ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
(โดย เสถียร โพธินันทะ)
---พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติไทย
---พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางจิตใจ คือ เป็นคุณธรรมที่ถ่ายทอดจนติดเป็นนิสัยของคนไทย นอกจากนี้พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางวัตถุ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติ โดยศึกษาจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ เช่น วัด เจดีย์ พระพุทธรูป
---สิ่งเหล่านี้ สร้างจากพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนรุ่นก่อนโดยเฉพาะสถาบันพระ มหากษัตริย์ ทำให้เกิดคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดีในทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ มีคุณค่าด้านเศรษฐกิจ คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกด้วย
*พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการพัฒนาชาติไทย
---พระพุทธศาสนาทั้งในส่วนที่เป็นหลักธรรมคำสอน ส่วนที่เป็นสถาบันสงฆ์ และอาราม มีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีต วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ และเป็นครูอาจารย์ของชุมชน ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ พัฒนาขึ้นในวัด เมื่อผู้ได้รับการศึกษาไปอยู่ในชุมชนใด ก็ใช้ความรู้ทางศาสนาที่ได้จากวัด เป็นเครื่องนำวิถีชีวิตของครอบครัวและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
*พุทธประวัติ
*การประสูติ
---พระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา) กับพระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา) ได้เสวยราชสมบัติครองกรุง กบิลพัสดุ์อย่างสันติสุข ในเวลาต่อมาพระนางสิริมหามายา ก็ทรงพระครรภ์ เมื่อจวนจะประสูติ พระนางได้ทูลขอพระสวามีเสด็จไปประสูติพระราชบุตรที่บ้านเดิม ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่กรุงเทวทหะ
---แต่ในขณะเดินทาง พระนางเกิดประชวรพระครรภ์ เจ้าชายสิทธัตถะ จึงประสูติที่พระราชอุทยาน ลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๖
*ชีวิตในวัยเยาว์
---เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมอบความสุขสำราญ รับสั่งให้ขุดสระ ๓ สระและทรงมอบพระโอรส เข้าศึกษาที่สำนักของครูวิศวามิตร แม้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ก็ทรงรู้จักวางตนเคารพบูชาต่อครูอาจารย์
*อภิเษกสมรส
---เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาได้จัดอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพระนางพิมพาและสร้างปราสาท ๓ ฤดู เพื่อให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงพระเกษมสำราญกับความสุขทางโลก
*มูลเหตุที่ออกบวช
---เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสวยความสุขสำราญในโลกิยสุขเป็นเวลา ๒๙ พรรษา วันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จประพาสอุทยาน ได้เห็นเทวทูต ๔ คือ “คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ" เป็นความทุกข์ เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ ควรเป็นนักบวชที่มีความสงบ
---ในวันเดียวกันพระองค์ก็ทรงทราบข่าวการประสูติพระโอรส พระนามว่า “ราหุล” พระองค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า “บ่วงเกิดแล้ว”
*แสวงหาโมกขธรรม
---เมื่อบวชแล้ว เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อศึกษาในสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ครั้งแรก ศึกษาในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส จนหมดความรู้ของครู อาจารย์ ทรงพิจารณาเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงเสด็จต่อไปอีก จนถึงสถานที่แห่งหนึ่งในเขตอุรุเวลาเสนานิคม
*การตรัสรู้
---ในขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น ได้มีปัญจวัคคีย์ คือ โกญฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะมหา, นามะ, อัสสชิ มาปรนนิบัติอยู่ตลอดเวลา เพื่อหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมแก่พวกตนบ้าง และเมื่อพระองค์ทรงละความพยายามในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงได้พากันหลีกหนีไป
---เมื่อปัญจวัคคีย์ พากันหนีไปแล้ว พระองค์จึงได้บำเพ็ญเพียรทางจิตตลอดมาจนถึง วันเพ็ญ เดือน ๖ พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อเสวยแล้วจึงได้ลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชรา
---แล้วทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์จะได้ตรัสรู้ขอถาดทองคำนั้น จงลอยทวนกระแสน้ำ ซึ่งถาดนั้นก็ได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจริง ๆ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนิมิตนั้นแล้ว จึงประทับ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งปณิธานว่า “แม้เนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งไป ถ้าไม่บรรลุธรรม จะไม่ลุกจากอาสนะนี้”
---ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ พระองค์ได้เจริญภาวนา ทำให้จิตเป็นสมาธิจนได้บรรลุฌาน ๓ ประการ ตามระยะเวลาในค่ำคืนนั้น โดย
---ยามที่ ๑ พระองค์สามารถระลึกชาติได้
---ยามที่ ๒ พระองค์สามารถมองเห็นการจุติและการเกิดของมวลสัตวโลกทั้งปวง
---ยามที่ ๓ พระองค์ได้บรรลุอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
*ประกาศศาสนา
---เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ด้วยพระธรรมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปป วัตนสูตร” จนปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ต่อจากนั้นมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ ถวายตัวเป็นศิษย์ บรรลุพระอรหันต์เป็นอันมาก ท่านเหล่านั้นจึงเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา
*เสด็จดับขันธปรินิพพาน
---เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศศาสนา มาถึง ๔๕ พรรษา ขณะนั้นพระองค์มีพระชนม์มายุ ๘๐ พรรษา จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช 1 ปี
*เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์
---พระพุทธเจ้าทรงได้รับเชิญจากพระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา) ให้เสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึง บรรดาพระประยูรญาติ ซึ่งมานั่งต้อนรับต่างนึกกระดากใจ ในการที่น้อมถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอายุน้อยกว่าตน จึงจัดให้พระประยูรญาติผู้น้อย และผู้คราวบุตรหลาน ออกไปนั่งข้างหน้า เพื่อถวายอภิวาทแก่พระพุทธเจ้า ส่วนพวกตนพากันถอยออกมานั่งอยู่ข้าง ไม่ถวายอภิวาท
---พระพุทธเจ้าทรงเห็นดังนั้น จึงทรงเหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่า ละอองธุลีพระบาทไม่หล่นตรงศีรษะของพระประยูรญาติ เพื่อลดทิฐิมานะคลายความถือตัวลงบ้าง
---เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเห็นดังนั้น จึงเกิดความอัศจรรย์ในพระหฤทัย ประนมหัตถ์ถวายบังคมพระพุทธเจ้า พร้อมเหล่าพระประยูรญาติด้วยความเคารพ
---กล่าวกันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาประทับนั่งแล้ว ท้องฟ้ามืดครึ้มและสายฝนสีแดง เรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ” ตกลงมาในท่ามกลางที่ประชุมของพระประยูรญาติ สายฝนซึ่งตกลงมานั้น ถ้าใครต้องการให้เปียกจึงเปียก หากไม่ต้องการแม้เพียงเม็ดเดียวก็มิได้เปียกตัว แล้วตรัสเทศนาเวสสันดรชาดก เมื่อจบลงแล้วเหล่าพระประยูรญาติถวายส่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ
*พุทธกิจสำคัญอื่น ๆ
---สมัยหนึ่ง บุตรเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีผู้หนึ่งชื่อว่า “ยสะ” มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างผาสุกทางโลก อยู่ต่อมาในค่ำคืนหนึ่ง ยสกุลบุตร นอนหลับไปก่อน ฝ่ายนางบำเรอและบริวารต่างหลับภายหลัง ค่ำคืนนั้นขณะดึกสงัด แสงเทียนยังคงสว่างอยู่
---ยสกุลบุตร ตื่นขึ้นมาพบภาพเหล่าบริวารนอนหลับเกลื่อนกลาด บ้างก็นอนกรน บ้างก็นอนละเมอพึมพำ แสดงอาการน่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก ดุจซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน จึงเปล่งอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” จน ยสกุลบุตรทนอยู่ที่นั้นไม่ได้ เดินออกจากห้องไปตามเส้นทางหนึ่ง ผ่านเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ด้วยจิตใจอันร้อนรุ่ม
---ขณะใกล้รุ่งสาง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั้น ทรงได้ยินเสียงบ่นของยสกุลบุตร จึงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน”
---ยสกุลบุตร ได้ยินเสียงนั้นจึงดีใจ ถอดรองเท้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ด้วยความสบายใจ ปราศจากความฟุ้งซ่านต่าง ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่่งสอน ฟอกจิตของยสกุลบุตร ให้ห่างจากความยินดีในกาม อารมณ์ จนสามารถแสดงธรรมที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔” เพื่อบรรลุมรรคผลนั่นเอง
*ชาดก....
จุลฬกเสฏฐิชาดก
---ครั้งหนึ่ง ในอดีตกาล มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ "จุลฬกะ" เป็นผู้มีความสามารถในการพยากรณ์เหตุการณ์ ล่วงหน้า ได้อย่างแม่นยำโดยอาศัยเหตุจากนิมิตต่าง ๆ ในวันหนึ่ง จุลฬกเสฏฐี นั่งรถม้าไปยังราชสำนัก พบหนูตายแล้วทำนายว่า
---“ถ้าใครมีปัญญา ย่อมสามารถนำหนูตายตัวนี้ ไปเป็นทุนประกอบการค้าให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเศรษฐีได้”
---ชายหนุ่มยากจนคนหนึ่งได้ยินเข้า จึงถือหนูตัวนั้นไปขายให้ยายแก่ใจบุญคนหนึ่ง สำหรับเป็นอาหารแมว ได้เงินมากากณิกเท่านั้น
---วันรุ่งขึ้น เขาจึงนำเงินนั้นไปซื้อน้ำอ้อย นำไปตั้งไว้ที่ประตูเมืองคู่กับน้ำดื่มอีกหม้อหนึ่ง เมื่อคนเก็บดอกไม้ กลับจากป่ากำลังกระหายน้ำเต็มที่ผ่านมา ก็เชิญชวนให้ดื่มน้ำนั้น คนขายดอกไม้จึงมอบดอกไม้คนละกำเป็นการตอบแทน วันต่อ ๆ มา ชายหนุ่มก็ปฏิบัติเช่นเคย จนสามารถรวบรวมทรัพย์ได้ถึง ๘ กหาปณะ
---ต่อมาวันหนึ่ง ในต้นฤดูฝน ฝนตกหนัก พายุแรง กิ่งไม้ ต้นไม้ ในพระราชอุทยานหักโค่นล้ม ระเนระนาด ผู้รักษาพระราชอุทยานหนักใจว่า จะนำกิ่งไม้พวกนี้ไปทิ้งที่ไหนดี ชายหนุ่มจึงรับอาสาทำความสะอาดอุทยาน โดยขอต้นไม้ กิ่งไม้ เหล่านั้นเป็นของตอบแทน นายอุทยานก็ตกลงทันที
---เขาจึงไปยังสนามเด็กเล่น ชักชวนเด็ก ๆ มาดื่มน้ำอ้อย แล้วให้ช่วยกันขนต้นไม้ ไปกองที่ประตูพระราชอุทยาน เด็กเหล่านั้นก็ช่วยกันขนอย่างสนุกสนาน ครู่เดียวก็เสร็จ ส่วนเขาเอง ไปหาช่างปั้นหม้อของหลวงเสนอขายไม้เหล่านั้นทำฟืน ได้ทรัพย์ถึง ๑๖ กหาปณะ และยังได้โอ่งน้ำเนื้อดีใบใหญ่และหม้อไหต่าง ๆ แถมมาอีก ๕ ใบด้วย
---เขานำโอ่งใส่น้ำดื่ม ไปตั้งไว้ใกล้ปากประตูเมือง เชิญชวนให้คนเกี่ยวหญ้าเลี้ยงสัตว์ประมาณ ๕๐๐ คน ดื่มแก้กระหาย คนเกี่ยวหญ้าเหล่านั้นดื่มน้ำแล้ว ก็คิดจะตอบแทนคุณ จึงถามว่ามีธุระสิ่งใดให้ช่วยบ้าง เขาตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มี ต่อเมื่อไรมีจึงแจ้งให้ทราบ
---อยู่ต่อมาไม่กี่วัน เขาได้ข่าวว่า วันรุ่งขึ้นจะมีพ่อค้านำม้ามาที่เมืองนี้ถึง ๕๐๐ ตัว เขาจึงเอ่ยปากขอหญ้าจากคนเกี่ยวหญ้าคนละฟ่อน และขอร้องว่า ถ้าเขายังไม่ได้ขายหญ้าเหล่านั้นแล้ว ก็ขอให้คนเกี่ยวหญ้าอย่าเพิ่งขายหญ้าของตนเป็นอันขาด วันนั้นเขาได้หญ้าถึง ๕๐๐ ฟ่อน เมื่อพ่อค้าม้า มาหาซื้อหญ้าเลี้ยงม้าจากที่ใดไม่ได้เลย จึงต้องซื้อจากเขาเป็นเงินสูงถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ และยังให้คนเกี่ยวหญ้าขายหญ้าได้ในราคาดีตามไปด้วย
---อีก ๒-๓ วันต่อมา มีคนส่งข่าวอีกว่า บัดนี้เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าแล้ว เขาจึงรีบหาเช่ารถม้า ซึ่งมีบริวารมาด้วยอย่างโก้หรู ขับไปที่ท่าเรือ แล้วมัดจำสินค้าทั้งหมดไว้ เมื่อพ่อค้านับร้อยคน ของเมืองพาราณสี มาขอซื้อสินค้า นายเรือก็แจ้งว่า มีพ่อค้าใหญ่มามัดจำสินค้าไปหมดแล้ว
---พ่อค้าเหล่านั้น จึงขอร่วมลงทุนในเรือสินค้ากับเขาคนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ และอีก ๑,๐๐๐ กหาปณะ สำหรับเป็นค่าสินค้า เขาจึงขายสินค้านั้นให้ไป ได้กำไรทันที 200,000 กหาปณะ
---ชายหนุ่มมีฐานะร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น ภายในเวลา ๕ เดือนเท่านั้น เขาได้นำทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ กหาปณะ เป็นเครื่องสักการะ แทนดอกไม้ธูปเทียน ไปกราบท่านจุลฬกเสฏฐี เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที แล้วเล่าเรื่องทั้งปวงของตนให้ฟัง ท่านเศรษฐีเห็นความมีสติปัญญา ความเพียรพยายาม และมีความกตัญญูกตเวที จึงยกธิดาและทรัพย์สมบัติให้ครอบครอง ต่อมาเมื่อจุลฬกเสฏฐีสิ้นชีวิตแล้ว ชายหนุ่มผู้นี้ได้ตำแหน่งเศรษฐีของเมืองพาราณสีต่อไป
*ข้อคิดจากจุลฬกเสฏฐิชาดก
---1.ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
---2.การทำงานนั้น ต้องรู้จักสังเกตเพื่อปรับปรุงงานที่ทำ ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
---3.ไม่เป็นคนเลือกงาน หรือดูถูกงานต่ำต้อย เมื่อพิจารณาว่างานนั้น เป็นอาชีพสุจริต ไม่ผิดศีลธรรม แล้วก็ควรทำ
---4.ไม่เป็นคนเกียจคร้าน ไม่เห็นแก่หลับนอน การงานใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่างานใหญ่หรืองานเล็ก จะต้องมีความพยายาม ไม่ลดละ ตั้งใจและเอาใจใส่ในงานที่ทำอยู่เสมอ รู้จักหาวิธีการทำงานให้สำเร็จด้วยดี แต่ทั้งนี้เราจะต้องเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมด้วย จึงจะเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ร่วมงาน
*วัณณาโรหชาดก....
---สมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในป่า ครั้งนั้น สิงโตและเสือ อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งดูแลรับใช้สิงโตและเสือ อาศัยกินอาหารที่เหลือจากสัตว์ทั้งสอง จนสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นอ้วนพี ต่อมาสุนัขจิ้งจอกคิดอยากกินเนื้อสิงโตและเสือ จึงยุให้สัตว์ทั้งสองแตกร้าวกัน จะได้ต่อสู้กัดกันจนบาดเจ็บ และตายลงในที่สุด
---เมื่อสุนัขจิ้งจอกคิดได้เช่นนั้นแล้ว จึงไปยุสิงโตว่า ”เสือกล่าวว่าสิงโตเป็นผู้มีลักษณะชาติกำลัง และความเพียรไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของเสือ” เมื่อสิงโตได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ไม่เชื่อว่าเสือจะกล่าววาจาเช่นนั้นได้ จึงบอกให้สุนัขจิ้งจอกกลับไปเสีย
---สุนัข จิ้งจอกจนปัญญาที่จะทำให้สิงโตเชื่อคำพูดของตน จึงไปหาเสือแล้วกล่าวยุยงให้เสือและสิงโตแตกแยกกันอีก เมื่อเสือได้ฟังคำยุยงของสุนัขจิ้งจอกแล้ว จึงมาไต่ถามสิงโตว่า “สิงโตท่านมีเขี้ยวงาม มีชาติกำลังงามและกำลังความเพียร เช่นนี้แล้วไม่ประเสริฐกว่าเราหรือ”
---สิงโต จึงเตือนสติแก่เสือว่า สุนัขจิ้งจอกต้องการจะฆ่าพวกเรา จึงกล่าวยุยงให้เราแตกแยกกัน หากบุคคลเชื่อคำพูดของผู้อื่น ก็จะทำให้มิตรแตกแยกกัน และอาจนำภัยมาสู่ตนและมิตร ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลระวังคำยุยงของผู้อื่น ที่จะทำให้มิตรแตกแยก ตั้งข้อสงสัยในคำพูดเหล่านั้น บุคคลนั้นคือมิตรแท้ เมื่อสิงโตให้คติแก่เสือแล้ว จึงเป็นมิตรที่ดีต่อกันดังเดิม ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกต้องหลีกหนีไป
*ข้อคิดที่ได้จากเรื่องวัณณาโรหชาดก
---1.เมื่อรับข้อมูล ข่าวสารใด ๆ แล้ว ควรคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อนแล้วจึงเชื่อ
---2.การพูดจายุยงส่อเสียดย่อมทำให้ผู้นั้นตกลงไปในทางเสื่อม
---3.ความจริงใจย่อมรักษามิตรได้
*วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
---วันสำคัญทางศาสนา เป็นวันพิเศษ ที่พุทธศาสนิกชน นิยมประกอบการบูชาเป็นพิเศษ จากวันพระธรรมดา มีการจัดที่บูชาพระประจำบ้านให้ดูสวยงามประณีต ในตอนเย็นพุทธศาสนิกชน จะมีดอกไม้ธูปเทียนไปวัด เพื่อร่วมกันเวียนเทียน ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ จนเป็นประเพณีนิยมสืบมา
*วันมาฆบูชา
---วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหลักการสำคัญของศาสนา ความสำคัญ เป็นวันที่มีเหตุการณ์อัศจรรย์ ๔ ประการ เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" คือ
---1.พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์
---2.พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น เป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
---3.วันที่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น เป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
---4.พระพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นหลักการ อุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติ ที่นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหาโดยสรุป คือ ละเว้นความชั่ว ทุกประการ ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้ผ่องใส
*หลักธรรมที่ควรนำปฏิบัติ
---1.การไม่ทำความชั่วทุกประการ
---2.การทำความดีให้ถึงพร้อม
---3.การทำจิตให้ผ่องใส
*กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
---1.ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแสดงโต๊ะหมู่บูชา
---2.ครูและนักเรียน ร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาและหลักธรรม
---3.ครูและนักเรียน จัดทำป้ายนิเทศ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรมะ
---4.ประกาศเกียรติคุณของนักเรียน ที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
---5.ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ได้แก่ ทำบุญ ตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา (สมาธิ)
*วันวิสาขบูชา
---วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน
*ความสำคัญ
---พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือน ๖ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท
*หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
---1.ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณของผู้ที่ทำคุณให้แก่เราก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนผู้ที่มีอุปการคุณต่อเรา ผู้ที่ทำอุปการคุณก่อนเรียกว่า บุพการี ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์ บิดามารดา ครูอาจารย์
---2.อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
---3.ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ เช่น ไม่ประมาทในวัย คือ ไม่หลงคิด ว่าตนยังเด็ก อยู่ในวัยที่จะแสวงหาความสนุกสนาน เพลิดเพลินได้ จึงหาความสนุกสนานเรื่อยไป เกียจคร้านในการพัฒนาและสร้างความดีงามให้แก่ตนเองและสังคม
*กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
---การปฏิบัติตนในวันวิสาขบูชานี้ ให้แสดงออกทั้งทางวาจา ใจ เหมือนกับกิจกรรมในวันมาฆบูชา
*วันอาสาฬหบูชา
---วันอาสาหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เนื่องในโอกาส วันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นเหตุให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนา จนถือได้ว่าเป็นวันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย
*ความสำคัญ
---พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา (การสั่งสอนครั้งแรก) เนื้อหาว่าด้วย "ทางสายกลาง ที่นำไปสู่ การบรรลุธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้" ฤๅษีโกณฑัญญะ ได้ทูลขอบวชเป็นสาวกรูปแรก ที่เป็นประจักษ์พยาน ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ที่กำหนดให้มีวันอาสาฬหบูชา และถือปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบัน
*หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
---ดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง ที่เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" ไม่เคร่งครัดเกินไป ไม่ปล่อยปละละเลยหน้าที่ จนทำให้เกิดความเสียหาย อย่างนี้เป็นสำคัญ ได้แก่
---1.มีความเห็นชอบ คือ การคิดเรื่องต่าง ๆ เป็นไปในทางที่ดีงาม
---2.ความดำริชอบ คือ มีความปรารถนาดีต่อเพื่อน สังคม และประเทศในทางที่ถูกต้อง
---3.การเจรจาชอบ คือ การพูดจาอ่อนหวาน ไพเราะ อย่างสม่ำเสมอ
---4.การงานชอบ คือ การประกอบการงานและหน้าที่ไม่บกพร่อง
---5.เลี้ยงชีพชอบ คือ การประกอบอาชีพสุจริต ไม่คดโกงหรือทุจริต
---6.เพียรชอบ คือ มีความตั้งใจ มุ่งมั่น อดทน ที่จะทำงานของตนและส่วนรวมให้สำเร็จ
---7.ระลึกชอบ คือ เป็นคนมีสติ รอบคอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์
---8.ตั้งใจมั่นชอบ คือ มีการพัฒนาบุคลิกภาพ ทางกาย วาจา ใจ สติปัญญาอย่างสม่ำเสมอ
*กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
---การปฏิบัติตนในวันอาสาฬหบูชานี้ ให้แสดงออกทางกาย วาจา ใจ เหมือนกิจกรรมในวันมาฆบูชา
*วันอัฏฐมีบูชา
---วันอัฏฐมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ที่กรุงกุสินารา วันอัฏฐมีบูชา นับถัดจากวันวิสาขบูชาไป ๗วัน
*ความสำคัญ
---เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ๗ วัน บรรดามัลลกษัตริย์ แห่งกรุงกิสินาราพร้อมทั้งประชาชนทั่วไปตลอดจนพระสงฆ์ โดยมีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน ได้พร้อมกันถวายพระเพลิง พุทธสรีระ ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า "มกุฏพันธนเจดีย์ในพระนครกุสินารา"
*หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
---ปัจฉิมโอวาท หมายถึง โอวาทของพระพุทธเจ้า ก่อน พระองค์ จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงเตือนสติไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
*กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
---การปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา คล้ายกับวันมาฆบูชา จัดให้มีการถือศีลปฏิบัติธรรม แสดงธรรมเทศนา เพื่อรำลึกถึงพระคุณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวง เป็นการโน้มน้าวจิตใจ ให้นำพระธรรมคำสั่งสอนไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองผาสุก
*วันธรรมสวนะ
---วันธรรมสวนะ (วันพระ) หมายถึง วันขึ้น ๘ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๘ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน
*ความสำคัญ
---ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ เขาคิชกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ อันเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ และพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลว่า นักบวชในศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาของเขา แต่สำหรับพระพุทธศาสนานั้นยังไม่มี
---พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาต ให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาธรรมและแสดงพระธรรมเทศนา แก่ประชาชนในวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตามคำขออนุญาตของพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาเมื่อพระศาสนาแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าว เป็นวันธรรมสวนะ เพื่อถือศีลปฏิบัติธรรม
*กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
---1.ทำบุญตักบาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมเทศนาจากพระภิกษุสงฆ์
---2.ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
---3.ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาที่สมควรตามกาล
---4.บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่บ้าน วัด โรงเรียน
*พระธรรม
---หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
---ศรัทธา ๔ หมายถึง ความเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล มี ๔ ประเภท คือ
----1.กัมมสัทธา เชื่อกฎแห่งกรรม คือ เชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำของตนเอง มิใช่อ้อนวอนหรือรอคอยโชค
---2.วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้ว ต้องมีผลและเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
---3.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมของตน คือ เชื่อว่าคนแต่ละคน จะต้องรับผิดชอบหรือเสวยวิบากกรรม ที่ตนเองทำไว้
---4.ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้นำทางให้มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลส
*พุทธจริยา ๓
---พุทธจริยา ๓ หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้า
---1.โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่มหาชน ที่นับว่าเป็นสัตว์โลกทั่วไป เช่น ทรงสงเคราะห์มหาชนให้รู้และเข้าใจในรสพระธรรม สามารถละความอยากมี อยากได้ อยากเป็น จนพ้นจากความทุกข์ได้
---2.ญาตัตถจริยา พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติตามฐานะ เช่น การเสด็จไปเทศนาโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ
---3.พุทธัตถจริยา พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ ตามหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เช่น ทรงบัญญัติระเบียบความประพฤติสำหรับพระภิกษุและทรงประกาศพระศาสนาให้ยั่งยืนสืบมาตามหน้าที่
*อริยสัจ ๔
---อริยสัจ ๔ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ
---1.ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เพราะเป็นสภาพที่ทนอยู่ได้ยาก ได้แก่ การเกิด การแก่ การตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาแล้วไม่สมหวัง
---2.สมุทัย คือ สาเหตุแห่งทุกข์เกิดจากความโลภ โกรธ หลง
---3.นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ภาวะที่ดับทุกข์สิ้นไป
---4.มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘
*หลักกรรม
---หลักกรรม หมายถึง การกระทำ การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาทางกาย วาจา และทางใจ
---1.อกุศลกรรม คือ กรรมชั่ว การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต
---2.กุศลกรรม คือ กรรมดี การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตและจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
*ไตรสิกขา
---ไตรสิกขา หมายถึง การพัฒนากาย วาจา จิตใจ และปัญญา อยู่เสมอ
---1.ศีล คือ ความมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและในการอยู่ร่วมกับสังคม ได้แก่ ความมีวินัย การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กติกาในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม เอื้อโอกาสต่อการทำสิ่งต่าง ๆ ได้เกิดผลดี มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
---2.สมาธิ คือ การ ฝึกฝนอบรมจิตใจ ให้สงบแน่วแน่ มั่นคง เพื่อให้เป็นจิตใจที่สามารถทำงานหรือใช้การได้ดี โดยฉพาะในการคิดพิจารณาให้เกิดปัญญา จิตที่มีสมาธิจะเป็นจิตที่เหมาะสมต่อการพัฒนาคุณธรรมทั้งหลายให้เพิ่มขึ้น
---3.ปัญญา คือ การมีความรู้ ความเข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงและการฝึกฝนอบรมตนเอง ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เช่นนั้น
*โอวาท ๓ ไม่ทำชั่ว
---เบญจศีล หมายถึง ความประพฤติทางกาย และวาจา การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย
---1.ละเว้นจากการฆ่าสัตว์
---2.ละเว้นจากการถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เขามิได้ให้
---3.ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
---4.ละเว้นจากการพูดเท็จ
---5.ละเว้นจากน้ำเมา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท รวมทั้งสิ่งเสพติดให้โทษ
*อบายมุข ๔
---หมายถึง ช่องทางของความเสื่อม ทางแห่งความพินาศ เหตุแห่งย่อยยับแห่งโภคทรัพย์
---1.เป็นนักเลงหญิง นักเที่ยวผู้หญิง
---2.เป็นนักเลงสุรา นักดื่ม
---3.เป็นนักเลงการพนัน
---4.คบคนชั่วเป็นมิตร
*โอวาท ๓ ทำความดี
---เบญจธรรม หมายถึง ธรรมอันดีงาม 5 อย่าง
---1.เมตตา และกรุณา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์
---2.สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต
---3.กามสังวร คือ ความสำรวมระวัง รู้จักยับยั้ง ควบคุมในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
---4.สัจจะ คือ ความสัตย์ ความซื่อตรง
---5.สติสัมปชัญญะ คือ ระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอ
*บุญกิริยาวัตถุ ๓
---หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำบุญ เรื่องที่จัดเป็นการทำความดี หลักการทำความดี ทางทำความดี
---1.ทานมัย คือ การทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ เช่น การบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้
---2.สีลมัย คือ การทำบุญด้วยการรักษาศีล การประพฤติดี มีระเบียบวินัย เช่น รักษาศีล 5 ของตนให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
---3.ภาวนามัย คือ การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจ เจริญปัญญา เช่น การเข้าวัดปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ
*อคติ ๔
---หมายถึง การกระทำสิ่งที่ผิดด้วยความลำเอียง ไม่ยุติธรรม
---1.ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะชอบ เช่น คนที่ตนรักทำความผิด สมควรจะลงโทษก็ไม่ทำ
---2.โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะชัง ไม่ชอบกัน เช่น ไม่ให้ลาภยศด้วยอำนาจความเกลียดชัง
---3.โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะหลง เช่น ผู้ใหญ่ตัดสินลงโทษผู้น้อย โดยที่ยังมิได้ไต่สวนความผิดให้รอบคอบเสียก่อน
---4.ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว เช่น ทำผิดกฎหมายเพราะกลัวผู้มีอำนาจจะไม่พอใจ อาจลงโทษแก่ตนได้
*อิทธิบาท ๔
---หมายถึง คุณธรรมที่เป็นทางแห่งความสำเร็จ
---1.ฉันทะ คือ ความรักงาน พอใจในงานที่ตนทำ
---2.วิริยะ คือ ความเพียรพยายามในการทำงานนั้น
---3.จิตตะ คือ ความเอาใจใส่กับงานที่ตนทำ
---4.วิมังสา คือ การใช้ปัญญาตริตรองพิจารณาเหตุผลในงานนั้น
*กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธศาสนา
---หลักธรรมคำสั่งสอน ทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีงาม สอนให้เรากระทำความดี ให้อุปการแก่เรา เราจึงควรตอบแทนพระพุทธศาสนาด้วยแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
---1.ศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
---2.ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
---3.ดูแลปกป้องพระสงฆ์ที่ประพฤติดีปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
---4.ปกป้อง ดูแล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ อันเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ
*มงคล 38 ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
---ผู้ที่ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เราเรียกว่า "พหูสูต" คนที่จะเป็นพหูสูได้นั้น ต้องอาศัยหลัก ๔ ประการ เรียกย่อ ๆ ว่า “ สุ จิ ปุ ลิ”
---1.สุตะ คือ ความรู้ที่ได้จากการฟัง การศึกษาเล่าเรียนมา
---2.จินตะ คือ การพิจารณาสิ่งที่เรียนรู้แล้วด้วยปัญญา
---3.ปุจฉา คือ การถาม เมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาแล้ว เราต้องหมั่นตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ซึ่งคำตอบที่ชัดเจน คลายข้อสงสัยให้หมดไป
---4.ลิขิต คือ การเขียน เมื่อได้เรียนรู้สิ่งใด อาจลืมได้ เราจึงต้องเขียนบันทึกไว้ เพื่อทบทวนความจำ และถ้าไม่เข้าใจ อาจกลับมาพิจารณาสิ่งที่บันทึกได้อีก
*การงานไม่อากูล
---การงานนั้น เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพ แม้การศึกษาเล่าเรียนก็เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพในภายหน้า ดังนั้นเราจึงควรศึกษาเล่าเรียน ทำงานด้วยความเพียรพยายาม ไม่ให้คั่งค้าง
---การทำงานคั่งค้าง เปรียบเสมือนสำนวนที่ว่า “ดินพอกหางหมู” เมื่อดินที่สะสมนั้น เพิ่มทวีขึ้นก็เริ่มแข็งตามกาลเวลา เป็นผลให้ทำความสะอาดได้ยาก การเรียนและการงานก็เช่นเดียวกัน หากไม่ตั้งใจทำจริง ๆ ปล่อยให้เวลาผ่านไป การงานและการเรียนนั้น ย่อมไม่สำเร็จตามจุดประสงค์ เกิดโทษต่อตนเองและส่วนรวม
*อดทน
---ความอดทน มาจากคำว่า “ขันติ” คือ สภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อถอย
---ลักษณะของความอดทน
---1.ทนต่อความลำบาก ได้แก่ ทนต่อความลำบากที่ต้องประสบตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม เป็นต้น
---2.ทนต่อทุกขเวทนา ได้แก่ ทนต่อสังขารของเรา เช่น ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
---3.ทนต่อความเจ็บใจ ได้แก่ ทนต่อการว่าร้าย ไม่เอามาเป็นอารมณ์ เพราะจะทำให้ทะเลาะเบาะแว้ง
---4.ทนต่อความอยากได้ อยากมี อยากเป็น แก่สิ่งยั่วยวนทั้งหลาย เช่น ความโลภอยากได้ของผู้อื่น การพ่ายแพ้ต่ออำนาจของเงิน เป็นต้น
---ความอดทนเป็นธรรมะอันทำให้งาม ได้แก่ ความงามกิริยา งามวาจา และงามใจ สร้างความสามัคคีในสังคม และทำให้ไม่มีศัตรู
*พุทธศาสนสุภาษิต
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
---ความเพียร เป็นคุณธรรม ที่ทำให้บุคคลตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ย่อท้อ ไม่เบื่อหน่ายต่อการงาน ทั้งกิจธุระของตนและส่วนรวม ถึงแม้จะมีอุปสรรคต่าง ๆ ก็พยายามฝ่าฟัน จึงทำให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในกิจการงานนั้น ๆ สามารถ เพิ่มพูนรายได้นำมาเลี้ยงชีพครอบครัว
---นอกจากนี้ความเพียรยังเป็นธรรมะ ที่เป็นเครื่องกำจัดความอยากได้ อยากมี อยากเป็นให้หมดไป เมื่อเกิดกิเลส ก็ใช้ความเพียรกำจัดกิเลสตัณหา ทุกข์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
---พระ ติสสมหาเถระ ตั้งกติกาไว้ในใจว่า "เราจักอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ทำความเพียร จะไม่ยอมนอนเวลาง่วง เอาฟางชุบน้ำให้เปียกชุ่ม วางไว้บนศีรษะ แช่น้ำประมาณเพียงคอ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อบูชาความเพียรของพระพุทธเจ้า" ด้วยความเพียรเวลาผ่านไป ๑๒ ปี จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ปญฺญา โลกสฺมึ ปชฺโชโต
ปัญญา คือ แสงสว่างในโลก
---ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ คือ รู้ทางแห่งความเสื่อม รู้ทางแห่งความเจริญและรู้เหตุในการสร้างความเจริญ เช่น รู้ว่าสิ่งเสพติดเป็นภัย มีโทษต่อตนเอง จะนำไปสู่โรคร้าย และอาจทำให้การงานไม่ประสบผลสำเร็จจึงตัดสินใจไม่เสพสิ่งเสพติด ตั้งใจทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียน ใช้วิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้สร้างที่พึ่งให้กับตนเอง นำพาตนเองไปสู่ในทางที่ดีงามยิ่งขึ้นไป เช่น
---วันหนึ่ง ขณะที่นกมูลไถ หากินอยู่ในท้องนา เหยี่ยวตัวหนึ่งได้มาบินโฉบเฉี่ยวเอาไป นกมูลไถนั้น ได้รับความทุกข์อันมาก ระหว่างที่อยู่กรงเล็บของเหยี่ยวที่กำลังบินไปอยู่นั้น ก็มองเห็นความตายอยู่ข้างหน้า แต่เพราะความที่เป็นสัตว์มีไหวพริบ จึงแต่งอุบายขึ้นมาร้องว่า
---“เอ้อ นี่เราไม่น่าเลยนะ หากินอยู่ในถิ่นของตัวดี ๆ ก็ ไม่น่าออกมาเที่ยวหากินนอกถิ่นนอกแดน ก็เลยถูกเหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปได้ นี่ถ้าเรายังอยู่ในถิ่นของเราละก็ อย่าว่าแต่เหยี่ยวเอาไปได้ ให้นกอะไรใหญ่กว่านี้หรือเก่งกว่านี้ก็ไม่มีทางจะทำอะไรเราได้” นกมูลไถพูดทำนองนี้เรื่อย ๆ
---ฝ่ายเหยี่ยวได้ยินคำที่นกมูลไถกล่าววาจามากระทบตนเองจึงโกรธ บอกให้นกมูลไถไปอยู่ในท้องนาแล้วตนจะเฉี่ยวให้ได้ ด้วยความหยิ่งในความสามารถของตน เมื่อนกมูลไถถึงถิ่นของตนแล้ว จึงเตรียมพร้อมที่จะหลบหนีเหยี่ยว จึงทำอุบายไปเกาะก้อนดินก้อนใหญ่
---เมื่อพร้อมแล้ว เหยี่ยวก็โฉบลงมา พอเหยี่ยวโฉบลงมาใกล้ ๆ นกมูลไถ ก็หลบลงในซอกดินด้วยกำลังแรงของเหยี่ยว ตัวของนกเหยี่ยวจึงปะทะกับก้อนดินเต็มที่ ถึงแก่ความตาย นกมูลไถจึงรอดชีวิต
*พระไตรปิฎก
*การแบ่งพระไตรปิฎก
---พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่รวบรวมหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนที่จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
---พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็น ๓ หมวดหมู่ คือ
---1.พระวินัยปิฎก เป็นระเบียบข้อบังคับ ในการดำเนินชีวิตสำหรับพระสงฆ์และภิกษุณี
---2.พระสุตตันตปิฎก เป็นพระธรรมเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสต่าง ๆ
---3.พระอภิธรรมปิฎกเป็นหลักธรรมต่าง ๆ ซึ่งอธิบายเนื้อความแท้ ๆ ของธรรมะ ไม่เกี่ยวกับบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์ใด ๆ
*ความสำคัญของพระไตรปิฎก
---1.เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าหลักธรรม คำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า
---2.เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
---3.ทำให้เราทราบพุทธจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้า และประวัติของพุทธสาวก พุทธสาวิกา แล้วนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
*เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก อสรพิษร้าย ๔ ตัว
---พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
---อสรพิษมีฤทธิ์เดชแรงกล้า ๔ จำพวก ชายผู้รักตัวกลัวตาย มีคนบอกเรื่องอสรพิษ ๔ จำพวกจึงหลบหนีไป
---ขณะหนีไปมีคนบอกว่า เพชฌฆาตดุร้าย ๕ คน กำลังตามมาจะฆ่าท่าน งานใดค้างอยู่ให้รีบทำ ชายคนนั้นหนีต่อไปอีก
---มีคนมาบอกอีกว่า เพชฌฆาตคนที่ ๖ เหาะมาในอากาศ จะตามฆ่าท่าน ชายคนนั้นจึงหนีต่อไปอีก
---หลบเข้าไปในเรือนร้างหลังหนึ่ง กำลังจับต้องภาชนะเปล่า ก็มีคนมาบอกอีกว่า โจรที่คอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาเรือนร้างนี้เสมอ อาจจะฆ่าท่านได้ ชายคนนั้นจึงหนีไปอีก
---พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งนี้เต็มไปด้วยอันตราย จึงผูกแพข้ามไป และขึ้นบกโดยปลอดภัย
*พระพุทธองค์ตรัสอุปมาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้
---ธรรมดาคนเราย่อมกลัวภัย กลัวสิ่งที่น่ารังเกียจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนเราทุกคนต้องการจะหลีกหนี ให้ห่าง พยายามไม่เกี่ยวข้องด้วย ในที่นี้ได้แก่ อสรพิษ ๔ เพชฌฆาต และโจรผู้ร้าย
---อสรพิษ ๔ นั้น หมายถึง ธาตุ ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุ น้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อรวมเป็นร่างกาย คนเราย่อมหลีกหนีจากการพิจารณาว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทำให้ลุ่มหลงว่าเป็น ตัวเรา ของเรา
---เพชฌฆาตทั้ง ๕ หมายถึง อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อรวมเป็นร่างกาย คนเราย่อมหลีกหนีจากการพิจารณาว่าร่างกาย คือ นามกับรูป แบ่งออกเป็น ๕ กอง ทำให้ลุ่มหลงว่าเป็นตัวเรา ของเรา
---เพชฌฆาตคนที่ ๖ ที่เหาะไปในอากาศ คอยกล่อมให้เราเพลิดเพลินว่าเป็นตัวเรา ของเรา หมายถึง ความยินดีที่ทำให้เพลิดเพลิน (นันทิราคะ)
---บ้านร้าง หมายถึง อายตน ตนภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งธรรมดาบ้านร้าง ถ้าปราศจากสิ่งรบกวนจากภายนอก ก็ยังคงว่างเปล่า ต่อเมื่อเปิดโอกาสให้โจรผู้ร้าย ซึ่งอาจจะฆ่าเราได้ หมายถึง อายตน ตนภายนอก ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) เข้ามา รบกวน บ้านร้างจึงไม่สงบ ถูกปรุงแต่ง ด้วยสิ่งที่ตาเห็นเป็นรูป หูได้ยิน จมูกได้รับกลิ่น กายได้สัมผัสกับสิ่งที่ต้องกาย ใจ ได้รับอารมณ์ที่เกิดจากใจ
---ต่อมา เมื่อรู้ว่าฝั่งตรงข้าม เป็นทางอันปลอดภัย ต้องการจะข้ามไป ณ ที่แห่งนั้น แต่พบว่า ห้วงน้ำนั้นกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยอุปสรรค และปัญหา ทำให้ข้ามไปได้ยาก ดังนั้น ต้องอาศัยแพ พาตนข้ามให้พ้นจาก ฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น เพราะเป็นสถานที่อันร่มรื่นและน่าอยู่ ต่างจากที่อยู่เดิมที่มีความน่าเกลียด น่ากลัวของ ร่างกายที่เปื่อยเน่า มีน้ำหนองเปรอะเปื้อนร่างกายอันเป็นที่น่ารังเกียจยิ่ง
*ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
---ความสันโดษ แปลว่า ความยินดี หรือพอใจด้วยของของตน ความยินดีในของที่มีอยู่ ความสันโดษมีความหมาย ๒ นัย คือ
---๑.สันโดษ ในวัตถุสิ่งเสพ หมายถึง ความพอใจในปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่ตนหามาได้โดยสุจริต ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น เมื่อไม่ได้ก็ไม่เร่าร้อนทุรนทุราย เมื่อได้ก็ใช้โดยรู้เท่าทันเห็นโทษ รู้จักใช้สิ่งนั้นตามคุณค่าและตามความหมายของสิ่งนั้น ๆ เช่น รู้จักบริโภคอาหารแต่พอดี บริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เห็นคุณและโทษของอาหาร ที่เรากำลังจะบริโภค
---๒.ไม่สันโดษในกุศลธรรม หมายถึง มีความขยันหมั่นเพียรในการทำดี พูดดี คิดดี ไม่ทอดทิ้งโอกาสในการกระทำความดี พัฒนาตนไปสู่ ผู้มีคุณธรรมที่สูงขึ้นเรื่อยไป เช่น ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองให้สูงขึ้นและเมื่อมีโอกาสช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความรู้ ความสามารถของตนเอง
*การบริหารจิตและเจริญปัญญาทำจิตให้บริสุทธิ์
---การบริหารจิตและเจริญปัญญา หมายถึง การกำหนดอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ช่วยให้จิตแน่วแน่เกิดสมาธิ เป็นประโยชน์ในการคิดพิจารณาให้เกิดปัญญา
*การฝึกสมาธิด้วยการเดินจงกรม
---1.สำรวมกาย วาจา ใจ
---2.ตั้งจิตให้มั่นว่า จะฝึกความอดทน พากเพียรจนเกิดสมาธิ
---3.การฝึกเดิน
*การเดินจงกรม
*1.การเตรียมตัว
---กาย เริ่มยืนตรง ไม่วอกแวกดูสิ่งอื่น ขณะเดิน มือจะกุมประสานกันไว้ด้านหน้า เท้าจะก้าวช้า ๆ และก้าวสั้นเพียง 1 ฝ่าเท้า และทรงตัวอยู่ให้นิ่ง ไม่บิดไปบิดมา
---วาจา ไม่พูดคุย ภาวนาในใจด้วยถ้อยคำกะทัดรัด พร้อมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
---ใจ กำหนดจิต ตามอิริยาบถที่ร่างกายเคลื่อนไหวให้ทันวาจา กล่าวคือ ทำให้รู้สึกพร้อมในขณะ ร่างกายเคลื่อนไหว และเปล่งคำภาวนา
*2.เริ่มเดินจงกรม
---ยืนตรง ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว ขณะยืน ตามองที่ปลายจมูกของตน จะช่วยไม่ให้สอดส่ายไปมองที่อื่น
---ยกมือซ้าย พร้อมกับภาวนาช้า ๆ ว่า ยกหนอ–มาหนอ– วางหนอ พร้อมวางมือซ้ายไว้ที่หน้าท้อง
---ยกมือขวา พร้อมกับภาวนาช้า ๆ ว่า ยกหนอ – มาหนอ – วางหนอ พร้อมวางมือขวาทับข้อมือซ้าย แล้วใช้นิ้วกลางและหัวแม่มือรวมข้อมือซ้ายไว้
*3.การภาวนาพร้อมปฏิบัติ
---ให้ภาวนาเบา ๆ ช้า ๆ เป็นจังหวะ จะช่วยให้กระแสจิตสงบลงได้เร็ว และช่วยให้สติตั้งมั่น ดังนี้
---ยืน-หนอ 3 ครั้ง ขณะนี้ ใจกำหนดเห็นรูปยืน นึกเห็นภาพตนเองกำลังยืน
---อยาก - เดิน –หนอ 3 ครั้ง ใจเตรียมพร้อมที่จะเดิน ตามองทางเดิน ห่างไป 3-4 ก้าว
---ขวายกส้น – ยกหนอ – ย่างหนอ – เหยียบหนอ
---ซ้ายยกส้น – ยกหนอ – ย่างหนอ – เหยียบหนอ
*พระสงฆ์พุทธสาวก-พุทธสาวิกา
---พระโสณโกฬิวิสะ
---สมัยที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ เขาคิชกูฏ แขวงเมือง ราชคฤห์นั้น มีกุลบุตรคนหนึ่งชื่อ "พระโสณโกฬิวิสะ" เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้พระองค์ ทรงทราบว่า ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแล้ว เห็นว่าผู้อยู่ครองเรือน ไม่อาจจะประพฤติ พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงได้ จึงทูลขออุปสมบท ในพระธรรมวินัย พระศาสดาก็ทรง อนุญาตให้บวชตามประสงค์
---เมื่อบวชแล้ว ก็ทำความเพียรเกินขนาด เดินจงกรม ไม่หยุด จนเท้าแตก ก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษแต่อย่างใด จึง คิดจะลาสิกขา ออกมาเป็นคฤหัสถ์ บำเพ็ญกุศลแทนการบวช พระพุทธเจ้า ทรงทราบเรื่องราวของพระโสณโกฬิวิสะโดยตลอด จึงเสด็จมาตรัสสอน ให้ความเพียรสายกลาง คือ ไม่ให้ตึงนัก ไม่ให้หย่อนนัก เปรียบด้วยพิณสามสาย หากตึงหรือหย่อนเกินไปเสียงก็ไม่ไพเราะ ต้องพอดี ๆ เสียงจึงจะน่าฟัง
---ความเพียรเกินขนาดย่อมเป็นผลเสียต่อร่างกาย ความย่อหย่อนเกินไป ก็เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน และทรงสอนให้ทราบความที่อินทรีย์ต้องเป็นของเสมอ ๆ กัน คือ ศรัทธากับปัญญา ความเพียรกับสมาธิ ต้องพอดี ๆ กันให้ตลอด
---เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนแล้ว ก็เสด็จกลับ ฝ่ายพระโสณโกฬิวิสะ ก็ตั้งอยู่ในโอวาทที่ทรงสอนนั้น บำเพ็ญเพียรแต่พอประมาณ เจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหันตผล ท่านจึงไปกราบทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า การบรรลุธรรมวิเศษ ล่วงพ้นจากกิเลสทั้งปวงนั้น ต้องน้อมไปในคุณ ๖ สถาน คือ
---1.น้อมไปการบรรพชา ออกไปจากกามคุณ
---2.น้อมไปในที่สงัด
---3.น้อมไปในความสำรวม ไม่เบียดเบียน
---4.น้อมไปในทางละทิ้งความยึดมั่นถือมั่น
---5.น้อมไปในทางสิ้นแห่งความอยาก
---6.น้อมไปในความไม่หลง
---เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงรับฟังดังนั้นแล้ว ตรัสสรรเสริญพระโสณโกฬิวิสะว่า พยากรณ์ พระอรหันต์ กล่าวเนื้อความไม่นำตนเข้าไปเปรียบเทียบ
---พระโสณโกฬิวิสะ อาศัยที่ปรารภความเพียรด้วยอุตสาหะแรงกล้า ตั้งแต่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ พระศาสดาจึงทรงยกย่องว่า "เป็นภิกษุผู้ปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา"
*คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
---1.ความเป็นผู้มีความเพียรพยายาม ตั้งใจจริง
---2.เป็นผู้วางตนเหมาะสม ไม่อวดอ้างธรรมวิเศษที่ตนบรรลุแล้ว
*หน้าที่ชาวพุทธ
---ในฐานะที่เราเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "พุทธศาสนิกชน" หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ชาวพุทธ” นั้น มีหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติต่อศาสนาที่เรานับถือ โดยช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ ช่วยกันปกป้องภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แก่พระศาสนา โดยควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
*การจัดพิธีกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา
---พิธีกรรม หมายถึง การทำพิธี หรือการบูชาที่เกี่ยวกับศาสนาและการดำเนินชีวิต พิธีกรรมเป็นอุบายที่จะทำให้คนเข้าใจศาสนาและมีระเบียบแบบแผนในการดำเนิน ชีวิต พิธีกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมจึงควรที่ชาวพุทธจะศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อความบริสุทธิ์ดำรงมั่นของพระพุทธศาสนา และเพื่อประโยชน์สุขของชาวพุทธ
*ประโยชน์ของพิธีกรรม
---1.เป็นสื่อจูงใจคนให้ละชั่ว ทำดี และจิตใจให้บริสุทธิ์ได้
---2.เกิดคุณค่าทางใจ เป็นความปีติอิ่มเอิบ
---3.เป็นการรักษาเอกลักษณ์ของชาติ เพราะพิธีกรรมเป็นวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทย
*หลักการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
---1.เรียบง่าย
---2.ประหยัด
---3.มีประโยชน์
---4.ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
*ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาสนาสถาน
---ศาสนสถาน เป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทาง พระพุทธศาสนา ได้แก่
---1.อุโบสถ คือ สถานที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรม บางทีเรียกโบสถ์ สังฆกรรม เช่น การทอดกฐิน การอุปสมบท
---2.วิหาร คือ สถานที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปคู่กับโบสถ์
---3.หอไตร
---4.เจดีย์
---5.กุฏิ
*การสร้างความสำนึกในประโยชน์และคุณค่าของการรักษาศีล
---การมีสภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันที่จัดระเบียบไว้ด้วยดี เรียกว่า “ศีล” ศีล ๕ เป็นเกณฑ์ความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคม เพื่อคนอยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่เบียดเบียนกันสังคมจึงไม่เดือดร้อน เป็นฐานรองรับความมีสันติสุขของสังคม
*หลักในการรักษาศีล ๕ จึงกำหนดให้มีการไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน คือ
---1.ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ เพื่อมิให้ละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
---2.ละเว้นจากการถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อมิให้ละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
---3.ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เพื่อมิให้ละเมิดต่อคู่ครองของกันและกัน
---4.ละเว้นจากการพูดเท็จ เพื่อมิให้ใช้วาจาทำร้ายหลอกลวงกัน
---5.ละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เพื่อมิให้คุกคามต่อความรู้สึกปลอดภัยของผู้อื่น
---จะเห็นว่าศีล ๕ เป็นมาตรฐานในการจัดระเบียบชีวิตและสังคมของมนุษย์ให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์ สิ่งดีงาม หรือทำการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ
*การเข้าค่ายพุทธบุตร
---การเข้าค่ายพุทธบุตร เป็นการใช้เวลาเข้าค่ายเพียง ๓ วัน ๒ คืนเป็นอย่างน้อย เพื่ออบรมจิตใจขัดเกลามารยาทให้เป็นชาวพุทธที่ดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม คือ ปฏิบัติตนถูกต้อง เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะบุตรที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี ชาวพุทธที่ดีและเยาวชนที่ดีของประเทศชาติ
---กิจกรรม ในการเข้าค่ายคุณธรรมมีมากมาย นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง โดยมี พระสงฆ์ ครูอาจารย์ เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง และเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยจุดมุ่งหมายให้นักเรียนที่เข้ารับการอบรมไม่กระทำความชั่ว กระทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์
---1.ไม่กระทำความชั่ว คือ เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ เช่น คิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ จะส่งผลกระทบต่อเราก็ละเว้นการกระทำนั้นเสีย
---2.กระทำความดี คือ ประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ เช่น คิดว่าการงานใด เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคมก็ตั้งใจ เพียรพยายามทำสิ่งนั้น อย่างเต็มกำลังกาย และกำลังปัญญาของตน
---3.ทำจิตให้บริสุทธิ์ คือ ทำตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ ได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง
*การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
---บุคคลผู้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนาใหม่ ซึ่งอาจจะนับถือศาสนาอื่นมาก่อนหรืออาจจะเยาว์วัย แต่บิดามารดาและผู้ปกครองอื่น ๆ ต้องการจะให้นับถือพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นพุทธมามกะ ควรปฏิบัติดังนี้
---1.นิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป ประชุมกันในอุโบสถหรือสถานที่อันเหมาะสมอื่น ๆ ก็ได้
---2.ผู้ปฏิญาณต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย นิยมนุ่งผ้าขา ห่มผ้าขาวหรือใส่ชุดขาวก็ได้ เข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง
---3.ถวายเครื่องสักการะ ตามที่จัดถวายแก่พระสงฆ์ เสร็จแล้วกราบพระอาจารย์และพระสงฆ์ 3 ครั้ง
---4.นั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำปฏิญาณแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
---5.นั่งพับเพียบ และรับฟังโอวาทจากพระอาจารย์ จบแล้วสมาทานเบญจศีลเสร็จแล้วกราบ ๓ ครั้ง
---6.ถ้ามีของไทยทานก็ถวาย จากนั้นพระสงฆ์สวดอนุโมทนาแล้วกราบ 3 ครั้ง เป็นเสร็จพิธี
*คำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
"เอ สาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทฺธมามโกติ"
(ถ้าเป็นหญิงเปลี่ยนเป็น พุทธมามกาติ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ
---ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้ แม้ปรินิพพานนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ
*มรรยาทชาวพุทธ
---การขวนขวายและการมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมสถานที่ ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
---มรรยาท หมายถึง ระเบียบแบบแผนหรือขอบเขต ข้อจำกัดที่บุคคลพึงประพฤติปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขทั้งแก่ส่วนตนและส่วนรวม
---การขวนขวาย มีส่วนร่วมในการจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ชาว พุทธที่ดี ควรรู้ควรเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อความเป็นระเบียบสวยงาม โดยมีขั้นตอนดังนี้
---1.กำหนดการจัดพิธีกรรมว่า จะจัดวัน เวลา และสถานที่ใด จึงเหมาะสม เช่น งานมงคลสมรส มักจัดสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่บ้านเจ้าสาว
---2.การนิมนต์พระสงฆ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำได้ ๒ วิธี คือ นิมนต์ด้วยวาจา หรือด้วยหนังสือก็ได้
---3.การจัดสถานที่ ได้แก่ โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย อาสน์สงฆ์ และสถานที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้อยู่ร่วมงาน
---โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย นิยมจัดตั้งไว้ด้านขวามือของอาสน์สงฆ์ ตั้งสูงไว้กว่าอาสน์สงฆ์พอสมควร และนิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยประกอบด้วย
---1.พระพุทธรูป ๑ องค์
---2.กระถาง ๑ ใบ พร้อมธูป ๓ ดอก
---3.แจกัน ๑ คู่ พร้อมดอกไม้ประดับ
---4.เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน ๒ เล่ม
---5.โต๊ะหมู่บูชา
---อาสนสงฆ์ คือ สถานที่สำหรับพระสงฆ์นั่ง นิยมจัดไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย แยกเป็นเอกเทศ จากที่นั่งของฆราวาส ประกอบด้วยพรมหรือเสื่อปูลาด พรมเล็กสำหรับพระ กระโถน ภาชนะใส่น้าเย็น น้ำร้อน เท่าจำนวนพระ โดยตั้งกระโถนไว้ด้านในสุด
---ที่นั่งสำหรับเจ้าภาพผู้ร่วมงาน จัดไว้ด้านหน้าของอาสน์ โดยแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จากอาสน์สงฆ์ โดยให้อาสน์สงฆ์ อยู่สูงกว่าที่นั่งสำหรับเจ้าภาพและผู้ร่วมงานเพื่อแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์
*การปฏิบัติตนขณะประกอบพิธีกรรม
---ในการประกอบพิธีกรรม พุทธศาสนิกชน จะปฏิบัติตนด้วยความเรียบร้อย สำรวมและด้วยอาการอันแสดงความเคารพตลอดพิธี เช่น ในการเวียนเทียน ทุกคนเดินตามพระสงฆ์ไปอย่างช้า ๆ ไม่แซงหน้าพระ ขณะเดิน จิตตั้งระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย สำรวมกายวาจา ไม่พูดคุยกัน ไม่คึกคะนอง เมื่อเทียนดับ ก็ปล่อยให้เทียนดับไป ไม่ต้องกังวลในการต่อแสงเทียนจากผู้อื่น
*การไหว้พระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์
*ผู้ที่เคารพนับถือและบุคคลตามฐานะ
---การไหว้ มาจากคำว่า “นมัสการ” คือ การยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผาก พร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย เป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อม
---1.การไหว้พระรัตนตรัย คือ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวเนื่องกับพระรัตนตรัย เช่น ต้นโพธิ์ พระเจดีย์ เป็นต้น ในขณะนั่งเก้าอี้ ขณะยืนอยู่ การไหว้พระรัตนตรัยนั้น ต้องยกมือประนมขึ้นพร้อมกับก้มศีรษะลงให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสอง อยู่ที่ปลายจมูก และปลายนิ้วชี้จรดที่ระหว่างคิ้ว
---2.การไหว้บิดามารดา คือ การไหว้บุพการีผู้ให้กำเนิด ให้ยกมือประนมขึ้น พร้อมก้มศีรษะลงเล็กน้อย ให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ที่ปลายคาง และปลายนิ้วชี้จรดที่ปลายจมูก
*การกราบพระรัตนตรัย กราบบุคคลตามฐานะ และการกราบศพ
---การกราบ มาจากคำว่า “อภิวาท” คือ การหมอบลงที่พื้นพร้อมกับประนมมือ เป็นกิริยาอาการแสดงความอ่อนน้อมอย่างสูงสุด ในบรรดาการแสดงความเคารพทั้งหลาย
---1.การกราบพระรัตนตรัย คือ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระรัตนตรัยทุกอย่างนิยมการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ คือ การกราบด้วยการตั้งใจเฉพาะซึ่งองค์ ๕ คือ หัวเข่า ๒ ฝ่ามือ ๒ และหน้าผาก ๑ ให้จรดแนวกับพื้น ซึ่งอาจมีจังหวะปฏิบัติ ๓ จังหวะ คือ
---จังหวะที่ ๑ ยกมือขึ้นประนมอยู่ระหว่างอก
---จังหวะที่ ๒ ยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสอง อยู่ระหว่างคิ้วปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก
---จังหวะที่ ๓ หมอบลงให้หน้าผากจรดพื้น ฝ่ามือทั้งสองแบราบลงแนบกับพื้น แล้วลุกขึ้นนั่ง ตัวตั้งตรง ประนมมือยกขึ้น ผ่านจังหวะ ๑ – ๒ – ๓ ไปตามลำดับ ปฏิบัติเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง ทุกคราวที่กราบพระรัตนตรัย
---2.การกราบบุคคลตามฐานะและกราบศพ นิยมกราบด้วยการประนมมือ ไม่แบมือราบกับพื้น เหมือนกราบพระรัตนตรัย และนิยมกราบเพียงครั้งเดียว ไม่กราบ ๓ ครั้ง
*วิธีปฏิบัติ
---1.นั่งพับเพียบแบบเก็บเท้า พับขาราบไปทางซ้าย ตะแคงตัวข้างขวาไปทางบุคคลหรือศพที่จะกราบนั้น
---2.หมอบลงกับพื้น พร้อมกับวางแขนขวา ลงกราบกับพื้นตลอดครึ่งแขน จากข้อศอกถึงมือ ตั้งสันมือขึ้น วางแขนซ้ายลงคู่กับแขนขวา มือทั้งสองแนบชิดแนบประนมมือ ให้ศอกขวาอยู่ข้างต้น ศอกซ้ายต่อกับหัวเข่าขวา
---3.ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดสันมือ ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว แล้วลุกขึ้นนั่งพับเพียบตามปรกติ เป็นเสร็จพิธีกราบบุคคลหรือกราบศพ
*ชาวพุทธตัวอย่าง
---สมเด็จพระสังฆราช (สา)
---สมเด็จพระสังฆราช (สา) ประสูติในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระนามเดิมว่า "สา" บิดาชื่อ จัน มารดาชื่อ สุก : สา บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก ศึกษาหนังสือไทยและภาษาบาลีเบื้องต้นจากบิดา สามเณรสา ถวายตัวเป็นศิษย์พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งขณะนั้น ผนวชอยู่ ณ วัดราชาธิวาส สามเณรสา สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี เป็นสามเณรรูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
---จน ปี พ.ศ. ๒๓๗๖ อายุครบ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดราชาธิวาส เป็นที่ทรงเชื่อถือ ศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านความรู้ภาษาบาลี และธรรมะอันมาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ พระอมรโมลี (สา) ทูลลาสิกขา แล้วกลับมาบวชเป็นภิกษุใหม่ และได้สอบเปรียญธรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็สอบได้ทั้ง ๙ ประโยค บางทีเรียกพระสังฆราช (สา) ว่า พระสังฆราช ๑๘ ประโยค
---ในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ และอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทว) จากวัดบวรนิเวศ ไปเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ พระสาสนโสภณ (สา) ขึ้นตามลำดับ จนในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงได้เลื่อนขึ้นเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
---ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา) จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงถนัดในด้านการนิพนธ์ตำราวิชาการ โดยเฉพาะทางด้านธรรมวินัย เช่น กาลามสูตร ปฐมสมโพธิ และอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๔๐ - ๕๐ เรื่อง
---สมเด็จพระสังฆราช (สา) สิ้นพระชนม์เมื่อ ๘๖ ปี ด้วยโรคบิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอาลัยในมรณกรรมของสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้มาก โปรด ฯ ให้จัดงานพระศพยิ่งใหญ่ถวายเป็นพิเศษ
---กล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงเป็นกำลังสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์ ให้อยู่ในครรลองธรรมแก่สมณวิสัย โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศมีการพัฒนาหลายด้าน สมเด็จพระสังฆราช (สา) จึงมีบทบาท ในการวางรากฐานให้ภิกษุสามเณร ประชาชนเกิดความรู้ความ เข้าใจในพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายยิ่งขึ้น
*อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
---อาจารย์เสถียร โพธินันทะ มีชื่อจีนว่า เม่งเต็ก แซ่ตัง เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นบุตรของนายเป้งซัง แซ่ตัง และนางมาลัย กมลมาลย์ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นผู้มีปัญญา ปฏิภาณดี และมีความจำได้ยอดเยี่ยม มีความสนใจศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา เพียงระยะเวลาไม่นานก็มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างดี
---ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุขแล้ว ได้เข้าศึกษาภาษาจีนเป็นเวลา ๒ ปี เท่านั้น ท่านก็สามารถอ่านพระไตรปิฎก ตลอดจนคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นภาษาจีนได้เป็นอย่างดี มีความเข้าใจฉับพลันและถูกต้องทุกประการ เมื่อมีข้อสงสัย อาจารย์เสถียร โพธินันทะ จะไต่ถามผู้รู้อยู่เสมอ นับว่าอาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นผู้ใฝ่ศึกษาอย่างแท้จริง
---ผลงานของ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ นั้น เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่ศาสนธรรม โดยเฉพาะเป็นผู้แปลปาฐกถาธรรม จากภาษาจีนเป็นภาษาไทย ซึ่งในขณะนั้นท่านอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น และเมื่อท่านอายุ ๑๘ ท่านได้แสดงปาฐกถาครั้งแรก ที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
---ต่อมาเมื่ออายุ ๒๓ ปี ได้รับเชิญจาก มหามกุฎราชวิทยาลัย ให้เป็นอาจารย์ผู้บรรยาย วิชาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา อาจารย์เสถียร โพธินันทะ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย แต่ท่านมิได้ยึดมั่นในเครื่องเชิดชูเกียรตินั้น ยังคงมุ่งมั่นบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมิลดละ
---งานนิพนธ์ของ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นที่ใส่ใจในวงการพระพุทธศาสนามาก เพราะท่านแปลพระสูตรจีนและถ่ายทอดได้ถึงอรรถรสแห่งภาษา เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน หนังสือที่เป็นผลงานเด่นของอาจารย์เถียร โพธินันทะ คือ "เมธีตะวันออก" ซึ่งองค์การ ยูเนสโก ได้ยกย่องให้เป็นหนังสือดี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖
---นับได้ว่า อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นปราชญ์เอกแห่งพระพุทธศาสนา เป็นผู้ใฝ่ศึกษาค้นคว้า มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายานเป็นอย่างดี นำความรู้ของตนเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้ ได้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต บำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน สมควรที่เราชาวพุทธควรยกย่องให้ท่านเป็นชาวพุทธตัวอย่าง
*ศาสนพิธี
---ศาสนาทุกศาสนานั้น ต่างมีพิธีกรรมที่จะต้องปฏิบัติในศาสนาของตนเองทุกศาสนา พิธีกรรมทางศาสนามีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อใช้ในพิธีกรรมนั้น ๆ อย่างเป็นระเบียบสวยงาม พิธีกรรมหรือระเบียบแบบแผนที่จะพึงปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานั้นเรียกว่า “ศาสนพิธี”
*พิธีกรรมในการทำบุญงานมงคล
---การทำบุญงานมงคล เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด งานอุปสมบท งานมงคลสมรส เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีนิยมว่า จัดการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง พิธีกรรมในการทำบุญงานมงคล มีดังนี้
---1.เมื่อพระสงฆ์มาถึง เจ้าภาพประเคนน้ำเย็น น้ำชา หรือน้ำปานะ อย่างใดอย่างหนึ่งแด่พระสงฆ์
---2.เจ้าภาพจุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย
---3.อาราธนาศีลพร้อมกัน เมื่อพระให้ศีล ให้เปล่งเสียงรับศีล แล้วอาราธนาพระปริตร
---4.นั่งฟังพระเจริญพระพุทธมนต์
---5.เจ้าภาพถวายข้าวพระพุทธ และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
---6.ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เครื่องไทยธรรม คือ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่สมควรถวายแด่พระสงฆ์ ได้แก่ปัจจัย ๔
---7.กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้แก่บรรพบุรุษ แก่ผู้ตาย แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
*พิธีถวายสังฆทาน
---สังฆทาน หมายถึง การถวายแด่พระสงฆ์ ไม่เจาะจงพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดการถวายสังฆทานนั้นมีระเบียบพิธี ดังนี้
---1.ถวายสังฆทานทุกอย่างต้องตั้งใจถวายจริง ๆ คือ ต้องทำใจให้เป็นสมาธิ ไม่ส่งจิตไปในที่อื่น
---2.มุ่งถวาย เป็นของสงฆ์ด้วยความเคารพและเลื่อมใสในพระสงฆ์จริง ๆ
---3.ตระเตรียมทานวัตถุที่ต้องการถวายให้เสร็จเรียบร้อยและต้องให้ทันเวลา
---4.เผดียงสงฆ์ คือ แจ้งความประสงฆ์ที่ถวายทานนั้น ๆ ให้สงฆ์ทราบ และนัดหมายเวลาให้เรียบร้อยด้วย
---5.ในการถวายนั้น ถ้ามีพิธีอื่นประกอบด้วย ก็เป็นเรื่องของพิธีแต่ละพิธีไป
*เมื่อถึงเวลากำหนด ฝ่ายทายกพึงปฏิบัติ ดังนี้
---1.จุดธูป เทียน ข้างหน้าที่บูชาพระ
---2.อาราธนาศีล และรับศีล
---3.ประนมมือกล่าวคำถวายทานนั้น
---4.สงฆ์ที่ได้รับอาราธนาเพื่อรับทาน ในขณะที่ผู้ถวายทาน กล่าวคำถวายทาน พึงประนมมือ เมื่อผู้ถวายทานกล่าวจบแล้ว พึงเปล่งวาจาว่า “สาธุ” พร้อมกัน เมื่อเสร็จประเคนแล้ว พึงอนุโมทนา
---5.ขณะพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ถวายทานพึงกรวดน้ำ เมื่อพระเริ่มสวดบท สัพพีติโย เป็นต้นไป พึงประนมมือรับพรไปจนจบแล้วกราบ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
*เครื่องสังฆทาน
---วัตถุที่ถวายแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นปัจจัยในการดำรงชีพของพระสงฆ์ ได้แก่ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) และเภสัช (ยารักษาโรค)
.............................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 20 กันยายน 2558
ความคิดเห็น