วัตถุมงคลต้องนำคนเข้าสู่ธรรม
---เท่าที่ทราบ แนวคิดเรื่องการบูชาวัตถุมงคล ในทัศนะของพระพุทธศาสนา ดูเหมือนจะไม่มีอยู่ แม้ต่อมาคติการสร้างวัตถุมงคล จะแพร่เข้าไปทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ จนกระทั่งมารุ่งเรืองที่สุดอยู่ในประเทศไทยของเราทุกวันนี้
---แนวคิดอย่างนี้ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ก็ต้องถือว่าไม่ใช่แนวคิดของพระพุทธศาสนา เพราะตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าใช้ชีวิตอยู่นั้น ทรงพยายามอย่างมากที่จะให้มนุษย์หันมานับถือตัวเอง
---"คำว่านับถือตัวเอง" ไม่ใช่แนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งเติบโตขึ้นในตะวันตก แต่การนับถือตัวเองเป็นแนวคิดของพระพุทธศาสนาแท้ๆ
---มีศัพท์เทคนิคว่า "ตถาคตโพธิศรัทธา" คือ การมีความเชื่อมั่นในสติปัญญาของมนุษย์ ว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองจนถึงขั้นสูงสุดของวิวัฒนาการทางสติปัญญา คือ เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ และเราสามารถพึ่งตนเองได้ เป็นที่มาของพุทธพจน์ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
---อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า มนุษย์เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ศักยภาพทางสติปัญญาก็แตกต่างกันออกไป บัวแต่ละเหล่าก็แสวงหาที่พึ่งที่สอดคล้องกับระดับสติปัญญาของตัวเอง
---จึงเป็นเหตุให้เกิดลัทธิบูชาวัตถุมงคล แพร่หลายในสังคมไทย กล่าวอย่างสั้นที่สุด หากจะมีสิ่งที่เป็นมงคลในทัศนะของพระพุทธศาสนาก็มีเพียง "ธรรมะมงคล" ไม่มีวัตถุมงคล
---วัตถุมงคลจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมในทัศนะของพระพุทธศาสนา เมื่อเป็นสิ่งแปลกปลอมก็ต้องถือว่า ไม่มีเกณฑ์วัดความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลในนามของพระพุทธศาสนา
---ดังนั้น มาตรฐานในการวัดความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคล หากจะมีอยู่ มาตรฐานนั้นก็ไม่ใช่ของพุทธศาสนา แต่เป็นมาตรฐานของครูบาอาจารย์ที่ว่ากันเอาเอง เป็นเพียงความพยายามเชื่อมโยงให้สิ่งที่ตนเคารพนับถือมีมิติทางพุทธศาสนา เท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการยืมแบรนด์ของพระพุทธเจ้ามาสนองกิเลสของตัวเองเพื่อที่จะ สื่อสารกับคนไทยได้ง่ายขึ้น
*วัตถุมงคล
---จะดีอย่างจริงแท้ที่สุด เมื่อเราเปลี่ยนวัตถุนั้นให้เป็นวัตถุมงคล วัตถุมงคลเป็นสิ่งที่ไม่มีมาก่อน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ ไม่ทรงแจกวัตถุมงคลใดๆ มีแต่มอบพระธรรมอันล้ำค่าให้ อย่างไรก็ตาม วัตถุมงคลก็อยู่เคียงคู่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตลอดมา
---ความคิดเห็นที่มีต่อวัตถุมงคลมีมากมายและหลากหลายมาก มีตั้งแต่ศรัทธาอย่างแรงกล้า จนถึง ไม่ศรัทธาเลยและถึงกับดูถูกดูแคลน ผู้ที่เคารพนับถือวัตถุมงคลนั้นก็มี
---วัตถุมงคลมีความศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ มักจะเป็นคำถามแรกที่เรามักจะสงสัย คำตอบ คือ แล้วแต่บุคคล
---แต่สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อถือ วัตถุมงคลก็จะไม่เกิดความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เขาอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เป็นเรื่องของโอกาส เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ อีกประการหนึ่งคือ ผู้ที่ไม่เชื่อถือนั้น เขาอาจเชื่อเรื่องกรรม
---และเขาเองอาจเป็นผู้มีคุณธรรมดีอยู่แล้ว และไม่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด สำหรับผู้ที่เชื่อถือ วัตถุมงคลจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่จะเป็นเรื่องเฉพาะตนของเขาเอง ที่รู้ได้เฉพาะตนเอง จะไปเล่าให้ใครฟังก็อย่าไปหวังอะไรมาก ว่าคนอื่นจะเชื่อ คือ ผู้ที่ไม่ประสพกับตนเองเขาก็อาจเชื่อหรือไม่ก็ได้
---และในบางกรณีวัตถุมงคลนั้น อาจไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่เขาอาจได้รับความคุ้มครองป้องกันจากสิ่งอื่น เช่น จากคุณพระรัตนตรัย จากบุญของเขาเอง จากเทวดารักษา และจากธรรมมะที่เกิดในใจเขา
---ผู้เขียนรู้จักคนผู้หนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า นตอนเด็ก เขาเล่นน้ำในลำคลองและจมน้ำ เหมือนถูกดึงก่อนจะหมดสติ เขาคิดถึงคุณแม่ว่าจะไม่มีใครเลี้ยงดูอีกแล้ว และบอกลาคุณแม่ สิ่งนั้นได้ปล่อยตัวเขาทันที
---เรื่องนี้ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญก็ได้ ที่อาจมีอะไรมาพันขาชั่วคราว หรืออาจเป็นเรื่องของผีสางนางไม้สำหรับผู้ที่เชื่อถือ
---ในเรื่องเหล่านี้ ในเรื่องของบุญและธรรมมะก็อาจเป็นเพราะความกตัญญูต่อมารดา ที่เป็นธรรมมะที่เกิดขี้นรักษาเขาไว้ก็ได้ ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องที่ผู้เจริญมีเมตตา อันเป็นธรรมะในใจก็สามารถปัดเป่าอันตรายไปได้เช่นกัน วัตถุมงคลจะป้องกันความป่วยเจ็บและความตายเอาไว้ไม่ได้ เพราะนี้คือ สิ่งที่ทุกคนต้องประสบ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
---เป็นธรรมชาติของชีวิตย่อมเป็นไปคามกรรม นอกจากนี้วัตถุมงคล ก็ไม่อาจตามไปป้องกันกรรม ที่เราก่อในปัจจุบันนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปฆ่าคน หรือไปขโมยของ หรือแม้แต่ทำการค้าขาย โดยขายของเก่ง กำไรดี แต่พูดโกหกในการขายของตลอดเวลา
---หรือค้าขายสิ่งที่ไม่ดี เช่นสุรา ก็ว่าเขาได้ก่อกรรมแล้ว กรรมนี้จะสนองในอนาคตเสมอ อาจสนองในเวลาไม่นาน หรืออาจสนองในชาติหน้าไปอีกหลายร้อยชาติเลยทีเดียว วัตถุมงคลย่อมตามไปป้องกันไม่ได้ แต่ธรรมะของพระพุทธองค์สามารถป้องกันได้ และมีอานิสงส์ มีผลในปัจจุบันทันทีและอนาคต
---พระภิกษุเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต เป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมาก ท่านได้อธิษฐานจิตในวัตถุมงคลจำนวนมาก และเป็นที่เชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ในประวัติของท่านมีกล่าวไว้ว่า ท่านได้เคยชี้ไปที่วัตถุมงคลของท่าน แล้วพูดว่า “ทั้งหมดนี้ สู้พระธรรมไม่ได้”
---ทั้งนี้ เพราะเมื่อเราประพฤติธรรม ธรรมนั้นย่อมรักษาเรา ทั้งป้องกันรักษาจากโทษภัยที่เราไม่ได้ก่อขึ้น และนำเราไปสู่ชีวิต อนาคต ที่ดีงามตลอดไป การมีวัตถุมงคลจะดีหรือไม่ สำหรับบางท่านอาจไม่จำเป็นเลย จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะใจเขาเป็นมงคลอยู่แล้ว
---สำหรับบางท่านก็ดีเหมือนกัน ดังตัวอย่างนี้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เรามีรูปของท่านติดไว้ในห้อง เมื่อเข้าห้องมาเมื่อไร เราก็เห็นรูปท่าน เมื่อเห็นทุกครั้งก็จะนึกถึงท่าน นึกถึงสิ่งที่ท่านเคยทำ นึกถึงสิ่งที่ท่านเคยพูด เคยสอน ไม่ว่าท่านจะทำดีหรือทำสิ่งที่ไม่ดีอย่างไร เราก็อาจนึกออกมาได้ จะนึกนิดหน่อยก็ยังได้นึกถึง แต่ถ้าไม่มีรูปท่าน เราก็อาจไม่นึกถึงท่านในตอนนั้น เลย ก็จะเข้าห้องไปทำเรื่องอื่นต่อไป
---ทำนองเดียวกัน เมื่อเรามีรูปพระพุทธเจ้า รูปบิดามารดา รูปพระมหากษัตริย์ หรือรูปเทพยาดาใดๆ จะทำเป็นวัตถุมงคลใดๆ ก็ตาม เมื่อเห็น เรานึกถึงท่านบ้าง ไม่มากก็น้อย ท่านเหล่านนั้นย่อมทำสิ่งที่ดี จึงเป็นที่เคารพนับถือได้ ขอให้นึกถึงความดีของท่าน ถ้าเราไม่เห็นรูปท่านในตอนนั้น เราก็อาจไม่ได้นึกถึงความดีใดๆ ของท่านเลย การได้นึกถึงความดีของผู้ที่มีความดี อย่างนี้แหละ คือ "มงคล"
---เมื่อนึกแล้ว มีกำลังใจในการทำความดีมากขึ้น ก็เป็นมงคล เมือคิดแล้วมีความละอาย ไม่อยากทำบาปกรรมที่ชั่วร้าย รู้สึกเกรงใจวัตถุมงคลที่เราสวมใส่อยู่ ความคิดอย่างนี้ก็เป็นมงคล
*ต่ออีกนิด....คิดอีกหน่อย
---อีกแนวคิดหนึ่งว่าบุคคลที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีวัตถุมงคลภายนอก คือ
---ผู้ที่มีภูมิจิต ภูมิธรรมตั้งแต่โสดาบันอริยบุคคลขึ้นไป ๑
---ผู้ที่ไม่มีจิต ที่เลื่อมใส ๑
---ผู้ที่ตายแล้ว ๑
---ส่วน...บุคคลที่ยังมีความจำเป็นต้องมีวัตถุมงคล ภายนอกและภายในมามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เสมอๆ ก็เพราะคำว่า "มนุษย์ปุถุชน.. ซึ่งยังอยู่ในโลกิยภูมิ"
(หมายเหตุ..วัตถุมงคลภายนอกเป็นกำลังใจและความเชื่อในส่วนบุคคล ของผู้มีความศรัทธาเป็นที่ตั้ง)
.....................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น