ปัญหาของอจินไตย ๔ ข้อ คือสิ่งที่ไม่ควรคิด
(แต่ถ้าคิดก็จะเป็นบ้าเท่านั้นเอง)
---ถาม๑.สิ่งที่เป็นอจินไตย นี่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ได้ ไม่ใช่วิสัยของปุถุชนคนธรรมดาหรือพระอรหันต์ธรรมดาจะรู้ได้ใช่ไหม
---ตอบ.สิ่งที่เป็นอจินไตยนั้นมี ๔ อย่าง คือ
(กด_ลิงค์บน)
---๑.พุทธวิสัย วิสัยของพระพุทธเจ้า
---๒.ฌานวิสัย วิสัยของผู้ได้ฌาน
---๓.กัมมวิบาก ผลจากกรรม
---๔.โลกจินดา ความคิดเรื่องโลก
---ทั้ง ๔ อย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าไม่ควรคิดผู้ที่คิดจะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากโดยเปล่าประโยชน์ ในอจินไตย ๔ อย่างนี้ อย่างแรกคือ พุทธวิสัย คือวิสัยของพระพุทธเจ้านั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าคิดอย่างไร ก็เข้าไปไม่ถึงวิสัยของพระพุทธเจ้า มีอานุภาพของพระพุทธคุณและพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น
---อย่างที่ ๒ ฌานวิสัย วิสัยของผู้ที่ได้ฌานอภิญญา ผู้ที่ไม่ได้ฌานคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกว่า ทำไมผู้ที่ได้ฌานอภิญญาจึงสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ มีเหาะได้ หายตัวได้ ดำดินได้ เป็นต้น ผู้ที่ได้อภิญญาประเภทนั้นๆ เท่านั้นจึงจะรู้ได้
---อย่างที่ ๓ กัมมวิบาก ผลของกรรม คือคนธรรมดาๆ ย่อมไม่อาจรู้ว่า ผลของกรรมที่ตนได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้มาจากกรรมอะไร ทำไว้แต่เมื่อใด คิดไปเท่าไรก็คิดไม่ออก คิดมากไปจะเป็นบ้าไปเสียเปล่าๆ ผู้ที่รู้ผลของกรรมได้อย่างถ่องแท้ต้องเป็นผู้ที่ระลึกชาติก่อนๆ นับย้อนหลังไปได้โดยไม่จำกัดอย่างพระพุทธเจ้า จึงสามารถจะทราบได้ถูกต้องแท้จริงไม่ผิดพลาด ท่านที่ระลึกชาติได้จำกัด เช่นระลึกได้ ๕๐๐ ชาติ แต่กรรมที่ทำไว้ ทำไว้เมื่อชาติที่ ๕๕๐ ผู้ที่ระลึกชาติได้ ๕๐๐ ชาติก็ไม่สามารถระลึกได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถจะรู้กรรมและผลของกรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะพระองค์ทรงมีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ระลึกชาติย้อนหลังได้โดยไม่จำกัด มียถากัมมูปคญาณ ญาณที่เข้าถึงกรรมของสัตว์ตามความเป็นจริง พระพระสัพพัญญุตญาณ ญาณที่ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นไม่มี ทั้งยังมีพระอนาวรณญาณ ญาณที่ไม่มีอะไรมาปิดกั้น ที่คนอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่มี เพราะฉะนั้น ป่วยการคิดเรื่องผลของกรรมว่ามาจากกรรมไหน เมื่อใด เป็นต้น คิดมากไป อาจเป็นบ้าได้
---อย่างที่ ๔ โลกจินดา ความคิดเกี่ยวกับเรื่องโลก เช่นคิดว่าใครสร้างพระจันทร์-พระอาทิตย์ ใครสร้างภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น คิดมากไปไร้ประโยชน์เพราะไม่อาจจะรู้ได้
---ด้วยเหตุนี้ อจินไตยทั้ง ๔ อย่างนี้ บางท่านอาจจะคิดว่าตนเองคิดแล้วรู้ได้ ซึ่งก็รู้ได้เพียงวิสัยของตนเท่านั้น พระอรหันต์ก็รู้เท่าวิสัยของพระอรหันต์ จะรู้เท่าความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเตือนว่า สิ่งทั้ง ๔ นี้ไม่ควรคิด คิดไปอาจเป็นบ้า ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้เพราะท่านเหล่านั้นไม่ได้สั่งสมสติปัญญาบารมีความรู้มาเสมอด้วยพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องอบรมมาอย่างน้อยถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ทีเดียว
---ถาม.๒.ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้ในสิ่งที่เรียกว่า “อจินไตย” หรือเปล่า
---ตอบ.ขอเรียนว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าก็รู้ในสิ่งที่เรียกว่าอจินไตย ตามวิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจรู้ไปถึงวิสัยของพระพุทธเจ้าได้ เพราะท่านมิได้ญาณ โดยเฉพาะพระสัพพัญญุตญานอย่างพระพุทธเจ้านั่นเอง
---ถาม.๓.ถามว่า พรหมชั้นสุทธาวาสอายุนานกว่าพรหมชั้นอื่น มีโอกาสที่จะค้นคว้าศึกษาในเรื่องที่เป็นอจินไตยจนรู้ได้หรือเปล่า
---ตอบ.ปัญหานี้ขอเรียนว่า ผู้ที่จะเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้นั้น จะต้องเป็นพระอนาคามีได้ปัญจมฌาน เมื่อตายลงจึงเกิดเป็นพรหมอนาคามีในชั้นสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งใน ๕ ชั้นได้ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสนั้นเอง ไม่กลับไปเกิดในภพภูมิใดๆ ที่ต่ำกว่าอีกเลย เพราะฉะนั้น พรหมชั้นนี้จึงเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งแน่นอน ความรู้ของสาวกย่อมไม่อาจเทียบกับความรู้ของพระพุทธเจ้าแน่ ถ้าท่านจะรู้เรื่องราวของอจินไตย ท่านก็รู้ได้ตามวิสัยของท่านเท่านั้น ไม่เกินวิสัยของท่านไปได้
---ถาม.๔.ถามว่า ความรู้ ของพรหมชั้นสุทธาวาสจะมากกว่าพระอรหันต์หรือไม่ เพราะอายุยืนมากจริงๆ พบพระพุทธเจ้ามาหลายองค์ เวลาผมทำบุญให้แม่ผม ผมอธิษฐานให้แม่ผมไปปฏิสนธิในพรหมชั้นสุทธาวาส เพราะผมไม่รู้ว่าแม่ผมยังมีเรื่องค้างใจที่ยังไม่ได้ทำค้างไว้หรือไม่ พรหมชั้นนี้อายุยืนมีเวลาทำอะไรๆ ได้อีกมาก
---ตอบ.ในเรื่องนี้ขอเรียนว่า ความต้องการของคุณเป็นโมฆะ เพราะถ้าแม่ของคุณมิได้เป็นพระอนาคามีผู้ได้ปัญจมฌานในชาตินี้แล้ว ย่อมไม่มีโอกาสเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสได้เลย
---อีกประการหนึ่ง การบังเกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ ของบุคคลใดๆ ย่อมเป็นด้วยกรรมของบุคคลนั้นๆ หาได้บังเกิดขึ้นเพราะการอธิษฐานของใครๆ คนใดคนหนึ่งไม่ เพราะฉะนั้นความต้องการของคุณจึงเป็นโมฆะ คือไม่มีทางเป็นไปได้เลย.
*อจินติตสูตร
---[๗๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ
*ถาม...
---ก็ไม่ ได้อยากคิดจนเป็นบ้าหรอกนะครับ แต่มีข้อข้องใจเล็กน้อย จึงอยากปรับแก้ความเขลาของตนเองให้กระจ่างขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยครับ ขออธิบาย อจินไตยตามความเข้าใจส่วนตัวก่อนนะครับ หากผิด ก็ช่วยแก้ไข ด้วยนะครับ
---อจินไตย สิ่งที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจตามปกติสามัญ ถ้าเรายังไม่ได้ประสบสิ่งนั้นๆด้วยตนเอง พิสูจน์ไม่ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แต่มีอยู่จริง
---พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(ข้อนี้ไม่กล้าคิดคำตอบเองครับ-ช่วยอธิบายพอเข้าใจก็พอครับ)
---ฌาน วิสัยของผู้ได้ฌาน คำว่าฌานในที่นี้คืออภิญญาฌาน(ฤทธิ์) ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ย่อมหมายถึงถ้าเรายังไม่มีอภิญญาก็ไม่ควรไปคิดว่าบุคคลผู้นั้นได้ อภิญญาฌานมาอย่างไรใช่หรือไม่ และไม่ควรไปคิดว่าเราจะมีบ้างอย่างเขาไหม ทำอย่างไรจึงจะมีได้ เพราะเป็นสิ่งที่ฝึกเอาเองไม่ได้ ถ้ามีวาสนาก็จะได้มาเองกระนั้นหรือ เพราะเห็นมีบางสำนักเขาจัดให้มีการฝึกอภิญญา และเหมือนว่าจะมีกันได้ทุกคนถ้าฝึกอย่างถูกขั้นตอน
---วิบากแห่งกรรม ตามที่ศึกษามาทำให้ทราบว่ากรรมนี้เกิดจากวิบากที่เราได้เคยกระทำมาในชาตินี้ หรือก่อนๆก็ตาม แต่ถ้าเราหมกมุ่นครุ่นคิดว่าไปทำอะไรกับใครไว้ที่ไหน เมื่อไร โดยที่เราไม่มี "บุพเพนิวาสานุสสติญาณ" จึงทำให้เป็นบ้าใช่หรือไม่
---ความ คิดเรื่องโลก คือคิดว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร โลกนี้เกิดมาอย่างไร ใช่หรือไม่ แต่ในแง่วิทยาศาสตร์ก็คิดหาคำตอบต่างๆนี้อยู่ โดยหาหลักฐานต่างๆมาอ้างอิงทฤษฎีของตน ตัวอย่างเช่นโลกเป็นส่วนหนึ่งที่หลุดออกมาจากดวงอาทิตย์ และก็จัดเป็นหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป อย่างนี้แล้วทำไมถึงไม่เป็นบ้ากันไปหมด
*ตอบ...
---อจินไตย ๔ ประการ เป็นธรรมที่กำหนดรู้ได้ด้วยอินทรีย์เท่านั้น ไม่อาจรู้ได้ด้วยตรรกะทั่วไป หรือการคาดเดา หรือด้วยการรู้เป็นบางส่วน มิเช่นนั้นแล้ว จะหลง
---พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น บุคคลจะรู้ทั่วถึงได้ด้วยภูมิที่บริบูรณ์แล้วเท่านั้น แต่อาจรู้บางส่วนได้ ด้วยการอนุเคราะห์ ไม่สามารถวิเคราะห์เทียบเคียงได้ด้วยวิสัยของบุคคลทั่วไป
---คำว่า ฌาน หมายถึง เครื่องเพ่ง ปกติใช้โดยความหมายถึงระดับความมั่นคง และความประณีต ของสมาธิ ก็คือ ระดับของการบรรลุสมาธิ นั่นเอง เป็นคนละความหมายกับคำว่า ญาณ ที่ใช้ตามหลังคำว่า อภิญญา นั้น ใช้คำว่า ญาณ หรือ ญาณะ แปลว่า ความรู้ยิ่ง ไม่ใช้คำว่า ฌาน ดังนั้น ไม่ควรใช้คำว่า อภิญญาฌาน แต่ใช้คำว่า อภิญญาญาณ โดยความหมายว่า อภิ-ปัญญา-ญาณ ส่วนการบรรลุอภิญญาญาณนั้น อาศัยการบรรลุฌานขั้นต่างๆ เมื่อตั้งมั่นทรงอยู่ในฌานนั้นๆแล้ว จึงน้อมใจไปเพื่อความรู้อันยิ่งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเห็นในสภาพ หรือสถานที่ ที่เกินขอบเขต พ้นไปจากวิสัยทั่วไปที่ตาเนื้อ หรือตาของมนุษย์ จะพึงเห็นได้ เรียกว่า ทิพยจักษุ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนว่า บุคคลใดจะบรรลุหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุ อันเป็นปัจจัยในการบรรลุ หากเหตุพร้อม และมีกำลังมากพอ ญาณนั้นก็ย่อมปรากฏ ย่อมเป็นไป
*เรื่องวิบากแห่งกรรมนั้น เข้าใจไปตามที่บอกมาอย่างนั้น ก็พอจะได้
---ความคิดเรื่องโลก ตามที่ได้ถามมาว่า ทำไมถึงไม่เป็นบ้ากันไป นั่นเป็นเพราะนักวิชาการพวกนั้น ไม่ได้คิดเอาเองทั้งหมด แต่เป็นการวิเคราะห์ ตั้งสมมุติฐาน หรือทฤษฏี ไปตามหลักการ ไปตามสภาพ ที่ตนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิชาของตน แล้วนำมาปะติดปะต่อ แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่พ้นการเดา แต่ก็ยังไม่สุดโต่งไปเสียทีเดียว เพราะรู้ว่า ยังเป็นเพียงทฤษฏีอยู่ ยังไม่ใช่ข้อพิสูจน์ ส่วนพวกที่สุดโต่งว่าต้องเป็นเช่นนั้นจริง ก็ย่อมเป็นผู้ประกอบไปในความหลงแล้ว ความหลงทั้งหลาย ล้วนเป็นวิปลาส เพียงแต่
---ถ้าไม่เกินไปกว่าเกณฑ์มาตรฐานของคนทั่วๆไปในสังคมนั้นๆ ชาวบ้านก็ไม่เรียกว่า วิปลาส ถึงแม้ว่าจริงๆแล้ว จะประกอบอยู่ด้วยส่วนของความวิปลาสอยู่บ้างก็ตาม ส่วนนักศึกษา หรือนักเรียน ที่อ่าน ท่อง จดจำ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้อื่นเขียนเอาไว้ในตำรา นั่นก็เป็นความพยายามที่จะเข้าใจหลักการในตำรานั้นเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว ยังไม่ใช่การครุ่นคิดอย่างมุ่งมั่น ว่าจะรู้กำเนิดของโลก หรือกำเนิดของจักรวาลได้ อย่างแท้จริง.
..........................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
ที่มา... อ้างอิง และแนะนำ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อจินติตสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
อ้างอิงจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558
ความคิดเห็น