"โลก" คือ ที่อยู่อาศัยของมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย
---"โลก" คือ ดาวหินขนาดใหญ่ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ มวลสรรพสิ่งในโลกกลมๆ ใบนี้ ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม ๘ ทั้งสิ้น แล้วอะไรคือ โลกธรรม ร่วมค้นหาคำตอบ...ได้แล้ววันนี้
*โลกธรรม ๘
---บนโลกมนุษย์ใบนี้ คนทั้งหลายคงได้สัมผัสรู้จักกันดี “โลก” มีลักษณะกลมๆ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ตามหลักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่สาม เป็นดาวหินขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล”
---ตามหลักพระพุทธศาสนา มวลสรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกใบน้อยๆ นี้ ล้วนมีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดน เกิดมีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อกรรม คือ การกระทำ สอนให้เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป ทำดีย่อมได้ดี ชีวิตมีความสุข ทำชั่วได้ชั่ว ชีวิตหมองมัวมีแต่ความทุกข์
---มนุษย์ แปลว่า ผู้มีใจสูง ผู้ประเสริฐ
---การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นของยาก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ได้พบพระพุทธเจ้า ก็เป็นของยาก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาก็เป็นของยาก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นของยาก
---ดังนั้น เหล่าท่านทั้งหลายครั้นได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว อย่าพากันประมาท ให้หมั่นสร้างคุณงามความดีไว้มากๆ ท่านทั้งหลายจะได้รับความสุขทั้งปัจจุบัน และเบื้องหน้า
---คือ ธรรมที่มีอยู่ในโลกมนุษย์กลมๆ ใบนี้ ใครเกิดมาต้องพบต้องเจอกันทุกคน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกรรม เป็นผู้กำหนด ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด ต้องเจอหมด ไม่มีข้อยกเว้น จะรวย จน มั่งมี ศรีสุข ขนาดไหน ล้วนเป็นเพราะกรรมทั้งสิ้น
---ดังนั้น พระองค์จึงทรงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ให้ประมาทซึ่งกันและกัน แม้ในสัตว์ พระพุทธเจ้าก็สอนไม่ให้เบียดเบียน ไม่ให้ประมาทเขา เกิดมาชาตินี้เป็นสัตว์ เกิดใหม่อีกทีในภพชาติต่อไป เขาอาจดีกว่าเราก็ได้ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ (ธรรม ๓ ประการ) คือ “อนิจจัง” ความไม่เที่ยง “ทุกขัง” เป็นทุกข์ “อนัตตา” ความไม่มีตัวมีตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุด
---จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๖ ในโลกวิปัตติสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายโลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ , ๘ ประการเป็นไฉน? คือ ลาภ ๑, ความเสื่อมลาภ ๑, ยศ ๑, ความเสื่อมยศ ๑, นินทา ๑, สรรเสริญ ๑, สุข ๑ , ทุกข์ ๑
---"ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้"
---"ยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ"
---ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้ แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด" ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
---พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
---พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา"
---"ก็แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ แม้ยศ แม้ความเสื่อมยศ แม้นินทา แม้สรรเสริญ แม้สุข แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์"
---"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
---"ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่าน ไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ แม้ยศ แม้ความเสื่อมยศ แม้นินทา แม้สรรเสริญ แม้สุข แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์ ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โ ทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์"
---"ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้แล เป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกันระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับกับปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑, ความเสื่อมลาภ ๑, ยศ ๑, ความเสื่อมยศ ๑, นินทา ๑ สรรเสริญ ๑, สุข ๑, ทุ กข์ ๑, เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา"
---"แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่อนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง”
---พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ เอวํ นินฺทาปสํสาสุ น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา ภูเขาศิลาแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะแรงลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวไปเพราะนินทา และสรรเสริญฉันนั้น”
---ในโลกนี้ ใครไม่ถูกนินทา ตอบแทนทุกท่านได้เลยว่า ไม่มีในโลกหรอก แม้องค์สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังถูกคนนินทา แล้วประสาอะไรอย่างเราๆ ท่านๆ ผู้ยังเป็นปุถุชนคนมีกิเลสหนาแน่นนี้เล่า จะไม่ถูกนินทาได้อย่างไร
---สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อถูกนินทาแล้ว จงทำใจให้หนักแน่น ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน แผ่นหิน ผืนน้ำ จงอย่าหวั่นไหว ใช้ความจริง เป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่จริงอย่างเขาว่าจะไปโกรธทำไม หากแม้นเป็นจริงดังเขาว่า ก็จงเก็บมาเป็นครูสอนตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ควรขอบใจเขาด้วยซ้ำที่ช่วยเตือน เมื่อเราเผลอสติ จะได้ปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
---ท่านทั้งหลาย จงพากันจดจำพุทธสุภาษิตนี้ให้จงดี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก”
---หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร พระปรมาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน องค์ท่านเมตตาสอนสานุศิษย์เสมอๆ ว่า
---“การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริง ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย ความเดือดร้อนวุ่นวายใจ ที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
---การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง”
---การตำหนิติเตียนเป็นของธรรมดา จงติเพื่อก่อ อย่าติเพื่อทำลาย
---สมัยยังเป็นสามเณรน้อย ได้อ่านบทความในหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นของปราชญ์ท่านใดจำมิได้แล้ว แต่มีความไพเราะจับใจยิ่งนัก จึงนำมาเขียนไว้เป็นคติธรรม เตือนตน เตือนจิต อยู่เสมอๆ
---“ช่างกลึง ต้องอาศัย ช่างชัก
---ช่างสลัก ต้องอาศัย ช่างเขียน
---ช่างรู้ ต้องอาศัย ช่างเรียน
---ช่างติเตียน ไม่ต้องอาศัยใคร”
---ขอความเจริญสุข จงมีแก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย อย่าได้มีเวร อย่าได้มีภัย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอยู่เป็นสุขเสมอเถิด รู้รักสามัคคี รู้ให้อภัย
*โลกธรรมภายนอก และโลกธรรมภายใน
---สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอน โดยให้หลักไว้ดังนี้
*๑.เพลานี้พวกเจ้าต้องการที่จักพ้นโลก
---ก็จงพิจารณาโลกธรรม ๔ ตัว เท่าที่ติดอยู่นี้ ให้เห็นว่าเป็นคุณ หรือเป็นโทษเถิด ใช้ปัญญาค่อย ๆ พิจารณาว่า โลกธรรม ๔ ตัวนี้ มันดีหรือไม่ อะไรมันเป็นเหตุทำให้จิตของเราติดมันได้ เมื่อพิจารณาจนรู้ถึงต้นเหตุ ก็จงดับต้นเหตุแห่งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันเกิดจากการพิจารณานั้นๆ ก็จักตัดการติดโลกธรรม ๔ นี้ลงไปได้ง่าย
*๒.โลกธรรมนั้นมีทั้งภายนอกและภายใน
---ก)โลกธรรมภายนอก คนอื่นเขาให้ลาภ - ยศ - สรรเสริญ - สุขแก่เรา นี่ภายนอก
---ข)โลกธรรมภายใน เช่น เวลาเรานำทรัพย์ไปซื้ออาหารมา เรียกว่า ลาภปาก เราทำลาภให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง เราติดในลาภนั้นไหม
---ยศ สมมุติคุณหมอเป็นนายพล ยังไม่ออกจากราชการ ได้รับการแต่งตั้งมาแล้ว เคยไหมที่จักปลื้มใจ เวลานี้เราได้พลโท ต่อไปเราจักได้พลเอก นี่แต่งตั้งยศให้ตัวเองเสร็จ นึกปลื้มใจในยศว่า ต้องได้ตำแหน่งสูงขึ้น ให้ยศกับตัวเอง เอาตำแหน่งล่อจิตของตนเองให้ฟูเข้าไว้ก่อน หรือเหมือนกับคนที่ไม่มีความรู้ในพระพุทธศาสนาดีพอ ก็ชอบให้ยศตัวเอง ตั้งตนเองเป็นคณาจารย์ใหญ่ เที่ยวสอนคนให้ประพฤติผิดๆ ไป อุปมาอย่างนี้ชัดไหม (ก็รับว่า ชัด)
*๓.หรืออย่างที่เจ้าศึกษาพระไตรปิฎก
---ภิกษุณีอยากมีชื่อเสียงเลื่องลือ เอาของกำนัลไปเป็นสินจ้างให้เล่านักฟ้อน - ร้องรำแต่งเพลงเชียร์ สรรเสริญชื่อเสียงของตน ให้เลื่องลือขจรไปไกล นี่เป็นการให้ยศ และให้สรรเสริญแก่ตนเองเสร็จสรรพในตัว
*๔.อนึ่งการสรรเสริญตนเอง
---คือ การสรรเสริญขันธ์ ๕ นี่ซิเห็นชัด บางขณะอาบน้ำอยู่ ชมตนเองว่า ร่างกายนี่มันสวยดีนะ ผิวดีนะ มันไม่สกปรกเท่าชาวบ้านเขา หรือบางขณะหวีผมอยู่ ผมนี่มันดีนะ ยังไม่ขาวหงอกเท่ากับคนในวัยเดียวกัน หน้าตาเราก็ยังเข้าท่าอยู่ ไม่แก่เท่ากับคนวัยเดียวกัน นี่ตัวสรรเสริญที่ให้กับตัวเอง มันร้ายยิ่งกว่าคำสรรเสริญที่มาจากภายนอกเสียอีก
*๕.สุขก็เช่นกัน
---การบริโภคอาหารให้กับตนเอง มีรสอร่อยคิดว่าเป็นสุข การนอนอย่างสบาย ไม่คิดว่าร่างกายจะตาย เพลิดเพลินในการนอน ก็คิดว่าสุข ร่างกายนี้แข็งแรง ไม่เจ็บ-ไม่ไข้ ก็คิดว่าสุข หรือในบุคคลผู้ยังเสพเมถุนธรรมอยู่ ได้เสพเมถุนธรรม ก็คิดว่าสุข
*๖.โลกธรรมภายนอกเขาหลอกเรา
---แต่โลกธรรมภายในเราหลอกเราเอง โลกธรรมภายนอกเรา ก็โง่ที่มีความเชื่อให้เขาหลอก โลกธรรมภายในเรายิ่งโง่หนัก มีความหลงเชื่อ ให้เราหลอกเราเองอย่างสนิทใจ จึงปลดโลกธรรมไม่ออก สักที ดูให้ดี ๆ ว่าต้นเหตุมันติดที่ตรงไหน ติดที่ร่างกายตัวเดียว พิจารณาให้ได้ ดูให้ออกว่าติดอย่างไร ติดตรงไหน ปลดตรงนั้น เหมือนคนปวดอุจจาระ แต่ไปปลดกระดุมเสื้อ ถ่ายทุกข์ได้ไหม ต้องปลดกางเกงจึงจักถ่ายได้ ทำให้มันตรงจุดก็ไม่มีอะไรจักไม่ตรง
*๗.พวกเจ้าที่ยังปฏิบัติกันไม่ได้ผล
---เพราะติดอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ทำให้ตรง สะเปะสะปะกันไปเรื่อย ดูให้ดี ๆ ซิ ใช้ปัญญามาว่ากัน ตีอารมณ์ไปเป็นจุดๆ แล้วจักพ้นทุกข์ของอารมณ์ ๒ กันไปได้เอง ดีไม่ดี มีสิทธิ์ว่ากันไปถึงพระอรหันต์เลยนะ ถ้าไม่โง่จนเกินไป
*ศัตรูของโลกธรรม ๘ คือ ศีล - สมาธิ - ปัญญา
---สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ต่อดังนี้
*๑.ศัตรูของโลกธรรม ๘ คือศีล - สมาธิ - ปัญญา
---ที่ตถาคตยกอุปมาเพียงโลกธรรม ๔ เพราะจุดนี้ติดมาก และเป็นการถูกต้อง ที่นำมาพิจารณาจนครบ ๘ ทั้งโลกธรรมภายนอกและภายใน ดูอารมณ์จิตของตนเองเอาไว้ให้ดี มันหวั่นไหวกลับไปกลับมาอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๘ ประการนี้
---จักพอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี ไม่ถูกทั้งคู่ ครั้นจักให้จิตอยู่ในอารมณ์อัพยากฤต ทรงความเฉย ๆ อยู่โดยไม่มีฐานรองรับก็เป็นของยาก มันอยู่ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้น จึงต้องหาหลักปักไว้เป็นเครื่องยึดให้อารมณ์เฉยนั้นทรงตัวเข้าไว้
*๒.สมถะภาวนาใน อานาปานัสสติกรรมฐาน
---รู้ลมเข้าออกเข้าไว้ เป็นการบังคับจิตให้อยู่ในความสงบของอารมณ์ฌานได้ระยะหนึ่ง แล้วอันดับนี้ต้องเรียกว่า มีสมาธิกำหนดรู้ คือ กำหนดรู้ คือ ตั้งใจทำกันให้จริงๆ มิใช่ทำบ้างหยุดบ้าง ขี้เกียจก็เลิก ขยันก็ทำ อย่างนี้ก็ไม่เป็นเรื่อง
---เหมือนคนมีตุ่มใส่น้ำใช้ เห็นมันพร่องอยู่ค่อนตุ่ม ทั้งๆ ที่จักต้องตักน้ำเติมอยู่แล้ว แต่ขี้เกียจทำ ไม่เอาว่ะ ยังพอมีใช้ วันหลังค่อยตักก็ได้ นี่สภาพจิตมันบิดตระกรูด อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จึงหาความเพียรจริงๆ ไม่ได้สักที
*๓.เมื่อรู้ลมเข้าลมออก
---จักควบกับคำภาวนาได้ด้วยยิ่งดี หรือจักบวกภาพพระอันเป็นกสิณให้จิตทรงตัวได้ก็ยิ่งดี เมื่อจิตมีกำลังก็ถอนจากสมาธิมาพิจารณาหรือวิปัสสนา สภาพของขันธ์ ๕ หรือสภาพของอารมณ์ที่เกาะติดขันธ์ ๕ จุดไหนด้วยการใช้ปัญญาแกะจุดนั้น
*๔.หากเกิดอารมณ์เบื่อร่างกาย
---ให้พยายามวางเฉยลงในกฎธรรมดาของร่างกาย กำหนดพิจารณารู้ลมหายใจเข้าออก ให้เป็นวิปัสสนาญาณ เห็นลมหายใจเข้าออกก็ไม่เที่ยง สักวันหนึ่งเมื่อมันหยุดหายใจ ร่างกายนี้ก็จักต้องตายไปตามกฎของธรรมดา ไตรลักษณ์ญาณ คลุมหมด ธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น
*๕.ถ้าเรายังมีความเบื่อหน่าย
---มีอารมณ์หดหู่ ก็ถือว่าเป็นอารมณ์เศร้าหมอง มีความไม่พอใจ ฝืนกฎธรรมดา ควรจักปล่อยวาง ไม่ใช่ไปเศร้าใจกับกฎธรรมดานั้น นี่มันทุกข์กับไตรลักษณ์เสียแล้วหรือ ความทุกข์ของร่างกาย หรือไตรลักษณ์นี้ฝืนไม่ได้ จักเศร้าโศกเสียใจไปกับมันทำไม
---เพราะธรรมดาของมัน มันเที่ยงอยู่อย่างนั้น มันมีเกิด แล้วก็แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา เราก็วางเฉยในมัน เพราะรู้ด้วยปัญญาว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่ตัวตนของเรา หรือของใคร มันเป็นกฎไตรลักษณ์ คือ ธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้เอง พิจารณาไปให้จิตมันสงบ จนกระทั่งยอมรับนับถือกฎธรรมดา จิตก็จักเป็นสุข คือ วางเฉยในไตรลักษณ์ได้ ทำให้ดีๆ นะ จักได้ถึงพระอรหันต์ไม่ยากนักฯ
..................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
โลกธรรมทั้ง ๘ ที่มาใน...คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 20 กันยายน 2558
ความคิดเห็น