วิถีพุทธ
โดย จินตนา สินธุพันธ์ประทุม
---วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทย ได้รับการกล่อมเกลาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่ครั้งสร้างชาติไทย กล่าวได้ว่า วิถีพุทธ คือ วิถีวัฒนธรรมของชาวไทยส่วนใหญ่ จนมีความเป็นเอกลักษณ์ ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก พุทธธรรม เป็นองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นให้เข้าใจธรรมชาติของโลกและชีวิต ให้สามารถ ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม คือ การกิน อยู่ ดู ฟัง และการมีชีวิตที่บริสุทธิ์ ทำให้ผู้ศึกษาและปฏิบัติตามพุทธธรรม มีความสุข ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้คนรอบข้างและสังคมมีความสุขไปพร้อมกันด้วย
---พุทธธรรม เป็นระบบการศึกษา 3 ประการ เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นระบบการฝึกหัดอบรม เพื่อพัฒนากาย ความประพฤติ จิตใจ และปัญญา ไตรสิกขานี้ เป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปจนถึงเรื่องที่ละเอียดซับซ้อน ไตรสิกขาจึงเป็นระบบการให้การศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุด ในการทำให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข
---การศึกษาของกุลบุตร กุลธิดาชาวไทยในอดีต มีฐานจากการใช้พุทธธรรมมาอบรมสั่งสอน และกุลบุตร กุลธิดา ทั้งหลาย ก็ได้ยึดมั่นในการนำวิถีพุทธมาเป็นวิถีชีวิต ตามครรลองของพุทธศาสนิกชนที่ดี มีการเข้าวัด ให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติตนเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส ชีวิตประจำวัน ผูกพันใกล้ชิดกับวัด มีวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด
---วันพระ คือ วันที่มีความสำคัญเป็นชีวิตจิตใจ เป็นวันแห่งการทำความดี ในวันพระชาวพุทธจะหยุดปฏิบัติการงานที่เป็นข้าศึกหรือเป็นอกุศล เช่น ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละอบายมุข เช่น สุราเมรัย เป็นต้น บางคนมีศรัทธามาก ในวันพระก็นุ่งขาวห่มขาว ถืออุโบสถศีลบ้าง ศีล 8 บ้าง ยามว่างก็สนทนาธรรมกัน ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันถ้วนหน้า
---เด็กๆ เห็นผู้ใหญ่ เป็นแบบอย่าง ก็พากันประพฤติปฏิบัติตาม สังคมอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ย้อนมาดู อนุชนรุ่นหลังที่ผ่านการศึกษาอบรมในระบบโรงเรียน ซึ่งนำองค์ความรู้ตามโลกนิยมทางตะวันตกมาใช้ในระบบการศึกษา ทำให้คนไทยยุคปัจจุบัน ดำเนินชีวิตห่างเหินจากพุทธธรรม ห่างเหินจากวัดและศาสนา หากจะถามคนไทยว่า วันนี้เป็นวันพระใช่ไหม ก็จะพบว่าส่วนใหญ่อ้ำอึ้ง ไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้เพราะไม่เคยเห็นความสำคัญ และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติศาสนกิจใดๆ ในวันพระ ซึ่งในอดีตเป็นวันแห่งการทำความดี
---บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ชาวพุทธจะได้นำพุทธธรรมมาเป็นหลักในวิถีชีวิต เพื่อการมีชีวิตที่งดงามและเพื่อจรรโลงพุทธธรรม สมบัติของชาติ ซึ่งได้ก่อร่างสร้างฐานของวัฒนธรรมไทยมาแต่อดีต วิถีพุทธ คือ วิถีแห่งปัญญาที่จะนำความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทางด้านจิตใจมาสู่สังคมไทย เป็นที่น่ายินดี ที่กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมให้สถานศึกษา นำระบบของพุทธธรรม มาประยุกต์จัดกับระบบการเรียนการสอน ในสถานศึกษาปัจจุบัน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณสมบัติของการเป็นคนที่ดี เก่ง และมีความสุข อันเป็นเป้าหมายแท้ของพุทธธรรมนั่นเอง โดยการผ่านการดำเนินงานของ “โรงเรียนวิถีพุทธ”
*ก่อนที่จะกล่าวถึง การดำเนินงานของโรงเรียนวิถีพุทธ จะได้กล่าวถึงลักษณะของพุทธธรรม
---สู่การดำเนินชีวิตในแนวทางวิถีพุทธ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีพุทธยิ่งขึ้น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) (7-67 , 2547) ได้กล่าวถึงลักษณะของพุทธธรรม หรือวิถีพุทธธรรม สรุปได้ดังนี้
---1.คำสอนเป็นกลาง ปฏิบัติสายกลาง หรือลักษณะที่เป็นสายกลาง ไม่สุดโต่งในทางความคิดหรือสุดโต่งในทางปฏิบัติตน เห็นความสำคัญทางด้านจิตใจ และทางด้านร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ จึงวางข้อปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หรือข้อปฏิบัติที่เป็นสายกลาง (มรรคมีองค์ 8) คือ ความพอดีและทัศนะเกี่ยวกับ สัจธรรม ก็เป็นกลาง ความจริงที่เป็นกลาง ตามเหตุปัจจัยไม่ขึ้นกับใคร (เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท)
---2.พุทธธรรมมีหลักการเป็นสากล หรือสอนหลักความจริงที่เป็นสากล ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คือ ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย เป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า เป็นกฎธรรมชาติ ในทางปฏิบัติ สอนให้คนมีเมตตากรุณาอย่างเป็นสากล ชาวพุทธต้องมีความเมตตากรุณา ต่อสรรพสัตว์ทั่วกันหมดไม่เลือกพวกเขาพวกใคร
---3.พุทธธรรมให้ความสำคัญของสาระ (ธรรม) และรูปแบบ (วินัย) ธรรมวินัยจึงเป็นชื่อหนึ่งของพุทธศาสนา ต้องมีทั้งสองอย่าง "ธรรม" เป็นหลักความจริง ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมดาของมัน และเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาปฏิบัติสามารถเข้าถึงได้ ส่วน "วินัย" เป็นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ กติกา หรือข้อบัญญัติที่กำหนดขึ้นเพื่อให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติ เพื่อความเจริญ และความสงบสุข วินัยเปรียบได้กับศีล เช่นศีล 5 เป็นต้น
---4.พุทธธรรมสอนหลักกรรม พระพุทธศาสนายึดเอาการกระทำหรือความประพฤติเป็นเครื่องจำแนกคน ไม่แบ่งแยกด้วยชาติกำเนิด ผิวพรรณ เน้นการรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ไม่ซัดทอดสิ่งภายนอก มีการสำรวจตนเองเป็นเบื้องต้นก่อน นอกจากนี้ สอนหลักกรรม ให้รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ฝากไว้กับโชคชะตา กรรมสอนคู่กับความเพียร ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ จากความเพียร และจากการกระทำตามทางของเหตุและผล
---5.สอนให้มองความจริงโดยแยกแยะ จำแนกครบทุกด้านทุกมุม ตัวอย่างเช่น มีผู้ถามเรื่อง การพูดว่าสิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด พระพุทธองค์ตรัสแยกแยะให้ฟังว่า
---วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
---วาจาใดเป็นคำจริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
---วาจาใดเป็นคำจริง เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส
---วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
---วาจาใดเป็นคำจริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
---วาจาใดเป็นคำจริง เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส
---ลักษณะท่าที่ของการสนองตอบ หรือปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลาย แบบชาวพุทธ ต้องมองอย่าง วิเคราะห์ แยกแยะ จำแนกแจกแจง ครบทุกด้าน
---6.หลักการสำคัญของพุทธศาสนา คือ มุ่งอิสระภาพ ดังพุทธพจน์ว่า “ มหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่น้ำในมหาสมุทรที่มากมายนั้น มีรสเดียว คือ รสเค็มฉันใด ธรรมวินัยของพระองค์ที่สอนไว้มากมาย ทั้งหมดก็มีรสเดียว คือ วิมุติรส ได้แก่ ความหลุดพ้นจากทุกข์และปวงกิเลส ฉันนั้น”
---7.เป็นศาสนาแห่งปัญญา ดังพุทธพจน์ว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง” หลักปัญญาสำคัญ เพราะปัญญาเป็นตัวตัดสิน ในการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา โดยให้ความสำคัญแก่ ศรัทธา ศีล สมาธิ ว่าเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้เพื่อเข้าถึงจุดหมาย โดยมีปัญญาเป็นตัวตัดสินสูงสุด นั่นคือ ศรัทธา ก็ขาดปัญญาไม่ได้ ศีล ก็เพื่อประคับประคองจนเกิดปัญญา สมาธิ ก็ต้องนำไปสู่ปัญญา มิฉะนั้น จะหลงผิด หลงทาง ปัญญา จึงเป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นเอก ปัญญาในขั้นสูงสุด คือ ปัญญาในขั้นที่รู้เท่าทันสัจจธรรม เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา
---8.สอนหลักอนัตตา พระพุทธศาสนาประกาศหลักสำคัญเกี่ยวกับความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือของสภาวะธรรมต่างๆ คือ หลักอนัตตา เป็นหลักใหม่ที่โลกไม่เคยค้นพบมาก่อน ความยึดติดในอัตตาหรือ ตัวตนเป็นสิ่งฝังลึกแนบแน่นในจิตใจมนุษย์ แต่แท้จริงผู้มีปัญญา เห็นว่าสิ่งทั้งหลายที่ดำรงอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมันไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้เลย
---9.การมีทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์แห่งเหตุและปัจจัย เชื่อมโยงกัน อิงอาศัยกันเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง
---10.ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ประเสริฐด้วยการฝึกฝนพัฒนา เมื่อพัฒนา แล้วก็เป็นผู้ประเสริฐสุด ดังพุทธพจน์ว่า ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ (ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ) และเมื่อฝึกดีแล้วมนุษย์ก็จะประเสริฐกว่าเทพทั้งหลาย พระพุทธองค์ฝึกพระองค์ดีแล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อม นมัสการ
---11.เป็นศาสนาแห่งการศึกษา นำเอาการศึกษาเข้ามาเป็นสาระสำคัญ เป็นเนื้อแท้ของการดำเนินชีวิต หลักปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเ รียกว่า มรรค หมายถึง ทางดำเนินชีวิต ดังนั้น วิถีชีวิตของชาวพุทธ คือ การดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 เรียกย่อว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือไตรสิกขา ในที่สุด จะบรรลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดีงาม เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
---12.ให้ความสำคัญทั้งแก่ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือ การคิดใคร่ครวญในธรรมโดยแยบคาย ลึกซึ้ง อย่างผู้มีปัญญา คือรู้จักคิด คิดเป็น ปัจจัยภายนอก ได้แก่ กัลยาณมิตรที่ดี มีครูอาจารย์ที่ดี มีพ่อแม่ที่ดี ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างที่ดี มีแหล่งความรู้ มีสื่อมวลชนที่ให้ สติปัญญา
---13.สอนให้ตื่นตัวด้วยความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำ อัปปมาทธรรม หรือ ความไม่ประมาท ถึงกับตรัสเป็นปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสสุดท้ายก่อนจะปรินิพพาน ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
---14.สอนให้เห็นทุกข์ แต่เป็นสุข นั่นคือ พระพุทธศาสนาสอนให้มองเห็นความทุกข์ แต่ให้ปฏิบัติด้วยความสุข (ทุกข์ สอนไว้ในหลักไตรสิกขา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และทุกข์ ในหลักอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เมื่อความทุกข์มีอยู่จริง พระพุทธศาสนาก็สอนให้เผชิญหน้าความทุกข์นั้น ไม่เลี่ยงหนี แต่ให้มองดูทุกข์นั้นด้วยความรู้เท่าทัน จึงทำให้มีจิตใจปลอดโปร่ง เป็นอิสระ มีปัญญา ไม่ถูกทุกข์บีบคั้น
---15.มุ่งประโยชน์สุขเพื่อมวลชน พระพุทธเจ้าทรงตรัสหลักนี้เสมอ เมื่อเริ่มประกาศพระศาสนาทรงตรัสแก่ภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนทั้งหลาย เพื่อความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก” ดังนั้น การดำเนินชีวิตของชาวพุทธทั้งหลาย จึงควรดำเนินตามพระดำรัสนี้ คือ การทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่สังคม เมื่อทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมที่สำคัญดังกล่าวแล้ว จะทำให้สามารถเข้าใจแนวทางการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีพุทธได้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น
*ต่อไปจะกล่าวถึงโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนแห่งความหวังของสังคมไทยยุคปัจจุบัน
---โรงเรียนวิถีพุทธเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนโดยองค์รวม ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านมุมมองชีวิต ด้วยปัญญาความคิดที่เฉลียวฉลาด รู้เท่าทัน และด้านการดำเนินชีวิตอื่นๆ เน้นการกิน อยู่ ดู ฟัง เป็นวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติ เป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้องและเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน และการบริการจัดการในโรงเรียน
---การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนา ผู้เรียนและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ตามหลักไตรสิกขา ทั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นบุคคลสำคัญที่จะนำครู อาจารย์ บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ให้มาร่วมมือกันดูแลเอาใจใส่นักเรียน ตลอดจนช่วยกันเป็นกัลยาณมิตร และสร้างสรรค์ให้โรงเรียนเป็นแห่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า เป้าหมายก็คือ พัฒนาเด็กให้เป็นเด็กเก่ง เด็กดี และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
---โรงเรียนวิถีพุทธจัดสภาพทุกด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการ ตามหลักไตรสิกขา เกิดลักษณะของปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ คือ
---1.การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครู อาจารย์ดี มีข้อมูลดี มีสื่อที่ดี มี เทคโนโลยีเหมาะสม (สัปปุริสสังเสวะ)
---2.เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี (สัทธัมมัสสวนะ)
---3.มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี (โยนิโสมนสิการ)
---4.ความสามารถที่นำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ และดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามธรรม (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ)
---ด้านกายภาพของโรงเรียนวิถีพุทธ จัดอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม ห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา เช่น มีศาลาพระพุทธรูปเด่น เหมาะสมที่จะชวนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ ตกแต่งบริเวณให้เป็นธรรมชาติ หรือใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนให้มีใจสงบ เช่น สะอาด ร่มรื่น เป็นระเบียบ มีป้ายนิเทศ ป้ายคุณธรรม มีห้องจริยธรรม หรือมุมหนังสือธรรมะ ห้องสมุดพระพุทธศาสนา หากมีพื้นที่บริเวณเพียงพอให้ปลูกต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา โรงเรียนวิถีพุทธที่เป็นตัวอย่างที่ดีด้านกายภาพ เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนวิถีพุทธส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด
---ด้านกิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิตของโรงเรียนวิถีพุทธ เน้นการมีวิถีชีวิต หรือ วัฒนธรรมของ การกิน อยู่ ดู ฟัง ด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นไปตามคุณค่าแท้ของการดำเนินชีวิต โดยมีกิจกรรมตัวอย่าง ดังนี้ กิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระก่อนเข้าเรียน และก่อนเลิกเรียนประจำวัน เพื่อใกล้ชิดศาสนา กิจกรรมรับศีล อาจเป็นบทกลอน หรือเพลงและการแผ่เมตตา เพื่อให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกัน ในสังคมอย่างสันติสุข
---กิจกรรมทำสมาธิ เข้าค่ายปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจให้จดจ่อตั้งมั่น มีสมาธิในการเรียน กิจกรรมพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน เพื่อให้กินเป็น กินอย่างมีสติ มีปัญญา รู้ เข้าใจกิจกรรมบันทึกและยกย่องการปฏิบัติธรรมและทำความดี เพื่อเน้นย้ำและเสริมแรงการทำความดี เป็นต้น โรงเรียนวิถีพุทธที่เป็นตัวอย่างในด้านการจัดกิจกรรม ได้แก่ โรงเรียนวัดอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร โรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
---ด้านการเรียนการสอนในโรงเรียนวิถีพุทธ มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ที่บูรณาการพุทธธรรมในทุกสาระวิชา โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขา อย่างบูรณาการได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ได้แก่ โรงเรียนวัดน้อยนพคุณ กรุงเทพมหานคร กระบวนการจัดการเรียนรู้ ควรมีลักษณะ “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” โดยครูเป็นกัลยาณมิตร และแบบอย่างที่ดี เกิดวัฒนธรรมเมตตาและวัฒนธรรมแสวงปัญญา เช่น “การกิน อยู่ เป็น” เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตที่อยู่ได้เหมาะสม เป็นไปตามคุณค่าแท้ หรือ “การดู ฟัง เป็น” เพื่อเน้นประโยชน์ในการเรียนรู้เพิ่มพูนปัญญา
---ด้านบรรยากาศ และปฏิสัมพันธ์ของโรงเรียนวิถีพุทธ ต้องส่งเสริมบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มีบรรยากาศของการเคารพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความเมตตากรุณาต่อกัน ทั้งครูต่อครู ครูต่อนักเรียน และนักเรียนต่อนักเรียน ส่งเสริมให้บุคลากรและนักเรียนปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เช่น การเสียสละ การลด ละ เลิกอบายมุข โรงเรียนวิถีพุทธส่วนมาก สามารถจัดบรรยากาศเช่นนี้ได้ดี เช่น การมีกิจกรรม “ยิ้ม ไหว้ ทักทายกัน” หรือ “ น้องเคารพพี่” เป็นต้น
---ด้านการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธ ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน สร้างความตระหนักและศรัทธา และความเข้าใจในหลักการและวิธีดำเนินการ โรงเรียนวิถีพุทธร่วมกัน ทั้งนี้ผู้บริหารและครู ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพียรพยายามสนับสนุนและเป็นตัวอย่างที่ดี ตามวิถีชาวพุทธ บางสถานศึกษา ประยุกต์ไตรสิกขาในระดับชั้นเรียนหรือรายวิชา ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ บางสถานศึกษาเน้นประยุกต์ในระดับกิจกรรมวิถีชีวิตประจำวัน หรือบางสถานศึกษา ทำทั้งระบบทุกส่วนของการจัดการศึกษา
---โรงเรียนวิถีพุทธเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษา 1 ใน 5 รูปแบบของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระยะเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2546 มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 89 โรง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2548) มีโรงเรียนต่างๆ ให้ความสนใจ สมัครเข้าร่วม โครงการมากถึง 18,000 โรง ทั่วประเทศ
---โดยหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ หลายหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนวิถีพุทธ จึงได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ รวมทั้งสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้จัดโครงการส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนวิถีพุทธดีเด่น ประจำปีงบประมาณ 2548 เพื่อให้โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนแห่งความหวังของสังคมไทย ได้ขยายเครือข่ายออกสู่วงกว้าง เป็นการสร้างสรรค์สังคมไทย ดำเนินบนหนทางแห่งคุณค่า ด้วยวิถีพุทธธรรมสืบไป.
………………………………………………………
เอกสารอ้างอิง
คุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) , พระพรหม . รู้หลักก่อน แล้วศึกษาให้ได้ผล .
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) , 2547 .
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน .
แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) , 2548 .
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558
ความคิดเห็น