/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

๑๓ มิถุนาคม ๒๕๕๔ นำหลักการที่เรียนรู้ ไปสู่การฝึกฝนกรรมฐานแบบเคลื่อนไหว






---เรื่องที่จะเขียนในบทนี้ ผมจะอธิบายวิธีการประยุกต์ใช้ โดยการนำหลักการที่เกี่ยวกับสมาธิมาใช้จริง ๆ ในการฝึกฝนที่เป็นกรรมฐานแบบเคลื่อนไหว ที่นิยมกันก็จะมี การเดินจงกรมและการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน ผมจะอธิบายการนำไปใช้กับการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน ถ้าท่านเข้าใจท่านก็สามารถนำไปใช้ประยุกต์กับการเดินจงกรมได้ 



---ท่านที่ไม่รู้จักการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน การเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน มี 15 ท่าครับ ไม่ใช่ 14 ท่าอย่างที่คนทั่ว ๆไปเข้าใจกัน ท่าที่คนมักจะลืมกัน คือ ท่าเตรียม ที่เป็นท่านั่งนิ่งก่อน ผมจะเรียกว่าท่าที่ 1 ก็แล้วกัน



*มาเริ่มกันเลยครับ...



*ท่าที่ 1 ท่าเริ่มต้น



---ท่านี้ให้ท่านนั่งนิ่ง ยังไม่ต้องขยับอะไรทั้งสิ้น ให้เอาฝ่ามือวางบนหน้าตักทั้ง 2 ข้าง ท่านี้นอกจากนั่งนิ่งแล้ว ท่านสมควรรู้อาการนิ่ง ๆ ด้วยแล้วนิ่งมันเป็นอย่างไร ....



---ขอให้ท่านหายใจเข้าไปลึก ๆ ก่อนแล้วก็กลั้นลมหายใจไว้ ในขณะที่ท่านกลั้นลมหายใจอยู่ขอให้ท่านสังเกตดูครับว่าตา ท่านยังมองเห็นภาพข้างหน้าได้อยู่ (ท่านเพียงลืมตาขึ้นเท่านั้น ไม่ต้องไปจ้องมองอะไร) หู ท่านยังได้ยินเสียงรอบ ๆ ได้อยู่ (ท่านอาจเปิดวิทยุเบา ๆ แต่เพียงมีเสียงพอได้ยินเบา ๆ) ร่างกาย ถ้ามีลมพัดมาโดนก็รู้สึกได้อยู่ (ท่านอาจใช้พัดลมช่วย แต่ให้พัดลมส่ายไปมา ) จิตใจ ท่านจะรู้สึกถึงการนิ่งๆ อยู่ ในขณะที่ท่านกำลังกลั้นลมหายใจ



---ขอให้ท่านลองกลั้นลมหายใจสัก 2 วินาที แล้วหายใจออก แล้วหายใจเข้ากลั้นไว้ 2 วินาที แล้วหายใจออก ทำอย่างนี้ก่อน สัก 10 เที่ยว แล้วสังเกตสิ่งที่ผมเขียน เรื่อง ตา หู ร่างกาย จิตใจ ว่าท่านเห็นอย่างที่ผมเขียนไหมว่าการรับรู้ ทางตา ทางหู ทางร่างกาย ทางจิตใจ จะเหมือนรู้ได้พร้อม ๆ กันคราวเดียว



---ถ้าท่านเห็นได้แล้ว นี่คือ ท่าเตรียม การที่ท่านรู้ได้เอง ทั้งตา หู ร่างกาย จิตใจ ตามที่ผมเขียนไว้ข้างบน ในขณะกลั้นลหายใจนี่แหละ จิตไม่เป็นปลาท่องโก๋ จิตรู้อยู่ที่ฐาน จิตไม่วิ่งไปวิ่งมาแล้วละครับ



---ทีนี้ขอให้ท่านนั่งอย่างเดิม แล้วหายใจเข้าออกตามปรกติ จิตใจท่านยังเป็นเหมือนเดิมได้ไหม ขอให้ท่านสังเกต ถ้าท่านมองไม่ออก ก็ขอให้กลับไปฝึกกลั้นลมหายใจใหม่ และหายใจเข้าออกปรกติใหม่ ขอให้ท่านฝึกท่าเตรียมนี้ จนเข้าใจและมองภาพออกว่า อาการจิตไม่เป็นปลาท่องโก๋จิตรู้อยู่ที่ฐาน จิตไม่วิ่งไปวิ่งมา นี่คืออาการอย่างไร



*ท่าที่ 2


---ท่าพลิกมือขวาตั้งฉากกับหน้าขา ท่านี้ผมจะไม่อธิบาย เพราะช่วงการพลิกมันสั้น ขอให้ท่านพลิกมือไป แต่ผมจะอธิบายในท่าที่ 3 แทน แต่ถ้าท่านเข้าใจ ท่าที่ 3 แล้ว ท่าอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ ก็ใช้หลักการของท่าที่สามได้ทั้งหมดในการฝึกฝน



*ท่าที่ 3


---ให้ยกมือขวาที่ได้พลิกตั้งฉากกับหน้าขาไว้ ขึ้นอย่างช้า ๆ ผมเน้นคำว่า อย่างช้าๆ  ห้ามยกเร็ว เพราะท่านจะไม่เห็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นได้ ถ้าท่านเป็นคนใหม่ที่กำลังฝึกอยู่ สำหรับคนเก่าที่ชำนาญ ก็แล้วแต่ท่านก็แล้วกันการเคลื่อนมือขึ้นนี้ จะเหมือนกับท่านกำลังขึ้นลิฟท์โดยสาร มันจะรู้สึกได้ว่ามันไหวตัววูบขึ้นเบาๆ ในขณะที่มือกำลังเคลื่อนอย่างช้า ๆ ท่านอย่าได้มองที่มือ ตายังคงมองตรงไปข้างหน้าดังที่ผมเขียนไว้ ในท่าที่ 1 อยู่ ในขณะที่มือกำลังเคลื่อนอยู่นั้น ขอให้ท่านสังเกตว่า ท่านยังสามารถรู้สึกตัวได้อยู่หรือไม่ นั่นคือ ตายังมองเห็นข้างหน้าอยู่ หูยังได้ยินอยู่ ร่างกายรับรู้อยู่ จิตใจก็เฉยๆ อยู่เมื่อท่านเคลื่อนมือแล้วถึงจุดก็ให้หยุดเคลื่อน ในขณะที่ท่านหยุดเคลื่อน ขอให้ท่านสังเกตว่า ท่านยังสามารถรู้สึกตัวได้อยู่หรือไม่ นั่นคือ ตายังมองเห็นข้างหน้าอยู่ หูยังได้ยินอยู่ ร่างกายรับรู้อยู่จิตใจก็เฉยๆ อยู่



*คนที่เป็นคนใหม่


---เวลาฝึกเคลื่อน มักจะพบ 3 อาการขึ้นในขณะฝึก


---อาการที่ 1 ใขขณะที่เคลื่อนหรือหยุด จิตใจที่นิ่งอยู่ที่ฐาน จะพุ่งปราดเข้าไปจับที่มือที่กำลังเคลื่อน


---อาการที 2 ในขณะที่เคลื่อนหรือหยุด ความรู้สึกตัวจะขาดลงเป็นระยะ ๆ คือ เผลอไปเป็นระยะ ๆ


---อาการที่ 3 ในขณะที่เคลื่อนหรือหยุด มีความคิดเกิดแล้วเผลอไป เกิดอาการหลงเข้าไปในความคิด



---อาการทั้ง 3 นี่เป็นสิ่งที่คนใหม่จะพบกันเสมอ ถ้าท่านเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปเสียใจต่อว่าตัวเอง ว่าฝึกไม่ดี มันจะเป็นอย่างนี้เองสำหรับคนใหม่ ถ้าท่านเกิดอาการข้อใด ข้อหนึ่งขึ้น ก็ให้ฝึกต่อไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตอาการความรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ ก็แล้วกันว่า ท่านยังรู้สึกตัวได้เสมอ ๆ หรือไม่



---อาการทั้ง 3 นี้ ถ้าท่านฝึกไปเรื่อยๆ มันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ทีละนิด ทีละนิด นี่คืออาการที่แสดงถึงการพัฒนาการต่อเนื่องของความรู้สึกตัวแล้ว แต่ถ้าท่านเคลื่อนมือเร็ว ท่านอาจไม่เห็นอาการทั้ง 3 นี้ ซึ่งจะแย่กว่าการที่ท่านเห็นว่ามีอาการทั้ง 3 เสียอีก แต่ถ้าท่านเป็นมือเก่า ที่ความรู้สึกตัวต่อเนื่องแล้ว ท่านจะเคลื่อนเร็วช้า ก็แล้วแต่ท่าน แต่ที่ผมสังเกต คนที่เขาฝึกมามาก ๆ ส่วนใหญ่เขามักจะเคลื่อนช้าแบบเนิบ ๆ คือไม่ช้ามาก แต่ไม่เร็ว



*ท่าที่ 4 ถึงท่า 15 ใช้วิธีการฝึกฝนดังที่เขียนไว้ในท่าที่ 3 นี้



---สำหรับการเดินจงกรมก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่า การเดินนั้น จะช้าแบบเคลือนมือไม่ได้เพราะจะเซ จะล้ม ก็ขอให้เดินให้ช้าที่สุดที่จะไม่เซ ไม่ล้ม เดินปรกติเหมือนเดินทอดน่องเดินดูตู้โชว์ตามห้างสรรพสินค้าแบบนั้น แล้วก็สังเกตอาการตามที่ผมเขียนไว้ในข้อ 3 ก็แล้วกัน




*ผมจะอธิบายเพิ่มถึงสภาวะให้ท่านเข้าใจ



---อาการที่ 1 ที่เวลาเคลื่อนมือหรือหยุด แล้วจิตรู้ วิ่งจากฐานที่นิ่งอยู่ไปจับเข้าทีมือที่กำลังเคลื่อนหรือกำลังหยุดอยู่ นี่คือ อาการที่จิตรู้ยังไม่ตั้งมั่น พอมีอาการไหวตัวของการเคลื่อนขึ้น จิตรู้ก็วิ่งออกจากฐานไปจับอาการนั้น ๆ ทันที



---ตอนที่คนทั่ว ๆ ไปกำลังจะโกรธ จะมีอาการไหวตัวทางจิตใจก่อน แล้วจิตก็ยิ่งไปจับอาการที่กำลังจะโกรธนั้น แล้วเกิดการยึดขึ้น ทำให้คนทั่ว ๆ หลงไปกับอาการโกรธ แล้วเป็นทุกข์



---แต่ถ้าท่านฝึกไปแล้วเห็นอาการไหวตัวของการเคลื่อนไหวได้อย่างชำนาญ จิตจะยังตั้งมั่นอยู่ที่ฐานอยู่ ทีนี้ในชีวิตจริง พอจะโกรธขึ้นมา คนที่ฝึกมาดี จิตจะไม่วิ่งไปยึดกับอาการโกรธแต่เขาจะเห็นอาการโกรธนั้นโผล่วูบขึ้นมาได้ แล้วเขาจะเห็นว่า อาการโกรธนี่ไม่ใช่ตัวเขา ไม่ใช่ของ ๆ เขา มันเป็นสภาวะธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น นี่คือการเห็นสังขารขันธ์ในขันธ์ 5 อันเป็นเบื้องต้น ที่เริ่มได้ผลในการปฏิบัติธรรม



---ผมเห็นว่า กรรมฐานเคลื่อนไหว นี้ได้ผลดีมากสำหรับการฝึกฝนเพื่อจับอาการการไหวตัวของจิตใจ เพราะการไหวตัวจากการเคลื่อนมือหรือเดินจงกรม มันจะเหมือนการไหวตัวของจิตใจ เพียงแต่การไหวตัวของจิตใจจะเบากว่าการไหวตัวทางร่างกายเท่านั้น  แต่ถ้าท่านฝึกรับรู้การไหวทางร่างกายได้ดี  มันก็ส่งผลถึงการรับรู้การไหวตัวทางจิตใจได้ดีเช่นเดียวกัน


---ผมหวังว่า บทความนี้ จะทำให้ท่านมองการปฏิบัติได้ชัดขึ้นครับว่าการปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เพียงแต่เคลื่อน ๆ หยุด ๆ อย่างที่ท่านเห็นด้วยตาที่ท่านมองคนอื่นเขาทำกันมันมีอะไรมากกว่านั้น ที่ท่านมองไม่เห็น แต่ผู้ปฏิบัติจะรู้เห็นได้ด้วยตนเองสิ่งที่ผมเขียนข้างบนนี้ มันมาจากประสบการณ์ที่ผมพบเอง เข้าใจเอง ผมจึงนำมาแบ่งปันกับท่านที่สนใจทางนี้ ท่านอาจได้ฟังจากครูบาอาจารย์สายหลวงพ่อเทียนท่านอื่น ไม่กล่าวแบบนี้ก็ได้ครับ เพราะเทคนิคแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันนั่นเอง



---สำหรับการดูลมหายใจ ผมไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ เพราะจะยากกว่ามากแต่ถ้าท่านฝึกกรรมฐานเคลื่อนไหวไปมาก ๆ เข้า ท่านจะมีความรู้ความเข้าใจได้ดีในการฝึกการดูลมหายใจได้เอง


---บทความนี้ ผมเขียนขึ้นสำหรับท่านที่กำลังฝึกแบบหลวงพ่อเทียนผมจะไม่เขียนเกี่ยวกับการเคลื่อนมือว่าเป็นแบบใด



*1.ในการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียนมี 15 ขั้นไม่ใช่ 14 ขั้น   โดยจะต้องนับขั้นที่ 1 เป็นท่าที่เอามือทั้งสองไว้ที่หน้าขา



---ท่านี้เป็นท่าเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะเป็นท่าเตรียมพร้อมก่อนจะเคลื่อนมือในท่านี้ มีสิ่งสำคัญที่ท่านควรเอาใจใส่ดังนี้


---1A.สายตา ท่านสมควรมองไปไกล ๆ แต่อย่าจ้องอะไร เหมือนมองไกลแต่ไม่มีจุดหมายในการมอง การมองไกล จะช่วย 2 สิ่ง คือการไม่จ้องไปที่มือที่กำลังเคลื่อน และ เป็นการแก้การเวียนศรีษะได้เป็นอย่างดีในการมองแบบนี้ ขอให้ท่านสังเกต ตาจะเหมือนเหม่อ ๆ นิดหน่อย



---1B.ปรับกายและปรับใจ ให้สบาย ผ่อนคลาย นั่งให้สบาย อย่าได้เกร็งทั้งกายและใจ สำหรับบางท่านที่กำลังสติค่อนข้างดี ท่านจะรู้สึกถึงลมหายใจได้ที่เบา ๆ ด้วย



---2.เมื่อปรับ 1A และ 1B แล้ว รู้สึกดี ผ่อนคลาย ก็ให้เริ่มต้นเคลื่อนมือตามแบบที่หลวงพ่อเทียนได้สอนไว้ในการเคลื่อนนี้ มีสิ่งที่ท่านควรสนใจดังนี้



---2A.การเคลื่อนต้องสบาย ๆ อย่าเคลื่อนเร็ว แต่อย่าช้ามากจนเกร็ง ให้เคลื่อนสบาย ๆ เหมือนกำลังซ้อมทำเล่น ๆ การทำจริงจังเกินไปจนเครียด ไม่เกิดผลดีต่อท่านเพราะท่านจะไม่ผ่อนคลาย



---2B.การเคลื่อนต้องมีการหยุดนิดหน่อยเป็นจังหวะ ถ้าไม่หยุด ไม่ใช่สิ่งที่หลวงพ่อเทียนท่านสอนไว้ การทำเป็นจังหวะ จะทำให้ท่านรู้สึกเหมือนเป็นหุ่นยนต์ ที่ทำอะไรเป็นขณะขณะ ไม่ต่อเนื่อง



---2C.ในการเคลื่อนและหยุด สมควรมี ความรู้สึกตัวเสมอ ๆ ท่านอาจมีเผลอบ้างก็ไม่เป็นไรมันจะเป็นอย่างนี้เอง ท่านควรเข้าใจว่า ไม่มีใครไม่เผลอ นอกจากพระอรหันต์เมื่อเลิกเผลอ ให้กลับมาที่ความรู้สึกตัวต่อไป



---2D.ท่านไม่ต้องมีความอยากที่อยากจะรู้อะไร ห้ามจ้องมือ ถ้าท่านมองไกล ๆ ตามที่เขียนไว้ในข้อ 1A ท่านจะไม่จ้องมือ และ เมื่อเคลื่อน-หยุด ก็จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อน การหยุดที่เป็นการรู้สึกที่แผ่วเบา แต่ถ้าท่านเป็นมือใหม่ ท่านอาจรู้สึกไม่ได้เพราะมันแผ่วเบามากแต่ในจังหวะที่ลูบลำตัว ความรู้สึกจะแรงกว่าในขณะเคลื่อน-หยุด ซึ่งมือใหม่จะรู้สึกถึงการลูบลำตัวนี้ได้อย่างแน่นอน นี่คือข้อดีที่ปรีชายิ่งของหลวงพ่อเทียนในการออกแบบการฝึก เพราะการรู้ความรู้สึกจะมีทั้งเบาและแรง การรู้ความรู้สึกที่แรงที่หยาบ จะดีเพราะเป็นกำลังแห่งสติให้ตั้งมั่น ความรู้สึกที่เบา จะทำให้สติมีความว่องไวในการรับรู้ความรู้สึก



---2E.ท่านสมควรเข้าใจด้วยว่า การฝึกฝนนี้ จะทำเพื่อให้เพิ่มกำลังแห่งสติสัมปชัญญะ ถ้าท่านฝึกแล้ว รู้สึกตัวได้ดี และ รู้ความรู้สึกในการเคลื่อน การหยุด การลูบตัว อย่างนี้ถือว่า การฝึกท่านได้ผลแล้ว ท่านอย่าไปหวังผลว่า จะต้องเห็นธรรม ต้องบรรลุธรรมเพราะถ้าท่านฝึกมาได้ผลดี นี่เป็นการสร้างเหตุที่ตรงในทางธรรม ผลคือการเห็นธรรมการบรรลุธรรม จะตามมาเองอันเป็นผลจากการสร้างเหตุที่ตรง



---3...ปัญหาที่มักเกิดในการฝึก



---3A.ฝึกแล้วเวียนศรีษะ สาเหตุมาจากการจ้องมือ การมองใกล้ๆ


*วิธีแก้ไข ให้มองไกล ๆ แบบที่เขียนไว้ในข้อ 1A



---3B.ฝึกแล้วรู้สึกเครียด หนัก หงุดหงิดสาเหตุอาจมาจากหลายอย่างด้วยกัน


---การไม่ปรับร่างกายและจิตใจ ให้ผ่อนคลาย ดังที่เขียนในข้อ 1B

 

---การหวังผลในการฝึก ต้องการรู้ธรรม ซึ่งท่านต้องไม่หวังผล แต่ให้ฝึกเพียงให้รู้สึกตัวก็พอ

 

---การฝึกเป็นหมู่คณะ นั่งเป็นกลุ่มใหญ่ การเคลื่อนมือของคนข้าง ๆ หรือ คนนั่งข้างหน้ารบกวนสมาธิของท่าน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็ให้หาสถานที่ฝึกที่ไม่มีคนอยู่ข้าง ๆ หรือ อยู่ข้างหน้าท่าน

 

---การได้ยินได้ฟังคนอื่นว่า ฝึกแล้วดีมาก โล่ง เบาสบาย สดชื่น ท่านเลยอยากได้อย่างเขาบ้าง พอเกิดความอยากในจิตใจ การฝึกจะทำให้ฝึกไม่ดี ไม่ผ่อนคลาย และเครียด ทันที  (การฝึกฝนที่ดี ไม่ว่ากรรมฐานกองใดแบบใด)


---ผล ก็คือ การไม่หวังผลในการฝึก ฝึกแบบเล่น ๆ สบาย ๆ ผ่อนคลาย ยิ่งผ่อนคลายได้มากเท่าใด ผลที่ได้กลับได้ผลดีมากขึ้นกว่าการฝึกที่เคร่งเครียด


 

(เคลื่อนไหว)




*ประวัติหลวงพ่อเทียน   จิตฺตสุโภ


---หลวงพ่อเทียนเกิดที่บ้านบุฮม    ตำบลบุฮม    อำเภอเชียงคาน    จังหวัดเลย      เมื่อวันที่   ๕   กันยายน    พุทธศักราช   ๒๔๔๕    ตรงกับวันอังคาร     เดือน  ๑๐     ปีกุน    ขึ้น  ๑๓   ค่ำ     บิดาชื่อว่านายจีน     อินทผิว   มารดาชื่อว่านางโสม     อินทผิว   บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก   ในสมัยนั้นหมู่บ้านบุฮมยังไม่มีโรงเรียน  


---ท่านจึงไม่ได้เรียนหนังสือในวัยเด็ก  จึงได้ช่วยมารดาทำไร่ทำนาเช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ  ในหมู่บ้านหลวงพ่อเทียนมีนามเดิมว่า  พันธ์  อินทผิว  สาเหตุที่รู้จักในนามหลวงพ่อเทียนนั้น  เพราะในถิ่นที่อยู่อาศัยของท่านจะนิยมเรียกชื่อคนที่เป็นพ่อและแม่  ตามชื่อลูกคนหัวปี  บุตรชายคนแรกมีชื่อว่าเทียน  ดังนั้นชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่าพ่อเทียน  ส่วนผู้ที่เป็นภรรยาของพ่อเทียนนั้นมีชื่อว่า  นางหอมแต่ชาวบ้านก็จะเรียกว่า  แม่เทียนตามชื่อของบุตรคนหัวปีเช่นเดียวกัน  ท่านมีพี่น้องทั้งหมด  ๖  คนคือ


---๑.นายสาย               อินทผิว


---๒.นายปุ้ย                อินทผิว


---๓.นายอุ้น                 อินทผิว


---๔.นางหวัน               พิมพ์สอน


---๕.นายพันธ์              อินทผิว (หลวงพ่อเทียน   จิตฺตสุโภ)


---๖.นายผัน                 อินทผิว


---เมื่ออายุได้   ๑๐   กว่าปี   ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร    อยู่กับหลวงน้าที่วัดในหมู่บ้าน   ได้มีโอกาสเรียนตัหนังสือลาวและตัวหนังสือธรรม   พอที่จะอ่านออกและเขียนได้บ้าง   และเริ่มฝึกกรรมฐานตั้งแต่คราวนั้นเป็นต้นมา   ท่านได้ปฏิบัติหลายวิธี   เช่น   วิธีพุทโธ,  วิธีพองหนอ   ยุบหนอ   สัมมาอรหัง   วิธีนับหนึ่ง   สองสาม…   หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้   ๑   ปี   ๖   เดือนก็ได้ลาสิกขาบท    ออกมาช่วยทางบ้านทำงานเช่นเดิม      พออายุได้   ๒๐   ปี   ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี  


---ได้ศึกษาวิธีการปฏิบัติธรรมกับหลวงน้าของท่านอีกครั้งหนึ่ง   หลังจากอุปสมบทได้   ๖   เดือนท่านก็ได้ลาสิกขาบทออกมา   และแต่งงานมีครอบครัวเมื่ออายุได้  ๒๒  ปี   มีบุตรชาย   ๓   คน   ในขณะที่ดำรงอยู่ในเพศฆราวาส   ท่ามักจะได้เป็นผู้นำของคนในหมู่บ้านในการทำบุญต่าง ๆ     จนเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน        จนกระทั่งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านถึง   ๓   ครั้ง    แม้ภาระจะมากท่านก็ยังสนใจในการทำสมาธิและปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ


---ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่ในตัวอำเภอเชียงคาน   เพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ   ท่านจึงได้หันมาประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเดินเรือ   เป็นการค้าขายเดินเรือตามลำแม่น้ำโขงระหว่างอำเภอเชียงคาน – จังหวัดหนองคาย – และนครเวียงจันทน์ซึ่งเป็นเขตประเทศลาว   บางครั้งก็ถึงหลวงพระบาง   ทำให้ท่านมีโอกาสพบกับพระอาจารย์ที่เป็นพระกรรมฐานหลายรูป   จึงเป็นเหตุให้ท่านมีความสนใจในเรื่องธรรมะมากขึ้นกว่าเดิม   ช่วงที่ท่านมีโอกาสพบกับพระกรรมฐานนั้น   ทำให้ท่านมีความคิดว่าแม้จะทำความดี   ทำบุญ   และปฏิบัติกรรมฐานมาหลายวิธีตั้งแต่อายุยังน้อย   แต่ทำไมท่านยังไม่สามารถเอาชนะความโกรธได้   ท่านจึงอยากค้นคว้าหาความจริงในเรื่องนี้   และเพื่อที่จะออกจากสิ่งเหล่านี้ด้วย


---ปี พ.ศ. ๒๕๐๐   เมื่ออายุได้   ๔๕   ปีเศษ   ท่านได้ออกจากบ้านโดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่กลับจนกว่าจะพบธรรมะที่แท้ จริง     ท่านได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัดรังสีมุกดาราม      ตำบลพันพร้าว    อำเภอท่าบ่อ   จังหวัดหนองคาย  (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่)   โดยการทำกรรมฐานแบบติง – นิ่ง   โดยการใช้คำภาวนาเมื่อร่างกายขยับให้ภาวนาว่า “ติง” (แปลว่า  ไหว)   เมื่อหยุดให้ภาวนาว่า  “นิ่ง” (แปลว่า   หยุด)


---ต่อมาท่านได้เปลี่ยนวิธีการตามความคิดของท่านเอง   โดยการใช้วิธีเคลื่อนไหวเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บริกรรมภาวนา   เพียงแต่ทำการเคลื่อนไหวโดยเอาสติไปกำหนดรู้ในขณะที่เคลื่อนไหวเท่านั้น  ในชั่วเวลาเพียง๒ - ๓  วันหลังจากที่ท่านเปลี่ยนวิธีการฝึกกรรมฐาน   ท่านก็สามารถเข้าใจหลักธรรมที่จะแก้ไขทุกข์ที่มีอยู่ได้อย่างอัศจรรย์   โดยไม่มีความสงสัยในเรื่องของการปฏิบัติ    และมีความเข้าใจในเรื่องของชีวิตอย่างแท้จริง    เมื่อเช้ามืดของวันขึ้น   ๑๑   ค่ำ   เดือน   ๘   ปี พ.ศ. ๒๕๐๐


---หลังจากนั้นท่านก็ใช้เวลาเผยแผ่ธรรม    ในขณะที่ยังเป็นฆราวาสอีก   ๒   ปี   ๘   เดือน    แก่ญาติพี่น้องและบุคคลที่สนใจ   ต่อมาเมื่อวันที่   ๓   กุมภาพันธ์   พ.ศ.   ๒๕๐๓   ท่านจึงได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง   เนื่องจากเห็นว่าการบวชเป็นพระภิกษุ    คงจะเอื้อต่อการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ได้ง่ายกว่าการเป็นฆราวาส    ตั้งแต่นั้นคำสอนของหลวงพ่อเทียน   จิตฺตสุโภ   จึงได้แพร่ขยายไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ซึ่งมีผู้ปฏิบัติตามวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ   


---หลวงพ่อเทียนได้อุทิศชีวิตให้กับการสอนธรรมะอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ด เหนื่อยของร่างกายและสุขภาพ   จนกระทั่งอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหารเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕   ถึงแม้ว่าท่านจะอาพาธอย่างหนัก    ก็ยังคงทำงานอย่างหนักต่อไปในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์   จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต


---หลวงพ่อเทียนได้ละสังขารอย่างสงบ  ณ  ศาลามุงแฝกบนเกาะพุทธธรรม   สำนักปฏิบัติธรรมทับมิ่งขวัญ   ตำบลกุดป่อง   อำเภอเมือง   จังหวัดเลย   เมื่อวันที่   ๑๓   กันยายน   พ.ศ.  ๒๕๓๑   เวลา   ๑๘.๑๕   น.      รวมอายุได้   ๗๗   ปี   และท่านได้ใช้เวลาในการเผยแผ่ธรรมะ      ตามวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวแก่คนทั้งหลายเป็นเวลา   ๓๑   ปี


*สถานที่จำพรรษาของหลวงพ่อเทียน   จิตฺตสุโภ


---หลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ  หลังจากที่อุปสมบทแล้ว  ท่านก็ได้นำวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว  เป็นแนวทางแห่งการเผยแผ่ธรรม  จนเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในการใช้หลักธรรม  ในการดำเนินชีวิต  ให้มีความสงบสุข ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์  ในการออกเผยแผ่ธรรมตามสถานที่ต่างๆ  โดยลำดับปีที่ใช้เป็นที่อยู่ในการจำพรรษารวมทั้งสิ้น  ๒๙  ปี  ดังนี้


*พรรษาที่  ๑    พุทธศักราช    ๒๕๐๓  


---จำพรรษาที่วัดบรรพตคีรี    อำเภอเชียงคาน  จังหวัดเลย


*พรรษาที่  ๒ - ๓   พุทธศักราช   ๒๕๐๔ - ๒๕๐๕


---จำพรรษาที่ประเทศลาว


*พรรษาที่  ๔   พุทธศักราช    ๒๕๐๖


---จำพรรษาที่ผานกเค้า  และได้พบกับพระมหาบัวทอง     พุทฺธโฆสโก   ซึ่งเป็นพระรูปแรกที่ได้ร่วมปฏิบัติตามแนวของท่าน     และเผยแผ่ธรรมอย่างจริงจัง


*พรรษาที่  ๕  พุทธศักราช   ๒๕๐๗


---จำพรรษาที่วัดโนนสวรรค์     ตำบลนาอ้อ     อำเภอเมือง     จังหวัดเลย


*พรรษาที่  ๖ พุทธศักราช   ๒๕๐๘


---จำพรรษาที่วัดบรรพตคีรี      อำเภอเชียงคาน   จังหวัดเลย


*พรรษาที่  ๗ - ๑๑   พุทธศักราช   ๒๕๐๙ - ๒๕๑๓


---จำพรรษาที่วัดป่าพุทธยาน       จังหวัดเลย    หลวงพ่อได้เริ่มตั้งสำนักเผยแผ่อย่างจริงจังในที่แห่งนี้   ปัจจุบันวัดป่าพุทธยาน     เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยครูจังหวัดเลย     ส่วนวัดป่าพุทธยานได้ย้ายมาอยู่  ที่บ้านกำเนิดเพชร    อำเภเมือง   จังหวัดเลย   ณ  ที่นี้เองหลวงพ่อได้พบกับพระอาจารย์บุญธรรม    เมื่อปลายปีพุทธศักราช   ๒๕๐๙   พบพระอาจารย์ทอง    อาภากโร        และพระอาจารย์คำเขียน   สุวณฺโณ   ในปีพุทธศักราช   ๒๕๑๐


*พรรษาที่  ๑๒ - ๑๔   พุทธศักราช    ๒๕๑๔ - ๒๕๑๖


---จำพรรษาที่วัดโมกขวนาราม     ตำบลบ้านเป็ด     อำเภอเมือง     จังหวัดขอนแก่น ในขณะนั้นหลวงพ่อกำลังแสวงหาสถานที่ สำหรับเผยแผ่ธรรมในเขตจังหวัดขอนแก่น         ชาวบ้านหัวทุ่งและบ้านคำไฮ   จึงได้นิมนต์หลวงพ่ออยู่จำพรรษา    และถวายให้หลวงพ่ออยู่จำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อหา   ระยะนี้เองที่ธรรมะและวิธีการปฏิบัติแนวการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวเริ่มเป็น ที่รู้จักมากขึ้น


*พรรษาที่  ๑๕    พุทธศักราช    ๒๕๑๗


---จำพรรษาที่เวียงจันทน์    ประเทศลาว


*พรรษาที่   ๑๖ - ๑๗   พุทธศักราช   ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙


---จำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์    อำเภอปากเกร็ด    จังหวัดนนทบุรี   ในช่วงนี้ได้มีโยมมานิมนต์หลวงพ่อให้ไปจำพรรษาที่วัดสนามใน   ตำบลวัดชลอ     อำเภอบางกรวย      จังหวัดนนทบุรี    ซึ่งขณะนั้นวัดสนามในเป็นวัดร้าง     หลวงพ่อจึงเริ่มมาดูสถานที่และทำการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ต่างๆ  และปลูกกุฏิตอนปลายปี  ๒๕๑๙  ท่านได้มอบหมาย  ให้พระอาจารย์ทองล้วน   อธิปญฺโญ  มาจำพรรษาอยู่ก่อน     ก่อนที่ท่านจะตามมา


*พรรษาที่  ๑๘ - ๑๙   พุทธศักราช    ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑


---จำพรรษาที่วัดสนามใน   ตำบลวัดชลอ   อำเภอบางกรวย    จังหวัดนนทบุรี


*พรรษาที่  ๒๐  พุทธศักราช    ๒๕๒๒


---จำพรรษาที่วัดสวนแก้ว    อำเภอบางใหญ่     จังหวัดนนทบุรี


*พรรษาที่  ๒๑ - ๒๓    พุทธศักราช   ๒๕๒๓ - ๒๕๒๕


---จำพรรษาที่วัดสนามใน    ตำบลวัดชลอ    อำเภอบางกรวย    จังหวัดนนทบุรี    ในปีพุทธศักราช   ๒๕๒๕   หลวงพ่อได้รับนิมนต์ให้ไปเผยแผ่ธรรมที่ประเทศสิงคโปร์    ๒    ครั้ง     และในปีนี้เองท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร


*พรรษาที่  ๒๔ พุทธศักราช    ๒๕๒๖


---จำพรรษาที่วัดโมกขวนาราม  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  และในปีพุทธศักราช   ๒๕๒๖  นี้เอง   หลวงพ่อได้เริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมทับมิ่งขวัญ      ตำบลกุดป่อง      อำเภอเมือง   จังหวัดเลย


*พรรษาที่  ๒๕ - ๒๘  พุทธศักราช   ๒๕๒๗ - ๒๕๓๐


---จำพรรษาที่วัดสนามใน  ตำบลวัดชลอ  อำเภอบางกรวย   จังหวัดนนทบุรี      และในช่วงพุทธศักราช  ๒๕๒๙    หลวงพ่อเริ่มปรับปรุงเกาะพุทธธรรม    ซึ่งอยู่ถัดจากสำนักทับมิ่งขวัญให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม


*พรรษาที่  ๒๙  พุทธศักราช    ๒๕๓๑

 

---จำพรรษาที่สำนักทับมิ่งขวัญ  หลวงพ่อจำพรรษาที่สำนักแห่งนี้เป็นพรรษาสุดท้าย   ท่านได้ทุ่มเทเวลาที่เหลือทั้งหมดให้การอบรมสอนธรรมะแก่คณะศิษยานุศิษย์     และควบคุมดูแลการปรับปรุงเกาะพุทธธรรม  เพื่อเป็นสถานที่ผลิตผู้รู้ธรรม  ออกไปสั่งสอนธรรมะแก่บุคคลทั่วไปสืบไป


---(๓)   อารมณ์ของการปฏิบัติตามวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว


---อารมณ์การปฏิบัติตามวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว   ตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน    จิตฺตสุโภ   แบ่งออกเป็น   ๒   ขั้น   คือ   ขั้นอารมณ์สมมติ   และขั้นอารมณ์ปรมัตถ์


*ขั้นที่   ๑ :  อารมณ์สมมติ


---ต้องรู้รูป – นาม (ร่างกาย – จิตใจ)   ต้องรู้รูป – ทำ   นาม  - ทำ     ต้องรู้รูป – โรค     นาม – โรค   โรคมีสองชนิด   คือ   โรคทางร่างกาย   เช่น   ปวดท้อง   ปวดหัว   เราต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล   โรคทางจิตใจ   คือโทสะ   โมหะ   โลภะ (ความโกรธ,  ความหลง,  ความโลภ)   ซึ่งต้องแก้ไขด้วยวิธีการเจริญสติ


---ต่อไปต้องรู้ทุกขัง   อนิจจัง   อนัตตา (ภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้,  ไม่เที่ยง,  บังคับควบคุมไม่ได้)    ต่อไปต้องรู้สมมติ (สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน)   ไม่ว่าสมมติอะไรในโลก    ให้รู้ถึงที่สุดแล้วก็รู้เรื่องศาสนา (คำสอน)    รู้พุทธศาสนา (คำสอนของพระพุทธเจ้า)   ศาสนาคือคนทุกคนไม่ยกเว้น    ศาสนา   หมายถึง  คำสั่งสอนของท่านผู้รู้   รู้พุทธศาสนา  คือพุทธะ   หมายถึง   ผู้รู้   ผู้ตื่น   ผู้เบิกบานด้วยธรรม   ซึ่งได้แก่สติ    สมาธิ   ปัญญา  (การรู้ตัว,  การตั้งใจ,  การรู้)   ดังนั้นจึงต้องเจริญปัญญา


 ---ต่อมาก็รู้เรื่องบาป (ความชั่ว,  ความมัวหมอง)    ต้องรู้บุญ (ความดี,  คุณงามความดี)   บาปคือความมืด   ความโง่   การไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไร   บุญคือความฉลาด   การรู้คือการรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง


---หลังจากจบขั้นที่ ๑  จะเกิดอุปสรรคขึ้นที่จุดนี้   เพราะยึดติดในความรู้ของอารมณ์วิปัสสนู  (เครื่องเศร้าหมองของความรู้ภายใน)  คือ  เมื่อเรารู้ออกนอกตัวเราจะไม่มีที่สิ้นสุด   จะต้องถอนตัวออกมาจากอารมณ์นี้   จะต้องไม่เข้าไปในความคิด


*ขั้นที่  ๒ :  อารมณ์ปรมัตถ์


---ใช้สติดูความคิด   เมื่อความคิดเกิดรู้   เห็น   เข้าใจ   สัมผัสได้   ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้นให้ตัดทิ้งทันที  ทำเหมือนแมวตะครุบหนู  หรือเหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีต้องชกทันที   ไม่จำเป็นต้องไหว้ครู   ไม่ว่าแพ้หรือชนะนักมวยต้องชก   เราไม่ต้องคอยใคร   หรือเหมือนกับการขุดบ่อน้ำ   เมื่อเราค้นพบน้ำ   เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักโคลนตักเลนออก   ตักน้ำออกจนหมด   น้ำเก่าเอาออกให้หมด


---บัดนี้   น้ำใหม่จากภายในจะไหลออกมา   เราจะต้องกวนที่ปากบ่อ   ล้างปากบ่อ   ล้างโคลน   ล้างเลนออกให้หมด   ทำมันบ่อย ๆ น้ำจะใสสะอาดโดยตัวของมันเอง   เมื่อน้ำใสสะอาดมีอะไรตกลงไปในบ่อ   เราจะรู้เห็นและเข้าใจทันที   การตัดความคิดก็เช่นเดียวกัน   ยิ่งเราตัดเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น


---ต่อมา  ให้เห็นวัตถุ (สิ่งที่มีอยู่) เห็นปรมัตถ์ (สิ่งที่กำลังมีอยู่ เป็นอยู่ สัมผัสอยู่) เห็นอาการ (การเปลี่ยนแปลง ของสิ่งที่กำลังมีอยู่) วัตถุหมายถึงของที่มีอยู่ในโลก  ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนและในจิตใจของคนและสัตว์ปรมัตถ์หมายถึงของที่มีอยู่จริง  เรากำลังเห็นกำลังมีกำลังเป็นเดี๋ยวนี้  ต่อหน้าต่อตาของเราสัมผัสได้ด้วยจิตใจ  อาการหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสมมติ  เรามีสีย้อมผ้าอยู่เต็มกระป๋องเดิมคุณภาพร้อยเปอร์เซ็น  ถ้าเรานำมาย้อมผ้ามันจะติดร้อยเปอร์เซ็น  เมื่อเรารู้เราเห็นเราสามารถสัมผัสได้ด้วยจิตใจ  สียังเต็มกระป๋องเหมือนเดิมแต่คุณภาพได้เสื่อมไป  แล้วนำไปย้อมผ้ามันจะไม่ติดเนื้อผ้าสิ่งนี้  เราต้องเห็นจริงๆต้องรู้จริงๆ


---ต่อมาให้เห็นโทสะ  โมหะ  โลภะแล้ว  ให้เราเห็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ (การรู้สึกการจำได้ การปรุงแต่งการรับรู้) ให้เห็นรู้และสัมผัสมันให้เข้าใจสิ่งนี้จริงๆ  โดยไม่ต้องสงสัยบัดนี้จะเกิดปีติ (ความยินดี) ขึ้นเล็กน้อยแต่ปีติเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรมในชั้นสูง  เราไม่ต้องสนใจกับปีตินั้น  เราต้องมาดูความคิดนี้คือจุดเริ่มต้นของอารมณ์ปรมัตถ์  ของการเจริญสติแบบนี้ของผู้มีปัญญา


---หลังจากนั้นก็ให้ดูความคิดต่อไป   จะเกิดความรู้หรือญาณ   หรือญาณปัญญา (ความรู้ของการรู้) ขึ้น   ต่อมาก็จะเห็น   รู้   และเข้าใจกิเลส (ยางเหนียว)   ตัณหา (ติด,  หนัก)   อุปาทาน (ความยึดถือ)   กรรม (การกระทำหรือการเสวยผลกรรม)   ดังนั้น   ความยึดมั่นถือมั่นจะจืดลง   จะหลุดตัวออก   จะจางหายไปเหมือนดังสีที่คุณภาพเสื่อมไปแล้ว   ไม่สามารถจะย้อมติดผ้าได้อีก


---ต่อไปก็จะเกิดปีติขึ้นอีก   เราจะต้องไม่สนใจในปีตินั้น   ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกเสีย   ให้ดูความคิดต่อไป   ดูจิตใจที่กำลังนึกคิดอยู่   จะเกิดญาณชนิดหนึ่งขึ้น   จะเห็น   รู้   และเข้าใจศีล   ศีลขันธ์   สมาธิขันธ์   ปัญญาขันธ์   หรืออธิศีลสิกขา (ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง)   อธิจิตตสิกขา (ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิตเพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง)   อธิปัญญาสิกขา (ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิต   เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูงในทางหลุดพ้นหรือถอนราก)  ในคำว่าขันธ์นั้น   หมายถึง   รองรับหรือต่อสู้   สิกขา   หมายถึง   บดให้ละเอียดหรือถลุงให้หมดไป


---ดังนั้นศีล (ความเป็นปกติ) เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ  กิเลสอย่างหยาบ  คือ โทสะ โมหะ โลภ กิเลสตัณหาอุปาทานกรรม  เมื่อสิ่งเหล่านี้จืดลงจางลง และ คลายลงศีลจึงปรากฎสมาธิ  เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลางกิเลสอย่างกลาง คือ ความสงบเห็นรู้ และ เข้าใจกามาสวะ (อาสวะ คือ ความใคร่ความอยาก) ภวาสวะ (อาสวะ คือ ความเป็น) และอวิชชาสวะ(อาสวะ คือ การไม่รู้) เพราะกิเลสนี้  เป็นกิเลสอย่างกลาง  ซึ่งทำให้จิตใจไม่สงบ


---นี้คืออารมณ์หนึ่งของการเจริญสติวิธีนี้   เมื่อเรารู้และเห็นอย่างนี้   เราจะให้ทาน (การให้)   การรักษาศีลและกระทำกรรมฐาน (การภาวนา) ทุกแง่ทุกมุม   แล้วญาณปัญญาจะเกิดขึ้นในใจ


---สำหรับการทำชั่วทางกาย   รู้ว่าเป็นบาปกรรมอย่างไร   และถ้านรกมีจริง   เราจะตกนรกขุมไหน


---สำหรับการทำชั่วทางวาจา  รู้ว่าเป็นบาปกรรมอย่างไร   และถ้านรกมีจริง   เราจะตกนรกขุมไหน


---สำหรับการทำชั่วทางใจ   รู้ว่าเป็นบาปกรรมอย่างไร   และถ้านรกมีจริง   เราจะตกนรกขุมไหน


---สำหรับการทำชั่วทางกาย   วาจา   และใจพร้อมกัน   รู้ว่าเป็นบาปกรรมอย่างไร   และถ้านรกมีจริง   เราจะตกนรกขุมไหน


---สำหรับการทำดีทางกาย   รู้ว่าเป็นบุญอย่างไร   และถ้าสวรรค์หรือนิพพานมีจริงเราจะไปชั้นไหน


---สำหรับการทำดีทางวาจา   รู้ว่าเป็นบุญอย่างไร   และถ้าสวรรค์หรือนิพพานมีจริงเราจะไปชั้นไหน


---สำหรับการทำดีทางใจ   รู้ว่าเป็นบุญอย่างไร   และถ้าสวรรค์หรือนิพพานมีจริงเราจะไปชั้นไหน


---สำหรับการทำดีทางกาย   วาจา   และใจพร้อมกัน   รู้ว่าเป็นบุญอย่างไร   และถ้าสวรรค์หรือนิพพานมีจริง   เราจะไปชั้นไหน


---จบอารมณ์ของการเจริญสติวิธีนี้   มันจะเป็นความมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่ที่สุด   ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของคนทุกคนไม่ยกเว้น   ถ้าเรายังไม่รู้เดี๋ยวนี้   เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจ   เราต้องรู้อย่างแน่นอนที่สุด   ผู้ที่เจริญสติ   เจริญปัญญา   มีญาณจะรู้   ส่วนผู้ที่ไม่เคยเจริญสติ   เจริญปัญญา   เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจมันจะเป็นอย่างเดียวกัน   แต่เขาไม่รู้เพราะเขาไม่มีญาณ   รู้อย่างแจ่มแจ้ง   และเห็นอย่างแท้จริง   มิใช่เป็นเพียงการจำหรือการรู้จัก   รู้ด้วยญาณปัญญาของการเจริญสติที่แท้   สามารถรับรองตัวเองได้


---กล่าวกันว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วญาณย่อมเกิดขึ้น   ให้ระมัดระวังความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น   ให้รู้สึกตัวของเธอเอง   อย่าได้ยึดติดในความสุขหรือสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้น   ความสุขก็ไม่เอา   ความทุกข์ก็ไม่เอา   เพียงกลับมาทบทวนอารมณ์บ่อย ๆ จากรูป – นาม   จนจบทีละขั้นๆ   และรู้ว่าอารมณ์มีขั้นตอน


---ถ้าเจริญสติอย่างถูกต้อง   การปฏิบัติอย่างนานที่สุดไม่เกิน  ๓   ปี   อย่างกลาง  ๑   ปี   และอย่างเร็วที่สุด ๑  วันถึง ๙๐ วัน   เราไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลของการปฏิบัตินี้   ความทุกข์ไม่มีจริงๆ



*วิธีการสอนธรรมะของหลวงพ่อเทียน   จิตฺตสุโภ


---การสอนโดยการใช้อุปกรณ์   เป็นการสอนที่อยู่ในลักษณะของการใช้สื่อการสอน  ในสมัยพุทธกาลเราก็จะเห็นพระพุทธองค์ใช้ในการสอนสาวกทั้งหลาย   เช่นครั้งที่พระองค์แสดงธรรมในป่าประดู่ลาย   พระองค์ก็ทรงใช้ใบประดู่เป็นอุปกรณ์ในการสอน   และถือว่าเป็นการใช้วิธีอุปมาอุปไมยไปในตัวด้วย   ส่วนหลวงพ่อเทียนนั้น  ถือว่ามีความชัดเจนในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง   เพราะวิธีการของท่านมีการใช้อุปกรณ์การสอนคือ   การใช้มือเคลื่อนไหวแล้วให้มีสติกำหนดรู้   หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า “การสร้างจังหวะ"  


---การใช้มือเป็นเครื่องมือในการฝึกโดยวิธีการเจริญสตินี้   เป็นผลมาจากการประยุกต์ของหลวงพ่อเอง   โดยได้รับแบบอย่างมาจากพระมหาปาน   อานนฺโท   แล้วท่านจึงมาประยุกต์ทีหลัง   และเข้าใจธรรมะด้วยวิธีการนี้   หลวงพ่อเทียนท่านเปรียบให้ฟังว่า   การเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหว    เป็นการหาอุปกรณ์เป็นตัวดึงสติให้มีที่เกาะที่ยึด   เมื่อสติมีที่ยึดแล้ว   ก็จะมีการพัฒนาในทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น    และมีปัญญาแก้ไขทุกข์ทั้งปวงได้  การใช้มือเป็นอุปกรณ์ในการสอน   หรือที่เรียกว่าการเจริญสตินั้นมีทั้งหมด  ๑๕  จังหวะคือ


---๑.เอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง          คว่ำไว้


---๒.พลิกมือขวาตะแคงขึ้น          ทำช้าๆ   ให้รู้สึก


---๓.ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว          ให้รู้สึก     มันหยุดก็ให้รู้สึก


---๔.เอามือขวามาที่สะดือ          ให้รู้สึก


---๕.พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น          ให้รู้สึก


---๖.ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว          ให้รู้สึก


---๗.เอามือซ้ายมาที่สะดือ          ให้รู้สึก


---๘.เลื่อนมือขวาขึ้นที่หน้าอก          ให้รู้สึก


---๙.เอามือขวาออกมาตรงข้าง          ให้รู้สึก


---๑๐.ลดมือขวาลงที่ขาขวาตะแคงไว้          ให้รู้สึก


---๑๑.คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา          ให้รู้สึก


---๑๒.เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก          ให้รู้สึก


---๑๓.เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง          ให้รู้สึก


---๑๔.ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้ายตะแคงไว้          ให้รู้สึก


---๑๕.คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย          ให้รู้สึก


---เมื่อเจริญสติโดยการสร้างจังหวะมากเข้า   สติก็จะพัฒนาจนเกิดเป็นสติที่มีพลังสามารถที่จะเข้าไปควบคุมระบบความคิด ต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์   หลวงพ่อเทียนให้ทรรศนะว่า   ความคิดเป็นรากเหง้าของความโลภ   ความโกรธ    และความหลง     ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองในตัวของมนุษย์   แต่ในขณะเดียวกัน  มนุษย์ก็สามารถที่จะเอาชนะสภาวะที่เกิดขึ้นในใจได้   ด้วยการมีสติเป็นตัวควบคุม


---ท่านจึงแนะนำว่า  เราไม่อาจกดทับภาวะที่มันเกิดขึ้น  ด้วยการรักษาศีลหรือด้วยกฎระเบียบทางพระวินัยได้  และ  เราก็ไม่สามารถที่จะให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหายไปด้วยการเพ่ง  หรือ  ทำให้เกิดความสงบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งถึงแม้ว่า  วิธีดังกล่าวที่เราพยายาม  ที่จะฝึกฝนเพื่อให้สลัดอารมณ์ดังกล่าวออกไป  ก็ตามแต่สิ่งที่มนุษย์สามารถที่จะสลัดอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้  ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจที่ไปที่มาของปัญหานั้นก่อน  แล้วจะสามารถตัดความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นได้  อย่างหมดจดสิ่งที่หลวงพ่อเทียนต้องการ  ทำความเข้าใจ ก็ คือการเจริญสติเพราะการเจริญสติ  เมื่อเจริญให้มากๆความรู้สึกตัว  หรือ  ที่เรามักเรียกว่ามีสตินั้น  จะเข้าไปกำกับความคิดที่มีอยู่  ให้เป็นไปด้วยความเข้าใจ เพราะเมื่อเข้าใจกระบวนการของความคิดแล้ว  เราก็จะควบคุมความคิดได้  โดยอัตโนมัติจนกระทั่งว่า  ตัดความคิดที่เป็นรากเหง้าของ


---ความทุกข์ในใจทิ้งไปได้เลย     หรือที่หลวงพ่อเทียนชอบเรียกว่าตัดความคิด     การที่หลวงพ่อเทียนชี้ให้ผู้ปฏิบัติเห็นความสำคัญของสติ    เพราะท่านเห็นว่าการมีสติมากๆ จะเป็นเครื่องกั้นอกุศลที่จะเข้ามาได้     ยิ่งมีมากเท่าใดก็จะมีเกราะสำหรับป้องกันตัวเองมากเท่านั้น     หลวงพ่อเทียนกล้าที่จะรับประกันวิธีการที่ท่านปฏิบัติว่า    ทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นจากทุกข์ได้จริงตามมหาสติปัฏฐาน  ๔ ครับ.





............................................................................................






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย....แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 20  สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท28/10/2024
ผู้เข้าชม7,886,093
เปิดเพจ12,106,010
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view