คำถาม-คำตอบ เรื่องน่ารู้ทางพระพุทธศาสนา
โดย ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ
---พระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นแม่แบบของนิกายอื่นๆ อยู่ ๒ นิกายด้วยกัน คือ
---๑) นิกายหินยาน
---๒) นิกายมหายาน
---นิกายหินยาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายเถรวาท และทักษิณนิกาย เหตุที่เรียกว่า นิกายเถรวาท เพราะพระในนิกายนี้ถือปฏิบัติตามหลักคำสอนที่สืบต่อกันมาโดยพระเถระตั้งแต่ ครั้งที่ทำปฐมสังคายนา (สังคายนาครั้งที่ ๑) ซึ่งถือว่าเป็นพระเถระที่ได้มีชีวิตอยู่ทันเห็นพระพุทธเจ้าและได้รักษาคำสอนพระพุทธเจ้าไว้ตามรูปแบบที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ต่อมานิกายนี้ได้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทักษิณนิกาย แปลว่า นิกายฝ่ายใต้ หมายความว่า
---เป็นนิกายของพระภาคใต้นิกายหินยานได้แตกสาขาออกมาอีกในเวลาต่อมารวมกันเป็น ๑๘ นิกาย และในปีพุทธศักราช ๒๑๘ ปี หลังจากทำตติยสังคายนาแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งพระธรรมทูตออกไปประกาศพระศาสนา ๙ สายด้วยกัน เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ที่เห็นเด่นชัด คือ ในประเทศลังการวมทั้งประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีนคือ ลาว เขมร พม่าก็รวมอยู่ด้วย พระพุทธศาสนาที่เจริญแพร่หลายอยู่ในประเทศดังกล่าวมานี้ล้วนเป็นพระพุทธศาสนาประเภทเถรวาททั้งสิ้น
---นิกายมหายาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอาจริยวาท เพราะพระในนิกายนี้ถือปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์ในแต่ละสำนักเป็นหลักและ แก้ไขพระวินัยให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นเหตุการณ์และตามความประสงค์ของตน เองได้ โดยยึดถือพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้เมื่อครั้งใกล้จะเสด็จดับขัน ธปรินิพพานว่า “หากสงฆ์ประสงค์จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ให้ถอนได้”
---เพราะฉะนั้น ในนิกายนี้จึงมีการแก้ไขพระวินัยหลายข้อด้วยกัน และบางสาขาในนิกายนี้แก้ไขพระวินัยถึงขนาดที่ว่า พระมีครอบครัวได้ ต่อมา นิกายนี้ได้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุตตรนิกาย แปลว่า นิกายฝ่ายเหนือ หมายความว่า เป็นนิกายที่แพร่หลายขึ้นไปในแถบภาคเหนือของอินเดีย คือ กำหนดเอาตั้งแต่แคว้นปัญจาปขึ้นไปจนกระทั่งถึงบริเวณพื้นที่ที่เป็นประเทศอา ฟกานิสถานในปัจจุบัน
---นิกายมหายานได้เจริญแพร่หลายอยู่ในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และปัจจุบันได้รับความนิยมกว้างขวางอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติที่ไม่เคร่งครัดมากเกินไป
(หมายเหตุ ในเมืองไทยเรา ก็มีพระพุทธศาสนานิกายมหายานเหมือนกัน และปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย คือ ๑. อนัมนิกาย (ญวน หรือเวียดนาม) และ ๒. จีนนิกาย)
---อย่างไรก็ตาม นิกายทั้งสองนี้ แม้จะมีข้อวัตรปฏิบัติและพิธีกรรมของพระและฆราวาสแตกต่างกันบ้าง แต่เมื่อพูดถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็มุ่งพระนิพพานเป็นจุดสูงสุดเหมือนกัน และนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเช่นเดียวกัน
---ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในเมืองไทยเรานับถือพระพุทธศาสนานิกายหินยาน และปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย คือ
---๑.มหานิกาย
---๒.ธรรมยุติกนิกาย
---ซึ่งนิกายทั้งสองนี้เรานิยมเรียกพระแต่ละนิกายว่า พระมหานิกาย พระธรรมยุต นิกายทั้งสองนี้มีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย จนเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลยไม่ว่าจะเป็นในด้านวินัย บัญญัติ หลักธรรม ที่สำคัญพระในนิกายทั้งสองยังสามารถปฏิบัติศาสนพิธีร่วมกันได้ โดยยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาร่วมกัน
---ส่วนในด้านการปกครอง สมเด็จพระสังฆราช (จากนิกายไหนก็ได้) ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์ ข้อเพิ่มเติม นิกายหินยาน นั้นในทางวิชาการเรามักจะไม่ค่อยใช้กัน เพราะถือว่าเป็นคำดูถูกที่นิกายมหายานยัดเยียดให้นิกายหินยาน เพราะคำว่า หิน (อ่าน หิ-นะ) หมายถึง ต่ำช้า เลวทราม สาเหตุเพราะมุ่งความบริสุทธิ์เฉพาะตัวเป็นหลักก่อนจึงค่อยสอนผู้อื่น แต่นักปราชญ์ฝ่ายหินยานก็เลี่ยงเสียใหม่ แปล หิน ว่า เล็ก เพราะฉะนั้น หินยาน จึงแปลว่า ยานเล็ก หมายความว่า ขนสัตว์ไปนิพพานได้น้อยกว่า ส่วน มหายาน แปลว่า ยานใหญ่ หมายความว่า ขนสัตว์ไปนิพพานได้มากกว่า มหายานท่านว่าอย่างนี้ จะจริงเท็จแค่ไหนก็ต้องปฏิบัติดู.
..................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
จาก... วารสาร พ.ส.ล. ปีที่๓๙ ฉบับที่ ๒๕๖ กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๔๙
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558
ความคิดเห็น