วิธีดับ "ทุกข์" แบบง่าย
---ได้ยินได้ฟังแต่เรื่องของคนเป็นทุกข์ เลยลองมานั่งคิดว่า ทำไม คนเป็นทุกข์กันมากมายนัก! คิดไปคิดมาแล้วก็ถึงบางอ้อ คนเราทุกคนมีโอกาสเจอความทุกข์กันทั้งนั้น คิดดูสิ แม้แต่พระพุทธองค์ พระราชบิดาพยายามให้ความบันเทิงตั้งแต่เด็ก แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงเป็นทุกข์ นี่แสดงว่า ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น ที่เป็นทุกข์แม้แต่คนร่ำรวยที่ไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีโอกาสเป็นทุกข์ด้วยเหมือนกันแสดงว่าทุกคนในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดทุกข์ได้ทั้งสิ้น
---บังเอิญเราได้ยินเรื่องทุกข์ๆ ของชาวบ้านมากหน่อย เลยเหมารวมไปว่า คนเราถึงมีทุกข์มากขึ้น ทั้งๆ ที่คนเรามีทุกข์กันเท่าเดิมนั่นแหละ แล้วไหนๆ คนเราก็หนีไม่พ้นความทุกข์ ไหนๆ ก็ต้องเจอกับมัน แล้วทำไม เราถึงไม่เตรียมตัวต้อนรับความทุกข์กันแต่เนิ่นๆ เสียเลยล่ะ! คือแทนที่จะหนีทุกข์ เราหันหน้าเข้าเผชิญกับความทุกข์เสียเลยให้มันรู้แล้วรู้รอดไป
*วิธีการพ้นทุกข์
---คงต้องพึ่งพระพุทธองค์ เพราะพระพุทธเจ้าท่านอุทิศทั้งชีวิต เพื่อค้นหาและเผยแผ่ วิธีการดับทุกข์ แถมวิธีการของพระองค์ท่านก็ยั่งยืนมั่นคงมากว่า 2,000 ปี
---เราอนุชนรุ่นหลัง เพียงแต่เอา "วิธีการ" ของพระองค์ มาศึกษา ก็คงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเพียงแต่ว่า ที่ผ่านมา พอพูดถึงศาสนา หลายคนหน้าเบ้ บอกว่าเข้าใจยาก ทั้งๆ ที่ยังไม่ลองทำความเข้าใจวันนี้เลยชักชวนเพื่อนพี่น้องมาลองทำความเข้าใจวิธีการพ้นทุกข์ แล้วมาประยุกต์วิธีพ้นทุกข์ ให้เข้าใจง่ายๆ กันดีกว่า
*เริ่มต้นที่ความทุกข์
---พระพุทธองค์บอกว่า ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างมีกระบวนการคือก่อนจะเกิดทุกข์ มันต้องเกิดอย่างอื่นมาก่อนเป็นขั้น เป็นตอน ซึ่งสามารถรวบรวมมาได้ 12 ขั้นตอนด้วยกันคือ
---1. "ความไม่รู้" หรือทางธรรมเรียก "อวิชชา" ทำให้เกิด "สังขาร"
---2. "สังขาร" ทำให้เกิด "วิญญาณ"
---3. "วิญญาณ" ทำให้เกิด "นามรูป"
---4. "นามรูป" ทำให้เกิด "สฬายตนะ"
---5. "สฬายตนะ" ทำให้เกิด "ผัสสะ"
---6. "ผัสสะ" ทำให้เกิด "เวทนา"
---7. "เวทนา" ทำให้เกิด "ตัณหา"
---8. "ตัณหา" ทำให้เกิด "อุปาทาน"
---9. "อุปาทาน" ทำให้เกิด "ภพ"
---10. "ภพ" ทำให้เกิด "ชาติ"
---11. "ชาติ" เกิด "ชรามรณะ"
---12. "ชรามรณะ" เกิด "ทุกข์" เป็นกระบวนการ ดังนี้
---นอกจากคำว่า "ทุกข์" และ "อวิชชา" เรารู้จักและเข้าใจ คำไหนบ้างสมมุตินะว่า เข้าใจคำว่า "ตัณหา" เพราะเรียนกันมาแต่เล็กๆ ท่องกันจนขึ้นใจ
---"ตัณหา" แปลว่า ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น รวมถึงความอยากไม่มี อยากไม่เป็น ด้วยทีนี้ถ้าเราลอง ตัด "ตัณหา" หรือ "ความอยาก" ออกจากกระบวนการการเกิดทุกข์ เห็นไหมว่า พอตัดปุ๊บ "ทุกข์" ก็เกิดไม่ได้แสดงว่าเมื่อดับตัณหาได้ ย่อมดับทุกข์ได้ด้วย
---แค่เราเข้าใจคำศัพท์ตัวใดตัวหนึ่ง และตัดมันออกจากกระบวนการการเกิดทุกข์ "ทุกข์" ก็ไม่เกิดขึ้น สมมุติว่า เอาคำว่า "เวทนา" คือ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์แต่ "เวทนา" จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิด "ผัสสะ" หรือการสัมผัสผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เสียก่อน
---ดังนั้น ถ้าเราหยุด "ผัสสะ" ได้ "เวทนา" ก็ไม่เกิด วิธีหยุดผัสสะ ก็เช่น หลับตา หรือ ปิดจมูก (อย่านานนักนะ เพราะอาจถึงตายได้)
---เมื่อเราหลับตา เราก็มองไม่เห็นอะไร ไม่ต้องรู้สึกอะไร เมื่อไม่รู้สึกอะไร แล้วจะเกิดทุกข์ขึ้นมาได้อย่างไร นี่เท่ากับว่า ดับ "ผัสสะ" เท่ากับ ดับ "เวทนา"ถ้าดับ "เวทนา" ก็เท่ากับดับ "ทุกข์" ได้เช่นกัน
---สมมุติเราเข้าใจว่า "อุปาทาน" หมายถึง การยึดมั่นถือมั่น และหากวันหนึ่งสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นเกิดเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติทุกข์ก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราดับ "อุปาทาน" ได้ คือ ปล่อยวางได้ ไม่ยึดติดเราก็สามารถดับ "ทุกข์" ได้เหมือนกัน
---เห็นไหมว่า ในขั้นตอนทั้งหมด 12 ขั้นในกระบวนการเกิดทุกข์นั้น หากเราสามารถ "ยับยั้ง" ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้ เราก็ยับยั้งการเกิดทุกข์ได้ และในขั้นตอนทั้งหมด มีทั้งขั้นตอนที่เรายับยั้งได้ และขั้นตอนที่เราไม่อาจยับยั้ง เช่น ขั้น "ชรา มรณะ" เรายับยั้งไม่ได้ อย่างนี้ก็อย่าพยายามไปฝืนเรามุ่งฝึกฝนยับยั้งแต่ในขั้นที่สามารถทำได้ เช่น "ผัสสะ" หรือ "อุปาทาน" เมื่อยับยั้งได้ ก็หยุดทุกข์ได้
---หยุดได้นิดหนึ่ง ก็ดับทุกข์ได้แป๊บหนึ่ง หยุดยั้งได้นาน ก็ดับทุกข์ได้นาน ถ้าสามารถขจัดไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย อย่างนี้ รับรองว่า นิพพานแน่ แต่พวกเรามนุษย์คนชั่วๆ ดีๆ อย่าเพิ่งไปถึงนิพพานเลยเอาแค่ระงับทุกข์ได้ เพื่อดำรงชีวิตต่อไปแค่นี้ก็น่าพอใจแล้ว...สาธุ
*ความสุข เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย
---สำหรับผู้มักน้อย สันโดษ และมีความเพียร ความสุขที่หาได้ง่าย ด้วยอาศัยความมักน้อย สันโดษ และความเพียรพยายาม สม่ำเสมอ เป็นไปติดต่อ ไม่ท้อถอยง่าย ความสุขมีแล้วตั้งแต่บัดนั้น เมื่อประสบความสำเร็จและพอใจในความสำเร็จนั้น จะเล็กน้อยปานใดก็ตาม ความสุขก็เพิ่มพูนขึ้นอีก ความสุขจึงเป็นสิ่งหาได้ง่าย สำหรับผู้มักน้อย สันโดษ และมีความเพียร
---ตามธรรมดา คนเราย่อมได้รับสิ่งที่ตนควรได้อยู่เสมอ แต่ความทะยานอยาก ของเราวิ่งออกหน้าอยู่เรื่อยเหมือนกัน จึงรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความสำเร็จ
---เมื่อหญิงเจ้าของเรือนคนหนึ่ง ปฏิเสธการถวายอาหารแก่พระเถระ ด้วยการพูดว่า
---นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด...ท่านสวนทางกับชายเจ้าของบ้าน เมื่อถูกถามว่าได้อะไรบ้าง ท่านตอบว่า...ได้... ความหมายของท่านคือได้คำว่า ...นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด...
---ผู้มักน้อย ย่อมรู้สึกว่า...ได้... ในสิ่งที่คนอื่นๆ รู้สึกว่าไม่ได้อะไร เหมือนคนใส่รองเท้านุ่มๆ แม้จะเดินบนพื้นขรุขระและแข็ง ก็รู้สึกว่าพื้นนั้นนุ่มเดินสบาย
---ผู้สันโดษย่อมเป็นเจ้าแห่งความสุข เมื่ออยู่คนเดียวนานๆ รู้สึกเหงาก็ทำใจให้รู้สึกยินดีในการอยู่คนเดียวนั้น ความสุขก็เกิดขึ้นได้ มนุษย์เราสุขทุกข์อยู่ที่เราคิดเองเสียเป็นส่วนมาก
---ความหนักอกหนักใจ หงุดหงิด ฟุ้งซ่านอันปรารภตนบ้าง ปรารภผู้อื่นบ้าง เป็นสิ่งทำลายความสงบสุขของดวงจิต บางทีมันเหมือนหินก้อนเล็กๆ ห้อยอยู่ที่ใจ ปลดไม่ออก บอกใครๆ ด้แต่เขาช่วยปลดให้เราไม่ได้ เราต้องปลดออกเอง
---ยิ่งอยู่ในโลกไปนานวัน ใคร่ครวญพิจารณาความเป็นไปของมวลมนุษย์ในโลกมากเข้า ยิ่งสลดสังเวช ระทดระทวยใจ ว่าเหตุไฉน มนุษย์เราจึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกถึงป่านนี้ ทั้งๆ ที่ ความสุขก็หาได้ ไม่ยาก หากพวกเขาเพียงแต่
---ลดความทะยานอยากลง มุ่งหน้าสู่สันติธรรมให้มากขึ้น แทนการมุ่งแสวงหาอามิสอันเป็นสิ่งหลอกลวง ให้เดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อไรมนุษย์เราหมุนกลับมาหาสันติธรรม แทนการวิ่งเข้าหาวัตถุธรรมอันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น เมื่อนั้นเขาจะได้พบกับสันติสุขอันแท้จริงและยั่งยืน ฯ
....................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
ความสุขที่หาได้ง่าย (ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น