เทวดาประจำตัว
(เทพพรหม องค์ใน ญาณบารมี คนทรงเจ้า คนมีองค์ คืออะไรกันแน่)
---ยากนักที่จะได้เกิดเป็นคน คนนั้นเป็นสัตว์ประเสริฐที่เกิดได้ยากยิ่ง คนเราทุกคนจึงมีค่ามาก เราเกิดมาหลายชาติภพ บางภพไม่ใช่ภพมนุษย์ เช่น ภพนรก ไม่สามารถบำเพ็ญเพียรภาวนาได้ บางภพ เช่น ภพสวรรค์ เห็นความสวยงามไม่ค่อยเห็นอนิจจัง จึงยากนักที่จะละคลายกิเลส บางชาติ เกิดเป็นสัตว์บำเพ็ญไม่ได้ บางชาติเป็นคนตาบอด อ่านหนังสือไม่ได้ บางชาติ ไม่มีศาสนาสอนมนุษย์ จึงไม่เข้าใจธรรม ดังนั้น ได้เกิดเป็นคนปกติ มีพระพุทธศาสนาจึงยากยิ่งแล้ว
---ดังนั้น ระบบการดูแลสามภพ จึงจัดให้คนนั้น ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากเทวดาบนสวรรค์ แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น สัตว์นรก ได้รับการลงโทษแทนการดูแล สัตว์เดรัจฉาน ได้รับการปล่อยไปตามยถากรรม ให้กินกันเอง ชดใช้กรรมกันเอง เพื่อบรรเทากรรมที่มีต่อกันให้เบาบางก่อนมาเกิดเป็นคน เมื่อได้มาเกิดเป็นคนแล้ว จึงจะมี “เทวดาประจำตัว” เพื่อคอยดูแล
---และเทวดาประจำตัวเหล่านี้ จะมีจำนวนมากกว่ามนุษย์ (เพราะมนุษย์เกิดได้ยาก จึงมีจำนวนน้อย) เทวดาประจำตัวจึงต้องมีเวร ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาบำเพ็ญบุญบารมี โดยมีพระอินทร์ เป็นผู้จัดสรรที่สำคัญที่สุด ให้เทวดาในชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่สอง) ซึ่งเป็นบริวารของท่านลงมาทำกิจ
---ในขณะที่ท้าวจตุโลกบาล ซึ่งปกครองสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกับพื้นโลก จะไม่ได้รับผิดชอบ เรื่องเทวดาประจำตัว เพราะท่านจะดูแลพื้นที่เขตต่างๆ ทั้งดินน้ำและอากาศของโลก ในรูปของการดูแลจัดการเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา แทน ซึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครอง ด้วยการอ้างอิงตามอาณาเขต ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล นับเป็นคนละกิจกัน
---เทวดาประจำตัว จะมาตั้งแต่ตอนจุติ เพราะต้องคอยระวัง ปกป้องไม่ให้เจ้ากรรมนายเวร รบกวนทำลาย จิตที่จุติฟักตัว ในรูปตัวอ่อนในท้องแม่ เพราะง่ายต่อการตายมาก ถ้าเทวดาประจำตัวทำงานได้ดี การตายในท้อง แล้วจุติใหม่ซ้ำๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น จวบจนกระทั่ง ถึงวาระสิ้นอายุขัย เทวดาประจำตัวก็จะออกไป เปิดโอกาสให้ยมทูตหรือเทวทูตมารับตัวแทน ซึ่งจะเป็นเทวดาอีกชุดหนึ่ง คนละชุดงานกัน ลงมาทำหน้าที่รับช่วงต่อ
---เมื่อคนเกิดมา พระอินทร์จะจัดเวรเทวดาชั้นดาวดึงส์มาดูแลเรา เช่น ที่เรียกว่า แม่ซื้อ ฯลฯ โดยนำเทวดาที่มีกรรมเกี่ยวข้องกับเรามาดูแลเรา จะไม่สะเปะสะปะสับสน ไม่สุ่มมั่วซั่ว เพราะการที่คนที่ไม่มีบุญกรรมต่อกัน มาสร้างบุญกรรมกันระหว่างชาติภพนี้ จะก่อให้เกิดกรรมใหม่ๆ ที่ต้องไปชดใช้กันยุ่งเหยิงมากขึ้น ส่งผลให้การบรรลุธรรมนั้น ต้องมีชาติภพยืดยาวออกไป เพราะต้องชดใช้เวรกรรมกันให้หมดนั่นเอง
---ดังนั้น เทวดาประจำตัวเรา จึงมาจากคนที่เคยช่วยเหลือจุนเจือ มีบุญสัมพันธ์กับเรามาทั้งสิ้น ตามแต่วาระ ที่พระอินทร์จะจัดสรรลงมา ได้แก่ พ่อแม่ ปูย่า ตายาย ของเรา ที่ตายไปแล้วจุติบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งหลายนั่นเอง
---ทั้งนี้ โปรดเข้าใจว่าเทวดาชั้นยามา จะไม่มาทำกิจนี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะปฏิบัติธรรมภาวนากันมาก ไม่ค่อยยุ่งกันเรื่องทางโลก เหมือนเทวดาชั้นที่สอง ส่วนเทวดาชั้นที่สี่ สูงขึ้นไป คือ ดุสิต ก็จะไม่มาทำกิจเล็กๆ น้อยๆ นัก การที่ลงมาดูแลคนเป็นคนๆ จึงไม่ควรเป็นกิจของพระโพธิสัตว์แห่งดุสิตสวรรค์ เพราะท่านจะรับกิจภาพกว้างมากกว่านั้น เอื้อต่อสรรพสัตว์จำนวนมาก คราวละมากๆ มากกว่านั้น ในขณะที่ชั้นสูงกว่าดุสิตขึ้นไป จะไม่สนใจมาช่วยเหลือมนุษย์นัก อันได้แก่ ชั้นนิมารดี และปรนิมมิตวสวัตตี ทั้งสองชั้นนี้ เป็นชั้นของมาร ที่มีแต่เห็นแก่ตัวเป็นสำคัญ
---ดังนั้น ทุกคนจึงมีเทวดาดูแลประจำอยู่แล้วทั้งสิ้น แต่จะไม่เรียกว่ามี “องค์ใน” บุคคลที่จะถูกเรียกว่า “มีองค์” หรือมีเทพชั้นสูงๆ มาดูแล ก็ต่อเมื่อ เขาถึงวาระแห่งการบำเพ็ญเพียรภาวนาแล้ว เบื้องบนก็จะส่งเทพพรหมที่มีฤทธิ์มาก แตกต่างกันลงมาคุ้มครองดูแล และทำกิจมากกว่าเทวดาประจำตัว เพราะมีอิทธิฤทธิ์ส่งผลต่อชีวิตของคนมีองค์ได้มาก
---และเทพพรหมเหล่านี้ จะมี “กิจเฉพาะ”ที่ได้รับจากเบื้องบนลงมากระทำต่อบุคคลนั้นๆ ดังนั้น จึงมีผลให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปอย่างมากนั่นเอง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไม จู่ๆ วิถีชีวิตเกิดเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายกระทันหัน ในระยะเวลาสั้นๆ และถูกทักว่า “มีองค์ใน” เทพ พรหม ฯลฯ ที่ลงมาทำหน้าที่ เกี่ยวข้องกับผู้คนนั้น มีกิจเฉพาะหลากหลายมาก ดังที่ได้เกริ่นมาว่า แต่ละองค์มีฤทธิ์และกิจเฉพาะที่รับมาจากเบื้องบนต่างกันไป ในบรรดาเทพพรหมที่ลงมาทำกิจเหล่านี้ สามารถจำแนกได้ออกเป็นสามกลุ่ม คือ
*๑)กลุ่มสมณเทพ
---คือ กลุ่มที่มีเทพสองประเภทลงคุ้มครองดูแลหรือทำกิจ ได้แก่ กลุ่มพระสมณะ (เทพที่มีลักษณะเป็นพระตัดกามไร้เพศบำเพ็ญภาวนาทางพุทธะ) และกลุ่มเทพพรหม หรือเทพที่มีฤทธิ์ต่างๆ แต่ไม่ได้ละเพศ ยังมีกามกิเลสตามปกติ กลุ่มคนที่จัดว่ามีองค์ในแบบ “สมณเทพ” นี้ จะถือว่ามีทั้งสองแบบ ดังนั้น จะสามารถล่วงรู้ด้วยญาณของตนได้ว่า ผู้ใดมีองค์ในแบบเทพพรหม และผู้ใดมีองค์ในแบบสมณะดูแลอยู่ สามารถบริหารจัดการคนที่มีองค์ได้ทั้งสองแบบ ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนน้อย และมีแนวทางในการบำเพ็ญภาวนาที่แตกต่างกัน
*๒)กลุ่มพระสมณะ
---คือ กลุ่มที่มีเทพประเภทพระสงฆ์ ผู้ตัดกาม ละเพศ บำเพ็ญภาวนาจิต เพื่อพุทธะเพียงอย่างเดียว คอยดูแลคุ้มครองปกป้อง หรือสอนธรรม หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตอยู่ กลุ่มนี้ หากได้รับการคุ้มครอง ก็จะพบปาฏิหาริย์ เช่น รอดตายหวุดหวิด หากได้รับการสอนธรรม ก็อาจได้เห็นนิมิตที่แฝงปริศนาธรรม หรือได้ยินเสียงทิพย์ หากกำลังถูกปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ก็จะถูกบีบเค้นอย่างหนัก ให้เข้าสู่ทางธรรม แต่ฝ่ายเดียว ไม่มีเส้นทางอื่นให้เลือกเลย สำหรับคนที่มีองค์ในแบบสมณะเหมือนกัน มักมองกันก็เข้าใจ คุยกันง่าย เข้าใจกันง่าย ในกลุ่มนี้ มักเป็นผู้นิยมเข้าวัดประจำๆ และนับถือพระมาก เช่น องค์ในเป็นหลวงปู่ทวด
*๓)กลุ่มเทพพรหม
---คือ กลุ่มที่มีเทพประเภท มหาเทพฮินดู, พรหม, เทพจีน ฯลฯ ผู้ยังมีกาม มีเพศอยู่มาคอยดูแลคุ้มครองปกป้อง หรือช่วยการงาน หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตอยู่ แต่ปกติ จะไม่มีหน้าที่สอนธรรมะ
---ยกเว้นบางองค์ที่มีปางอวตารเป็นโพธิสัตว์ เช่น องค์ศิวะ, องค์อุมา (บางปางก็คือพระกวนอิม) เป็นต้น หากมีองค์ที่มีปางอวตารแบบนี้ จะมีการสอนธรรมได้ แต่หากไม่มีก็จะไม่สามารถสอนธรรมได้ จะบำเพ็ญเพียรช่วยเหลือคนในด้านอื่นๆ เช่น ช่วยในมูลนิธิต่างๆ ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ มักได้รับการช่วยเหลือแบบพิเศษจากเทพพรหมก่อน
---แต่หากไม่ทำความดีเลย สุดท้าย เทพพรหมจะถูกเรียกกลับ แล้วปล่อยทิ้งให้ร่างนั้น ถูกเจ้ากรรมนายเวรและภูตผีต่ำช้าอื่นๆ รุมทึ้งเอาแทน ดังนั้น หลายท่าน จึงมักบอกว่า อย่าไปรับขันธ์ อย่าเป็นร่างทรง ด้วยเหตุนี้ แท้แล้วการรับขันธ์ ไม่ใช่การเป็นร่างทรง
---ส่วนบุคคลที่เป็นร่างทรงนั้น คือ “อาชีพ” อุปมาเหมือนพระ ที่ไม่มีอาชีพ แต่หากทำตัวเรียกเก็บเงินค่าช่วยเหลือผู้อื่น ก็กลายเป็นอาชีพไป คนที่รับขันธ์ ไม่ควรเป็นร่างทรง แต่ควรบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือคนไป โดยไม่สนใจเรื่องเงินและอาชีพ แล้วสุดท้ายจะดีเอง
*๔)กลุ่มนอกรีต
---คือ กลุ่มสุดท้ายที่เข้ามาครอบงำจิตของคน หลังจากที่ร่างเปิดรับจิตวิญญาณอื่นแล้ว จะปิดได้ยาก หรือปิดเองไม่ได้ เมื่อหลงทะนงตนเย่อหยิ่ง มักจะถูกทอดทิ้งจากเทพพรหมองค์ก่อน เพราะพฤติกรรมที่ตกต่ำ เป็นเหตุให้เทพชั้นสูงๆ ไม่สามารถมาช่วยได้ เมื่อท่านจากไป บรรดาเจ้ากรรมนายเวร สัมภเวสี เปรต สัตว์นรก ฯลฯ ก็มาเข้าร่างแทน ซึ่งยังผลให้ชีวิต พบกับความวิบัติหายนะในที่สุด เหล่านี้ รวมเรียกว่า “จิตวิญญาณนอกรีต” เพราะไม่ได้อยู่ในการดูแลบริหารจัดการของเบื้องบน แต่เกิดจากการ “ลักลอบ” หนีจากนรก แล้วมาสิงสู่อาศัยร่วมกับคนเท่านั้นเอง ซึ่งบางท่านถึงกับต้องกลายเป็นปอบ
---คำว่า “ญาณบารมี” ก็เกิดจากการสัมผัส คนมีองค์ต่างๆ นี่เอง เพื่อดูว่า แต่ละท่านมีองค์ใดช่วยอยู่ ในที่นี้ขอให้เข้าใจว่า องค์เทพใหญ่ๆ จะไม่ลงมาทั้งองค์ แต่จะแบ่งส่วนบารมีท่านลงมา เรียกว่า “ญาณบารมี” ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมจึงพบคนที่มีองค์เหมือนกันหลายคน เพราะเป็นการแบ่งญาณบารมีของเทพใหญ่ๆ มาช่วยคนพร้อมกันจำนวนมากๆ เท่านั้นเอง
---ในการบำเพ็ญให้จิตเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเหล่านี้ ให้ระลึกเสมอว่า เราคือท่าน ท่านคือเรา จึงจะราบเรียบ ไม่เกิดการยื้อดึงของร่าง การสั่นของร่าง อย่างที่เราเห็น “คนทรง” เป็นกัน คนที่บำเพ็ญถูกต้องแบบพราหมณ์ฮินดู คือ เข้าใจว่าเราเหมือนอาตมัน เทพเหมือนปรมาตมัน ก็จะหลอมรวมทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว ทำกิจได้เหมือนคนปกติ อย่างราบเรียบกลมกลืน ไม่กระตุก ไม่สั่น ไม่ใช่ร่างทรง และสามารถดึงความสามารถพิเศษที่องค์เทพนั้นๆ มี มาใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาตินั่นเอง
---อนึ่ง พึงเข้าใจว่า เราและจิตวิญญาณ ที่มาคุ้มครองเรานั้น คนละส่วนกัน แต่จิตวิญญาณที่มาคุ้มครองเรานั้น มักพูดเสมอว่า เราคือท่านและท่านคือเรา เพื่อให้เราหลอมรวม แนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับองค์ท่าน และท่านจะทำกิจได้ง่าย ไม่ขัดขืน ไม่ลังเล หรือยื้อกันไปมาระหว่างจิตสองดวง
---ดังนั้น หลักการบำเพ็ญของพราหมณ์ฮินดูจึงมักพูดถึงการหลอมรวมระหว่างอาตมัน และปรมาตมันด้วยเหตุนี้ เพื่อเปิดทางให้เทพเบื้องบน ทำงานกับเราได้สะดวกนั่นเอง และเราก็จะดึงพลังของเทพที่ท่านมีอยู่ ที่เบื้องบนประทานมาให้นี้ นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงานต่างๆ ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น แต่ทว่า ต้องไม่หลงตัวเอง ไม่หลงลืมไปว่า เราก็ส่วนหนึ่ง คือ อาตมัน และเทพก็ส่วนหนึ่ง คือ ปรมาตมัน (ปรมาตมัน หมายถึง เทพมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจิตวิญญาณไหนก็ตาม เพราะรับคำสั่งเดียวกันมาจากเบื้องบน แม้จะทำกิจต่างกัน รูปนามต่างกัน)
---ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มีอัตตา ตัวกูของกู มากแล้ว มักพบกับความวิบัติภายหลัง เพราะนิยมยึดถือว่า ตนเองเป็นเทพยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์มากอยู่คนเดียว ผู้อื่นไม่ใช่ ผู้อื่นเป็นตัวปลอมผิดไปหมด (ทั้งๆ ที่เทพ ท่านแบ่งญาณบารมีได้ จึงโปรดช่วยคนได้หลายคนพร้อมกัน) สิ่งนี้ต้องระวังให้มาก เมื่อใดก็ตามหลอมรวมจิต คิดว่าเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ต้องไม่ยึดเป็นอัตตา
---ญาณบารมี มากหรือน้อย เทพจะองค์ใหญ่องค์น้อยนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการบำเพ็ญของเรา ยกตัวอย่างเช่น พระนารายณ์มาช่วยคนๆ หนึ่ง ท่านเป็นเทพใหญ่มาก แต่หากบำเพ็ญด้อยแล้ว ตัวเองก็จะแย่ ไปสู้กับ คุณไสย ก็ถูกคุณไสยเข้าตัวเสียอย่างนั้น สุดท้ายไม่ได้เป็นผลดีเลย ในขณะที่คนอีกคนหนึ่ง มีองค์พิฆเนศ ซึ่งเป็นมหาเทพระดับลูกของพระมหาเทพทั้งสาม (นับว่าอิทธิฤทธิ์รองลงมา) แต่ผู้นั้นคิดสร้างสรรค์งานเพื่อพุทธศาสนา แล้วด้วยบารมีแห่งองค์เทพพิฆเนศ เป็นองค์เทพแห่งความสำเร็จ
---ท่านลองไตร่ตรองดูเถิด ว่าคนประเภทที่สอง ที่ได้รับองค์พิฆเนศซึ่งรองจากมหาเทพทั้งสามนี้ อิทธิฤทธิ์แม้น้อยกว่าองค์นารายณ์นี้ กลับได้บุญบารมีมากกว่า เพราะช่วยงานพุทธศาสนาจนสำเร็จ ในขณะที่ คนแรก ไปต่อสู้กับมนต์ดำ จนตัวเองต้องถลำเข้าไปสู่วังวนการต่อสู้ทางจิต แทบไม่ได้บุญอะไรเลยในบางครั้ง เพราะเอาแต่ปะลองฤทธิ์กัน เช่นนี้
---จึงกล่าวได้ว่า เทพองค์ใหญ่หรือเล็กนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ตัวเราทำอะไร หากมีองค์เทพอยู่ด้วย ขอให้ดึงพลังของท่านมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สุขให้มากที่สุด ไม่ใช่ใช้ไปนอกลู่นอกทาง ซึ่งยังผลให้บั้นปลายสุดท้าย ต้องรับกรรมอย่างหนักหนาสาหัส ไม่เป็นผลดีต่อตนเองเลย
---การดึงญาณบารมีลงมาประทับ และการดึงญาณบารมีกลับ ในบางครั้ง จำเป็นต้องทำเพื่อปรับให้การบำเพ็ญสมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป ยกตัวอย่างเช่น บางท่านมีญาณบารมี แบบสมณเทพ คือ มีทั้งพระสมณะและเทพพรหม
---หากมีเทพพรหมมากช่วงไหน ก็บำเพ็ญบารมีมาก หากมีพระมากช่วงไหนก็ปฏิบัติจิตมาก บางครั้ง จำต้องปรับญาณบารมีให้ตัวเอง เช่น การไปวัด ทำบุญ สัมผัสพระธาตุ ไหว้พระธาตุ เหล่านี้ทำให้ญาณบารมีฝ่ายสมณะเพิ่มขึ้น (หากต้องการ) หรือ การไปทำพิธีพราหมณ์ ไหว้องค์เทพ ทำให้ญาณบารมีองค์เทพมากขึ้น (หากต้องการ)
---บางท่านมีพลังจิตพิเศษ สามารถติดต่อสื่อสารกับเบื้องบนได้ และอัญเชิญญาณบารมีองค์เทพต่างๆ ลงมาประทับคุ้มครองผู้คนได้ และบางท่านก็สามารถดึงญาณบารมีขององค์เทพกลับได้ หากพบว่ามากเกินไป หลงเกินไป หรือเดินทางผิดพลาด ก็สามารถดึงญาณบารมีเก็บกลับได้เช่นกัน ซึ่งบุคคลผู้ที่ทำหน้าที่เหล่านี้ได้แท้จริง มีจำนวนน้อย และมักถูกมองหาว่า "บ้า" เพราะทำหน้าที่ในกิจที่ตาเนื้อมองไม่เห็น ที่เรียกว่า “อนุตรธรรม” ซึ่งจะมีเรื่องของการเปิดจิตญาณต่างๆ นั่นเอง.
.............................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 24 กันยายน 2558
ความคิดเห็น