พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านคือใคร
---การที่พระอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ขึ้นมาสักองค์หนึ่ง เป็นสิ่งที่ยากเหลือคณา เพราะกว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบำเพ็ญบารมีครบ ๓๐ ทัศ ให้เต็มบริบูรณ์นั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องใช้เวลานานถึง ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป แล้วในเวลาที่ว่างเว้นพระศาสนา ซึ่งบางครั้งยาวถึง ๑ อสงไขย สัตว์โลกที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ต้องมืดมน อลธกาลขาดที่พึ่ง ต้องอยู่ในอบายภูมิจำนวนมาก
---การอุบัติขึ้น ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ในระหว่างที่ว่างเว้นพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า "พุทธันดร" นั้น นับว่าเป็นโชคมหาศาลของผู้ที่เกิดในยุคนั้น เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมมาสงเคราะห์สัตว์โลก ให้ตั้งอยู่ในทาน ในศีล เมื่อละร่างกายไปแล้ว ย่อมสู่สุคติภูมิ มีสวรรค์เป็นต้น ให้บุคคลที่ตกยากแต่มีศรัทธาเต็มเปี่ยมได้เป็นมหาเศรษฐี ด้วยการออกจากนิโรธสมาบัติแล้วมาสงเคราะห์บิณฑบาต
---พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเป็นเอกควรแก่การได้รับ "ไทยทาน" ที่เขานำมาถวาย หรือจะเรียกว่า "อัครทักขิไณยบุคคล" ในยุคพุทธันดรอย่างแท้จริง เพราะยุคนั้นไม่มีใครเปรียบเสมอ สมดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...
---" ในโลกทั้งปวงเว้นจากเราเสียแล้ว ไม่มีใครเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย "
*พระปัจเจกพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท
---สำหรับความปรารถนาของพระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้ถึงจะมีบารมีเป็นปัญญาธิกะ ก็ยังต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภารตลอดเวลา ๒ อสงไขยแสนกัป ไม่อาจต่ำกว่านี้ พระปัจเจกพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท คือ
---๑.พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปัญญาธิกะ บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป
---๒.พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าศรัทธาธิกะ บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป และเกินแสนกัปไปเล็กน้อย
---๓.พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าวิริยาธิกะ บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป และเกินแสนกัปไปมากแต่ไม่ถึง ๓ อสงไขย
---ผู้ปรารถนาความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จำเป็นต้องปรารถนาสมบัติ ๕ ประการ เพื่อเกิดอภินิหารของพระปัจเจกพุทธเจ้ามี ๕ ประการ คือ
---๑.ความเป็นมนุษย์
---๒.ความถึงพร้อมด้วยเพศชาย
---๓.การได้เห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย อาทิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า, หรือพระอรหันตสาวก ท่านใดท่านหนึ่ง
---๔.การกระทำอันยิ่งใหญ่ หรือ อธิการ
---๕.ความเป็นผู้มีฉันทะ
---พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย บำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดกาลตามประเภทแล้ว ด้วยความปรารถนานี้ และด้วยอภินิหารนี้ อย่างนี้แล้วเมื่อจะเกิดในโลก ย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์ หรือ สกุลพราหมณ์
---พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ หรือ สกุลคหบดี สกุลใดสกุลหนึ่ง
---ส่วนพระอัครสาวก ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะในสกุลกษัตริย์ และสกุลพราหณ์เท่านั้น เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
---พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่เกิดขึ้นในวัฏกัป คือ กัปเสื่อม ย่อมเกิดขึ้นในวิวัฏฏกัป คือ กัปเจริญ แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน
---พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จะไม่เกิดขึ้นในกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น
---พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และสอนผู้อื่นให้รู้ตามไปด้วย แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้เฉพาะตนเอง และไม่สอนผู้อื่นให้รู้ตาม
---พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมแทงตลอด "อรรถรส" เท่านั้น ไม่แทงตลอดตาม "ธรรมรส"
---เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ไม่อาจยกโลกุตรธรรมขึ้นสู่บัญญัติแล้วแสดง พระปัจเจพุทธเจ้าเหล่านั้น มีการตรัสรู้ธรรมเหมือน "คนใบ้เห็นความฝัน" และเหมือน "พรานป่าลิ้มรสข้าวในเมือง" ฉะนั้น
---พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมบรรลุธรรมในอิทธิฤทธิ์ สมาบัติ และปฏิสัมภิทาญาณทั้งหลาย เป็นผู้ต่ำกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เหนือกว่าพระสาวกโดยคุณวิเศษ
---พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมยังบุคคลหล่าอื่นบรรพชา ให้ศึกษาอภิสมาจารด้วยอุเทศนี้ว่า พึงทำความขัดเกลาจิต ไม่พึงท้อถอย และเมื่อจะทำอุโบสถโดยเพียงกล่าวว่า "วันนี้เป็นวันอุโบสถ และจะทำอุโบสถย่อมประชุมกันที่รัตนมาลา โคนต้นไม้มัญชูกะ บนภูเขาคันธมาทน์"
*๑)พระปัจเจกพุทธลักษณะ
---ในพระบาลีและอรรถกถา ไม่ได้แสดงพระปัจเจกพุทธลักษณะไว้ชัดเจนว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างไร ในอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า พราหมณ์ยุคนั้นมีคัมภีร์มหาปริสลักษณะ ว่าบุคคลผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่าลักษณะเช่นไรเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
---ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทาน และชาดกแสดงเพียงลักษณะของเพศบรรพชิตว่า
---"มีพระเกศาและพระมัสสุยาว ๒ องคุลี ครองผ้าสองชั้นที่ย้อมแล้ว คาดรัดประคตเช่นสายฟ้า มีจีวรเฉวียงบ่ามีสีดังแผ่นครั่ง ห่มเฉวียงบ่าไว้ข้างหนึ่ง มีผ้าบังสกุล จีวรสีเมฆพาดอยู่เบื้องขวา มีบาตรดินสีเหมือนแมลงภู่คล้องอยู่ที่บ่าเบื้องซ้าย"
---และถ้าหากท่านบรรลุปัจเจกโพธิญาณใน เพศคฤหัสถ์ เมื่อท่านทรงบริขาร ๘ แล้วแลดูเหมือนพระเถระ ๑๐๐ พรรษา หรือ ๖๐ พรรษา
*๒)พระรัศมีของพระปัจเจกพุทธเจ้า
---พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็มีรัศมีเหมือนกัน ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทานท่านแสดงไว้ว่า
---"พระปัจเจกพุทธเจ้า มีรัศมีสุกสกาวแห่งทองสีแดงและทองชมพูนุท"
---ส่วนอรรถกถาประวัติของพระโสณโกฬิวิสะแสดงไว้ว่า
---"พระรัศมีที่สรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นเช่นกับสีของ ผ้ากัมพลแดง"
*๓)อายุ และ ระยะเวลาบำเพ็ญเพียร ของ พระปัจเจกพุทธเจ้า
---อายุของพระปัจเจกโพธิสัตว์ที่บรรลุโพธิญาณ มิได้กำหนดชัดเจน แต่ตามที่ปรากฏในอรรถกถา ท่านได้แสดงไว้น้อยที่สุด ๑๖ พรรษา มากที่สุดมิได้แสดงไว้ ระยะเวลาการบำเพ็ญเพียรของพระปัจเจกโพธิสัตว์ ที่ปรากฏในอรรถกถา ท่านแสดงไว้นานที่สุด ๗ พรรษา และมีพระปัจเจกโพธิสัตว์ อยู่หลายองค์ที่ท่านบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ในเพศคฤหัสถ์ โดยมิได้ออกบำเพ็ญเพียรเหมือนอย่างพระสัพพัญญูโพธิสัตว์
*๔)เหตุแห่งการบรรลุปัจเจกโพธิญาณ
---พระปัจเจกโพธิสัตว์แต่ละองค์ได้ความสังเวชไม่เหมือนกัน แล้วบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ในคัมภีร์อปทาน และขัคควิสาณสูตร ได้กล่าวถึงเหตุแห่งการบรรลุปัจเจกโพธิญาณของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๔๑ พระองค์ไว้เป็นพิเศษ จะขอยกตัวอย่างมาแสดงสัก ๒ เรื่องตามลำดับ ดังนี้
*ธรรมที่บรรลุ
---๑.พระปัจเจกพุทธเจ้าในปัจฉิมภพ (พระชาติสุดท้าย) ก็ไม่มีใครๆ เป็นอาจารย์เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
---๒.พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านแทงตลอดในอริยสัจ ๔ ด้วยอัตตุกกังสิกญาณ คือ ญาณที่รู้เฉพาะตนเอง แต่มิได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณและทศพลญาณ เหมือนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
*๕)พระปัจเจกพุทธเจ้ายังมีวาสนาอยู่
*วาสนา
---คือ "การทำด้วยอำนาจความเคยชิน" เช่น การกล่าวว่า "จงมาซิคนถ่อย"... "จงไปซิคนถ่อย"... แม้ท่านละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีวาสนาอยู่
---ในอรรถกถา คำว่า "วาสนา" นี้ ท่านกล่าวว่า คือ "อธิมุตติ" ปานประหนึ่งสักว่าความสามารถ อันกิเลสที่เธออบรมมาตลอดกาล หาเบื้องต้นมิได้ติดอยู่ อันเป็นเหตุแห่งความประพฤติ เหมือนความประพฤติของคนผู้ยังละกิเลสไม่ได้ในสันดาน แม้ของท่านผู้เว้นกิเลสได้แล้ว
---ก็ว่าด้วยการละกิเลสเครื่องกางกั้นไญยธรรม ด้วยความสมบูรณ์แห่งอภินิหาร เหตุแห่งความประพฤตินี้นั้น ไม่มีในสันดานของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีในสันดานของพระสาวก และ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ยังละกิเลสอย่างนั้นไม่ได้ เพราะพระตถาคตเท่านั้น ทรงเห็นอนาวรญาณ (ญาณไม่มีเครื่องกั้น)
*๖)อริยาบถที่บรรลุ
---พระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลายบรรลุโพธิญาณในอริยาบถต่างๆ กัน ยืนก็มี นั่งก็มี นอนก็มี มีแม้แต่นั่งประทับบนคอช้างแล้วบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ สถานที่สถิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า
---โดยปกติแล้วเมื่อพระปัจเจกโพธิสัตว์บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะไปประทับอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์
---แต่ใน อิสิคิลิสูตร พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์ บุตรของนางปทุมวดี อาศัยอยู่ในถ้ำของภูเขาอิสิคิลิ ต่อมาพระราชาสร้าง บรรณศาลา ในพระราชอุทยานถวายเพื่อเป็นการอนุเคราะห์ท่านก็อยู่ในที่นั้นจนตราบปรินิพพาน
---ส่วนภูเขา คันธมาทน์ ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายประทับอยู่ประจำนั้น อยู่เลยภูเขา ๗ ลูก ณ ภูเขาคันธมาทน์ มีเงื้อมเขาชื่อ นันทกะมูลกะ เป็นสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เงื้อมเขานันทกะมูลกะแห่งภูเขาคันธมาทน์นี้มีถ้ำอยู่ ๓ ถ้ำ คือ
---๑.มณีคูหา (ถ้ำแก้วมณี) ๒. สุวรรณคูหา (ถ้ำทองคำ) ๓. ชตคูหา (ถ้ำเงิน)
---บรรดาถ้ำทั้ง ๓ นั้น ที่ประตูคูหา มีต้นไม้ชื่อ "มัญชูสกะ" เป็น ต้นไม้สวรรค์ สูง ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ ต้นไม้นั้นจะผลิดอกบานสะพรั่งทั่วไปในน้ำ และบนบกเป็นพิเศษ
---ในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามาถึง ข้างหน้าต้นไม้นั้นมีศาลาประชุมอยู่หลังหนึ่ง ชื่อว่า "รัตนมาฬกะ" เป็นศาลาประชุมใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยแก้วมณีทั้งหลัง ที่นี่เป็นที่ประชุมสันนิบาตแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ภายในบริเวณศาลานี้มีลมพิเศษพัดประจำอยู่ ๖ ชนิด คือ
---๑.สัมมัชนกวาต มีหน้าที่สำหรับพัดกวาดปัดหยากเยื่อทิ้ง
---๒.สมกรณวาต มีหน้าที่พัดทรายแก้วที่บริเวณให้ราบเรียบสม่ำเสมอ
---๓.สิญจนวาต มีหน้าที่พัดพาเอาละอองน้ำในสระอโนดาด มาประพรมบริเวณศาลาให้ชุ่มฉ่ำเย็น
---๔.สุคันธกรณวาต มีหน้าที่พัดเอากลิ่นหอมของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งหมด มาจากภุเขาหิมวันต์
---๕.โอจินกวาต มีหน้าที่พัดดอกไม้ทั้งหลายมาโปรยลง
---๖.สันถรกวาต มีหน้าที่ปูลาดในที่ทั้งปวง
---ในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และวันอุโบสถ พระปัจเจกพุทธเจ้าจะมานั่งประชุมกันในที่นี้ อาสนะทั้งหลาย จะปูลาดไว้เรียบร้อยเป็นประจำ นี่เป็นปกติในที่นี้
---เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาใหม่ ได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ถ้าในเวลานั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอื่นๆ อยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็จะประชุมกันในทันทีแล้วต่างก็นั่งบนอาสนะที่ลาดไว้แล้ว
---และครั้นนั่งแล้ว จะพากันเข้าสมาบัติหน่อยหนึ่ง แล้วจึงออกจากสมาบัติ แต่นั้นเพื่อที่จะให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงอนุโมทนา พระสังฆเถระ จะถามกรรมฐานกะพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาใหม่ อย่างนี้ว่า "ท่านบรรลุอย่างไร" พระปัจเจกพุทธเจ้าที่มาใหม่นั้น ก็จะกล่าวอุทานคาถาและพยากรณ์คาถาของตนอุทานคาถา และพยากรณ์คาถา
---พระปัจเจกโพธิสัตว์กุมาร ๕๐๐ องค์ บุตรของพระนางปทุมวดี ได้เล่นในสระบัวในอุทยาน นั่งดอกบัวคนละดอก เห็นความสิ้นและความเสื่อม ทำปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น ได้พยากรณ์คาถาของท่านว่า
---" ดอกบัว กอบัว เกิดขึ้นในสระ บานแล้วถูกหมู่แมลงภู่เคล้าคลึง ก็เข้าถึงความร่วงโรย บุคคลรู้แจ้งข้อนี้แล้ว พึงเป็นผู้เที่ยวไปเหมือนนอแรด "
*๘)การทำพระอุโบสถ
---ธรรมดาแล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าทำอุโบสถที่ศาลาโรงแก้ว รัตนมาฬกะ ณ ภูเขาคันธมาทน์ ในอรรถกถาบางแห่งกล่าวว่าแม้ที่ป่าอิสิตนทายวันก็ทำอุโบโสถ
*๙)การสงเคราะห์โลก
---พระสารีบุตรท่านกล่าวในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า โลกัตถจริยา (การประพฤติเป็นประโยชน์ต่อชาวโลก) เป็นจริยาส่วนเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉพาะในพระปัจเจกพุทธเจ้าบางส่วน และเฉพาะในพระสาวกทั้งหลายบางส่วน
---จริงอย่างนั้น การสงเคราะห์ต่อชาวโลกของพระปัจเจกพุทธเจ้าปรากฏในที่หลายแห่ง เช่นว่า เมื่อท่านออกจากนิโรธมาบัติแล้วย่อมตรวจดูศรัทธา แล้วจึงไปสงเคราะห์ ธรรมดาผู้ที่ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมส่งผลเป็นเศรษฐี หรือเสนาบดีภายในวันนั้น แล้วยังให้คนถวายเกิดความโสมนัส โดยการเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ ทั้งที่ยังแลเห็นอีกด้วย
---ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทานได้พรรณาว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเป็นใหญ่ คือ เป็นประธานเป็นเจ้าของ เพราะรับอาหารประมาณน้อย ของเหล่าทายกมากมาย แล้วให้ได้บบรรลุถึงสวรรค์ และนิพพาน"
*๑๐)ทรงสงเคราะห์ พระโพธิสัตว์
---พระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต ได้สงเคราะห์พระโพธิสัตว์หลายครั้งหลายหนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงธรรม หรือแม้กระทั่งทำทรายเสกและด้ายเสก นอกจากนั้น ยังทรงพยากรณ์ พระโพธิสัตว์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอีกด้วย ดังเรื่องตัวอย่างที่มาในชาดกนี้
---พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ได้ให้โอวาทพระพรหมทัต ชักชวนให้ทรงผนวช โดยตรัสถึงโทษของกาม คุณของบรรพชา แสดงถึงทุกข์ทั้งที่มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการบริหารครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการออกจากครรภ์เป็นมูลฐาน...
---พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์ เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลถาม ถึงอารมณ์ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วจึงประพฤติภิกขาจาริยวัตร พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ได้ตรัสบอกเรื่องราวการออกบวชของตน แก่พระโพธิสัตว์ ภายหลังพระโพธิสัตว์ได้ออกบวชเป็นฤาษี
---พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคนยากจน ได้ถวายขนมกุมมาส ๔ ก้อนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์ ท่านเสวยทันที ทรงทำอนุโมทนา แล้วได้ทรงเหาะไปสู่เงื้อมเขา นันทมูลกะ
---พระโพธิสัตว์ประคองอัญชลี แล้วเอาปิติที่ไปในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แล้วรำลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตลอดอายุจนถึงแก่กรรม แล้วไปเกิดเป็นพระราชา
---พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ ได้พิจารณาเห็นสังขพราหมณ์จะเดินทางไปหาทรัพย์เพื่อจะให้ทาน จักมีอันตรายในมหาสมุทร ถ้าสังขพราหมณ์ เห็นท่านแล้วจักถวายร่มและรองเท้าแก่ท่าน เมื่อเรือแตกกลางมหาสมุทร สังขพราหมณ์ได้ที่พึ่งด้วยอานิสงส์ที่ถวายรองเท้า
---พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จึงได้อนุเคราะห์สังขพราหมณ์ ได้เหาะมา ณ ที่ใกล้สังขพราหมณ์ เดินเหยียบทรายร้อนเช่นกับถ่านเพลิง เพราะลมแรงแดดกล้า ตรงมายังสังขพราหมณ์
---สังขพราหมณ์ ได้นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า เข้าไปที่โคนต้นไม้ แล้วพูนทรายขึ้น แล้วเอาผ้าห่มปูลาด นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วล้างเท้าด้วยน้ำที่อบกรองใสสะอาด ทาเท้าด้วยน้ำมันหอม แล้วสวมเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายร่มและรองเท้าด้วยวาจา
---พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เพื่อจะอนุเคราะห์สังขพราหมณ์ จึงรับร่มและรองเท้าและเพื่อให้ความเลื่อมใสเจริญยิ่งขึ้น จึงเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ให้สังขพราหมณ์เห็น
---พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบความที่ดาบสพระโพธิสัตว์มีมานะ เพราะอาศัยชาติของตน ไม่สามารถจะยังฌานให้เกิดขึ้นได้ จึงไปข่มมานะดาบส โดยไปนั่งเหนือกระดานหินของดาบส
---ดาบสขุ่นใจ เพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาท่าน ตบมือ ตวาดท่านพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวกะท่านว่า " พ่อคนดี เหตุไฉนพ่อจึงมีมานะ อาตมาบรรลุพระปัจเจกพุทธญาณแล้วนะ ในกัปนี้เอง พ่อจักเป็นสัพพัญูญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระพุทธเจ้านะ พ่อบำเพ็ญบารมีมาแล้ว รอเวลาเพียงเท่านี้ ข้างหน้าผ่านไปจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อดำรงในความเป็นพระพุทธเจ้า จักมีชื่อว่า "สิทธัตถะ" บอกนามตระกูลโคตรและอัครสาวกเป็นต้นแล้ว ได้ประทานโอวาทว่า " พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคาย เพื่ออะไรเล่า นี้ไม่สมควรแก่พ่อเลย "
---ดาบสนั้น แม้พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง...มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าจักเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร
---พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า "เธอไม่รู้ความใหญ่หลวงแห่งชาติ และความใหญ่โตแห่งคุณของเรา หากเธอสามารถ ก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเรา" แล้วเหาะไปในอากาศ โปรยฝุ่นที่เท้าตน ลงไปในมณฑลชฏา ของดาบสนั้น ไปสู่หิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม
---พอท่านไปแล้วดาบสนั้นจึงสลดใจ สมาทานอุโบสถข่มมานะ เจริญกสิณ ยังอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น
---พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๐๐ ของพระเจ้าพรหมทัต ได้ทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์
---เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า "จักได้ราชสมบัติสืบสันติวงศ์ในพระนครนี้หรือไม่" พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็ตรัสพยากรณ์บอกว่า "จะได้ราชสมบัติในวันที่ ๗ นับจากวันนี้ ที่พระนครตักสิลา ซึ่งไกลไปจากพระนครนี้ ๑๒๐ โยชน์แต่ถ้าจะไปทางตรง ๕๐ โยชน์ ต้องผ่านย่าน อมนุสสกันดาร มีฝูงยักษิณีเนรมิตบ้าน และศาลาไว้ในระหว่างทาง คอยหน่วงเหนี่ยว เชื้อเชิญแก่ผู้ที่มา แล้วเล้าโลม ทำให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลส แล้วพากันเคี้ยวกินพวกนั้นเสีย แต่ถ้าไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๕ และดูพวกมันเลย คุมสติไว้ให้มั่นคงเดินไป จักได้ราชสมบัติในวันที่ ๗ แน่"
---พระโพธิสัตว์ จึงขอให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทำพระปริต รับทรายเสกด้วยพระปริต และด้ายเสกด้วยพระปริต เดินทางไปแล้วได้ราชสมบัติในภายหลังอจินไตยของพระปัจเจกพุทธเจ้า
---องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกล่าวในคัมภีร์องคุตรนิกาย ว่า อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความบ้า ได้รับความลำบากเปล่า อจินไตย ๔ อย่างนี้คือ
---๑.พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
---๒.ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน (ได้แก่ฌานวิสัยในอภิญญา)
---๓.วิบากแห่งกรรม
---๔.โลกจินตา (ความคิดในเรื่องของโลก เช่น ใครสร้างแผ่นดิน ใครสร้างมหาสมุทร จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น)
*เรื่องจากคาถาธรรมบทต่อไปนี้ ก็เป็นอจินไตยของพระปัจเจกพุทธเจ้า
---ท่านสุขสามเณร เมื่อครั้งเกิดเป็นนายภัตตภติกะ ได้ถวายทานโดยไม่เหลือไว้เลย แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วอธิษฐานว่า " ขอให้มหาชนนี้ จงยืนเห็นเราจนกระทั่งถึงภูเขาคันธมาทน์เถิด " แล้วได้เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาทน์
---เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปภูเขาคันธมาทน์แล้ว ได้แบ่งบิณฑบาตนั้น ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ องค์ ได้รับเอาภัตรอย่างเพียงพอแก่ตนแล้ว
---ท่านกล่าวว่า ใครๆ ไม่พึงคิดว่า บิณฑบาตเล็กน้อยจะพอเพียงได้อย่างไร นี่เป็นปัจเจกพุทธวิสัย เป็นอจินไตย
*๑๑)ปุพเพนิวาสานุสสติญาณของพระปัจเจกพุทธเจ้า
---บุคคล ๖ จำพวกที่สามารถระลึกถึงบุพเพสันนิวาสได้ คือ
---๑.พวกเดียรถีย์ ระลึกได้เพียง ๔๐ กัป เพราะปัญญาน้อย
---๒.พระสาวกปกติ ระลึกได้ ๑,๐๐๐ กัป เพราะมีปัญญามาก
---๓.พระมหาสาวก ๘๐ องค์ ระลึกได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
---๔.พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ ระลึกได้ ๑ อสงไขย กำไรแสนกัป
---๕.พระปัจเจกพุทธเจ้า ระลึกได้ถึง ๒ อสงไขย กำไรแสนกัป เพราะท่านมีอภินิหารประมาณเพียงนี้
---๖.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกได้ไม่มีกำหนด
*ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านได้อุปมาปุพเพนิวาสานุสติญาณไว้ว่า การเห็นชาติในอดีตต่างกันดังนี้
---๑.ของเดียรถีย์ ย่อมปรากฏเช่นกับแสงหิ่งห้อย , การระลึกชาติ ดุจคนตาบอดเดินไปด้วยไม้เท้า
---๒.ของพระสาวกปกติ ย่อมปรากฏเช่นกับแสงประทีป , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามสะพานด้วยไม้เท้า
---๓.ของพระมหาสามวก ย่อมปรากฏเช่นแสงคบเพลิง , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามสะพานด้วยลำแข้ง
---๔.ของอัครสาวก ย่อมปรากฏเช่นกับรัศมีดาวประกายพรึก , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามสะพานเกวียน
---๕.ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมปรากฏเช่นรัศมีพระจันทร์ , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามทางด้วยกำลังลำแข้ง
---๖.ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมปรากฏเช่นกับพระอาทิตย์ในสรทกาล ประดับด้วยรัศมีพันดวง , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามทางเกวียนใหญ่
*๑๒)ท่าสรงน้ำ
---เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าจะล้างหน้าหรือสรงน้ำ ท่านจะไปกระทำกิจนั้นที่ สระอโนดาต สระอโนดาตนั้นมีแผ่นศิลาเรียบประดับด้วยรัตนะอันน่ารื่นรมย์ใจ ไม่มีปลาและเต่า น้ำใสไร้มลทินเหมือนแก้วผลึก บังเกิดแต่กรรมทีเดียว เป็นท่าสำหรับอาบของเหล่าสัตว์ที่ใช้น้ำนั้น จัดแจงไว้อย่างดี ซึ่งแยกไว้เป็นส่วนๆ สำหรับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระขีณาสพและฤาษีที่มีฤทธิ์ สรงสนาน ท่าหนึ่งสำหรับพวกเทวดาและยักษ์เป็นต้น
*๑๓)สถานที่ปรินิพพาน
---ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทาน ท่านแสดงไว้ว่าภูเขามหาปปาตะ ในหิมวันตประเทศ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ในที่อื่นก็แสดงไว้ ท่านก็ปรินิพพานในที่อื่นๆ ด้วย เช่น ในป่าชัฏ, ที่เดินจงกรมในพระอุทยานที่พระราชาจัดถวาย เป็นต้น
---อิริยาบถของพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อปรินิพพาน มีอิริยาบถต่างๆ กัน บางพระองค์ก็นั่ง ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์บุตรของนางปทุมวดี ได้ยืนพิงกระดานสำหรับยึดหน่วงในที่จงกรมปรินิพพาน
พุทธประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า
(ในคัมภีร์ชาดก)
---ในคำภีร์ชาดก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าของเรา ครั้งเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติต่างๆ บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศอยู่ในจำนวนชาดก ๕๕๐ เรื่อง ที่ปรากฏในคัมภีร์ชาดกนั้น มีอยู่หลายเรื่องด้วยกันที่พระโพธิสัตว์นั้น ได้มีความเกี่ยวข้องกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ในฐานะที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์พระโพธิสัตว์บ้าง หรือ พระโพธิสัตว์ทรงสงเคราะห์พระปัจเจกโพธิสัตว์ก็มี
*๑)ทรีมุขชาดก (พระปัจเจกพุทธเจ้าทรีมุข)
---พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภมหาภิเนษกรมณ์ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้น วาส ปงฺโกว กาม ด้งนี้
---ได้ยินว่า พระราชาทรงพระนามว่า มคธราช ครองราชสมบัติที่อยู่ในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในพระครรภ์ของอัครมเหสีของพระองค์ พระญาติทั้งหลายได้ถวายนามพระองค์ว่า " พรหมทัตกุมาร "
---ในวันที่พระราชกุมารประสูตรนั่นเอง ฝ่ายบุตรของปุโรหิตก็เกิด ใบหน้าของเด็กนั้นสวยงามมาก เพราะเหตุนั้นญาติของเขาจึงได้ตั้งชื่อของเด็กนั้นว่า " ทรีมุขกุมาร "
---กุมารทั้ง ๒ นั้น เจริญเติบโตแล้ว ในราชตระกูลนั่นเอง ทั้งคู่นั้นเป็นสหายรักของกัน เวลามีชนมายุ ๑๖ ชันษา ได้ไปยังเมืองตักกศิลา เรียนศิลปะทุกอย่าง แล้วพากันเที่ยวไปในตามนิคม เป็นต้น ด้วยความตั้งใจว่า จักพากันศึกษาลัทธิทุกลัทธิ และจักรู้จารีตของท้องถิ่นด้วย
---ถึงเมืองพาราณสี พักอยู่ที่ศาลเจ้า รุ่งเช้าพากันเข้าไปเมืองพาราณสีเพื่อภิกษา คนในตระกูลหนึ่งในเมืองพาราณสีนั้น ตั้งใจว่าพวกเราจักเลี้ยงพราหมณ์ แล้วถวายเครื่องบูชา จึงหุงข้าวปายาสแล้วปูอาสนะไว้
---คนทั้งหลายเห็นคนทั้งสองคนนั้นกำลังเที่ยวภิกขาจาร เข้าใจว่าพราหมณ์มาแล้ว จึงให้เข้าไปในบ้าน ปูผ้าขาวไว้สำหรับพระมหาสัตว์ ปูผ้ากัมพลแดงไว้สำหรับทรีมุขกุมาร
---ทรีมุขกุมารเห็นนิมิตนั้นแล้ว รู้ชัดว่า วันนี้สหายของเราจักเป็นพระเจ้าพาราณสี ส่วนเราจักเป็นเสนาบดี
---ทั้ง ๒ บริโภค ณ ที่นั้น แล้วรับเอาเครื่องบูชา กล่าวมงคลแล้วออกไป ได้พากันไปถึงพระราชอุทยานนั้น ในจำนวนคนทั้ง ๒ นั้น พระมหาโพธิสัตว์บรรทมแล้วบนแผ่นศิลามงคล ส่วนทรีมุขกุมารนั่งนวดพระบาทของพระมหาโพธิสัตว์นั้น
---วันนั้นเป็นวันที่ ๗ แห่งการสวรรคตของพระเจ้าพาราณสี ปุโรหิตถวายพระเพลิงแล้ว ได้เสี่ยงบุษยราชรถในวันที่ ๗ เพราะราชสมบัติไม่มีรัชทายาทกิจเกี่ยวกับบุษยราชรถ จักมีแจ้งชัดในมหาชนกชาดก
---บุษยราชรถออกจากพระนครไป มีจตุรงคเสนาห้อมล้อมพร้อมด้วยดุริยางค์หลายร้อย ประโคมขัน ถึงประตูราชอุทยาน
---ครั้งนั้น ทรีมุขกุมารได้ยินเสียงดุริยางค์ แล้วคิดว่าบุษยราชรถมาแล้ว เพื่อสหายของเรา วันนี้สหายของเราจักเป็นพระราชา แล้วประทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เรา
---เราจักประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน เราจักออกบวช ดังนี้แล้ว จึงไม่ทูลเชิญพระโพธิสัตว์เลยไปที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วยืนอยู่ในที่กำบัง
---ปุโรหิตหยุดรถที่ประตูพระราชอุทยาน แล้วเข้าไปยังพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์บรรทมบนแผ่นศิลามงคล ตรวจลักษณะที่เท้าลายพระบาท แล้วทราบว่า เป็นคนมีบุญสามารถครองราชสมบัติสำหรับมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวารได้ แต่คนเช่นนี้ คงเป็นคนมีปัญญาเครื่องทรงจำ จึงได้ประโคมดุริยางค์ทั้งหมดขึ้น
---พระโพธิสัตว์บรรทมตื่นแล้ว ทรงนำผ้าสาฏกออกจากพระพักตร์ ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาชน แล้วทรงเอาผ้าสาฏกปิดพระพักตร์อีก บรรทมหน่อยหนึ่ง ระงับความกระวนกระวาย แล้วเสด็จลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิบนแผ่นศิลา
---ปุโรหิตคุกเข่าลงแล้วทูลว่า "ข้าแต่สมมุติเทพ ราชสมบัตินี้กำลังตกถึงพระองค์
---พ. " ราชสมบัติไม่มีรัชทายาทหรือ "
---ปุ. " ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า "
---พ. " ถ้าอย่างนั้น ก็ดีแล้ว จึงทรงรับไว้ "
---ประชาชนเหล่านั้น ได้พากันทำการอภิเษกพระโพธิสัตว์นั้น ที่พระราชอุทธยานนั่นเอง พระองค์มิได้ทรงรำลึกถึง ทรีมุขกุมาร เพราะมียศมาก พระองค์เสด็จขึ้นราชรถ มีบริวารห้อมล้อมเข้าสู่พระนคร ทรงทำการปทักษิณ แล้วประทับยืนที่ประตูพระราชนิเวศน์นั่นเอง ทรงพิจารณาถึงฐานันดรของอำมาตย์ทั้งหลายแล้วเสด็จสู่ปราสาท
---ขณะนั้น ทรีมุขกุมาร คิดว่า บัดนี้ พระราชอุทยานว่างแล้ว จึงมานั่งที่ศิลามงคล ลำดับนั้น ใบไม้เหลือง ได้ร่วงลงมาข้างหน้าของเขา เขาเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไปในใบไม้เหลืองนั้นนั่นเอง พิจารณาไตรลักษณ์ให้แผ่นดินกึกก้องไป พร้อมกับให้ พระปัจเจกโพธิญาณ เกิดขึ้น
---ในขณะนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของท่านก็อันตรธานไป บาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ก็ล่องลอยมาจากอากาศ สวมที่สรีระของท่าน ทันใดนั่นเอง ท่านก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบริขาร ๘ สมบูรณ์ด้วยอริยบถ เป็นเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาร้อยพรรษา เหาะไปในอากาศด้วยฤทธิ์ ได้ไปยังเงื้อม นันทมูลกะ ในท้องถิ่นหิมพานต์
---ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็เสวยราชสมบัติโดยธรรม แต่เพราะความมียศมาก จึงทรงมัวเมาด้วยยศ ไม่ทรงรำลึกถึง ทรีมุขกุมาร เป็นเวลาถึง ๔๐ ปี แต่เมื่อเวลาเลย ๔๐ ปี ผ่านไปแล้ว พระองค์ก็ทรงรำลึกถึงเขา แล้วตรัสว่า
---" ฉันมีสหายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า ทรีมุข เขาอยู่ที่ไหนหนอ "
---ดังนี้แล้ว มีพระราชประสงค์จะพบพระสหายนั้น จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ก็ตรัสถามหา ภายในเมืองบ้าง ท่ามกลางบริษัทบ้างว่า ทรีมุขกุมาร สหายของฉันอยู่ที่ไหน ผู้ใดบอกที่อยู่ของเขาแก่ฉัน ฉันจะให้ยศสูงแก่ผู้นั้น เมื่อพระองค์ทรงระลึกถึงเขาอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ นั่นแหละ ปีอื่นๆ ได้ผ่านไปถึง ๑๐ ปี โดยเวลาผ่านไปถึง ๕๐ ปี
---แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทรีมุข ทรงรำลึกถึงอยู่ก็ทรงทราบว่า สหายรำลึกถึงเราอยู่แล แล้วทรงดำริว่า บัดนี้พระโพธิสัตว์นั้น ทรงพระชรา จำเริญด้วยพระโอรสพระธิดา เราจักไปแสดงธรรมถวายให้พระองค์ทรงผนวช ดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จมาทางอากาศด้วยฤทธิ์ ลงที่พระราชอุทยาน นั่งบนแผ่นศิลาเหมือน พระพุทธรูปทองคำ ก็ปานกัน... เจ้าหน้าที่รักษาพระราชอุทยาน เห็นท่านแล้ว เข้าไปเฝ้าทูลถามว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมาจากไหน " พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า " มาจากเงื้อมเขา นันทมูลกะ "
---จ. " ท่านเป็นใคร "
---พ. " อาตมาภาพ คือ พระปัจเจกพุทธเจ้า " ชื่อว่า ทรีมุข โยม "
---จ. " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรู้จักในหลวงของข้าพระองค์ทั้งหลายไหม "
---พ. " รู้จักโยม เวลาเป็นคฤหัสถ์ พระองค์ทรงเป็นสหายของอาตมา "
---จ. " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในหลวงมีพระราชประสงค์จะพบพระองค์ ข้าพระองค์จักทูลบอกว่า พระองค์เสด็จมา "
---พ. " เชิญโยม ไปทูลบอกเถิด "
---จ. รับพระบัญชาแล้ว รีบด่วนไปทีเดียว ทูลในหลวงถึงความที่พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่แผ่นศิลาแล้ว
---ในหลวงตรัสว่า " ได้ทราบว่า พระสหายของฉันมาแล้ว ฉันจักไปเยี่ยมท่าน " แล้วเสด็จขึ้นรถไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก ไหว้พระปัจเจกพุทะเจ้า ทำการปฏิสันถาร แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
---ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงทำปฏิสันถารกะพระองค์พลางทูลคำมีอาทิว่า
---" ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต
---พระองค์ทรงเสวยราชสมบัติโดยธรรมอยู่หรือ
---ไม่ทรงลุอำนาจอคติหรือ
---ไม่ทรงเบียดเบียนประชาสัตว์ เพื่อต้องการทรัพย์หรือ
---ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นอยู่หรือ " ดังนี้แล้ว ทูลว่า
---" ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงชราภาพแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยของพระองค์ที่จะทรงละกาม เสด็จออกผนวชแล้ว "
---เมื่อทรงแสดงธรรมถวายพระองค์จึงได้ทูลคาถาที่ ๑ ว่า
---" กามทั้งหลายเหมือนหล่ม กามทั้งหลายเหมือนพุ ก็อาตมาภาพได้ทูลภัยนี้ไว้ว่า มีมูล ๓ ธุลีและควัน อาตมาก็ได้ถวายพระพรแล้ว ข้าแต่พระเจ้าพรหมทัตมหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงละสิ่งเหล่านั้น เสด็จออกผนวชเถิด "
---พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสบอกความที่พระองค์ทรงติดอยู่ ด้วยกิเลสทั้งหลาย จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า
---" ดูก่อนพราหณ์ โยมทั้งกำหนัด ทั้งยินดี ... ทั้งสยบอยู่ในกามทั้งหลาย ต้องการมีชีวิตอยู่ ...
---ไม่อาจละกามนั้นที่มีรูปสะพรึงกลัวได้ ...
---แต่โยมจักทำบุญไม่ใช่น้อย "
---เมื่อพระมหาโพธิสัตว์นั้นนั่นเอง ตรัสว่า โยมไม่อาจบวชได้ พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่ทรงทอดธุระ เมื่อจะถวายพระโอวาทให้ยิ่งขึ้น จึงตรัสคาถา ๒ คาถาไว้ว่า
---" ผู้ที่ถูกผู้มุ่งประโยชน์ อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล กล่าวสอนอยู่ ...
---แต่ไม่ทำตามคำสอนเป็นคนโง่ สำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่าสิ่งอื่น...
---จะเข้าถึงครรภ์สัตว์แล้ว เล่าๆ ...
---จะเข้าถึงนรกชนิดร้ายกาจ...
---เหล่าสัตว์ที่ยังไม่ปราศจากราคะในกามทั้งหลาย ติดแล้วในกายของตนละยังไม่ได้
...ซึ่งสิ่งที่ไม่สะอาดของผู้สะอาดทั้งหลาย ที่เต็มไปด้วยมูตรและคูถ "
---พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงทุกข์ ทั้งที่มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการบริหารเป็นมูลฐานแล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์ ที่มีการออกจากครรภ์เป็นมูลฐาน จึงตรัสคาถาหนึ่งไว้ว่า
---" สัตว์ทั้งหลายเลอะอุจจาระ เปื้อนเลือดออกมา...
---เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายถูกต้อง สิ่งใดๆ ด้วยกายอยู่ในขณะใด...
---ขณะนั้นเองก็สัมผัสผ่องทุกข์ล้วนๆ ที่ไม่มีความแช่มชื่นเลย
---อาตมาภาพเห็นแล้ว จึงทูลถวายพระพร ไม่ได้ฟังจากผู้อื่นทูลถวายพระพร...
---แต่อาตมาภาพ ระลึกถึงขันธ์ ที่เคยอยู่อาศัยมาเป็นจำนวนมาก "
---บัดนี้ พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่ง ครั้นตรัสว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ทรงสงเคราะห์พระราชาด้วย พระคาถาสุภาษิตอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสรู้กึ่งคาถาไว้ตอนท้ายว่า
---" พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ทรงยังพระราชาผู้ทรงมีพระปัญญา...ให้ทรงรู้พระองค์ด้วยคาถาทั้งหลาย ที่เป็นภาษิตมีเนื้อความวิจิตรพิสดาร "
---พระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในกามทั้งหลาย ทรงยังพระราชาให้ทรงถือเอาถ้อยคำของตนอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า
---" ขอถวายพระพรมหาบพิตร บัดนี้ พระองค์จะทรงผนวชหรือไม่ทรงผนวชก็ตาม แต่ว่า อาตมาภาพได้แสดงโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการบวชถวายมหาบพิตรแล้ว ขอมหาบพิตรจงอย่าทรงประมาท " ดังนี้แล้ว ได้ทรงเหาะไปในอากาศ ทรงเหยียบกลีบเมฆเสด็จไปยังเงื้อมเขา นันทะมูลกะ นั่นเอง เหมือนพระยาหงส์ทองฉะนั้น
---พระมหาโพธิสัตว์ทรงประคองอัญชลีที่รุ่งโรจน์ รวมทั้ง ๑๐ นิ้วไว้บนเศียรนมัสการอยู่ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพ้นทัศนวิสัยไปแล้ว จึงตรัสส่งให้หาพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ คือเจ้าฟ้าใหญ่มาเฝ้า ทรงมอบราชสมบัติให้ แล้วเมื่อมหาชนกำลังร้องให้คร่ำครวญกันอยู่ ได้ทรงละกามทั้งหลาย เสด็จสู่ป่าหิมพานต์ ทรงสร้างบรรณศาลาผนวชเป็นฤาษี ไม่นานเลยก็ทรงยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น ในเวลาสิ้นพระชนมายุก็ได้ทรงถึงพรหมโลก
---พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาประกาศสัจจธรรม แล้วจึงประชุมชาดกไว้ ในเวลาจบสัจจธรรม คนทั้งหลายได้พระโสดาบันเป็นต้นมากมาย พระราชา ในครั้งนั้น ก็คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.
(ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ / อรรถกถาทรีมุขชาดกที่ ๓ /ฉักกนิกาย)
*พระปัจเจกพุทธเจ้า ในคำภีร์อนาคตวงศ์
---มีเรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์อื่นที่ไม่ใช่ในพระไตรปิฏก แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนรู้จักคัมภีร์นี้พอสมควร นั่นคือ "พระอนาคตวงศ์" ซึ่งในคัมภีร์นี้ได้กล่าวถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ๑๐ พระองค์ ในคัมภีร์นี้ได้กล่าวถึง อธิการในอดีตของพระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้
*เรื่องพระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า
---ดูก่อน พระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้มีอายุ เมื่อศาสนาของ พระเทวเทพสัมมาสัมพุทธเจ้า เสื่อมไปแล้ว ในกัปนั้น โตเทยยพราหมณ์ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า"
---พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก แสงสว่างแห่งพระพุทธรัศมี กลางวันมีสีประหนึ่งว่า แสงสว่างแก้วมณี กลางคืนเป็นเช่นกับแสงทอง ทรงมีต้นแคฝอยเป็นต้นไม้ตรัสรู้
---ด้วยพุทธานุภาพ มีข้าวสาลีหอมเกิดขึ้นตามปกติ มหาชนทุกจำพวกไม่ได้ค้าขาย ไม่ได้ทำไร่ไถนา พากันเก็บเอาข้าวสารแห่งสาลี มาหุงต้มบริโภค มีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นต้นหนึ่ง มีสิ่งของต่างๆ เกิดขึ้น เพราะอาศัยต้นกัลปพฤกษ์ คนเหล่านั้นไม่ต้องแต่งกาย ตามปกติคนเหล่านั้น มีผิวพรรณสีเหมือนทอง
---เบื้องพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะมีเศวตฉัตรแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ปรากฏแก่กล้า จัดว่าได้มหาสมบัติ ด้วยประการฉะนี้
---ดูก่อน พระธรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้เจริญ เมื่อศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ล่วงไปแล้ว ศาสนาของเรา ก็จักมีในกาล ระหว่างกลางศาสนาทั้งสอง โตเทยยพราหมณ์ได้เป็นพ่อค้านามว่า "นันทมาณพ"
---สมัยหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เที่ยวบิณบาตอยู่ในเวลานั้น นันทมาณพ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ถวายผ้ากัมพลผืนหนึ่ง และทอง ๑ แสน เป็นทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในเวลาถวายทานสิ้นสุดลง เขาได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า
---" ข้าแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทานอันนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ได้พระสัพพัญญตญาณเถิด "
---พระปัจเจกพุทธเจ้า รับเอาผ้าผืนนั้นมาห่มแล้ว เบื้องของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหลือ ๑ ศอก เบื้องล่างจากพื้นเท้าเหลือประมาณ ๑ ศอก ยืนอยู่ด้วยพระบาททั้งคู่ นันทมาณพเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ ๒ อย่างว่า
---" ข้าแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เจริญ ด้วยผลแห่งการถวายผ้ากัมพลเป็นทานนี้ ขออำนาจของข้าพเจ้าจงแผ่ไปเบื้องบน ๑ โยชน์ ในเบื้องล่าง ๑ โยชน์เถิด "
---ในเวลาจบคำปรารถนาพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ออกจากบ้านไป ตรงกลางทาง นางกุมารีรุ่นคนหนึ่ง พบพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังเดินไป จึงเรียนถามท่านว่า
---" ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ใครถวายผ้าแก่พระคุณเจ้า "
---พระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า " ดูก่อนอุบาสิกา พ่อค้านามว่า นันทมาณพ ถวายผ้ากัมพลผืนหนึ่งเป็นทานแก่อาตมาภาพ "
---นางกุมารีเรียนถามว่า
---" ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เขาตั้งความปรารถนาว่าอย่างไร "
---พระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า " ดุก่อนอุบาสิกา พ่อค้านามว่า นันทมาณพ ได้ตั้งความปรารถไว้ ๒ อย่าง คือ ปรารถนาพระสัพพัญญตญาณ, ๒ ปรารถนาสมบัติ คือ ความเป็นพระราชา "
---กุมารี ฟังคำนั้นแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใส ถือเอาผ้าผืนหนึ่งถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ในเวลาถวายทานเสร็จ นางกุมารีจึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า
---" ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยการถวายผ้าเป็นทานนี้ ถ้าชายพ่อค้าจักได้สมบัติแห่งมหาราชาไซร้ ดิฉันจักเป็นอัครมเหสีเขา "
---สรุปว่า ในกาลนั้น ปุถุชนทั้งสอง สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งในสถานที่ถวายทานนั้น ให้ช่างจิตรกรรมสลักรูปพระปัจเจกพุทธเจ้า ณ เสาศาลานั้น นางกุมารีรวบผมบนศรีษะ เอาน้ำมันทาเอาไฟจุดบูชา
---นันทมาณพ กระทำการบริจาคทานนั้น ถวายทาน รักษาศีล ดำรงอยู่ชั่วอายุ ณ ที่นั้น ในเวลาสิ้นอายุ จุติแล้วไปบังเกิดในภพบนดาวดึงส์ กับด้วยนางกุมารีนั้น ในเวลานั้น คนทั้งสองดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สิ้นเวลา ๓๖ ล้านปี โดยนับปีของมนุษย์
---คนทั้งสองจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น นันทมาณพ บังเกิดเป็น พระธรรมราชา ในนครทวาราวดี ฝ่ายกุมารีบังเกิดในมหาสมบัติในตระกูลเศรษฐี ในพระนครนั้น
---บิดามารดา ได้นำนางกุมารีซึ่งมีอายุครบ ๑๖ ปี เข้าไปถวายแด่ พระธรรมราชา ญาติๆ ทั้งหลายได้ตั้งชื่อนางกุมารีว่า " มงคลเทวี "
---ก็พระนางมงคลเทวี ได้เป็นหัวหน้าหญิง ๑๖,๐๐๐ นางแล้ว ตกว่าพระธรรมราชาทรงให้หญิงนางสนมทั้งหมด จัดสำรับอาหารเลี้ยงกันและกันแล้ว นางสนมทุกนางจะได้นิ้วทองบริโภคอาหารก็หามิได้ นางมลคลเทวีเป็นเจ้าแห่งทาน ให้ทานอย่างเดียว ในกาลก่อนจึงได้นิ้วทองในปัจจุบัน
---พระเจ้าธรรมราชา กับพระนางมงคลเทวี ครั้นถวายทานเสมอกันในชาติก่อน จุติแล้ว ปัจจุบันจึงได้มหาสมบัติ ด้วยอานุภาพแห่งทาน นันทมาณพ ได้เสวยมนุษยสมบัติและเทวสมบัติแล้วบังเกิดเป็น โตเทยยพราหมณ์แล้ว
---ดูก่อนพระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทาน โตเทยยพราหมณ์จักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า "นรสีห์" ในอนาคต
---ดูก่อนพระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้เจริญ ด้วยอาการอย่างนี้ สรรพสัตว์ หากยังไม่ได้บรรลุธรรม อันเลิศในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘ องค์เหล่านี้คือ
---ของ เรา ๑ , ของพระรามพุทธเจ้า ๑ , ของพระธรรมราชาพุทธเจ้า ๑ , ของพระธรรมสามีพุทธเจ้า ๑ , ของพระนารทพุทธเจ้า ๑ , ของพระรังสีมุนีพุทธเจ้า ๑ , ของพระเทวเทพพุทธเจ้า
---ในอนาคต โตเทยยพราหมณ์ จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นรสีห์ ขอท่านทั้งหลายจงปรารถนาพบศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นรสีห์ พระองค์นั้นเถิด
*เหตุแห่งการบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ ที่ปรากฏในคัมภีร์ชาดก
---นอกจาก ขัคควิสาณสูตร ที่ปรากฏใน คัมภีร์สุตตนิบาต คัมภีร์อปทานและคัมภีร์จูฬนิทเทศแล้ว ในคัมภีร์ชาดก ก็ได้กล่าวถึงการบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณไว้เหมือนกัน จะได้นำมาแสดงโดยลำดับ
*กุมภการชาดก คัมภีร์ชาดก
*๑)พระกรกัณฆะปัจเจกพุทธเจ้า
---ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลช่างหม้อ ในหมู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี เจริญวัยแล้วได้ครอบครองสมบัติ มีบุตรชาย ๑ คน บุตรหญิง ๑ คน เลี้ยงบุตรภรรยาโดยอาศัยการทำหม้อ
---ในกาลครั้งนั้น พระราชาทรงพระนามว่า กรกัณฑะ ในทันตปุรนคร แคว้นกลิงคะ มีพระราชบริพารมาก เมื่อเสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงใกล้ประตูพระราชอุทยานมีผลน่าเสวย เต็มไปด้วยผลเป็นพวง ประทับบนคอช้างต้นนั้นเอง ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกไปเก็บผลมะม่วงพวงหนึ่ง แล้วเสด็จเข้าไปพระราชอุทยาน ประทับนั่งบนศิลาอาสน์ พระราชทานแก่คนที่ควรพระราชทาน แล้วจึงเสวยผลมะม่วง
---ตั้งแต่เวลาที่พระราชาทรงเก็บผลมะม่วงแล้ว ตามธรรมดาคนที่เหลือทั้งหลาย ก็ต้องพากันเก็บเหมือนกัน ดังนั้น อำมาตย์บ้าง พราหมณ์ และคหบดีบ้าง จึงพากันเขย่าผลมะม่วงให้หล่น แล้วรับประทานกัน ผู้ที่มาหลังๆ ก็ขึ้นต้นใช้ค้อนฟาดทำให้กิ่งหัก ทะลายลงกินกัน แม้แต่ผลดิบๆ ก็ไม่เหลือ
---ฝ่ายพระราชาทรงกรีฑา ในราชอุทยานตลอดทั้งวันแล้ว ตอนเย็นเมื่อทรงประทับนั่งบนคอช้างต้นที่ตกแต่งแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงนั้นจึงลงจากคอช้าง แล้วเสด็จไปที่โคนมะม่วง ทรงมองดูลำต้นพลาง ทรงดำริว่า
---"ต้นมะม่วงต้นนั้นเมื่อเช้านี้เอง เต็มไปด้วยผลเป็นพวงสง่างาม ทำความอิ่มตาอิ่มใจให้แก่ผู้ดูทั้งหลาย ยืนต้นอยู่ บัดนี้ เขาเก็บผลหมดแล้ว หักห้อยรุ่งริ่งยืนต้นอยู่ไม่งาม "
---เมื่อทรงมองดูต้นอื่นอีก ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นอื่นที่ไม่มีผลแล้ว ประทับยืนอยู่ที่ควงไม้นั่นเอง ทรงทำต้นมะม่วงมีผลให้เป็นอารมณ์ว่า
---"ต้นไม้ต้นนั้นยืนต้นสง่างามเหมือนภูเขาแก้วมณีโล้น เพราะตัวเองไม่มีผล ส่วนมะม่วงต้นนี้ถึงความย่อยยับอย่างนี้ เพราะออกผล แม้ท่ามกลางเรือนนี้ก็เช่นกันกับต้นมะม่วงที่ออกผล ส่วนการบรรพชาเป็นเช่นกันกับต้นไม้ที่ไม่มีผล ผู้มีทรัพย์นั้นแหละมีภัย ส่วนผู้ที่ไม่มีทรัพย์ไม่มีภัย แม้เราก็ควรเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีผล "
---แล้วทรงกำหนดไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนายังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้นแล้ว ทรงรำลึกอยู่ว่า
"บัดนี้ เราทำลายกระท่อม คือ ท้องของมารดาแล้ว"
"การปฏิสนธิในภพทั้ง ๓ เราตัดขาดแล้ว"
"ส้วมแหล่งอุจจาระ คือ สงสาร เราล้างแล้ว"
"กำแพงกระดูกเราพังแล้ว"
"เราจะไม่มีการปฏิสนธิอีก"
---ได้ทรงแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งหมดประทับยืนอยู่แล้ว จึงอำมาตย์ทั้งหลายได้ทูลพระองค์ว่า
---"ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จประทับยืนนานเกินไปแล้ว"
---พระราชา "เราไม่ใช่พระราชา แต่เราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า"
---อำมาตย์ "ข้าแต่สมมุติเทพ ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จะไม่เป็นเช่นกับด้วยพระองค์"
---พระราชา "ถ้าเช่นนั้นเป็นอย่างไร"
---อำมาตย์ "โกนผมโกนหนวด ปกปิดร่างกายด้วยผ้ากาสาวพัตร์ มีส่วนเปรียบเทียบด้วยดวงจันทร์ที่พ้นจากพระราหู พำนักอยู่เงื้อมนันทมูลในป่าหิมพานต์ พระปัจเจกทั้งหลายเป็นเช่นนี้"
---ในขณะนั้น พระราชาทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบเกศา ในทันทีนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ก็อันตรธานไป เพศสมณะก็ปรากฏขึ้น สมณบริขารทั้งหลายที่พระองค์ตรัสถึงอย่างนี้ว่า
---ไตรจีวร บาตร มีดโกน เข็ม รัดประคต พร้อมด้วยกระบอกกรองน้ำ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นบริขารของภิกษุผู้ประกอบความเพียรได้ปกปิดพระกายขอองพระองค์ทันที
---พระองค์ประทับที่อากาศประทานพระโอวาทแก่คนทั้งหลายแล้ว ได้เสด็จไปสู่เงื้อมนันทมูลนั่นแหละ
*๒)พระนัคคชิปัจเจกพุทธเจ้า
---ฝ่ายพระราชาทรงพระนามว่า นัคคชิ ในนครตักศิลา ที่แคว้นคันธาระ เสด็จไปท่ามกลางพระราชบัลลังก์ เบื้องบนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นหญิงคนหนึ่ง ในมือแต่ละข้างประดับกำไลหยก ข้างละอัน นั่งบดของหอมอยู่ไม่ไกล ประทับนั่งทอดพระเนตร พลางดำริว่า
---"กำไลหยกเหล่านั้นไม่กระทบกัน ไม่มีเสียงดัง เพราะเป็นข้างละอัน คือ แยกกันอยู่"
---ภายหลังนางเอากำไลแขนจากข้างขวามาสวมไว้ข้างซ้ายรวมกัน แล้วเริ่มเอามือขวาดึงของหอมมาบด กำไลแก้วมณี คือ หยกที่มือซ้ายมากระทบกำไลข้างที่ ๒ จึงมีเสียงดังขึ้น
---พระราชาทอดพระเนตรเห็นกำไลแขนทั้ง ๒ ข้างเหล่านั้นกระทบกันอยู่มีเสียงดัง จึงทรงดำริว่า
---"กำไล แขนนี้เวลาอยู่ข้างละอันไม่กระทบกัน แต่อาศัยข้างที่ ๒ กระทบกันก็มีเสียงดังฉันใด แม้สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แต่ละคนๆ ไม่กระทบกัน ก็ไม่ส่งเสียง แต่พอมี ๒, ๓ คนขึ้นไปก็กระทบกัน ทำการทะเลาะกัน ส่วนเราวิจารณ์ราษฏรในราชสมบัติ ๒ แห่ง ในกัสมิระ และคันธาระ เราควรเหมือนกำไลแขนข้างเดียว ไม่วิจารณ์คนอื่น วิจารณ์ตัวเองเท่านั้นอยู่"
---แล้วทรงทำการกระทบกันแห่งกำไล ให้เป็นอารมณ์แล้วทั้งๆ ที่ทรงนั่งอยู่นั่นแหละ ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา แล้วยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิด...ฯลฯ
(เนื้อความที่เหลือเหมือนนัยตอนแรก)
*๓)พระนิมิราชปัจเจกพุทธเจ้า
---ที่มิถิลานครในวิเทหรัฐ พระเจ้านิมิราช เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว มีคณะอำมาตย์แวดล้อม ได้ประทับยืนทอดพระเนตรระหว่างถนน ทางสีหบัญชรที่เปิดไว้
---ครั้งนั้น เหยี่ยวตัวหนึ่งคาบเอาชื้นเนื้อจากเขียงที่ตลาดแล้วบินขึ้นฟ้าไป นก ทั้งหลายมีแร้ง เป็นต้น บินล้อมเหยี่ยวตัวนั้น ข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ใช้จงอยปากจิก ใช้ปีกตี ใช้เท้าเฉี่ยวไป เพราะเหตุแห่งอาหาร มันทนาการรังแกตนไม่ไหว จึงทิ้งก้อนเนื้อก้อนนั้นไป นกเหล่าอื่นก็พากันละเหยี่ยวตัวนี้ ติดตามนกตัวนั้นไป ถึงนกตัวนั้นปล่อยแล้ว ตัวอื่นก็คาบไป นกทั้งหลายก็พากันรุมตีนกแม้ตัวนั้นเหมือนกัน
---พระราชาทรงเห็นนกเหล่านั้นแล้ว ทรงดำริว่า
---"นกตัวใดๆ คาบก้อนเนื้อ นกตัวนั้นๆ แหละมีความทุกข์ ส่วนนกตัวใดๆ ทิ้งสละก้อนเนื้อนั้นทิ้ง นกตัวนั้นๆ แหละมีความสุข"
---"แม้กามคุณ ๕ เหล่านี้ ผู้ใดๆ ยึดถือไว้ ผู้นั้นๆ แหละมีความทุกข์ ส่วนผู้ใดไม่ยึดถือนั่นแหละมีความสุข เพราะว่ากามเหล่านี้ เป็นของสาธาณะสำหรับคนจำนวนมาก"
---"ก็แล เรามีหญิงหมื่นหกพันนาง เราควรจะละกามคุณทั้ง ๕ แล้วเป็นสุขเหมือนเหยี่ยวตัวที่ทิ้งก้อนเนื้อฉะนั้น"
---พระองค์ทรงมนสิการโดยแยบคายอยู่ทั้งๆ ที่ทรงนั่งอยู่นั่นแหละ ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนาแล้วยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น...ฯลฯ
(เนื้อความที่เหลือเหมือนนัยตอนแรก)
*๔)พระทุมมุขะปัจเจกพุทธเจ้า
---ในแคว้นอุตรปัญจาละในกปิลนคร พระราชาทรงพระนามว่า ทุมมุขะ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงประดับเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม ได้ประทับยืนทอดพระเนตรพระลานหลวง ทางสีหบัญชรที่เปิดไว้
---ในขณะนั้น คนเลี้ยงวัวทั้งหลาย ต่างก็เปิดประตูคอกวัว พวกวัวตัวผู้ออกจากคอก แล้วก็ติดตามวัวตัวเมียตัวหนึ่งด้วยอำนาจกิเลส
---ในจำนวนวัวเหล่านั้น โคถึกใหญ่ตัวหนึ่งเขาคม เห็นวัวตัวผู้อื่นกำลังเดินมา มีความเห็นแก่ตัว คือ หึงด้วยอำนาจกิเลสครอบงำ จึงใช้เขาแหลมขวิดที่หว่างขา ไส้ใหญ่ทั้งหลายของวัวตัวนั้น ก็ทะลักออกมาทางปากแผล มันถึงความสิ้นชีวิต ณ ที่นั้นนั่นเอง
---พระราชาทรงเห็นเหตุการณนั้นแล้ว ทรงดำริว่า
---" สัตว์โลกทั้งหลาย ตั้งต้นแต่สัตว์เดียรรัจฉานไปถึงทุกข์ด้วยอำนาจกิเลส วัวผู้ตัวนี้อาศัยกิเลสถึงความสิ้นชีวิต สัตว์แม้เหล่าอื่นก็หวั่นไหวเพราะกิเลสทั้งหลายนั้นเอง เราควรประหารกิเลสที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายหวั่นไหว"
---พระองค์ประทับยืนอยู่นั่นแหละ ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา แล้วยังพระโพธิญาณให้เกิดขึ้น...ฯลฯ
(เนื้อความที่เหลือเหมือนนัยตอนแรก)
---อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์เหล่านั้น กำหนดเวลาภิกขาจารแล้ว ก็เสด็จออกจากเงื้อมนันทมูลกะ ทรงเคี้ยวไม้ชำระฟันนาคลดา ที่สระอโนดาต ทรงทำการชำระพระวรกายแล้ว ประทับยืนบนพื้นมโนศิลา ทรงนุ่งสบงแล้ว ถือเอาบาตรและจีวรเหาะขึ้นไปบนอากาศด้วยฤทธิ์ ทรงย่ำเมฆ ๕ สี ไปแล้ว เสด็จลง ณ ที่ไม่ไกลหมู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี ทรงหุ่มจีวรในที่สำราญแห่งหนึ่ง ทรงถือบาตรเสด็จเข้าไปในหมู่บ้าน ใกล้ประตูเมืองเที่ยวบิณฑบาต ลุ ถึงประตูบ้านพระโพธิสัตว์
---พระโพธิสัตว์ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้วก็ดีใจ นิมนต์ให้ท่านเข้าไปในบ้าน ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้วถวายทักขิโนทกอังคาส ด้วยของเคี้ยวของฉันอันปราณีต นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งไหว้พระสังฆเถระแล้วทูลถามว่า
---"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การบรรพชาของพระองค์ทั้งหลายงามเหลือเกิน อินทร์ทรีย์ของพระองค์ทั้งหลายผ่องใส ฉวีวรรณก็ผุดผ่อง พระองค์ทรงเห็นอารมณ์อะไรหนอ จึงทรงเข้าถึงการบรรพชาด้วยอกนาภิกขาจารวัตร"
---และได้เข้าทูลถามพระเถระที่เหลือ เหมือนทูลถามพระสังฆเถระ
---พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์นั้น ได้ตรัสบอกเรื่องการออกบวชของตนๆ แก่พระโพธิสัตว์นั้นโดยนัยมีอาทิว่า "อาตมาภาพเป็นพระราชาชื่อโน้น ในนครโน้น ในแคว้นโน้น แล้วตรัสคาถาองค์ละ ๑ คาถาว่า
---"อาตมาภาพเห็นต้นมะม่วง ที่งอกงาม ผลเขียวไปทั้งต้น ในระหว่างป่ามะม่วง... เมื่อกลับออกมา ได้เห็นมะม่วงนั้นหักย่อยยับ เพราะ ผล ของมันเป็นเหตุ... ครั้นเห็นแล้วอาตมาภาพจึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร"
---"หญิงสาวคนหนึ่งสวมกำไลแขนหินหยกเกลี้ยงกลมคู่หนึ่ง ที่นายช่างผู้ชำนาญเจียรนัยแล้ว ไม่มี เสียงดัง...
---แต่เพราะอาศัยกำไลแขนข้างทั้ง ๒ จึงมี เสียงดังขึ้น... อาตมาภาพได้เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร"
---"นกจำนวนมากพากันบินตามรุมล้อม ตีจิกนกตัวหนึ่งที่กำลังนำก้อนเนื้อมา เพราะอาหาร เป็นเหตุ...
---อาตมาภาพได้เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร"
---"อาตมาภาพได้เห็นวัวตัวผู้ตัวหนึ่งท่ามกลางฝูง มีหนอกขึ้นเปลี่ยว ประกอบด้วยสีสวยและมีกำลังมาก ได้เห็นมันขวิดวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกาม เป็นเหตุ...
---ครั้นได้เห็นเหตุนั้นแล้วจึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร"
---พระโพธิสัตว์ครั้นได้สดับคาถาแต่ละคาถา ได้ทำการสดุดีพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์ว่า
---"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาส อารมณ์นั้นเหมาะสมสำหรับเหล่าข้าพระองค์ทีเดียว"
---พระโพธิสัตว์สดับธรรมกถานั้น ที่ท่านทั้ง ๔ ทรงแสดงแล้ว เป็นผู้ไม่มีเยื่อใยในฆราวาส เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปแล้ว รับประทานอาหารเช้าแล้ว นั่งสำราญอยู่ ได้เรียกภรรยามาพูดว่า
---"พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์นี้ สละราชสมบัติออกผนวช ไม่มีกังวล ไม่มีห่วงใย ให้กาลเวลาล่วงไปด้วยความสุข เกิดจากการบรรพชา ส่วนเราเลี้ยงชีพด้วยค่าจ้าง เราจะมีประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน เธอจงสงเคราะห์ คือ เลี้ยงดูลูกอยู่บ้านเถิด" แล้วกล่าวคาถาว่า
---"พระราชาเหล่านี้คือ พระเจ้ากรกัณฑะของชาวกลิงคะ ๑ , พระเจ้านัดดชิของชาวคันธาระ ๑ , พระเจ้านิมิราชของชาววิเทหะ ๑ , พระเจ้าทุมมุขะของชาวปัญจาละ ๑
---ทรงละแว่นแคว้นออกผนวช หาความห่วงใยมิได้ พระราชาเหล่านี้ แม้ทุกพระองค์ เสมอด้วยเทพเจ้า เสด็จมาพบกัน ย่อมสง่างามเหมือนไฟลุกโชนฉะนั้น
---"ดูก่อนนางผู้โชคดี แม้เราละกามทั้งหลายทิ้งแล้ว ดำรงอยู่ตามส่วนของตนเที่ยวไปคนเดียว"
---ภรรยานั้นครั้นได้ฟังถ้อยคำของเขาแล้ว จึงพูดว่า
---"ข้าแต่นาย ตั้งแต่เวลาได้ฟังธรรมกถา ของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แม้ฉันเอง ใจก็ไม่สถิตอยู่ในบ้าน" แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า
---"เวลานี้เท่านั้น เวลาอื่นนอกจากนี้จะไม่มีเลย ภายหลังคงไม่มีผู้พร่ำสอนฉัน...
---ข้าแต่ท่านผู้มีโชค ฉันเองก็จักพ้นจากมือชาย เที่ยวไปคนเดียว เหมือนนางนกพ้นจากข้อง ฉะนั้น"
---พระโพธิสัตว์ครั้นได้ฟังคำของนางแล้ว ได้นิ่งอยู่ ส่วนนางประสงค์จะลวงพระโพธิสัตว์แล้วบวชก่อน จึงกล่าวว่า "ข้าแต่นาย ฉันจักไปทำน้ำดื่ม ขอท่านจงดูลูกไว้"
---แล้วจึงถือเอาหม้อน้ำที่ทำเป็นเหมือนเดินไปท่าน้ำ แล้วหนีไป ถึงสำนักของพวกดาบสที่ใกล้นคร แล้วก็บวช
---พระโพธิสัตว์ทราบว่านางไม่มาจึงเลี้ยงเด็กเอง ต่อมาเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นหน่อยหนึ่ง สามารถรู้ดีรู้ชั่วแล้ว เพื่อจะทดลองเด็กเหล่านั้น
---วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เมื่อหุงข้าวสวย ได้หุงดิบไปหน่อย วันหนึ่งไหม้ วันหนึ่งปรุงอาหารจืดไป วันหนึ่งเค็มไป เด็กทั้งหลายพูดว่า วันนี้ดิบ วันนี้แฉะ วันนี้ไหม้ วันนี้จืด วันนี้เค็มไป พระโพธิสัตว์พูดว่า "ลูกเอ๋ย วันนี้ข้าวดิบ" แล้วคิดว่า " บัดนี้ เด็กเหล่านี้รู้จักดิบ สุก จืดและเค็มจัดแล้ว จักสามารถเลี้ยงชีพตามธรรมดาของตน เราควรจะบวชละ"
---ต่อมาท่านได้มอบเด็กเหล่านั้นให้พวกญาติพูดว่า "ดูก่อนพ่อและแม่ ขอจงเลี้ยงเด็กเหล่านี้ให้ดีเถิด"
---แล้วเมื่อพวกญาติกำลังโอดครวญอยู่นั่นเอง ได้ออกจากพระนครไปบวชเป็นฤาษีอยู่ใกล้ๆ พระนครนั่นเอง
---อยู่มาวันหนึ่ง นางปริพาชิกา คือ ภรรยาเก่า ได้เห็นท่านกำลังเที่ยวภิกขาจารในนครพาราณสี ไหว้แล้วจึงพูดว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้า ท่านเห็นจะให้ลูกทั้งหลายพินาศไปแล้ว"
---พระมหาโพธิสัตว์ ตอบว่า "เราไม่ได้ให้ลูกพินาศ ออกบวชในเวลาที่พวกเขาสามารถรู้ดีรู้ชั่วแล้ว เธออย่าคิดถึงพวกเขา จงยินดีในการบวชเถิด" แล้วได้กล่าวคาถาสุดท้ายว่า
---"เด็กทั้งหลายรู้จักดิบ รู้จักสุก รู้จักเค็มและจืด ฉันเห็นข้อนั้นแล้วจึงบวช... เธอจงเที่ยวไปเพื่อภิกษาเถิด ฉันก็จะเที่ยวไปเพื่อภิกษา"
---พระโพธิสัตว์ตักเตือนปริพาชิกา ด้วยประการอย่างนี้ แล้วก็ส่งตัวไป ฝ่ายปปริพาชิการับโอวาทไหว้พระมหาโพธิสัตว์แล้ว จึงไปสู่สถานที่ตามใจชอบ
---ได้ทราบว่านอกจากวันนั้นแล้ว ทั้ง ๒ ท่านนั้น ก็ไม่ได้พบเห็นกันอีก ฝ่ายพระโพธิสัตว์ให้ฌานและอภิญญาเกิดขึ้นแล้ว ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
---พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ได้ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลายประชุมชาดกไว้ว่า
---ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุ ๕๐๐ รูปดำรงอยู่แล้วใน อรหัตผล
---ธิดา ในครั้งนั้นได้แก่ อุบลวรรณาเถรี ในบัดนี้
---บุตร ได้แก่ พระราหุลเถระ
---ปริพาชิกา ได้แก่ มารดา พระราหุลเถระ
---ส่วนปริพาชก คือ เราตถาคต ฉะนั้นแล.
...................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558
ความคิดเห็น