วัตถุมงคลภายนอกกับสรณะภายใน
(บทพิสูจน์ความเชื่อของสังคมไทย)
---พระมหาทวี มหาปญฺโญป.ธ.๙, พธ.บ. (ปรัชญา), ศน.ม. (พุทธศาสน์ศึกษา),M.Phil., Ph.D. (Buddhist Studies) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
*ความนำ
---ความเชื่อ หมายถึง ความคิด ความเข้าใจและการยอมรับ นับถือ เชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดมาสนับสนุนหรือพิสูจน์ ทั้งนี้บางอย่างอาจมีหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ หรืออาจจะไม่มีหลักฐานที่จะนำมาใช้พิสูจน์ให้เห็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็ได้
---ความเชื่อ คือ ความมั่นใจต่อสิ่งนั้นๆว่าเป็นความจริง ซึ่งความเชื่อบางอย่างอาจสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ตอนที่ยังไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีการพิสูจน์ถึงความจริงของเรื่องนั้นๆ
(กดลิงค์-บน)
*นักวิชาการได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อไว้ ดังต่อไปนี้
---จรัส พยัคฆราชศักดิ์ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อไว้พอสรุปได้ว่า มนุษย์จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับความเชื่อโดยมิอาจขาดความเชื่อได้ ชีวิตมนุษย์มีทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ เข้าใจได้ และพิสูจน์ได้ ความเชื่อทำให้มนุษย์เกิดความมั่นใจทำให้เกิดความสบายใจ และความเชื่อทำให้มนุษย์บรรลุถึงความสำเร็จได้
---บุญลือ วันทายนต์ ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับความเชื่อไว้ สรุปได้ว่า ความเชื่อ มีความสัมพันธ์กลมกลืน เกื้อกูล สนับสนุน ควบคู่กับชีวิตมนุษย์มาเป็นเวลานาน แม้ปัจจุบันวิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าและมีอิทธิพลต่อชีวิตมากขึ้น แต่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธความเชื่อทางไสยศาสตร์และคาถาอาคมที่มีอยู่ได้ จึงยอมรับค่านิยมในการปฏิบัติต่อความเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ
---วิทย์ พิณคันเงิน ได้กล่าวถึงความเชื่อไว้ว่า ความเชื่อของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มนุษย์โดยทั่วไปต้องการความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ความเชื่อต่าง ๆ นั้นมักได้รับคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนว่า มีอำนาจลึกลับที่จะช่วยคุ้มครองรักษาตน จึงมีการประกอบพิธีขึ้น เพื่อแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น และเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะทำให้เกิดเหตุร้าย และช่วยให้เกิดผลดีได้ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีปีศาจ วิญญาณ บรรพบุรุษ ที่มีอยู่ในสังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะปรับปรุงคนให้เจริญขึ้น
*วัตถุมงคล ความหมายและประเภท
---วัตถุมงคล เป็นเรื่องของความเชื่อ ศรัทธาในสิ่งของซึ่งอาจเป็นทางด้านศาสนา หรืออาจเป็นตามสมัยนิยมก็ได้ วัตถุมงคลจะมีมากมายในสังคมไทย เช่น พระเครื่อง ปลัดขิก ผ้ายันต์ ตะกรุด มีดหมอ องค์เทพที่เป็นทางศาสนาอื่นๆ เช่น พระพรหม พระตรีมูรติ พระราหู
---คำว่า วัตถุมงคลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งหมายถึงพระเครื่อง เพราะเห็นว่าเป็นคำที่ไพเราะเหมาะสม และถือว่าการเกิดพระเครื่องเป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นพุทธคุณเข้าผสมผสานกับความเชื่อที่เป็นไสยขาว ทำให้กลายเป็นวัตถุสำเร็จรูปที่รวมของบรรดาของขลังทั้งมวลให้อยู่ในวัตถุเดียวกัน
*คำที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุมงคลสามารถสรุปได้ดังนี้
---พระเครื่อง หมายถึง พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่ถือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตราย เดิมเรียกว่าพระพิมพ์ โดยจะหมายรวมถึงเหรียญพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ผู้มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป ที่จัดสร้างด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ชินผง และว่าน เป็นต้น โดยการสร้างอาจมีจุดประสงค์ต่างๆ กันออกไป
---เครื่องราง หมายถึง ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย เป็นของที่มนุษย์สร้างขึ้นและเชื่อว่ามีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ต้องการได้ เช่น ความอยู่ยงคงกระพัน มีเสน่ห์ มีโชคลาภ แคล้วคลาด เป็นต้นบางท่านหมายรวมเอาวัตถุต่างๆ ที่หายาก นิยมกันว่าเป็นของกายสิทธิ์ เช่น เหล็กไหล ว่าเป็นเครื่องรางด้วย
---ของขลัง หมายถึง ของที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจดลบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์ เป็นวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวแล้ว ไม่ต้องปลุกเสกอีก เช่น ไพรดำ ว่าน แร่ เป็นต้น[11]
---พระราชวรมุนีให้ความหมายของวัตถุมงคลไว้ว่า วัตถุมงคล (Mangalavatthu) amulet, talisman ; fetish ; luck piece ; charm ; good luck charm ได้แก่ เครื่องราง และ/หรือยันต์ สิ่งที่คนนับถือโดยปราศจากเหตุผล เหรียญนำโชค เครื่องรางของขลัง และสิ่งที่นำโชคดีมาให้
*วัตถุมงคลในความหมายของพระราชวรมุนี จึงให้ความหมายที่ครอบคลุมทั้งพระเครื่อง และเครื่องรางของขลังทุกชนิด
---สรุปความหมายของวัตถุมงคลได้ว่า หมายถึงสิ่งของทั้งที่เกิดเองโดยธรรมชาติและสิ่งของที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นตามความเชื่อว่าจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความเป็นศิริมงคล โชคลาภ หรือเป็นเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ ซึ่งได้แก่ พระเครื่อง เครื่องรางและของขลังชนิดต่างๆ
*วัตถุมงคลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น สามารถแบ่งได้อย่างกว้างๆ เป็น ๒ ประเภท คือ
*๑.ประเภทเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
---เป็นวัตถุมงคลที่ได้มาจากธรรมชาติ ได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีการสรรค์สร้างซึ่งถือว่ามีดีในตัวและเทวดารักษา ได้แก่ เหล็กไหล คดต่างๆ เขากวางคุด เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือกลวง เถาวัลย์ เป็นต้น
*๒.ประเภทที่มนุษย์ปรุงแต่งสร้างขึ้น จำแนกตามวัสดุได้ ๔ ประเภท คือ
---๒.๑ ประเภทเนื้อดิน สร้างจากองค์ประกอบของดินเป็นหลัก เช่น พระพิมพ์ หรือพระเครื่องที่ค้นพบจากกรุต่างๆในสมัยโบราณ
---๒.๒ ประเภทเนื้อผง สร้างจากผงปูนเปลือกหอยผสมกับผงอิทธิ เกษรดอกไม้บูชาพระ หรือผงใบลาน ที่เผาไฟเป็นเถ้าถ่านกับวัสดุอย่างอื่น
---๒.๓ ประเภทเนื้อชิน สร้างจากโลหะธาตุต่างๆ เช่น ชินเงิน ชินตะกั่ว นวโลหะ ตลอดจนทองคำ สำริด เงิน นาค ทองแดง เป็นต้น
---๒.๔ ประเภทเขี้ยวงากระดูก สร้างจากเขี้ยวงากระดูกของสัตว์ต่างๆ ตลอดจนไม้ เมล็ดพันธุ์พืช เปลือกไม้ต่างๆ นำมาแกะสลักอีกขั้นหนึ่ง
*ความแตกต่างระหว่างวัตถุมงคลภายนอกกับสรณะในพระพุทธศาสนา
---พระพุทธศาสนามีสิ่งที่สำคัญสูงสุด ๓ ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ โดยท่านเปรียบความไว้ว่า “เป็นรัตนะ แปลว่า ดวงแก้ว คือ ของวิเศษหรือของมีค่ามากหรือของประเสริฐที่สุด เรียกรวมทั้ง ๓ ว่า ตริรัตนะ หรือไตรรัตน์หรือรัตนตรัย แปลว่า แก้ว ๓ ดวง หรือแก้ว ๓ ประการ บางทีเรียกพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่า วัตถุหรือสิ่งวิเศษและเรียกรวมว่าวัตถุตตยะ คือ วัตถุ ๓ รัตนะ ๓ หรือวัตถุ ๓ ดังกล่าวนี้เป็นสรณะ และเรียกรวมว่า สรณตรัยหรือไตรสรณะ แปลว่า ๓ ที่พึ่งหรือ ๓ สรณะ”
---คำว่า สรณะในพุทธศาสนามีความหมายเป็น ๒ นัย คือ ที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยว ที่ยืน ๑ และกำจัด เช่น ฆ่า ทำลาย ซึ่งภัยคือความกลัว ตลอดจนกำจัดทำลายทุกข์ ทุคติภพ และกิเลสสิ่งเศร้าหมอง ๑
*เหตุที่พระรัตนตรัยได้ชื่อว่าเป็นสรณะ ท่านอธิบายว่า
---ก.พระพุทธเจ้า ชื่อว่า สรณะ เพราะกำจัดทำลายภัยของสัตว์ทั้งหลายด้วยการชักนำสรรพสัตว์ให้หันเหเข้าไปในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์และชักนำให้พ้นออกมาเสียจากสิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์
---ข.พระธรรม ชื่อว่า สรณะ เพราะชักจูงสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นขึ้นมาจากความกันดารในสังสารภพและด้วยการให้ความอบอุ่นใจคลายทุกข์
---ค.พระสงฆ์ ชื่อว่า สรณะ เพราะทำให้สักการะ (เช่น การถวายทานและการกราบไหว้บูชาเป็นต้น) ที่ทำแม้เพียงเล็กน้อยก็ให้ได้ผลไพบูลย์โดยเฉพาะ
---การถึงสรณะดังกล่าวมานี้ เป็นการขจัดภัย ให้ความคุ้มครอง กำจัดกิเลสหม่นหมองใจและบันดาลให้เกิดประโยชน์ คืออำนวยผลและอานิสงส์แก่ผู้ถึงสรณะนั้นๆ ซึ่งผลและอานิสงส์นั้น ท่านกล่าวว่า สรณคมน์นี้ที่เป็นโลกียให้อารักขาคุ้มครอง ไม่ต้องหวาดกลัวต่อภัยอันตรายบ้างอำนวยผลเป็นโภคสัมปทา คือถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์บ้าง เป็นภวสัมปทาคือชักพาให้เกิดในสุคติภพบ้าง ส่วนสรณคมน์ที่เป็นโลกุตตร ก็อำนวยผลเป็นวิมุตตายตนะให้บรรลุอริยผล ๔ จนถึงบรรลุพระอรหัตตผล
---โดยแท้จริงแล้ว โดยธรรมชาติมนุษย์ย่อมหวาดสะดุ้ง กลัวภัยที่ตนไม่รู้จักและมองไม่เห็นมาแต่ดึกดำบรรพ์ ดังปรากฏ ในธรรมบทว่า
"พหุ เว สรณํ ยนฺติ ปพฺพตานิ วนานิ จ อารามรุกฺขเจตฺยานิ มนุสฺสา ภยตชฺชิตา เนตํ โข สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ เนตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ."
"โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ."
"ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ."
*แปลว่า
---“มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้วย่อมถึงภูเขา ป่า อาราม และรุกขเจดีย์ ว่าเป็นที่พึ่ง สรณะนั้นแลไม่เกษม สรณะนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนบุคคลใด ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และ มรรค มีองค์ ๘ อันประเสริฐ อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบแห่งทุกข์ ด้วยปัญญาชอบ สรณะนั้นแลเกษม สรณะนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”
---อนึ่ง ในทัศนะของพระพุทธศาสนา สิ่งที่เป็นมงคลไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการยึดถือ แต่เกี่ยวกับการประพฤติดีปฏิบัติชอบของเราเองตามมงคลสูตร ๓๘ ประการ คือ การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ การอยู่ในถิ่นอันสมควร ๑ เคยทำบุญมาก่อน ๑ การตั้งตนชอบ ๑ ความเป็นพหูสูต ๑ การรอบรู้ในศิลปะ ๑ มีวินัยที่ดี ๑ กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต ๑ การบำรุงบิดามารดา ๑ การสงเคราะห์บุตร ๑ การสงเคราะห์ภรรยา ๑ การทำงานไม่ให้คั่งค้าง ๑ การให้ทาน การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ ทำงานที่ไม่มีโทษ ๑ ละเว้นจากบาป ๑ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ มีความเคารพ ๑ มีความถ่อมตน ๑ มีความสันโดษ ๑ มีความกตัญญู ๑ การฟังธรรมตามกาล ๑ มีความอดทน ๑ เป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะ ๑การสนทนาธรรมตามกาล ๑ การบำเพ็ญตบะ ๑ การประพฤติพรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๑ มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๑ มีจิตไม่เศร้าโศก ๑ มีจิตปราศจากกิเลส ๑ มีจิตเกษม ๑
---จะเห็นว่า การถึงสรณะในพระพุทธศาสนา ก็คือการมีจิตใจศรัทธาเลื่อมใสและประพฤติต่อพระรัตนตรัยด้วยความศรัทธาเลื่อมใสทั้งทางกายและวาจา และจิตใจโดยปรารภคุณของพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการเป็นหลัก มีจิตใจระลึกถึงอยู่เสมอ การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเช่นนี้ย่อมปกป้องคุ้มครองต่อภัยอันตรายทั้งหลายได้ ทั้งยังให้ได้รับสิ่งที่ปรารถนาไม่ว่าจะเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติทุกประการ จะเห็นว่าการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะดังกล่าวนี้ ไม่มีเรื่องการถือเครื่องรางของขลังว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นวัตถุมงคลเลย เป็นการถือในลักษณะเป็นอนุสสติ คือ เครื่องระลึกถึงในทางดีงาม หรือคุณธรรมต่างๆ แล้วได้อานิสงส์ คือการปกป้องจากภัยอันตราย หายสะดุ้งกลัวต่อภัย
*สรุปได้ว่าความแตกต่างระหว่างการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะกับการยึดถือวัตถุมงคลเป็นสรณะนั้น
---อยู่ที่การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เราปรารภพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นอารมณ์ หรือเป็นเครื่องระลึกถึงอันเป็นเหตุให้เรามีโอกาส ในการพัฒนากายและจิตของเราไป ในทางเป็นบุญกุศลยิ่งขึ้น แต่การถือวัตถุมงคลเป็นสรณะนั้น เรายึดถือในด้านความขลังความศักดิ์สิทธิ์เป็นหลัก ต้องประพฤติตามหลักเกณฑ์พิธีกรรมตามแบบไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด เป็นเหตุให้เราติดหลงอยู่ในสิ่งนั้นๆ เป็นการยากในการที่จะพัฒนากายและจิตให้สูงขึ้น จึงไม่ใช่สรณะที่พึ่ง ที่เกษมปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะเรายังหวั่นไหว ไม่รอดพ้นจากทุกข์ไปได้ ไม่เหมือนการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่ทำให้เราได้ถึงความเกษมปลอดภัยอย่างแท้จริง
*สิ่งที่คนในสังคมไทยควรเชื่อ
---สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ซึ่งชาวพุทธต้องมีศรัทธาคือความเชื่อเป็นตัวนำในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่สังคมไทยควรเชื่อควรเป็นสิ่งเหล่านี้คือ
---๑)เชื่อโดยตรงต่อเหตุผล และด้วยความเป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ข้อนี้ย่อมทำให้ความเชื่อมีพอเหมาะพอสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และเคียงคู่กันไปกับปัญญา พุทธมามกะ ถือกันเป็นแบบฉบับว่า การเชื่องมงาย เป็นสิ่งที่น่าอับอายอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นจุดรวมแห่งความนับถือ ของพุทธมามกะนั้น เป็นผู้ที่รู้ และดำเนินไป ตามหลักแห่งการใช้เหตุผล จึงเป็นผู้กำจัดความงมงายของโลก
---๒)เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้บ่มพระองค์เอง มาเป็นเวลาเพียงพอ จนสามารถลุถึงด้วยพระองค์เอง และทรงชี้ทางให้มนุษย์ มีความสะอาด ความสว่างและความสงบเย็น ได้จริง เมื่อได้ พิจารณาดูประวัติแห่งคำสอน และการกระทำของพระองค์แล้ว คนทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่ไม่นับถือพระองค์ ก็ย่อมเห็นได้ทันทีว่า พระองค์เป็นผู้ที่สมบูรณ์ ด้วยความสะอาด ความสว่าง และความสงบถึงที่สุด จนสามารถสอนผู้อื่นในเรื่องนี้ ธรรมะ ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุนั่นเอง ทำพระองค์ให้ได้นามว่า “พระพุทธเจ้า”
---๓)เชื่อว่า พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุ และนำมาสอนนั้น คือความจริงอันตายตัวของสิ่งทั้งปวง อันมีอำนาจที่จะบันดาลสิ่งทั้งปวงให้เป็นไปตามกฎนั้น และโดยเฉพาะที่มีค่าต่อมนุษย์มากที่สุด ก็คือ กฎความจริงที่รู้แล้ว สามารถทำผู้นั้นให้ปฏิบัติถูกในสิ่งทั้งปวง และ พ้นทุกข์สิ้นเชิง พระธรรมนี้มีอยู่ สำหรับให้ มนุษย์เรียนรู้ และทำตาม จนได้รับผลจากการกระทำ เป็น ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง ทั้งทางกาย และ ทางใจ
---๔)เชื่อว่า พระสงฆ์ คือบรรดามนุษย์ที่มีโชคดี มีโอกาสก่อนใคร ในการได้รู้ ได้ปฏิบัติ และได้รับผลของการปฏิบัติในพระธรรม ถึงขนาดที่พ้นจากทุกข์ ยิ่งกว่าคนธรรมดา ด้วยความแนะนำของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ จึงเป็น ผู้ที่ควรได้รับการนับถือ และถือเอาเป็นตัวอย่าง และเป็นที่บำเพ็ญบุญ ของผู้ที่ประสงค์จะได้บุญ
---๕)เชื่อว่า โลกนี้ไม่มีบุคคลใดสร้าง หรือ คอยบังคับให้เป็นไป หากแต่เป็นสิ่งที่หมุนเวียนไปเองตามกฎของสังขารธรรม คือ กฎธรรมชาติ อันประจำอยู่ในส่วนต่างๆ ที่ประกอบ กันขึ้นเป็นโลก
---๖)เชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนล้วนมีกรรม หรือการกระทำของตนเอง เป็นเครื่องอำนายความสุข และ ความทุกข์ แล้วแต่ว่าเขาได้ทำไว้อย่างไรในขณะที่แล้วมา ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง เป็นเครื่องปรุงแต่งตัวเอง บังคับความเป็นไปของตัวเองโดยเด็ดขาด จนกล่าวได้ว่า เรามีกรรมนั่นแหละเป็นตัวเราเอง ถ้าเราอยากมีหรืออยากอยู่ในโลกที่งดงาม เราก็ต้องทำกรรมดีโดยส่วนเดียว
---๗)เชื่อว่า ตัวแท้ของศาสนานั้น คือ ตัวการกระทำที่ถูกต้อง ตามกฎแห่งความจริง จนได้รับผลของการกระทำ เป็นความสะอาด ความสว่าง และ ความสงบ จริงๆ หาใช่เป็นเพียงการสวดร้องท่องบ่น วิงวอน บวงสรวง
*สรุป....
---ความเชื่อของมนุษย์มีพื้นฐานจากครอบครัว สภาพสิ่งแวดล้อม และสังคม การจะพัฒนาความเชื่อของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ต่อแนวคิดและวิธีการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ จะต้องกระทำพร้อมกันหลายๆด้าน โดยเริ่มตั้งแต่การให้การศึกษาการพัฒนาความเชื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานและประโยชน์ต่อการพัฒนางานและคุณภาพของมนุษย์ในทุกๆด้าน ความเชื่อที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นแนวคิดจะช่วยส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ต้องเปลี่ยนไปตามโลกาภิวัตน์
---สำหรับสังคมไทย นอกเหนือไปจากอิทธิพลด้านวัตถุที่ควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตและพัฒนาการในด้านต่างๆ แล้ว ปรากฏว่าอิทธิพลด้านความเชื่อในวัตถุมงคลก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น และมากขึ้นเป็นลำดับ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าในการดำเนินชีวิตของคนไทยปัจจุบันนี้ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสัญชาติญาณของมนุษย์ที่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกถึงความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงในชีวิตและและทรัพย์สินแล้วย่อมต้องพยายามหาหลักประกันให้กับตัวเอง
---จากกระแสที่มาแรงของวัตถุมงคลในสังคมไทยปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความคิดหลากหลายขึ้นในสังคม ซึ่งกระแสความคิดพอสรุปได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มที่ยอมรับในเรื่องของวัตถุมงคลและให้ความสำคัญต่อวัตถุมงคลอย่างยิ่ง ๒) กลุ่มที่ไม่ยอมรับในเรื่องวัตถุมงคลและปฏิเสธในทุกกรณีที่เกี่ยวกับวัตถุมงคล และ ๓) กลุ่มที่เป็นกลางๆ หรือกลุ่มที่ประนีประนอม ซึ่งจะยอมรับบ้างในบางกรณีที่มีประโยชน์ เช่น การให้ผลทางจิตวิทยา และจะปฏิเสธในกรณีที่เป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล ซึ่งความหลาหลายทางความคิดนี้เองยังเป็นข้อถกเถียงกันว่าดีหรือไม่ดีสำหรับสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเมืองพุทธ
---กระแสจตุคามรามเทพ ในฐานะวัตถุมงคลรุ่นใหม่ตอนนั้น ซึ่งปรากฏขึ้นในสังคมไทยเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ ซึ่งมีศรัทธาและการตลาดเป็นเครื่องรองรับอยู่ นับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของสังคมไทย ในเรื่องของความเชื่อที่มีต่อวัตถุมงคล และเราสามารถสรุปได้หรือไ ม่ว่ากระแสวัตถุนิยมนี้เอง เป็นเครื่องสะท้อนชี้วัดให้เห็นว่าสังคมไทยที่เรามองว่าเป็นสังคมพุทธที่สงบร่มเย็นในอดีตนั้น ได้กลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง แข่งขัน และกลายเป็นสังคมที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจนทำให้คนในสังคมต้องหันไปเพื่อวัตถุมงคลเพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยให้แกชีวิตและทรัพย์สินแก่ตนเอง
---อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่าสังคมไทย ไม่ว่าจะให้น้ำหนักไปด้านใดระหว่างวัตถุมงคลภายนอกกับสรณะภายใน ในฐานะที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน มีความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ถ้าหากว่าเราต้องการให้สังคมไทย เป็นสังคมพุทธที่สบงร่มเย็นเหมือนในอดีต คนไทยควรยึดมั่นในอุบาสกธรรม ๕ ประการ คือ ๑) มีศรัทธา ๒) มีศีล ๓) ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ๔) ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา ๕) กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
..............................................................................
ความคิดเห็น