---5.มีแผนที่และคู่มือนำเที่ยว ประกอบป้ายสื่อความหมาย เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว


---6.มีการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่อครั้งต่อวัน ในแต่ละเส้นทาง และในสถานที่ท่องเที่ยว


---7.มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ที่มีความรู้ทั้งทางด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม สามารถอธิบายเรื่องราวในท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้านได้


---8.มีการบริหารจัดการพื้นที่และมีบริการร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น องค์กรภาครัฐบาล องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) องค์กรบริหารท้องถิ่น (เทศบาลและ อบต.)


---9.มีนโยบายต่อการรักษาสภาพแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่นชัดเจน เช่น การจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย การจัดการมลพิษต่างๆ


---10.มีแผนพัฒนาบุคลากรและบริการ สู่ระดับมาตรฐานสากล


---11.หากแหล่งท่องเที่ยว มีที่พักแรม จะต้องเป็นที่พักแรมระดับการรักษาสิ่งแวดล้อม (Ecolodge)


---หมายเหตุ หลักเกณฑ์นี้ กองอนุรักษ์ ททท.


---ร่วมกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย กำหนดขึ้น


*การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


---ความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ก็คือ คำว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเองนั้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในส่วนใหญ่ ๆ ของการท่องเที่ยว ในขณะที่หลักการเพื่อความยั่งยืน ควรนำไปใช้กับทุกรูปแบบของกิจกรรม การดำเนินกิจการ สถานประกอบการ ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงรูปแบบ ที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาและรูปแบบที่เสนอให้เป็นตัวเลือก ด้วย


---สำหรับการท่องเที่ยวยั่งยืนนั้น องค์การท่องเที่ยวโลก(WTO) ได้กำหนดหลักการ ของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ว่า ลักษณะของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนั้น "ได้รับการคาดหมาย ให้นำไปสู่การจัดการทรัพยากรทั้งมวล ด้วยวิถีทางที่ตอบสนองต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุนทรียะนขณะเดียวกัน ก็คงไว้ซึ่งบูรณภาพทางวัฒนธรรม กระบวนการทางนิเวศวิทยาที่จำเป็น ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อชีวิต" เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แนวความคิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จึงได้รับความนิยมและแพร่หลายค่อนข้างมาก


---ในการประชุม Globe'90 ณ ประเทศคานาดา ได้ให้คำจำกัดความ การท่องเที่ยวแบบยังยืนว่า    หมายถึง "การพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และผู้เป็นเจ้าของท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยมีการปกป้องและสงวนรักษาโอกาสต่าง ๆ ของอนุชนรุ่นหลัง การท่องเที่ยวนี้มีความหมายถึง การจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และความงามทางสุนทรียภาพ ในขณะที่สามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศด้วย"


*การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมีหลักการ (Shirley Eber 1993) ดังนี้


---1.การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างพอดี ทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นแนวทางการทำธุรกิจในระยะยาว (Using-Resource Sustainably)


---2.การลดการบริโภคที่มากเกินจำเป็น และการลดของเสีย จะช่วยเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อม ที่ถูกทำลายในระยะยาว และเป็นการเพิ่มคุณภาพของการท่องเที่ยว (Reducing Over-consumption and Waste)


---3.การรักษาและสิ่งเสริม ความหลากหลายของธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว และช่วยขยายฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Maintaining Diversity) 


---4.การประสานการพัฒนาการท่องเที่ยว เข้ากับกรอบแผนกลยุทธ์การพัฒนาแห่งชาติ การพัฒนาท้องถิ่น และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะช่วยขยายศักยภาพการท่องเที่ยวในระยะยาว (Integrating Tourism into Planning)


---5.การท่องเที่ยวที่รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยพิจารณาด้านราคา และคุณค่าของสิ่งแวดล้อมไว้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการประหยัด แต่ยังป้องกันสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายอีกด้วย (Supporting Local Economics)


---6.การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของท้องถิ่นในสาขาการท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่สร้างผลตอบแทนแก่ประชากรและสิ่งแวดล้อมโดยรวม แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการการท่องเที่ยวอีกด้วย (Involving Local Communities)


---7.การปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ระหว่างผู้ประกอบการ ปะชาชนท้องถิ่น องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นในการที่จะร่วมงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งร่วมแก้ปัญหา และลดข้อขัดแย้งในผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน (Consulting Stakeholders and the Public)


---8.การฝึกอบรมบุคลกร โดยสอดแทรกแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการพัฒนาแบบยั่งยืน ต่อบุคลากรท้องถิ่นทุกระดับ จะช่วยยกระดับการบริการการท่องเที่ยว (Training Staff)


---9.การตลาดที่จัดเตรียมข้อมูลอย่างพร้อมมูล จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจและเคารพในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยว และจะช่วยยกระดับความพอใจของนักท่องเที่ยวด้วย (Marketing Tourism Responsibly)


---10.การวิจัยและการติดตามตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต่อการช่วยแก้ปัญหา และเพิ่มผลประโยชน์ต่อแหล่งท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว และนักลงทุน (Undertaking Research) จะเห็นได้ว่า แนวความคิด การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับสภาพการจัดการ เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ของกระแสโลกที่เปลี่ยนไป (Paradigm Shift) ที่เปลี่ยนจากสังคมบริโภคนิยม สู่ยุคสมัยสังคมเป็นใหญ่ (สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2538)


---ดังนั้น ขอบเขตของการพัฒนาจึงครอบคลุมทุกองค์ประกอบทุกส่วนของการท่องเที่ยว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งหมดต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน (All Tourism Should Be Sustainable Tourism : Dowling, 1995) กล่าวโดยสรุป กิจกรรมการท่องเที่ยว จะต้องสามารถดำรงอยู่ได้ มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอย่างสม่ำเสมอ ทรัพยากรการท่องเที่ยว ยังคงรักษาความดึงดูดใจ ไว้ได้ไม่เสื่อมคลาย กิจการการบริการมีกำไร แม้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการให้บริการอยู่เสมอ ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม จะต้องไม่มีหรือมีน้อยที่สุด มีแต่การจัดการอย่างยั่งยืนเท่านั้น จึงจะสามารถ คงความยั่งยืนของการท่องเที่ยวได้


---หลักการพื้นฐานของความยั่งยืน จะต้องได้รับการปฏิบัติโดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด ไม่จำเพาะแต่การท่องเที่ยวเฉพาะอย่าง การท่องเที่ยวขนาดเล็ก การท่องเที่ยวราคาแพงหรือการท่องเที่ยวของกลุ่มตลาดบน (Elite Market) เท่านั้น หากยังรวมถึงการท่องเที่ยวคณะใหญ่ (Mass Market) ด้วย


*การดำเนินงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในประเทศไทย


---ความเป็นมา(อดีต-ปัจจุบัน)


---ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้เจริญเฟื่องฟู รุดหน้ามาตามลำดับ เป็นผลให้เกิดรายได้หมุนเวียน มีมูลค่านับแสนล้านบาท ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ในด้านตรงกันข้าม การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลับทำให้สภาพแวดล้อม ในแหล่งท่องเที่ยวและภาพพจน์ของการท่องเที่ยว ถดถอยลง การจัดการท่องเที่ยวโดยทั่วไป มักประสบปัญหาที่สวนทางกัน ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม


---การพัฒนาการท่องเที่ยว ในทิศทางที่ประสานการพัฒนากับการอนุรักษ์นั้น ได้มีความพยายามมาโดยตลอด ด้วยการวางกลยุทธ์ ในการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาที่ดำเนินการอย่างรอบคอบ ตรงตามหลักวิชาการ แต่ในการดำเนินการที่ผ่านมา แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ ยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยสาเหตุหลายประการ


---สาเหตุประการหนึ่ง ที่จะกล่าวเป็นพิเศษในที่นี้ คือ ความสับสนในการพัฒนาระหว่างความต้องการทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์ และการขาดการจัดการรูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสม   ภายใต้ความต้องการของประเทศ ในการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ และกระแสของโลกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงก่อให้เกิดกระแสที่สำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว 3 ด้าน คือ

---1.กระแสความต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ


---2.กระแสความต้องการของนักท่องเที่ยวในการศึกษา เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ


---3.กระแสความต้องการพัฒนาคน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน


---จากพลัง 3 กระแสนี้ จึงทำให้เกิดแนวคิด การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อรักษาระบบนิเวศของธรรมชาติ นั่นคือ Green tourism หรือ Ecotourism ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีกรอบและโครงสร้างเล็กๆ รวมกัน แล้วสามารถนำไปสู่การพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ (All tourism should be sustainable tourism : Dowling, 1995) 


---นักวิชาการจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคพื้นแปซิฟิก PATA) องค์การการท่องเที่ยวโลก (W TO) และนักวิชาการในอุตสาหกรรม ทั้งจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ต่างให้คำจำกัดความของ Ecotourism  บนพื้นฐานองค์ประกอบว่า เป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (Responsible) ในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ  (Natural - based tourism)  มีการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental management) และการให้ความรู้การศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environmental education -  based tourism) โดยประชาชนในท้องถิ่น จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ (Community based participation) ร่วมคิดดำเนินการ  ได้รับผลประโยชน์และบำรุงรักษา เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี


*นโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


*1.วิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


---สถานการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรวมในอนาคต เป็นการคาดหวังเป้าหมายสูงสุดหรือผลของการพัฒนา ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งระบบ เพื่อให้สามารถตอบสนอง กระแสความต้องการด้านอนุรักษ์ กระแสความต้องการของตลาด และกระแสของการพัฒนาคน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


---การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมาย ขั้นตอน และวิธีการจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถกำหนดผลสำเร็จของการจัดการ และโครงข่ายความเชื่อมโยง ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการปรับสภาพความสมดุล ของกระแสความต้องการของแต่ละด้านในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการรักษาระบบนิเวศ การจัดการในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


---สามารถควบคุม ขนาดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เหมาะสม โดยเฉพาะองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ ทางด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว ตลาดการท่องเที่ยวและองค์กรการบริหารการจัดการ ซึ่งจะมีประสิทธิผลให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถอำนวยประโยชน์ ดำรงสถานภาพ บทบาทหน้าที่ และฟื้นตัวได้ตามสภาพธรรมชาติ นักท่องเที่ยว ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป มีจิตสำนึกและมีความตระหนักในการอนุรักษ์ ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และมีขีดความสามารถในการจัดการ เกิดความภูมิใจ และยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน


---กล่าวโดยสรุป วิสัยทัศน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ในระยะ 10 ปี) คือ "การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนสืบไป"

---จุดมุ่งหมายสูงสุด (Super-Goal)ของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คงสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคมที่ดี และประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น จุดมุ่งหมายเฉพาะในระยะแรกของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจึงประกอบด้วย


---(1)ให้มีแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศในพื้นที่ ที่ได้รับการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการรักษาระบบนิเวศที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงขีดความสามารถที่รองรับได้ โดยมีการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์พื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว


---(2)ให้การท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือในการสร้างจิตสำนึกด้านการท่องเที่ยว เพื่อรักษาระบบนิเวศ อันเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมโดยรวม


---(3)ให้มีการจัดการที่ประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน และมีการศึกษาร่วมกันอย่างมีระบบ ทั้งนี้ ต้องมีการจัดการ อย่างมีส่วนร่วมที่เสมอภาคและเป็นธรรมของประชาชนท้องถิ่น ในกระบวนการท่องเที่ยวในด้านการจัดการ กำกับ ดูแล และการประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในทิศทางที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างเหมาะสม เสริมสร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ประชาชนสามารถรักษาวิถีชีวิตที่ดี ชีวิตและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงด้วยความสมัครใจ


---(4)ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกลมกลืนกับทรัพยากร โดยคงรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน รักษาเอกลักษณ์ทางธรรมชาติและสังคมของพื้นที่ และมีบรรยากาศการท่องเที่ยว ที่ให้ความมั่นใจและความปลอดภัยในการท่องเที่ยว


---(5)ให้นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศชาวต่างประเทศที่มีคุณภาพ เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไทย มีการเดินทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายในประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป และมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างเหมาะสม


*2.นโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


---2.1)นโยบายหลักการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงกำหนดให้มีนโยบายหลักดังนี้


---(1)การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะต้องมีการควบคุมดูแลรักษา และจัดการทรัพยากรให้คงสภาพเดิมแท้ไว้ให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่อ่อนไหว ง่ายต่อการถูกกระทบ และฟื้นตัวได้ยาก


---(2)การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ มีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และการปรับให้เกิดความสมดุลกับรูปแบบและกิจกรรมเดิมที่มีอยู่ พึงหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งอย่างรุนแรง ต่อการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ หากเน้นในการแปรประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสู่การจัดการท่องเที่ยวโดยรวม


---(3)การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการให้การศึกษา สร้างจิตสำนึกที่ดี ในการรักษาระบบนิเวศร่วมกัน    มากกว่าการมุ่งเน้นความเจริญทางเศรษฐกิจ และการมีรายได้เพียงอย่างเดียว


---(4)การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้องให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์กรท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากร การบริการ การแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมชุมชน ในกระบวนการท่องเที่ยว รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนา หรือให้ประชาชนมีตัวแทนเป็นคณะกรรมการร่วมในทุกระดับ


---(5)ให้ความสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นความจำเป็นอันดับต้น ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทั้งนี้ให้องค์กรต่างๆ กำหนดบทบาทที่ชัดเจน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดวิธีการที่เหมาะสม


---(6)นำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เข้าสู่แผนพัฒนาระดับต่างๆ อย่างมีความสำคัญ ได้แก่ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาค พร้อมทั้งให้มีการจัดสรร และกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึงและเพียงพอ


---(7)สนับสนุนการศึกษา วิจัย และประเมินผลการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการ การแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงแผนอย่างเป็นขั้นตอน


---(8)มีการใช้กฎหมายในการควบคุม ดูแล รักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการแนะนำ ตักเตือน และสร้างวินัยการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย


---(9)จัดทำแนวทางปฏิบัติ หรือคู่มือการจัดการ (Code of Conduct) แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างถูกต้อง


---(10)จัดให้มีเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยให้มีการประสานงานด้านข้อมูล ข่าวสารและการจัดการร่วมกันทุกระดับ 


---2.2)นโยบายด้านต่างๆ ในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


---การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการจัดการ ที่ประสานการจัดการในด้านต่างๆ ภายใต้หลักการพื้นฐาน ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และองค์ประกอบในเชิงระบบของการท่องเที่ยว ซึ่งกระบวนการจัดการ จะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและชัดเจนระหว่าง องค์ประกอบต่างๆ อย่างไรก็ตาม นโยบายการจัดการ ได้กำหนดแนวทางด้านต่างๆ ๖ ด้าน ซึ่งสามารถกำหนดเป็นนโยบายและกลยุทธ์การจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ นโยบายเฉพาะด้าน มีดังนี้ 


---(1)นโยบายด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม


---(1.1)กำหนดกรอบการพัฒนา การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว โดยมีมาตรฐานที่ชัดเจน ให้ยกเลิกการท่องเที่ยว ในพื้นที่เปราะบาง สนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดพื้นที่เหมาะสมในเขตอนุรักษ์


---(1.2)สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศนอกเขตอนุรักษ์ ในเขตฟื้นฟูธรรมชาติ พื้นที่เอกชนและเขตชุมชน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

 

---(1.3)วางแผนการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตามขอบเขตของขีดความสามารถที่รองรับได้ โดยการกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยว เขตสงวนเพื่อการศึกษาและรักษาสิ่งแวดล้อม เขตกันชน และเขตฟื้นฟู


---(1.4)สนับสนุนการพัฒนากลุ่มแหล่งท่องเที่ยว และโครงข่ายการท่องเที่ยวในท้องถิ่นระดับกลุ่มพื้นที่ให้มีความเชื่อโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยให้มีการกระจายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในระดับที่สามารถทดแทนแหล่งท่องเที่ยวเกินขีดความสามารถในการรองรับได้


---(1.5)สนับสนุนการจัดระบบข้อมูลข่าวสารในการเดินทาง เพื่อใช้ในการจัดการ การควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ให้สมดุลกับความสามารถในการรองรับ ของแต่ละพื้นที่ และการถ่ายเทนักท่องเที่ยว ไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอย่างเป็นระบบ


---(1.6)กำหนดมาตรการการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เข้มงวดมากขึ้น และให้การสนับสนุนการประกอบการที่มีมาตรการถูกต้องเหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม


---(1.7)สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการควบคุม คุณภาพ ตรวจสอบ และการจัดการมลพิษ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท่องเที่ยว


---(1.8)สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ในการวางแผนและจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


---(2)นโยบายด้านการให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก


---(2.1)กำกับ ควบคุม ดูแล การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่เหมาะสมกับรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยให้เป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน ที่ถือเอาการปฏิบัติในสนาม เป็นบทเรียนของการศึกษา ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบของกิจกรรมที่มีต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม


---(2.2)จัดให้มีการศึกษา เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในระบบโรงเรียน และสถาบันการศึกษาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยการท่องเที่ยวและการจัดการการท่องเที่ยวในทิศทางที่ยั่งยืน


---(2.3)สนับสนุนสื่อสารมวลชนและสื่อข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ที่ส่งเสริมการศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรมในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สำหรับใช้เป็นข้อมูล คู่มือและอุปกรณ์การเรียนรู้ ของนักท่องเที่ยวตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง


---(2.4)สนับสนุนงบประมาณในการจัดสื่อความหมายธรรมชาติ ที่มีคุณภาพในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ


---(2.5)ให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนในพื้นที่ มาสื่อความกับนักท่องเที่ยว รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะหรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้อย่างแท้จริง และเป็นการกระจายรายได้ที่เหมาะสม


---(2.6)ขยายการให้การศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ ในระยะต้น ให้มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และจิตสำนึก ของบุคลากรในภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีศักยภาพสูง และมีบทบาทในกระบวนการท่องเที่ยว


---(3)นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่น


---(3.1)พัฒนาแบบแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดรวมถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่น เอกชนและประชาชนทั่วไป ในด้านการลงทุน การผลิตสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ต้องมีความเสมอภาค เป็นธรรม ในกรอบที่เหมาะสม สอดคล้องกับการพัฒนาด้านอื่นๆ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด


---(3.2)สนับสนุนการจัดตั้งข่ายความร่วมมือ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในรูปขององค์กรหรือคณะกรรมการระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น โดยมีเครือข่ายครอบคลุม ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนและทุกระดับ โดยให้องค์กร มีขอบเขตความสามารถในการตัดสินใจและดำเนินการอย่างอิสระ ภายใต้กรอบที่ตอบสนองความจำเป็นในการจัดการแต่ละระดับ


---(3.3)เปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการวางแผน ตัดสินใจ และติดตามประเมินผล ตลอดจนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งปรับทัศนคติและปรับปรุงขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐ ให้สามารถร่วมมือและเกื้อหนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น


---(3.4)ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชน ที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล


---(3.5)แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนากฎหมายและระบบงบประมาณของภาครัฐ ให้สามารถส่งเสริมและเอื้ออำนวย ต่อการประสานงานความร่วมมือของหน่วยงาน ปฏิบัติทุกระดับกับประชาชนท้องถิ่น ตลอดจนกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ในการให้ชุมชนมีโอกาสในการควบคุม กำกับ ดูแล และจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง


---(3.6)สนับสนุนพัฒนาศักยภาพของคน โดยการเพิ่มความรู้ ทักษะ และการมีจิตสำนึก ในด้านการจัดการพัฒนา การดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว การอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับชุมชนให้กว้างขวางมากขึ้น


---(3.7)สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข็มแข็งมีประสิทธิภาพ ในด้านการจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างมีอิสระและสามารถจัดเก็บรายได้เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง โดยให้มีการพัฒนาทักษะการจัดการที่ถูกต้อง


---(4)นโยบายด้านการส่งเสริมตลาดและการนำเที่ยว


---(4.1)กำกับการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในทิศทางที่เหมาะสมกับสภาพทรัพยากรและขีดความสามารถในการจัดการ รองรับการท่องเที่ยว ละเว้นหรือชะลอ การส่งเสริมตลาดในพื้นที่ที่ยังไม่พร้อม ง่ายต่อการถูกกระทบกระเทือนจากการท่องเที่ยว


---(4.2)สนับสนุนการตลาดในรูปแบบประสานการท่องเที่ยวเป็นเครือข่ายที่เหมาะสม ทั้งที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตลอดโปรแกรม และแบบผสมผสานกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้มีการกระจายนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม


---(4.3)ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว ที่เน้นการศึกษาและกิจกรรมเชิงนิเวศ สำหรับกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยมุ่งเน้นในกลุ่มเยาวชน กลุ่มแรงงาน และเกษตรกรเป็นพิเศษ ทั้งนี้ รวมถึงการจัดการศึกษาและกิจกรรม ตอบสนองตลาดต่างประเทศด้วย


---(4.4)ส่งเสริมการบริการนำเที่ยวเชิงนิเวศ ให้พัฒนาการบริการที่มีคุณภาพ มุ่งเน้นการให้การศึกษา การเรียนรู้จากประสบการณ์ และการมีส่วนร่วม อย่างเป็นธรรมกับชุมชนท้องถิ่น ตลอดจน มีสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการใช้มาตรฐานในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการบริการอย่างเต็มที่


---(4.5)กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการบริการการนำเที่ยว มาตรฐานการปฏิบัติตัวของนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในลักษณะที่มีความเข้มงวดมากเป็นพิเศษ ภายใต้การจัดให้มีความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว ในระดับที่เหมาะสม โดยชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของทรัพยากรที่อยู่เหนือความต้องการส่วนบุคคล


---(4.6)ส่งเสริมการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้ขอบเขตการพัฒนา โดยการใช้สื่อ ที่หลากหลาย และมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในภูมิภาค


---(5)นโยบายด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการการท่องเที่ยว


---(5.1)จัดระบบการเดินทาง เชื่อมโยงโครงข่ายการท่องเที่ยว ให้มีความสะดวกตามควร ให้เหมาะสมกับพื้นที่และกิจกรรม โดยเน้นด้านความปลอดภัยเป็นหลัก


 ---(5.2)สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด เหมาะสม ตามความจำเป็นและตามขนาดพื้นที่ท่องเที่ยวและบริการท่องเที่ยวเชิง นิเวศ สนับสนุนใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หมดเปลืองในกิจกรรมการท่องเที่ยว


---(5.3)สนับสนุนระบบการสื่อสารโทรคมนาคม สร้างโครงข่ายที่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยว และโครงข่ายการมีส่วนร่วมทุกระดับ เพื่อการติดต่อสื่อสารการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว และการบรรเทาสาธารณภัยในยามฉุกเฉิน


---(5.4)สนับสนุนให้การบริการการท่องเที่ยว ดำเนินการโดยภาคเอกชนหรือองค์กร หรือประชาชน ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยองค์กรของรัฐ เป็นฝ่ายสนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และการกำหนดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวรองรับ ทั้งนี้ ให้มีกรอบการพัฒนาด้านการบริการที่มีขนาด รูปแบบ และคุณภาพการบริการ ตามแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


---(5.5)การจัดบริการของรัฐในพื้นที่ที่จำเป็น จะต้องมีขนาดและบริการที่พอเหมาะ โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือและเรียนรู้ด้วยตนเองของนักท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับรูปแบบและกิจกรรม ของการท่องเที่ยวนั้นๆ การจัดบริการต้องไม่เป็นการแสวงกำไร หรือแข่งขันกับภาคเอกชน แต่ควรให้มีเป็นรายได้เสริม สำหรับการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากร


---(5.6)การจัดการบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น การเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมและการกระจายรายได้แก่ชุมชน และประชาชนท้องถิ่น


---(5.7)กำหนดมาตรฐานในการควบคุมและส่งเสริมการบริการและการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการสร้างมาตรฐานการจูงใจการให้การรับรองมาตรฐานการบริการ และการให้รางวัล เป็นต้น


---(6)นโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุน


---(6.1)สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน อยู่ภายในกฎเกณฑ์ที่กำหนด เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนากระบวนการบริการที่มีคุณภาพ โดยใช้มาตรการทางภาษี การสร้างสิ่งจูงใจอื่นๆ การตอบแทนในรูปของรางวัล เป็นต้น


---(6.2)สนับสนุนการลงทุนของชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการให้ยืมหรือให้กู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ


---(6.3)ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจเอกชนสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศขององค์กรประชาชน


---(6.4)สนับสนุนด้านงบประมาณ และสิทธิประโยชน์แก่องค์กรพัฒนาเอกชน ในการร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการสนับสนุนการพัฒนาของประชาชนท้องถิ่น


---(6.5)ส่งเสริมการลงทุนผลิตสินค้า อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดกิจกรรมเชิงนิเวศการจัดการบริการ และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นภายในประเทศ หรือลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศ



*3.กลยุทธ์การจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


---การที่จะให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นการท่องเที่ยวหลักที่สำคัญใน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ จึงเห็นควรกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสิ้น 6 กลยุทธ์ ที่สอดคล้องภายใต้นโยบายหลักและนโยบายแต่ละด้าน ดังนี้


---(1)กลยุทธ์การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม


---(2)กลยุทธ์การให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก


---(3)กลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่น


---(4)กลยุทธ์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและบริการนำเที่ยว


---(5)กลยุทธ์การจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการท่องเที่ยว


---(6)กลยุทธ์การส่งเสริมการลงทุน


---กลยุทธ์ด้านต่างๆ มีแนวความคิด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติเฉพาะ ดังนี้


*1)กลยุทธ์การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม


---(1)แนวความคิด


---ทรัพยากรการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของการท่องเที่ยว สำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้จำแนกองค์ประกอบนี้ออกเป็น


---ประเภทที่ 1 แหล่งธรรมชาติ(เน้นที่ความหลากหลายหรือความดั้งเดิม)


---ประเภทที่ 2 แหล่งวัฒนธรรม  รวมแหล่งประวัติศาสตร์   ที่เน้นความสัมพันธ์กับระบบนิเวศในพื้นที่  แหล่งทรัพยากรเหล่านี้  อาจมีสภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ อยู่แล้วหรือเป็นแหล่งธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อ


---การท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ภายในแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งๆ จะสามารถจัดการเพื่อให้มีการท่องเที่ยวได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่เป็นการนำทรัพยากรที่มีความสำคัญในระบบนิเวศเสนอต่อนักท่อง เที่ยวเท่านั้น หากยังรวมถึงการสงวนรักษา ฟื้นฟู ควบคุม ดูแล ทรัพยากรเหล่านั้นให้คงสภาพไว้ให้ดีที่สุด เป็นการเสริมมาตรการการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถนำมาเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวได้นานที่สุดหรือตลอดไป


---การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นที่จะตอบสนองจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่ม ขึ้น ด้วยการเพิ่มการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อผลตอบแทน ทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลาย แหล่ง ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวเกิดความเสื่อมโทรม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการจัดการป้องกันปัญหา การควบคุม และมาตรการการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมิได้รับการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ หรือขาดระบบการจัดการแบบยั่งยืน ดังนั้นทรัพยากรการท่องเที่ยวจำเป็นต้อนได้รับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบ คู่ไปด้วย โดยมุ่งเน้นที่แหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งได้แก่ นักท่องเที่ยว กิจกรรมของนักท่องเที่ยวและการบริการการท่องเที่ยวกลยุทธ์การจัดการจะต้อง ตั้งอยู่บนพื้นฐานการป้องกันและลดสาเหตุที่จะทำให้เกิดปัญหาเป็นประการสำคัญ


---กลยุทธ์การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม มีเจ้าของพื้นที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สถาบันต่างๆ ในสังคม องค์กรประชาชน และประชาชนท้องถิ่น ต้องให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ รักษาสภาพ ไม่ทำลายหรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม


*(2)วัตถุประสงค์และเป้าหมาย


---(2.1)วัตถุประสงค์ของการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม


--- เพื่อให้มีการจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว


---เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าสัมผัส เรียนรู้ถึงแก่นแท้ของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมในระบบนิเวศ ได้อย่างกว้างขวางโดยปราศจากการทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากร


---เพื่อป้องกันและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด ลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ สังคม และวัฒนธรรม


---(2.2)เป้าหมายของการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม


---กำหนดบทบาทของแหล่งท่องเที่ยว ประเมินระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งในประเทศให้ชัดเจน เพื่อจัดระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในระยะเวลา 5 ปี ปรับปรุงและจัดการยกความเหมาะสมของแหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากขึ้น ในอัตราเพิ่มร้อยละ 10 ต่อปี


---ให้แต่ละแหล่งท่องเที่ยวมีการจัดการเขตการท่องเที่ยวสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับการท่องเที่ยวแบบอื่นและกิจกรรมอื่น อย่างเหมาะสมจำนวน 400 แห่ง ในเวลา 5 ปี


---ให้ทุกแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มีการจัดเตรียมระบบการสื่อความหมายขั้นพื้นฐานแก่นักท่องเที่ยว มีการพัฒนาการสื่อความหมายธรรมชาติที่ประสิทธิภาพมากขึ้นในแหล่งท่องเที่ยว เชิงนิเวศที่สำคัญของทุกจังหวัดในเวลา 5 ปี


---มีการใช้มาตรการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อการวางแผน ฟื้นฟู และการแก้ไขปัญหามลพิษใน 5 ปี


---มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร สารสนเทศ ในการบริหารพื้นที่ การจัดการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว การติดตามผล และการป้องกันสาธารณสมบัติ


---มีการใช้มาตรการในการจัดการควบคุมปริมาณ กิจกรรม และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว


*(3)แนวทางการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย


---ทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งได้แก่ แหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ ทั้งนี้อาจรวมถึงแหล่งรวบรวมความรู้ด้านนิเวศนอกที่ตั้ง เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่ต้องมีการจัดการที่ถูกต้อง การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีดังนี้


---(3.1)กำหนดเกณฑ์และดำเนินการจัดแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงนิเวศตามศักยภาพการจัดการและความต้องการ เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับแหล่งท่อง เที่ยวนั้นๆ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ และดำเนินการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง


---(3.2)จัดเขตพื้นที่ (Zoning)ภายในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมตามสภาพของทรัพยากรและขนาดการรองรับของทรัพยากรต่อปริมาณและ กิจกรรมการท่องเที่ยว โดยจัดแบ่งตามความสำคัญของระบบนิเวศและกิจกรรมที่ยอมรับได้


---(3.3)ประเมินขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวและกำหนด ปริมาณ การควบคุม และมาตรการการกำจัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาความแออัด การคับคั่ง มูลฝอยตกค้าง เสียงรบกวน และการทำลายพืชพรรณและสัตว์


---(3.4)ควบคุมการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวด้านการปลูกสร้างอาคาร การปรับปรุงพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน กิจกรรม ขนาดสาธารณูปโภค และการตกแต่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมองค์ประกอบทางกายภาพของแหล่งท่อง เที่ยว ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมทั้งมีการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการมีระบบป้องกันและกำจัดมลพิษที่เหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น มูลฝอย คุณภาพน้ำ เสียง และการรบกวนทรัพยากรชีวภาพ


---(3.5)ใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครอง ดูแล รักษา ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งอนุรักษ์ที่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง หรือใช้กฎอื่นเสริมการจัดการอย่างเข็มงวดตามระดับของการอนุรักษ์ รวมทั้งให้มีการประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นสำหรับเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า ให้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่แน่ชัด โดยการปรับปรุงกฎหมายหรือปรับแนวเขตในกรณีที่ต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์


---(3.6)ใช้มาตรการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลรักษา ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในเขตอนุรักษ์และนอกเขตอนุรักษ์ โดยการกำหนดบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และเครื่องมือตามความเหมาะสม


---(3.7)ใช้หรือประยุกต์ใช้ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) ในการจัดการด้านการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมในพื้นที่ด้วย วิธีการที่เหมาะสมภายใต้ขอบเขตของการจัดการ ระยะเวลา หรือกฎหมายที่รองรับ เช่น การศึกษาผลกระทบเบื้องต้น (IEE) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การใช้ระบบคุณภาพ ISO 14000 เป็นต้น


---(3.8)จัดให้มีกิจกรรมและสื่อในการศึกษา เรียนรู้ ทรัพยากรทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้รองรับการท่องเที่ยว โดยให้เป็นเครื่องมือที่จะสามารถปลุกจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวในการอนุรักษ์ รักษ์ และดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวและทรัพยากรทางธรรมชาติและสังคมให้ยั่งยืนต่อไป


---(3.9)จัดให้มีการติดตามตรวจสอบการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการจัดการ และการร่วมมือประสานงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


*2.)กลยุทธ์การให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก


*(1)แนวความคิด


---การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีจุดมุ่งหมายในระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรวมเพื่อให้มีบทบาทและทิศทาง การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม ในการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการรักษาสภาพสิ่ง แวดล้อมโดยรวม ด้วยการให้กระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นสื่อกลางทางการศึกษาและการเรียนรู้ด้านระบบนิเวศของนักท่องเที่ยว และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนโดยทั่วไป


---ในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ความสำคัญต่อการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ เป็นเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวดังกล่าว หากไม่มีกระบวนการให้การศึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมและ ระบบนิเวศของทรัพยากรท่องเที่ยวแล้ว การสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์ย่อมยากที่จะเกิดขึ้น และการท่องเที่ยวนั้นไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การกำหนดกลยุทธ์การให้การศึกษา จะให้ความสำคัญในระหว่างการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ควรมีการให้ข้อมูลก่อนการท่องเที่ยว และมีการให้การศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังด้วย


---ดังนั้น การศึกษา (Education)เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญในกระบวนการจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง นิเวศ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเสริมสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถดำรงสถานภาพและอำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืนสืบไป ภายใต้การจัดการอย่างมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนในท้องถิ่น การดำเนินการจัดการศึกษาในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นรูปแบบ


---วิธีการ และการใช้สื่อต่าง ๆ ทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้น ๆ ที่สำคัญได้แก่ การสื่อความหมายของธรรมชาติ (Interpreting) การฝึกอบรม (Training) การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (On The Job Training) กรณีศึกษา (Case Study) บทบาทสมมุติ (Role Play) เกมส์ (Game Dynamic) การระดมสมอง (Brain storming) การอภิปราย (Discussion) และสื่อต่างๆ ทางการศึกษา


---การสื่อความหมายธรรมชาติเป็นรูปแบบที่ชัดเจนที่สุดของการให้การศึกษาใน กระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งกลยุทธ์นี้จึงต้องให้ความสำคัญ 2ระดับ คือ การให้การศึกษาทั่วไป และการสื่อความหมายธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยว


---กลยุทธ์ในการจัดการศึกษาในระบบการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะต้องมีศูนย์กลางและโครงข่ายความร่วมมือที่จะร่วมกันในการพัฒนาทิศทาง นโยบาย รูปแบบ วิธีการ เทคโนโลยี และสื่อต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งในระดับควบคุมนโยบายและระดับปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดย รวม


*(2)วัตถุประสงค์และเป้าหมาย


---(2.1)วัตถุประสงค์การให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก เพื่อการพัฒนากระบวนการศึกษาเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวผู้เกี่ยวข้องในการ จัดการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนในท้องถิ่น และประชาชนโดยทั่วไป ให้มีจิตสำนึกต่อคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศ การดำรงสถานภาพและการอำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในระดับที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปฏิบัติตนที่เหมาะสม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์


---(2.2)เป้าหมายการให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก


---แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทุกแห่ง เป็นแหล่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องในการ จัดการ มีกิจกรรมและสื่อความหมายธรรมชาติที่เสริมความรู้ความสามารถในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ


---สื่อสาธารณะต่างๆ ธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สามารถเป็นผู้ให้การศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและการอนุรักษ์ แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไป เป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การท่องเที่ยว


---(2.3)มีบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาฝึกอบรมจนมีความสามารถ เฉพาะด้านการศึกษาและสื่อความหมายในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการ และประชาชนในท้องถิ่น


---(2.4)เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปฏิบัติตนที่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการควบคุมบังคับน้อยที่สุด


---(3)แนวทางการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย


---(3.1)จัดให้มีรูปแบบองค์กรความร่วมมือด้านการให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก ในระดับชาติ ภายใต้องค์การความร่วมมือใหญ่ มีหน้าที่ในการกำหนดกรอบ ทิศทาง นโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนการส่งเสริม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล


---(3.2)จัดให้มีความร่วมมือในการปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้การศึกษา และสร้างจิตสำนึกในระดับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้มีรูปแบบ กิจกรรม วิธีการการสื่อความหมายธรรมชาติ และการจัดสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย กระตุ้นความสนใจนักท่องเที่ยวให้เข้าร่วมกิจกรรมโดยสมัครใจเข้าร่วมแสดง บทบาทในกิจกรรมการเรียนรู้นั้น


---(3.3)ดำเนินการและพัฒนารายการในสื่อสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเอกสารการท่องเที่ยวให้มีทิศทาง เนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่เหมาะสม สำหรับการพัฒนาความรู้ และความตระหนักด้านการอนุรักษ์ของนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง


---(3.4)พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ พร้อมทั้งให้มีการค้นคว้า วิจัย และกิจกรรมทางการศึกษาเรียนรู้ที่มีเป้าหมาย เพื่อผลทางการให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างชัดเจนสำหรับเยาวชน ธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการ และประชาชนในท้องถิ่น


---(3.5)จัดฝึกอบรม สัมมนา การออกค่าย เพื่อพัฒนาความรู้ทักษะและประสบการณ์แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดการและ ประชาชนในท้องถิ่น โดยการเน้นกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงเป็นด้านหลัก รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ทางด้านหลักการและทฤษฎีตามแนวของการศึกษารูปแบบ อื่นๆ ทั้งในและนอกระบบ


---(3.6)พัฒนาสื่อความหมายธรรมชาติขึ้นภายในแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดให้เป็นส่วนสำคัญของแหล่งสื่อที่สำคัญ ได้แก่ ป้ายสื่อความหมาย คู่มือท่องเที่ยว ข้อมูลทรัพยากรของแหล่งนิทรรศการ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดคนนำทางและมัคคุเทศก์ไว้รองรับ ฯ







...........................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 1 ตุลาคม 2558


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท02/06/2024
ผู้เข้าชม7,700,288
เปิดเพจ11,862,251
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view