พระไตรปิฏกเชื่อถือได้แค่ไหน
บทความทางวิชาการ โดย พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี
นธ.เอก. ป.ธ.๘ , พธ.บ.(บาฬีพุทธศาสตร์) , พธ.ม.(วิปัสสนา).
---ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามพระองค์ว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว พระองค์จะทรงตั้งใครเป็นศาสดาแทนพระเจ้าข้า”
---พระพุทธเจ้าตรัสตอบเป็นภาษาบาลีว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา”
---แปลว่า. "ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เรา ได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป"
---หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสสั่ งให้คำสั่งสอนของพระองค์ เป็นศาสดาแทนพระองค์
---หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๓ เดือน พระอรหันตสาวก ๕๐๐ รูป นำโดยพระมหากัสสปะเถระได้ร่วมกัน ประชุมทำสังคายนา คือ ดำเนินการรวบรวมพระดำรัสของ พระพุทธเจ้า จัดเป็นหมวดหมู่ คัมภีร์ที่รวบรวมพุทธพจน์ บรรจุพระธรรมวินัยนั้นไว้ เรียกว่า "พระไตรปิฎก"
---คัมภีร์ที่บันทึก หลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนานั้น เรียกว่า "พระไตรปิฎก" ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะเป็นคัมภีร์ที่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกไว้โดยมี กระบวนการสืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์ ไว้ในรูปแบบของการสังคายนาอย่างระมัดระวังและรัดกุมที่สุด ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่ จนถึงการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ มาตามลำดับ
---หลักธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนา ได้มีการสืบทอดกันมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำสืบๆ กันมา (Oral Tradition) การท่องจำนี้ ได้กระทำมาจนถึงสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๕ ในลังกาทวีป
---การจารึกเป็นคัมภีร์ครั้งแรก เมื่อคราวสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ บางตำราว่า พ.ศ. ๔๓๓ (ถ้านับเฉพาะที่ทำสังคายนาในศรีลังกาก็เป็นครั้งที่ ๒ ) ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน ทำที่อาโลกเลณสถาน ณ มตเล ชนบทหรือที่เรียกว่า "มลัยชนบท"
---สาเหตุของการจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน ก็เพราะว่า ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง นอกจากนั้น พระสงฆ์ยังได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยธรรมชาติและภัยสงครามอยู่เนืองๆ ทำให้ไม่มีเวลาท่องจำพระพุทธวจนะ จะทำให้ช่วงการสืบต่อขาดลงได้และในการจารึกครั้งนี้ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย
---มีผู้สงสัยว่า สมัยพุทธกาลคนไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรืออย่างไร จึงไม่ปรากฏว่ามีตำรับตำราจารึกไว้เป็นหลักฐาน พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ ได้ประมวลทัศนะนี้ไว้ในหนังสือภาษาศาสตร์ภาษาบาลี ไว้ว่า
---"ความจริงการเขียนหนังสือน่าจะมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ในพระไตรปิฎกเองก็มี ข้อความเอ่ยถึงการขีดเขียนเป็นครั้งคราว เช่น ตอนหนึ่ง ห้ามภิกษุเล่นเกม "อักขริกา" ได้แก่ การทายอักษรในอากาศหรือบนหลังเพื่อนภิกษุ
---วิชาเขียนหนังสือ (เลขา) ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่ง สิกขาบทบางข้อห้ามภิกษุณีเรียนศิลปะทางโลก หนึ่งในศิลปะเหล่านี้ คือ วิชาเขียนหนังสือ ในบทสนทนาภายในครอบครัว พ่อแม่ปรารภว่าจะให้บุตรเรียนวิชาอะไรดี ถ้าจะให้เรียนเขียนหนังสือ บุตรก็อาจยังชีพอยู่ได้อย่างสบาย แต่ก็อาจเจ็บนิ้วมือ ถ้าภิกษุเขียนหนังสือพรรณนาคุณของอัตตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตายเอง) ปรับทุกกฎทุกตัวอักษร ถ้ามีผู้อ่านพบข้อความนั้นเข้าเห็นดีเห็นงามด้วย แล้วฆ่าตัวตายตามนั้น ปรับอาบัติปาราชิก
---หลักฐานเหล่านี้แสดงว่าอักษรหรือการเขียนมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ที่พระพุทธองค์ไม่นิยมใช้ หันมาใช้วิธีมุขปาฐะแทน น่าจะทรงเห็นประโยชน์อานิสงส์บางสิ่งบางอย่างกระมัง หรือว่าระบบการขีดเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร
---ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์การขีดการเขียนเพียงพอ ก็ยากที่จะทราบได้ แต่ข้อที่น่าคิดอยู่อย่างคือ วิธีเรียนด้วยมุขปาฐะนี้ นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนและผู้สอนแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิฝึกจิตของผู้เรียนไปในตัวด้วย นักปราชญ์ยุคก่อนที่มีความคิดเช่นนี้ก็มีไม่น้อย
---เปลโต้ เคยกล่าวไว้ว่า "การคิดอักษรขึ้นใช้ แทนการท่องจำ ทำให้มนุษย์ขาดอานุภาพแห่งความทรงจำ คือแทนที่จะจดจำจากอินทรีย์ภายใน ต้องอาศัยสัญลักษณ์นอกเข้าช่วย"
---อ้างอิง..(พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณณวณโณ ภาษาศาสตร์ภาษาบาลี, ชุดวรรณไวทยากร, กรุงเทพฯไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๔)
---ในตอนต้น ครั้งพุทธกาล คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามิได้เรียกว่า “พระไตรปิฎก” แต่เรียกว่า "พระธรรมวินัย" บ้าง "พระสัทธรรม" บ้าง "ปาพจน์" บ้าง "สัตถุศาสน์" บ้าง "พระบาลี" บ้าง "สุตตะ" บ้าง
---แม้หลังพุทธปรินิพพาน ก็ยังไม่เรียกว่า "พระไตรปิฎก" คงเรียกว่า "พระธรรมวินัย" เช่น การสังคายนาชำระคำสอน ครั้งที่ ๑-๔ ยังคงเรียกว่า "สังคายนา พระธรรมวินัย"
---และได้เรียกว่า “พระไตรปิฎก” เมื่อการสังคายนาครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๔๕๐ ณ ประเทศศรีลังกา โดยได้จารึกลงในใบลาน ซึ่งได้แบ่งพระธรรมวินัยเป็น ๓ หมวด จึงได้เรียกว่า “พระไตรปิฎก” ตั้งแต่บัดนั้น
*พระไตรปิฎกมีความสำคัญดังนี้
---๑.เป็นที่รวบรวมพระพุทธพจน์ คือ พระดำรัสของพระพุทธเจ้า
---๒.เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ เป็นศาสดาแทนพระองค์
---๓.เป็นแหล่งต้นเดิมของคำสั่งสอนในพุทธศาสนา
---๔.เป็นหลักฐานอ้างอิงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่า เป็นพระพุทธศาสนา
---๕.เป็นมาตฐานตรวจสอบความเชื่อและข้อปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนา จะวินิจฉัยสิ่งใดว่า ถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน
---๖.พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่น่าเชื่อถือที่สุด กว่าหนังสือใดๆ บนพื้นพิภพ ที่ยืนยันให้คนยุคปัจจุบันได้รับรู้ว่าเมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนอะไร ไว้บ้าง
---ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก จึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาหรือเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนากล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก เพื่อนำไปปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็จะยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก แม้มีการปฏิบัติก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะไม่ดำรงอยู่ คือ จะเสื่อมสูญไปในที่สุด
---ถาม... เป็นไปได้หรือไม่ ที่พระไตรปิฏกอาจจะถูกสาวกรุ่นหลังๆ แก้ไขเพิ่มเติม
---ตอบ... “เป็นไปไม่ได้” ด้วยเหตุผลดังนี้
---๑.พระไตรปิฎกสืบทอดกันมาด้วยภาษาบาลี ที่มีหลักไวยากรณ์เฉพาะ มีกฎตายตัวไว้เฉพาะภาษาบาลี โดยปฏิเสธกฎไวยากรณ์หลายประการของสันสกฤต เพื่อไว้ให้เป็นหลักเกณฑ์ของไวยากรณ์บาลีโดยเฉพาะ เช่น พระบาลีมี ๒วจนะ เท่านั้นคือ เอกวจนะ และพหุวจนะ ไม่มีทวิวจนะ
...อ้างอิง ดูรายละเอียด พระอัครวงศาจารย์ , สทฺทนีติปฺปกรณํ (ปทมาลา) ฉบับภูมิพโลภิกขุ .
---โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ, วัดสระเกศ กรุงเทพฯ:พ.ศ. ๒๕๒๑ .หน้า ๑๕๖
---๒.แม้บางช่วงของประวัติศาสตร์เกิดภัยต่าง ๆ ทำให้คัมภีร์พระไตรปิฎกขาดหายหรือเลอะเลือนไป แต่เมื่อสังคายนาใหม่อีกครั้งก็ได้เปรียบเทียบ ตรวจสอบดูกับพระไตรปิฎกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนหมดข้อสงสัย จึงทำให้เชื่อได้ว่า เป็นพระไตรปิฎกที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งโลก ตรงกับพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาครั้งก่อน ๆ ทุกประการ
---๓.มีข้อความในคัมภีร์รุ่นหลัง กล่าวอ้างถึง ข้อความคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่เมื่อตรวจสอบในบาลี พระไตรปิฎกแล้ว กลับไม่มีข้อความนั้น ทั้งที่เมื่อพิจารณาข้อความนั้นแล้ว มีอรรถเข้ากันได้กับพระไตรปิฎก เช่น บาลีสังยุตตนิกาย มหาวรรคว่า “จตฺตารีมานิ ภิกฺขเว อริยสจฺจานิ ฯ กตมานิ จตฺตาริ ฯ ทุกฺข.อริยสจฺจ.ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจ.ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจ.ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจ.ฯ อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ ตถานิ อวิตถานิ อน.ถานิ ตสฺมาอริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ”
( อ้างอิง.... ส.ม.๑๙/๑๐๙๗/๓๘๐)
*แต่คัมภีร์วิสุทธิมรรค นำไปอ้างโดยเพิ่มข้อความว่า
---“จตฺตารีมานิ ภิกฺขเว อริยสจฺจานิ ฯ กตมานิ จตฺตาริ ฯ ทุกฺข.อริยสจฺจ.ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจ.ทุกฺขนิโรโธ
---อริยสจฺจ.ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจ.ฯ
---อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ อริ ยา อิมานิ ปฏิวิชฺฌนฺติ ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺตีติ ฯ
---อปิจ อริยสฺส สจฺจานีติปิ อริยสจฺจานิ ฯ ยถาห ฯ สเทวเก โลเก ฯเปฯ
---มนุสฺสา ตถาคโต อริโย ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺตีติ ฯ
---อถวา เอเตส.อภิสมฺพุทฺธตฺตา อริยภาวสิทฺธิโตปิ อริยสจฺจานิ ฯ ยถาห ฯ
---อิเมส.โข ภิกฺขเว จตุนฺน.อริยสจฺจาน.ยถาภูต.อภิสมฺพุทฺธตฺตา ตถาคโต อรห.สมฺมาสมฺพุทฺโธ อริโยติ วุจฺจตีติ ฯ
---อปิจ โข ปน อริยานิ สจฺจานีติปิ อริยสจฺจานิ ฯ
---อริยานีติ ตถานิ อวิตถานิ อวิส.วาทกานีติ อตฺโถ ฯ ยถาห ฯ
---อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ ตถานิ อวิตถานิ อน.ถานิ ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺตีติ ฯ
---เอวเมตฺถ นิพฺพจนโต วินิจฺฉโต เวทิตพฺโพ ฯ
( อ้างอิง... วิสุทฺธิ.๒/๑๔๐-๑๔๑ )(อักษรตัวหนา เป็นข้อความที่คัมภีร์วิสุทธิมรรคเพิ่มเข้ามา โดยอ้างว่านำมาจากพระไตรปิฎก)
---ดังข้อมูลที่เสนอมานี้ ก็หมายความว่า พระไตรปิฎกภาษาบาลี ไม่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมอย่างแน่นอน เพราะทั้งที่ปรากฏข้อความที่ตกหล่นปรากฏอยู่ในคัมภีร์น่าเชื่อถือเป็นที่สุด อย่างเช่น วิสุทธิมรรค ข้อความนั้นก็มิได้ถูกบรรจุไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก
---สรุปว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีย่อมเป็นไปได้ที่มีการตกหล่นบ้าง คำกล่าวอ้างที่ว่าถูกสาวกรุ่นหลังแก้ไขเพิ่มเติมย่อมเป็นไปไม่ได้เลย.
..................................................................................
[1][1] บางแห่งว่า พ.ศ.๔๓๓
[1][2] พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณณวณโณ ภาษาศาสตร์ภาษาบาลี, ชุดวรรณไวทยากร, กรุงเทพฯไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๔
[1][3] ดูรายละเอียด พระอัครวงศาจารย์ , สทฺทนีติปฺปกรณํ (ปทมาลา) ฉบับภูมิพโลภิกขุ . โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ, วัดสระเกศ กรุงเทพฯ:พ.ศ. ๒๕๒๑ .หน้า ๑๕๖
[1][4] ส.ม.(บาลี) ๑๙/๑๐๙๗/๓๘
[2][5] วิสุทฺธิ.(บาลี)๒/๑๔๐-๑๔๑
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว รดา)
อัพเดทรอบที่ ุ วันที่ 28 สิงหาาคม 2558
ความคิดเห็น