/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

คู่มือมนุษย์

คู่มือมนุษย์

ท่านที่จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลาย







---หัวข้อที่อาตมาได้รับมอบหมายสำหรับทำการอบรมในที่นี้นั้น  เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า  คือ “หลักพระพุทธศาสนา,  วิธีการปฏิบัติ,  และศีลธรรม”  จากหัวข้อนี้  เราจะเห็นได้ว่ามีการแยกเป็น  พุทธศาสนา  และ  ศีลธรรม  ทั้งสองหัวข้อนี้  กล่าวได้ว่าเป็นวิชาความรู้ที่จำเป็นแก่บุคคลทั่วไปทุกประเภท  และจำเป็นแก่บุคคลที่กำลังจะปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญโดยตรงของคนทุก ๆ ประเภทด้วย.

 

---แต่สำหรับในวันแรกนี้,  อาตมาอยากจะชี้ให้เห็น  ความแตกต่างในระหว่างของสองสิ่งนี้เป็นส่วนใหญ่  เพราะฉะนั้น  จึงให้หัวข้อคำอบรมในวันนี้ว่า  “พุทธศาสนานั้นคืออะไร  ”  เพื่อเราจะได้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาให้ชัดเจนเป็นประการแรก  แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากจะทำการเปรียบเทียบเบื้องต้น  ในระหว่างสิ่งที่เรียกว่า  “ศาสนา”  กับ  “ศีลธรรม”  พอเป็นหลักประกันความปนเปฟั่นเฝือเสียก่อน.


---พอได้ยินคำว่า "ศาสนา"  ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้สึกหรือสันนิษฐาน  เอาได้ว่า  คำว่า  "ศาสนา"มีความหมายเป็นไปได้กว้างหรือลึกกว่าคำว่า "ศีลธรรม" 


---คำว่า  ศีลธรรม  หมายถึง ข้อปฏิบัติซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์สุขในโลกนี้  ในชั้นที่เป็นพื้นฐานทั่วไปมากกว่าอย่างอื่น;  และศีลธรรม เป็นหลักปฏิบัติที่กล่าวได้ว่ามีอยู่ตรง ๆ กัน ทั่ว ๆ ไปแทบทุกศาสนา


---ส่วน คำว่า  ศาสนา  นั้น  หมายถึง ระเบียบวิธีปฏิบัติในขั้นสูง  และมีความผิดแผกแตกต่างกันออกไปโดยเฉพาะเป็นศาสนาหนึ่ง ๆ ทีเดียว


---ที่เห็นได้ชัด ๆ ง่าย ๆ  เราจะเห็นได้ว่า  คำว่า  "ศีลธรรม" ย่อมหมายถึง ระเบียบการปฏิบัติเพียงเท่าที่เราจะเรียกได้ว่า  เป็นการทำให้เป็นคนดี  เช่น  มีศีล  มีสัจจะ  มีกตัญญูกตเวที  มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือคนอื่น  ตามหลักที่สังคมทั่ว ๆ ไปต้องการ  แต่เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามนั้นแล้ว  คือ มีศีลธรรมดีแล้ว  ปัญหาก็ยังคงมีเหลืออยู่ว่า คนนั้นยังไม่พ้นทุกข์  หรือหมดปัญหาที่เกิดมาจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ยังไม่พ้นทุกข์  ไม่พ้นการเบียดเบียนของกิเลส  โดยเฉพาะคือ  โลภะ  โทสะ  โมหะ.


---อำนาจของศีลธรรมได้สิ้นสุดลงเสียก่อนที่จะกำจัดโลภะ  โทสะ  โมหะให้สิ้นไปได้  และไม่สามารถจะกำจัดความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นได้  ส่วนขอบเขตหรือหน้าที่ของศาสนานั้น  ยังไปได้ไกลต่อไปอีก  โดยเฉพาะพุทธศาสนาของเราย่อมมุ่งหมายโดยตรง  ที่จะกำจัดกิเลส  คือ โลภะ  โทสะ  โมหะ ให้สิ้นเชิง  หรือดับความทุกข์ทั้งหลายที่จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น  ให้สูญสิ้นไป.


---สิ่งที่เรียกว่า "ศาสนา"  ไปไกลกว่าศีลธรรมเช่นนี้  จึงเป็นการชี้ให้เห็นได้ชัดๆ ว่า  ศาสนากับศีลธรรมนั้น  ต่างกันอย่างไร  โดยเฉพาะพุทธศาสนาไปได้ไกลกว่าศีลธรรมสากลของโลกทั่วๆ ไป  อย่างไร 


---เมื่อเราเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า  ศาสนา  กับคำว่า  ศีลธรรม  ดังนี้แล้ว  เราจะได้สนใจกับสิ่งที่เรียกว่า  "พุทธศาสนา"  โดยเฉพาะกันสืบไป


---เมื่อตั้งปัญหาว่า  พุทธศาสนาคืออะไร  อาตมาอยากจะให้คำจำกัดความ  หรือบทนิยามที่เหมาะสมแก่ท่านทั้งหลายในที่นี้  ที่สุดว่า  “พุทธศาสนา" คือ วิชารวมทั้งระเบียบปฏิบัติสำหรับให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร”  เท่านั้นเอง  ผู้ที่จำเป็นจะต้องรับการอบรมทางพุทธศาสนาอาจจะเข้าใจว่า  ถ้าอย่างนั้น ตัวเองก็เป็นผู้ที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ดังนั้นหรือ.


---อาตมาก็อยากจะยืนยันว่า เรื่องมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ  ถ้าใครรู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยถูกต้องครบถ้วน ลึกซึ้งถึงที่สุดแล้ว  คนนั้นชื่อว่า รู้พุทธศาสนาถึงที่สุดด้วยเหมือนกัน  ขอให้ทำความเข้าใจ ในคำจำกัดความที่ว่า "พุทธศาสนา" คือวิชาและระเบียบปฏิบัติสำหรับให้รู้อะไรเป็นอะไร  ให้มากเป็นพิเศษ


---ที่ได้วางหลักเกณฑ์ดังนี้  ก็เพื่อประโยชน์ที่จะให้ท่านทั้งหลาย เข้าใจพุทธศาสนาได้โดยเร็ว  หรือโดยง่ายนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการเล่นโวหาร ให้เปลืองเวลาและว่าโดยที่แท้จริงแล้ว ก็เป็นคำจำกัดความที่ถูกต้อง ที่สุด  ตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า  หรือของพุทธศาสนา


---คำที่ว่า  ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  นั้น  มีความหมายลึกซึ้งมาก  เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลาย ลองพิจารณาดูว่า  เรารู้จักว่าอะไรเป็นอะไรกันหรือเปล่า  แม้แต่จะรู้จักว่า  ตัวของตัวเองนั้นเป็นอะไร  ชีวิตนี้คืออะไร  การงานคืออะไร  หน้าที่หรืออาชีพคืออะไร  แม้ที่สุดแต่เงินทองทรัพย์สมบัติ  ข้าวของ เกียรติยศชื่อเสียง เหล่านี้  คืออะไรก็ตาม  ถ้าใครกล้ายืนยันว่า  รู้ถึงที่สุด  ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร  ก็ลองพิจารณาดูให้ดี ๆ  หรือฟังคำอธิบายดูต่อไป  ว่าตามความหมายอันแท้จริงแล้ว  สิ่งเหล่านี้คืออะไรกันแน่


---ถ้าจะกล่าวโดยโวหารธรรมะ  ว่าใครเป็นผู้รู้ธรรมะแล้ว  ก็ต้องกล่าวว่า เขารู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร  คือ ถ้าผู้ใด  รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร  ผู้นั้นจะเป็นผู้รู้พุทธศาสนา  ถ้ารู้หมดจนสิ้นเชิง  ก็เท่ากับว่ารู้พุทธศาสนาหมดหมดจนสิ้นเชิงได้ ; เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรจริง ๆ แล้ว  เราย่อมไม่ปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง  แต่ย่อมจะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง  เมื่อปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวงแล้ว  ก็เป็นอันแน่นอนว่า ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้


---เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้จักสิ่งทั้งปวง ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง  ว่ามันเป็นอะไร  เราจึงปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง    ไม่มากก็น้อย  ความทุกข์ก็เกิดขึ้นตามส่วน  ตัวอย่างเช่น ไม่รู้จักว่าชีวิตนี้คืออะไร  หน้าที่การงานคืออะไร  เราย่อมปฏิบัติผิด  ต่อสิ่งเหล่านี้  และความทุกข์ก็ต้องเกิดขึ้นตามส่วนที่ไม่รู้ การที่รู้ว่า  สิ่งทั้งปวงคืออะไร  นั้นเป็นเครื่องช่วยให้เราปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวงโดยตรง


---เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนา  หรือจะเรียกว่า  การปฏิบัติพุทธศาสนาก็ตาม  ย่อมเป็นการปฏิบัติปฏิบัติเพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงนั่นเอง  เพราะว่า ถ้าเราปฏิบัติจนถึงกับรู้ว่า  สิ่งทั้งปวงคืออะไร  เสียแล้ว  ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติอะไรอีกต่อไป  ขอให้ฟังให้ชัดเจนหรือให้ดี  ในที่ตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง  ว่าการปฏิบัติของเรานั้น  เราปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า  สิ่งทั้งปวงคืออะไร  ตามที่เป็นจริงอย่างไร  เท่านั้น


---ถ้าลงได้รู้ในเรื่องนี้แล้ว  การปฏิบัติก็ไม่จำเป็นอะไรต่อไปอีก  การปฏิบัติอย่างที่เรียกกันว่า  ปฏิบัติศีล  สมาธิ  ปัญญา  ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาอะไรก็ตาม  ทั้งหมดนั้น  ล้วนแต่มุ่งผลในที่สุด  เพื่อให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร  เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร  ก็ย่อมหมายถึงการบรรลุมรรคผล  ชั้นใดชั้นหนึ่ง  หรือถึงที่สุด  เพราะว่าความรู้นั้นเอง  เป็นตัวทำลายกิเลสไปในตัว  และเป็นการรู้ผลของการหมดกิเลสไปในตัว


---เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไรจริง ๆ แล้ว  การเบื่อหน่าย คลายกำหนัดและความหลุดพ้น ที่เรียกว่า  นิพพิทา  วิราคะ  และวิมุตตินั้น  ย่อมเกิดขึ้นเองเป็นอัตโนมัติ  ไม่ต้องทำความเพียรหรือปฏิบัติอะไรต่อไปอีก  เรามีหน้าที่ที่จะทำความเพียรหรือปฏิบัติ  ก็แต่ขั้นที่ว่า ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือไม่รู้ว่า  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา,  นี่ เป็นการกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนา


---เมื่อการปฏิบัติกรรมฐานภาวนานั้น  ได้เป็นไปจนกระทั่งเกิดความเห็นแจ้งสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาเด็ดขาดสิ้นเชิงลงไปจริง ๆ แล้ว  นั้นย่อมหมายถึง ที่สุดของความรู้และการปฏิบัติ  เพราะว่า ความรู้เช่นนั้น ย่อมทำลายกิเลสเอง อยู่ในตัวจนหมดไปในตัว เราไม่ต้องทำความพยายามในข้อที่จะให้ความรู้นั้น  ทำลายกิเลส,  เราพยายามแต่เพียงให้เกิดความรู้อันนั้นขึ้นมา  คือให้เป็นความรู้ ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ถึงที่สุดจริง ๆ เท่านั้น  โดยสรุปก็คือ ความรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  นั่นเอง


---เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้  เมื่อเราไม่รู้ว่า  ชีวิตนี้  หรือสิ่งทั้งปวงนี้  หรืออะไร ๆ ที่เรากำลังหลงรักใคร่ยินดีนี้  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาแล้ว  ก็หลงรักยินดี ติดพันยึดถือ ในสิ่งเหล่านั้น  ครั้นเรารู้จริงตามวิธีรู้ ของทางพระศาสนา  คือ ไม่ใช่รู้อย่างวิธีของโลก ๆ  แต่เป็นการรู้ตามวิธีของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ  จนมองเห็นชัดว่า  สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ไม่มีอะไรที่น่าผูกพัน ตัวเราเข้าไปกับสิ่งนั้น ๆ จริง ๆ แล้ว  ก็จะเกิดความหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ดังนี้ ฉะนั้น การปฏิบัติจึงเป็นการปฏิบัติ เพียงเพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง  คือ ยิ่งกว่าที่รู้ ๆ กันอยู่ตามธรรมดาโลก  หรือตามที่ตนเข้าใจว่ารู้เท่านั้นเอง


---อาตมาขอยืนยันคำจำกัดความข้อนี้  ว่าเป็นคำจำกัดความ ที่เพียงพอและเหมาะสมสำหรับท่านนักศึกษาทั้งหลาย  จะเอาไปใช้สำหรับดำเนินการปฏิบัติตน  ด้วยการสืบสาว  วิธีรู้  และวิธีปฏิบัติ  ให้ออกไปจากหลักที่ว่า  เราจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น  ถ้าถามขึ้นเป็นคำกลาง ๆ  ในที่ทั่วไป  ว่าศาสนาคืออะไร  ก็มีทางที่จะตอบได้มากทางด้วยกัน  จนกระทั่งท่านทั้งหลายฟั่นเฝือ  ตัวอย่างเช่น จะถามไปกลาง ๆ ว่า  ศาสนาคืออะไร  ดังนี้แล้ว, ศาสนากลุ่มหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง ก็จะตอบว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ส่งมาจากพระเป็นเจ้า  ดังนี้ เป็นต้น  เป็นคำตอบที่มีมากมายในหลายศาสนาในโลกนี้  ซึ่งนิยมถืออย่างนั้น,  นิยมตอบอย่างนั้น


---แต่สำหรับพุทธศาสนาแล้ว  ไม่มีการกล่าวเช่นนั้นเลย  ความรู้ที่ว่าอะไรเป็นอะไรนี้  จะมาจากใครก็ได้  ถ้าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ว่าอะไรมาจากอะไรจริงๆ แล้ว ก็เป็นพุทธศาสนาทันที การที่จะไปตอบว่า  พุทธศาสนาคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น  แทบจะไม่มีประโยชน์  เพราะว่า เรายังไม่ได้รับประโยชน์อะไรมากกว่ารู้ว่าเป็นดังนั้นเท่านั้น


---ถ้าจะถามว่า  ทำไมจึงไม่อ้างบาลีข้อนั้นข้อนี้มาตอบ  เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดว่า  พุทธศาสนาคืออะไร  อาตมาก็อยากจะตอบว่า  คำกล่าวที่ว่า ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นแหละ  คือ ใจความของพระบาลีหมดทั้งพระไตรปิฎก  เพราะเหตุว่า  หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งพระไตรปิฎก  ก็ล้วนแต่เป็นการบ่งระบุให้รู้ว่า  อะไรเป็นอะไร  เท่านั้นเอง


---ถ้าถือเอาตามหลัก ที่ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยิน ได้ฟังกันอยู่ทั่วไปแล้ว สักอย่างหนึ่งมาอ้างก็ได้  เช่น  หลักเรื่อง  อริยสัจจ์ ๔ ประการ


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๑  บรรยายเรื่อง  ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งปวง


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๒  บรรยายเรื่อง  มูลเหตุของความทุกข์  ซึ่งได้แก่ ความอยากได้  อยากมี  อยากเป็น  และอยากไม่ให้มี  อยากไม่ให้เป็น  อย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งรวมเรียกว่า ความอยาก


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๓  บอกถึงความที่ว่า  ถ้าดับความอยากเสียได้แล้ว  ความทุกข์ก็จะต้องดับไปตาม  เพราะว่าความทุกข์ย่อมมาจากความอยาก


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๔  บอกวิธีที่จะดับความอยากเสียให้ได้ด้วยวิธีอย่างไร 


---เมื่อถือว่าหลักอริยสัจจ์ ๔ ประการนี้  เป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา  เราก็ควรจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อที่อาตมาได้ยืนยันว่า  คำจำกัดความของพระพุทธศาสนานั้น  คือ  “วิชาหรือระเบียบปฏิบัติที่ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร”  ดูว่าจะลงรูปลงรอยกันได้อย่างไรสืบไป


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๑  ที่แสดงว่า  สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์  หรือสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์  นี่ก็คือบอกตรง ๆ ว่า  สิ่งทั้งปวงหรืออะไรเป็นอะไรนั่นเอง  คำว่า  สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์  นั่นก็คือคำตอบที่ว่า  สิ่งทั้งปวง เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์  แต่สัตว์ทั้งหลายไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น  ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์  เพราะฉะนั้น จึงได้มีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งในสิ่งทั้งปวง


---ถ้ารู้ว่ามันเป็นความทุกข์  ไม่น่าจะอยาก  ไม่น่าจะยึดถือ  ไม่น่าจะไปผูกพันตัวเองเข้ากับสิ่งใด แล้วก็คงจะไม่อยาก  นี่เพราะไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรโดยถูกต้อง ตามความเป็นจริงนั่นเอง  จึงได้ไปอยากเข้า  คือ ปฏิบัติผิดต่อความจริงของสิ่งทั้งปวง 


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๒  ที่แสดงว่าความอยากนั้น ๆ เป็นเหตุของความทุกข์  สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น  ไม่ได้เข้าใจ ว่าความอยากนี้แหละ เป็นเหตุของความทุกข์ จึงได้พากันอยากนั่น  อยากนี่  ร้อยแปดพันประการ  และอยากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ โดยไม่เห็นว่าความอยากนี้  เป็นที่ตั้งของความทุกข์  เป็นที่เกิดของความทุกข์, นี่ ก็เพราะไม่รู้จักตัวความอยาก  ว่าความอยากนั้นคืออะไร  นี่ก็เรียกว่ารู้อะไรเป็นอะไรอีกนั่นเอง


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๓  ที่แสดงว่านิโรธ  หรือพระนิพพาน  คือ การดับตัณหาเสียให้สิ้น  เป็นความไม่มีทุกข์นั้น  สิ่งที่เรียกว่า นิโรธหรือนิพพานนั้น  ก็เป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลาย ยิ่งไม่รู้จักกันใหญ่มากขึ้นไปอีก  ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่อาจจะลุถึงได้ในที่ทั่ว ๆ ไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ก็หาพบได้ตรงที่มีความอยากและดับมันเสียได้นั่นเอง  นี่,  ก็คือว่า ไม่รู้อะไรเป็นอะไร  จึงไม่มีใครปรารถนาที่จะดับความอยาก  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง  ก็คือไม่ปรารถนาพระนิพพาน


---อริยสัจจ์ข้อที่ ๔  อันเป็นข้อสุดท้ายที่เรียกว่า มรรค  อันได้แก่ วิธีดับความอยากนั้น ๆ เสีย  ไม่มีผู้ใดรู้เห็นเข้าใจว่า การทำอย่างนี้ เป็นวิธีดับเสียซึ่งความอยาก หรือทำตนให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีใครสนใจเรื่อง อริยมรรค อันมีองค์ ๘ ประการ  ซึ่งล้วนแต่เป็นการดับเสียซึ่งความอยาก  นี้,  ก็คือว่า  ไม่รู้จักอะไรเป็นอะไรอีกนั่นเอง 


---ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นที่พึ่งแก่ตนได้  ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรขวนขวายพยายามอย่างยิ่ง ; จึงไม่มีใครสนใจ  กับเรื่องอริยมรรค  อันมีองค์ ๘ ประการ  ของพระพุทธเจ้า  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุด  ในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์เราในโลกนี้หรือโลกอื่น ๆ  รวมทั้งเทวโลกอะไร ๆ ด้วยกันก็ได้ ถ้าหากจะมี 


---ไม่มีความรู้อันใดที่จะสูงสุดยิ่งไปกว่าหลักธรรม  ที่เรียกว่า  อริยมรรคมีองค์ ๘  แต่แล้วก็ไม่มีใครจะสนใจ ในความรู้ข้อนี้กันนักเหมือนกัน  นี่แหละ  คือ การที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  อย่างน่าหวาดเสียว ไม่รู้ว่า อริยมรรค นี้จะดับความทุกข์ให้เด็ดขาด ลงไปได้อย่างไร


---ทั้งหมดนี้  เราจะเห็นได้ว่า  เรื่องอริยสัจจ์ ๔ ประการนั้น  คือ ความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่า  อะไรเป็นอะไรอย่างครบถ้วน  นั่นเอง  ในเรื่องความทุกข์นั้น  บอกให้รู้ว่าอย่าไปเล่นกับมัน  มันจะเป็นความทุกข์เกิดขึ้นมา และเราก็ไม่รู้ มีคนบอกให้ ก็ไม่เข้าใจ ยังขืนไปเล่นกับความทุกข์กันอยู่และมากยิ่งขึ้น จนเต็มไปด้วยความทุกข์  ดังนี้แหละ  เรียกว่า เป็นความโง่เขลาหรือเป็นอวิชชา  เป็นความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ตามที่เป็นจริง 


---เพราะมีอวิชชา  จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  จึงปฏิบัติผิด  ต่ออะไร ๆ ไปทุกอย่าง  ปฏิบัติถูกบ้าง  ก็เล็กน้อยเกินไปและถูก แต่ความหมายของคนที่มีกิเลสตัณหา ซึ่งถือว่า ถ้าได้อะไรมาตรงตามความต้องการของตนแล้ว  ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติถูก  แต่แล้วความทุกข์ก็ยังเหลืออยู่เต็มไปหมด


---เช่นนี้  ตามทางธรรมไม่ถือว่าปฏิบัติถูก  ทั้ง ๆ ชาวโลกเขาจะถือว่า เป็นการปฏิบัติถูกที่สุดก็ตาม  เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ถือว่า นั่นคือ การรู้ที่ถูกต้อง  ว่าอะไรเป็นอะไร ถือเป็นเพียงความรู้อย่างโลกๆ และถูกต้องเพียงนิดเดียว  แม้อย่างโลก ๆ  ส่วนที่เป็นทางธรรมแล้ว  ก็ยังนับว่าไม่รู้อะไรเลย  ดังนี้  นี้เรียกว่า ถ้าจะพิจารณากันโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ ประการ  ซึ่งท่านทั้งหลาย อาจได้ยินได้ฟัง กันอยู่ตามปกติ  ก็ยังจะเห็นได้ชัดว่าพระพุทธศาสนานั้น  คือ วิชาที่บอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง  ดังนี้


---ทีนี้ เราจะลองถือเอาหลักบาลี ที่รู้กันโดยมากทั่วไปอีกข้อหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธศาสนา" หรือ  "พระคาถาของพระอัสสชิ"  มาเป็นเครื่องพิจารณา  เมื่อพระอัสสชิ  ได้พบกับพระสารีบุตร แต่ก่อนบวช  พระสารีบุตร ได้ถามถึงใจความของพระพุทธศาสนา ว่ามีอยู่อย่างไร  โดยย่อที่สุด  พระอัสสชิได้ตอบว่า  โดยย่อที่สุดแล้ว  ก็คือ


---เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา,  เตสํ  เหตุ  ตถาคโต,  เตสญฺจ  โย  นิโรโธ  จ,  เอวํวาที  มหาสมโณ,  เป็นใจความสั้น ๆ เพียงเท่านี้  ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเรา  ก็ว่า  “สิ่งทั้งหลายเหล่าใด  เกิดมาแต่เหตุ  พระตถาคตเจ้าท่านทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น  พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิง  ของสิ่งเหล่านั้น  เพราะหมดเหตุ" 


---พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้  นี่,  เป็นคำตอบของพระอัสสชิ  แต่ถือกันว่า เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ในทุกประเทศที่เป็นพุทธบริษัทถึงกับมีการจารึกลงในแผ่นอิฐ มาตั้งแต่ครั้งใกล้สมัยพุทธกาล  คือยุคสมัยพระเจ้าอโศก เป็นต้นมาทีเดียว,  เป็นอักษร ๔ บรรทัดนี้  เท่านั้น  ถือกันว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์  ในฐานะเป็นใจความของพุทธศาสนา


---ถ้าเอาตามหลักนี้  ก็กล่าวได้ว่า  ใจความของพุทธศาสนานั้น  คือการบอกให้รู้ว่า  “สิ่งทั้งปวงนั้น  มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา,  มันดับไม่ได้  จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน”


---แม้ใจความสำคัญนี้  ก็เป็นการชี้ให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร นั่นอีกเหมือนกัน  คือเป็นการชี้ให้รู้ว่า อย่าไปเห็นว่าปรากฏการณ์อะไรเป็นตัวตนที่ถาวร  ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร มีแต่สิ่งที่เกิดงอกงามออกมาจากเหตุและงอกงามเจริญต่อไปโดยอำนาจของเหตุ  และจะดับไปเพราะความสิ้นสุดของตัวเหตุ


---คำว่า "เหตุ" ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่ง  ซึ่งเราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปัจจัย" ก็ได้ สิ่งหนึ่งๆ ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ปรุงแต่งสิ่งอื่นๆ สืบต่อกันไป  เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้  หรือปรากฏการณ์ทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้  ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ  ไม่มีตัวมันเองที่เป็นของอิสระตายตัว เป็นแต่ความเลื่อนไหลไป ในฐานะเป็นผลของสิ่งที่เป็นเหตุ ที่ปรุงทะยอยกันมาไม่หยุด


---เพราะอำนาจของธรรมชาติ มีลักษณะปรุงไม่หยุดยั้ง  สิ่งต่างๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด  และเปลี่ยนแปลงกันไม่หยุด พุทธศาสนาจึงบอกให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน มีแต่ความที่เหตุ ปัจจัยปรุงแต่งกันไป  และเป็นความทุกข์รวมอยู่ในนั้นด้วย  เพราะไม่มีอิสระในตัวเอง  ต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ 


---จะไม่มีความทุกข์  ก็ต่อเมื่อหยุดหรือดับ จะหยุดหรือดับ  ก็ต่อเมื่อดับเหตุ  ทำเหตุนั้นให้หยุดให้ดับ  ไม่ให้มีการปรุงสืบไป  ข้อนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  อย่างลึกซึ้ง  อย่างสุดสามารถที่คนเราหรือว่าผู้มีสติปัญญาตามธรรมดาจะบอกได้  นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริง ๆ

  

---การบอกนี้ คือ บอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นแต่เรื่องของมายา  คือ เหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันขึ้นเท่านั้น  อย่าไปหลงยึดถือจนชอบหรือชังมันเข้า ทำใจให้เป็นอิสระ จากความชอบหรือความชังดีกว่า เมื่อทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความชังในสิ่งทั้งปวงได้จริงๆ แล้วนั่นแหละ คือการออกมาเสียได้จากอำนาจแห่งเหตุ  เป็นการดับเหตุเสียได้  ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดได้  เพราะความชอบหรือความชังอีกต่อไป ข้อนี้เห็นได้ว่า  หลักหัวใจพระพุทธศาสนานั้น  ก็เป็นการชี้ในข้อที่ว่า  “อะไรเป็นอะไร”  อย่างถูกต้องลึกซึ้งที่คนทั่วไปตามธรรมดาไม่เคยได้ยินได้ฟังนั่นเอง  อีกอย่างเดียวกัน


---อีกทางหนึ่งนั้น  อาตมาอยากจะชี้ ให้ท่านทั้งหลายสังเกตเห็นสักนิดหนึ่ง ถึงวัตถุประสงค์แห่งการออกบวช ของพระพุทธเจ้า  ว่าท่านออกผนวช จากความสุขในราชสมบัตินั้น  โดยพระประสงค์อย่างใด  พระพุทธภาษิต ที่ตรัสในข้อนี้  มีอยู่อย่างชัดเจนว่า  พระองค์ใช้คำว่า 


---"กึ  กุสลคเวสี"   หมายถึง พระองค์ในขณะที่เป็นผู้ออกจากเรือน  บวชแสวงหาอยู่ว่า  “อะไรเป็นกุศล ๆ”  ฟังดูให้ดี  ที่พระองค์ทรงออกบวชจากบ้านจากเรือน  ก็เพื่อแสวงหาความรู้ที่ว่า  อะไรเป็นกุศล ?  แต่คำว่า  “กุศล”  ของพระองค์ในที่นี้หมายถึง ความรู้  หมายถึง ความฉลาด


---กุศล  แปลว่า  ความฉลาด  ในที่นี้หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องที่สุด  ว่าอะไรเป็นอะไร  โดยเฉพาะ ก็คือว่าอะไรเป็นความทุกข์,  อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์,  อะไรเป็นความไม่มีทุกข์,  อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์นั้น  นี้เรียกว่า ความฉลาดหรือกุศล  เป็นกุศลถึงที่สุด  เป็นความฉลาดถึงที่สุด  อยู่ที่ตรงนั้น


---การออกผนวชของพระพุทธเจ้านั้น  เป็นการออกแสวงหา  ว่าอะไรเป็นความรู้ที่ฉลาดที่สุดในโลกทั้งปวง ;  ในที่สุดก็ได้ทรงพบความรู้อันนี้  นี่, เราจะเห็นได้ว่า  พระองค์ออกผนวช  เพื่อแสวงหาความรู้  เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร : เพราะถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างถูกต้องครบถ้วนสิ้นเชิงจริง ๆ แล้วนั้น ก็คือ ความฉลาดหรือความรู้ที่ถึงที่สุดดุจกัน  พระองค์จึงทรงออกแสวงหาความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรที่บริสุทธิ์บริบูรณ์นั่นแหละ  คือ ตัวพุทธศาสนา


---ทีนี้  ถ้าจะถือตามที่คนทั่ว ๆ ไปได้ยินได้ฟัง  โดยเฉพาะที่คนแก่คนเฒ่าพูดกันติดปาก  ก็คือ  เรื่องพระไตรลักษณ์  ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักสำคัญ  หรือตัวพุทธศาสนาอีกแนวหนึ่งด้วยเหมือนกัน  ไตรลักษณ์  มีเป็นหัวข้อสั้น ๆ ว่า  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา นี้เป็นหลักพุทธศาสนาที่เราต้องรู้  ถ้าไม่รู้  ก็เรียกว่า ไม่รู้พุทธศาสนา 


---อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  นี้  คือ การประกาศความจริงออกไปว่า  “สิ่งทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น  ไม่เที่ยง,  สิ่งทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง  เป็นทุกข์,  สิ่งทั้งปวงทั้งที่ปัจจัยปรุงแต่งและปัจจัยไม่ปรุงแต่งนั้น  เป็นอนัตตา”  นี้,  เป็นหลักพระพุทธศาสนา  นี่ยิ่งเป็นการตอบปัญหาของคำถามที่ว่า  “อะไรเป็นอะไร”  เป็นอย่างยิ่ง ;  ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านี้แล้ว คือ  การบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็น  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา


---ที่ว่าเป็น อนิจจัง  ก็คือ สิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อย  ไม่มีอะไรเป็นตัวมันเอง ที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะ ที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์นั้น  หมายถึง ข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทนทุกข์ทรมานอยู่ในตัวมันเอง,  มีลักษณะที่ดูแล้ว  น่าเกลียดน่าชัง  น่าเบื่อหน่าย  น่าระอา  อยู่ในตัวมันเองทั้งนั้น


---และที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็น อนัตตา  นั้นหมายถึง การบอกให้รู้ว่าบรรดาสิ่งทั้งปวง  ไม่มีอะไรที่เรา ควรจะเข้าไปยึดถือ เอาด้วยจิตใจที่ยึดมั่นเป็นตัวตน หรือเป็นของตน, ไม่มีทางจะยึดเอาเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนได้เลย ; ถ้าไปยึดถือเข้า  ก็ต้องเป็นความทุกข์ 


---นี่แหละ,  เป็นการบอกให้รู้  ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น  มันยิ่งกว่าไฟ  เพราะว่าไฟนั้น  มันลุกโพลง ๆ อยู่  เราเห็นว่าเป็นไฟ  ก็ไม่เข้าใกล้ ;  แต่สิ่งทั้งปวงนั้น  มันเป็นไฟที่มองไม่เห็นได้ว่าเป็นไฟ  เราจึงเข้าไปกอดกองไฟกันด้วยความสมัครใจ  มันก็เป็นทุกข์ตลอดกาล  นี้คือ  การบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไรเป็นอะไร  โดยนัยแห่งพระไตรลักษณ์นี้ ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นชัดได้ว่า  พุทธศาสนา  คือ วิชาหรือระเบียบปฏิบัติที่ทำให้รู้ได้  ว่าอะไรคืออะไร  เท่านั้นเอง 


---ทีนี้  เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว  ไม่ต้องสงสัย  เราก็จะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง การที่เราจะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง โดยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น  คนจะปฏิบัติศีล  สมาธิ  ปัญญา  กรรมฐาน  ภาวนาให้ถูกต้อง  โดยไม่หวังผลเป็นความรู้  ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไรอย่างไรนั้นเป็นไปไม่ได้ ;  เป็นความเขลาอย่างยิ่ง เราจะต้องปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอะไร แล้วเราจึงจะรู้ว่า สิ่งนั้นประกอบอยู่ด้วยประโยชน์  หรือว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่เราได้อย่างไร


---เมื่อได้ก้าวมาถึงหลักที่ว่า  เราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร  และเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร  จึงจะตรงต่อกฎธรรมชาติ ธรรมดาของสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่จริง ๆ ดังนี้แล้ว  หลักในพระบาลี ก็มีอยู่อีกพวกหนึ่ง  หรือส่วนหนึ่งที่เป็นคำตอบของปัญหาข้อนี้สืบไป  ได้แก่  กฎหรือหลักที่เรียกว่า  "โอวาทปาติโมกข์"


---คำว่า  โอวาทปาติโมกข์  แปลว่า  ประธานหรือหัวหน้าของคำสอนทั้งหมด  หรือจะแปลว่า  คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด  อย่างนี้จะดีกว่า


---โอวาทปาติโมกข์  มีอยู่ ๓ ข้อสั้น ๆ  คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง,  การทำความดีให้เต็มที่ให้ครบถ้วน,  และการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่สิ่งทั้งปวงเป็นจริงอยู่อย่างไร


---เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  หรือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ยึดถือเอาไม่ได้  ไปหลงใหลด้วยไม่ได้  เราต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวง ในลักษณะที่ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง  คือ เว้นจากการทำชั่วทั้งปวง  ที่หมายถึง ความละโมบโลภมาก ด้วยอำนาจของกิเลสที่อยากทำชั่ว เพราะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น ไม่น่าหลงใหลเลย,  ไม่น่าไปลงทุน ทำเอาด้วยการฝืนศีลธรรมหรือฝืนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ  เพื่อไปทำความชั่ว


---ทั้งสองขั้นนี้ไม่ต้องสงสัย  ท่านทั้งหลายย่อมจะทราบได้เองเป็นอย่างดีว่า  เป็นแต่เพียงขั้นศีลธรรมหรือระเบียบปฏิบัติทั่วไปที่จะต้องประพฤติ  เพื่อความเป็นอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  เป็นผาสุกกันอย่างโลก ๆ  และทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนใหญ่ 


---ส่วนข้อที่สาม  ที่มีหลักอยู่ว่า  ให้ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจด  จากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวงนั้น  นั่นแหละ เป็นหัวใจความสำคัญหรือเป็นตัวพุทธศาสนาโดยตรง.


---การทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด  ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง  นั้น  หมายความว่า ทำจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง  ถ้าจิตใจ ยังไม่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ไปไม่ได้เลย  จิตใจที่จะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงนั้น  ต้องมาจากความรู้ว่า อะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเสมอไป;  ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็จะต้องไปหลงรักหลงชังอะไร หรือมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้,  แล้วจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไรกัน


---คนเรามีความรู้สึกตามธรรมดาอยู่สองอย่างเท่านั้น  คือ รักกับเกลียด,  ชอบกับชัง,  หรือพอใจกับไม่พอใจ  ถ้าเรียกอย่างภาษาบาลี ก็เรียกว่า  "อภิชฌาและโทมนัส" คนเราเมื่อมองสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าสิ่งใดด้วยความยึดถือ ของปุถุชนตามปรกติทั่ว ๆ ไปแล้ว  จะเกิดความรู้สึกขึ้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ คือ อภิชฌาหรือโทมนัส 


---อภิชฌา  ก็พอใจอยากจะได้.  โทมนัส  ก็คือความไม่พอใจ  แม้ว่าสิ่งนั้น ยังไม่เคยทำอะไรให้เป็นที่ขัดใจตัว  มากไปกว่าการกีดขวางเกะกะรำคาญตา  มาขวางหน้าขวางตา  ทำให้เกิดความรำคาญ แม้แต่นิดหนึ่ง  ก็ถือว่าเป็นโทมนัส  นี่  เป็นลักษณะธรรมดา ของการที่จิตใจของคนเรา ตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเองเลย,  เมื่ออารมณ์ในโลกมีมากเหลือจะนับ  เราก็เป็นทาสของอารมณ์มากเหลือจะนับ


---ความไม่รู้ว่าอารมณ์หรือสิ่งทั้งปวงนั้นคืออะไร ซึ่งรวมความแล้วก็คือ  ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง  ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา เป็นความชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ อย่างที่เรียกว่า อภิชฌาหรือโทมนัส,  ความพอใจ  หรือที่เรียกว่าอภิชฌาในที่นี้  มีลักษณะที่จะรวบอะไร ๆ เข้ามาหาตัว, ส่วนความไม่พอใจหรือโทมนัสนั้น  มีลักษณะที่จะปฏิเสธหรือผลักไสอะไร ๆ ออกไปเสียจากตัว


---ขอให้กำหนดความหมายให้กว้าง ๆ อย่างนี้  อย่ามุ่งเอาแต่เพียงเรื่องรักหรือความกำหนัด ที่เป็นกิเลสตัณหาทางกามารมณ์อย่างเดียว, แม้ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็ยังมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความชอบหรือความชังอย่างเต็มที่ด้วยเหมือนกัน 


---จึงต้องจำกัดความหมายว่า  ถ้าสิ่งใดทำให้เกิดความรู้สึกอยากเอาเข้ามาหาตัว  ก็เรียกว่า เป็นความพอใจ;  สิ่งใดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่จะผลักออกไปเสียให้พ้น  หรืออยากทำลายให้สูญสิ้นไป  อย่างนี้เรียกว่า เป็นความไม่พอใจ


---ถ้ายังมีความรู้สึกสองอย่างนี้อยู่แล้ว  ก็หมายความว่า ยังไม่เป็นอิสระ  จิตยังไม่เป็นอิสระ  เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง ยังเลือกหลงรักหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จิตยังไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์สะอาด  ปราศจากความครอบงำของสิ่งทั้งปวงได้


---โดยเหตุนี้เอง หลักพระพุทธศาสนาในขั้นสูงสุดนี้ จึงปฏิเสธการยึดถือหมด ทั้งสิ่งที่น่ารัก น่าชัง ซึ่งคนธรรมดาพากันหลงรักและหลงชัง  และเป็นการปฏิเสธเลยขึ้นไปถึงความดีและความชั่ว  เป็นผู้ไม่หลงติด  ทั้งในความดีและความชั่ว ทั้งสองประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จิตจึงจะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงและบริสุทธิ์จากสิ่งห่อหุ้มจริง ๆ


---ขอย้ำในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งว่า  ข้อที่ ๑  ว่า อย่าทำความชั่ว,  ข้อที่ ๒  ว่าให้ทำความดี,  และข้อที่ ๓  ว่าให้ทำจิตใจอยู่เหนือความครอบงำทั้งของความดีและความชั่ว  จึงจะเป็นอิสระและบริสุทธิ์สิ้นเชิง  ความข้อนี้ทั้งหมด  หมายถึง การรู้จักโลกทั้งปวงหรือรู้จักสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้อง  ว่าไม่มีอะไร ที่น่าผูกพันตัวเข้าไปเป็น “ทาส” ของมัน  ทั้งที่ถือกันว่าเป็นความดีหรือความชั่วก็ตาม


---คำสอนนี้แหละ เป็นคำประกาศให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไรในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า  เป็นการชี้ระบุว่า อะไรเป็นอะไรถึงที่สุดสิ้นเชิง  ชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว   เมื่อคนเหล่าอื่น  พวกอื่น  ลัทธิอื่น  นิยมกัน แต่เพียงให้เว้นความชั่ว  ไปยึดถือในความดี  ให้หลงใหลในความดี    ให้ผูกพันในความดี  จนถึงยอดของความดี  คือ พระเป็นเจ้าหรืออะไรก็ตาม


---พุทธศาสนาก็ยังไปไกลกว่านั้น  คือ การไม่ยอมผูกพันตัวกับสิ่งใดเลย  การผูกพันในความดีนั้น  จัดไว้เป็นการปฏิบัติถูก ในระยะกลางเท่านั้นเอง  ขอให้สังเกตให้รู้ว่า  ท่านจัดไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องทำ ในเมื่อเรายังจะทำอะไรให้สูงไปกว่านั้นไม่ได้เท่านั้นเอง  ในระยะแรก  เราเว้นจากความชั่ว  ขั้นนี้ยังต่ำอยู่ในระยะถัดมา  เราทำความดีให้เต็ม  ส่วนในระยะสูงสุดนั้น  เราทำจิตให้กระโดดลอยสูง อยู่เหนือความครอบงำของความดีและความชั่ว


---การที่ผูกพันตัวอยู่ใต้ผลของความดี  หรือที่เรียกว่า  ตัวความดีก็ตามนั้น  ยังไม่ใช่ความพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง  ยังไม่เป็นความรู้ที่ถูกต้องถึงที่สุด  ว่าอะไรเป็นอะไร  เพราะเหตุใดจึงสอนเช่นนี้  ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องการคำอธิบายยืดยาว,  แต่อาตมาอยากจะสรุปความสั้น ๆ  ชนิดที่ท่านทั้งหลาย อาจนำไปคิดให้เห็นเองก็ได้  คือ ว่าคนชั่ว  ก็จะต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนชั่ว;  คนดีก็จะต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนดี


---อาตมาใช้คำว่า  “ความทุกข์ตามประสาของคนดี” จะดีอย่างมนุษย์ ก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ที่ดี  จะดีอย่างเทวดา ก็มีความทุกข์อย่างของเทวดา  แม้จะเป็นพรหม  เป็นยอดของเทวดา ก็มีความทุกข์อย่างของคนดีชั้นยอดของพรหม  ไม่มีข้อยกเว้น ในข้อที่ว่า คนดีจะไม่มีความตามแบบตามประสาของคนดี จะไม่มีความทุกข์เลย  ก็ต่อเมื่อกระโดดขึ้นไปให้พ้น ให้สูงขึ้นไป อยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่า ความดี  กลายเป็นโลกุตตระ คือ เหนือโลกแล้วเท่านั้น


---ถ้าเรียกโดยสมมติ  ก็คือ อยู่ในโลกของพระอริยเจ้า  จนกลายเป็นพระอริยเจ้าไป  นั่นคือ อยู่เหนือความดี อย่าเข้าใจผิด เอาความดีไปผูกพันกับพระอริยเจ้า จนแต่งตั้งพระอริยเจ้าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนั้น นี้จะกลายเป็นความบ้าอย่างที่สุด  เพราะว่าความดีนั้น  เป็นของจำกัดอยู่แต่ในวงของโลก ในวิสัยโลก  อย่างโลก ๆ โดยสมมติ


---ความดีหรือความชั่วนี้  เป็นเรื่องของสมมติ  ต่อเมื่อจิตพ้นไปจากเรื่องสมมติ  เหนือความดีความชั่ว  คือมีจิตอยู่เหนือฐานะ ที่จะเกลียดความชั่วหรือรักความดีนั่นแหละ จึงจะเป็นอันพ้นจากโลก  หรือพ้นจากทุกข์ตามแบบของพระอริยเจ้า นี่, เรียกว่า เป็นการปฏิบัติชั้นที่ ๓ คือ ชั้นที่ทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจด  ปราศจากสิ่งเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง และอันนี้เป็นผลเกิดมาจาก การที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง  ตามทางที่ถูกต้องและถึงที่สุดตามหลักของพุทธศาสนา 


---จนเราสามารถรู้ว่าสิ่งทั้งปวงหรือภาวะความเป็นใด ๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่น่าเข้าไปผูกพันตัวอยู่ด้วย  ไม่น่ายึดถือ  ไม่น่ามอบตัวเข้าไปเพื่อเป็นทาสด้วยความหลงรัก หลงอยากด้วยเลย ควรถอนตัวออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงโดยสิ้นเชิง  มีจิตเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง  ดังนี้  จึงจะไม่มีความทุกข์เลย 


---นี้แหละ คือ การที่จิตมีความรู้ หรือประกอบไปด้วยความรู้อันถูกต้องถึงที่สุด ว่าอะไรเป็นอะไร จนสามารถที่จะทำจิตนั้น  ให้ปราศจากความทุกข์ได้จริง ๆ  ถ้าถึงที่สุด  ก็เรียกว่า เป็นพระอรหันต์  ถ้ายังไม่ถึงที่สุดก็คือ  พระอริยเจ้าชั้นรอง ๆ ลงมา  แต่ว่าทั้งหมดทุกชั้น ล้วนแต่เป็นผู้รู้อะไรเป็นอะไร ตามหลักที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้างต้นทั้งนั้น  เช่น เห็นความเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ที่มีอยู่ในสิ่งทั้งปวง  ดังนี้เป็นต้น


---เราจะเห็นได้แล้วว่า  การปฏิบัติตามหลักแห่งโอวาทปาติโมกข์ มีขึ้นย่อมเป็นผลเกิดมาจากการที่มีความรู้เห็นชัดแจ้ง ว่าอะไรเป็นอะไร ตามที่เป็นจริง  จึงวางหลักการปฏิบัติลงไปได้ว่า  อย่าทำชั่ว  ทำแต่ความดี  และทำจิตให้อยู่เหนือความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง ไม่ผูกพันกับสิ่งใด ไม่เป็นทาส หรือตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ๆ ดังนี้


---ทีนี้ข้อสุดท้าย  ซึ่งอาตมาอยากจะแนะให้สังเกตต่อไป  คือ ข้อที่ว่า  คำว่า "ศาสนา"  นั้น  แปลว่าอะไร  


---พุทธ  แปลว่า  พระพุทธเจ้า 


---พระพุทธเจ้า  แปลว่า  ผู้รู้ 


---พุทธศาสนา  ก็ต้องแปลว่า  ศาสนาของผู้รู้ 


---พุทธบริษัท  ก็แปลว่า  บริษัทของผู้รู้ 


---พุทธศาสนิกชน  ก็แปลว่า  ผู้ปฏิบัติตามพุทธศาสนา คือ ตามศาสนาของผู้รู้ 


---คำว่าพุทธะ ๆ ที่แปลว่าผู้รู้นั้น  หมายถึง รู้อะไร  ในที่สุด  ก็คือ รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ถึงที่สุดนั้นเอง  อาตมาจึงกล่าวว่า  "พุทธศาสนา"  ก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง  เราจะต้องปฏิบัติจนให้รู้ของเราเอง 


---เมื่อรู้ถึงที่สุดแล้วไม่ต้องกลัว  กิเลสตัณหาต่าง ๆ จะถูกความรู้นั้น ทำลายล้างสิ้นไป ความหลงใหลที่เรียกว่า อวิชชานั้น  จะดับไปในทันที ในเมื่อวิชชาได้เกิดขึ้น  ฉะนั้น ข้อปฏิบัติต่าง ๆ จึงมีไว้เพื่อให้ วิชชาเกิดขึ้น  คือเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง


---ท่านทั้งหลายทั้งปวง  จงผูกใจ  จงปักใจมั่น  ในทางที่จะเข้าถึงพุทธศาสนา ด้วยวิธีการทำการปฏิบัติในทางที่จะให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เท่านั้น ขอแต่ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้อง  ให้เป็นการรู้ด้วยความเห็นแจ้งจริง ๆ  อย่าให้เป็นความรู้อย่างโลก ๆ  เป็นความรู้ผิด ๆ  เป็นความรู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ  จนไปหลงสิ่งที่ไม่ดีว่าดี  หรือหลงสิ่งซึ่งเป็น ที่เกิดความทุกข์ว่าไม่ให้เกิดความทุกข์  ดังนี้เป็นต้น


---ขอให้พยายามดูกันในแง่ความทุกข์นี้  ให้มากให้ถึงที่สุด  ก็จะค่อย ๆ รู้ไปตามลำดับ  และนั่นแหละ  จะเป็นการรู้พุทธศาสนาที่ถูกตัวศาสนา  เมื่อดู หรือพยายาม จะเข้าถึงพระพุทธศาสนากันโดยวิธีนี้  แล้วคนตัดฟืนขายที่ไม่รู้หนังสือ  ก็จะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาได้


---ในขณะที่เปรียญหลาย ๆ ประโยค  ก็ง่วนอยู่กับพระไตรปิฎก  แต่ไม่ดูกันในแง่นี้  ก็อาจจะไม่เข้าถึงพุทธศาสนาได้เลย  ทำไมคนอย่างพวกเรา  ที่พอจะมีสติปัญญาอยู่บ้าง  จะไม่สามารถพินิจพิจารณา สิ่งทั้งปวงให้รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร  เมื่อถูกเข้ากับสิ่งใดครั้งหนึ่งแล้ว  ก็ต้องศึกษาสิ่งนั้น ๆ ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง  ว่าสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไรแน่


---ความทุกข์ที่เกิดขึ้น  และกำลังเผาผลาญเราให้เร่าร้อนอยู่นั้น  มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร  มันมาจากอะไร  ถ้าทุกคนตั้งสติ คอยเฝ้ากำหนด  พิจารณา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตน  ในลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว  จะเป็นทางเข้าถึง พุทธศาสนาได้ดีที่สุด ดีกว่าที่จะเรียนเอาจากพระไตรปิฎก  อย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้ทีเดียว 


---การที่จะเป็นหนอนกินหนังสือ คือ ว่ามัวแต่ศึกษาพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก ในแง่ของภาษาหรือวรรณคดีนั้น ไม่มีทางที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งที่ในพระไตรปิฎก เต็มไปด้วยคำบรรยาย ว่าสิ่งนั้น เป็นอย่างนั้น  สิ่งนี้เป็นอย่างนี้  สิ่งโน้นเป็นอย่างโน้น  ก็ได้แต่ฟัง อย่างนกแก้วนกขุน ทองที่จำไว้ได้  แต่ไม่สามารถจะเข้าถึงความจริง  ของสิ่งทั้งหลายได้  เว้นไว้แต่ว่า เขาจะได้ทำการพินิจพิจารณา ให้เป็นเรื่องจริงของชีวิตจิตใจ เข้าถึงตัวจริงของกิเลส  เข้าถึงตัวจริงของความทุกข์  เข้าถึงตัวจริงของธรรมชาติหรือของสิ่งทั้งปวง บรรดาที่มาเกี่ยวข้องกับเขา  นั่นแหละ  จึงจะรู้ถึงตัวพุทธศาสนา


---คนที่ไม่เคยเห็น เคยฟัง พระไตรปิฎกเลย  แต่เคยพิจารณาอย่างละเอียดลออทุกครั้งทุกคราว  ที่ความทุกข์เกิดขึ้น แผดเผาในใจของตน  นี้แหละ  เรียกว่า คนที่กำลังเรียนพระไตรปิฎกโดยตรง อย่างถูกต้องถ่องแท้ยิ่งกว่าคนที่กำลังเปิดเล่มพระไตรปิฎกในตู้ออกอ่าน  แล้วเพียงแต่จำไว้ได้และเข้าใจ


---เพราะฉะนั้น เราจงคิดดูว่า  แม้แต่ตัวเราเองในบัดนี้  เรารู้จักตัวเราเองดีแล้วหรือยัง   มันอาจเป็นเช่นเดียวกันกับคนที่ลูบคลำเล่มพระไตรปิฎกอยู่ทุกวัน แต่ไม่รู้จักเพชรหรือรู้จักอมฤตธรรม ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก


---ข้อนี้ได้แก่ การที่เรามีตัวเรา  เราใช้ตัวเรา  เราปฏิบัติตัวเรา  เราทำอะไรเกี่ยวกับตัวเราอยู่ทุกวัน  แต่แล้วเราก็ไม่รู้จักตัวเรา  ไม่สามารถจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเราให้ลุล่วงไปได้ ยังคงมีความทุกข์  และยังคงมีตัณหา ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน ตามอายุที่เพิ่มขึ้น นี่เพราะไม่รู้จักตัวเราอย่างเดียวเท่านั้น 


---ชีวิตจิตใจ  หรือสิ่งที่เราเรียกว่า ตัวเรา  ที่กำลังเป็นตัวเรา  ที่สวมอยู่กับตัวเรา  เรายังไม่รู้จัก ขอให้ตัดสินใจดู  ด้วยความเป็นธรรมเถิดว่า  การที่จะไปรู้ พระไตรปิฏก  หรือไปรู้สิ่งลึกลับ ที่ซ่อนอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น  ยังยุ่งยากไปกว่าเป็นไหน ๆ 


---เพราะฉะนั้น  เราจงหันมาศึกษาตัวพระพุทธศาสนา  หรือรู้จักตัวพระพุทธศาสนากัน  ด้วยการศึกษาด้วยตัวจริง  คือ จากสิ่งทั้งปวง  ซึ่งรวมทั้งรูปธรรม  และนามธรรม  คือ  ร่างกายนี้  และจิตใจนี้  จากชีวิต  ซึ่งมีความรู้สึกคิดนึก  ซึ่งกำลังหมุนอยู่ในวงกลมของความอยาก  และมีเจตนาที่จะกระทำตามความอยาก  แล้วก็กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป  ทำให้เกิดผลอย่างนั้น อย่างนี้ ขึ้นมาหล่อเลี้ยง เจตนาที่อยากทำนั้นสืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด  จนกระทั่งต้องเวียนว่าย อยู่ในวัฏฏสงสารหรือทะเลทุกข์  เพราะความที่ไม่รู้ว่า  อะไรเป็นอะไร  ข้อเดียวเท่านั้นเอง


---อาตมาขอสรุปความ สำหรับบรรยายในวันนี้  ว่า  พุทธศาสนานั้น  คือ วิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องจริง ๆ แล้ว  ไม่ต้องมีใครมาสอนเรา  มาแนะนำเรา  เราก็จะปฏิบัติถูกต่อสิ่งนั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง  แล้วกิเลสก็จะละไปเอง  ขอแต่เพียงให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรในเบื้องต้นเท่านั้น เราก็จะปฏิบัติถูกต้องต่อไปได้ ด้วยตัวของเราเอง


---เราจะเป็นพุทธเจ้าหรือพุทธบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งของเราเองขึ้นมาทันที เราจะปฏิบัติอะไรไม่ผิดขึ้นมาทันที  เราจะลุถึงสิ่งที่ดีที่สุด  ที่มนุษย์เราควรจะได้  หรือที่ชอบเรียกกันไพเราะ ๆ ว่า  มรรค  ผล  นิพพาน  ได้ด้วยตนเอง  เพราะการที่เรามีความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดแท้จริงเท่านั้น.


---ขอยุติคำบรรยายวันนี้  เพราะหมดเวลาเพียงเท่านี้.






.................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว ป.)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท28/10/2024
ผู้เข้าชม7,886,071
เปิดเพจ12,105,987
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view