ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง "สีออร่า"
---วันก่อนผู้เขียนได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่อง "ความเชื่อ" ของมนุษย์ โดยกล่าวถึงลักษณะความเชื่อทั่วไปของมนุษย์เรา และเขียนไว้ว่า เป็นตอนที่ ๑ ซึ่งหมายความว่า เรื่องนี้ยังมีประเด็นให้เขียนถึงอีก
---วันนี้ก็เลยอยากเขียนถึงเรื่องความเชื่อของมนุษย์ ในลักษณะที่เจาะจงลงไปหน่อย โดยประเด็นแรกที่จะยกมาอภิปรายก็คือ “ความเชื่อเรื่องสี” เหตุที่ประเด็นขึ้นมา ก็เพราะมองเห็นว่า เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะพบเห็นทุกวัน อย่างเช่น ก่อนออกไปทำงาน แต่ละคนก็จะเลือกดูว่า วันนี้ต้องใส่เสื้อหรือชุดสีอะไร ไปทำงาน ยกเว้นท่านมีฟอร์มประจำ ที่ไม่จำเป็นต้องเลือกเลย เพราะบริษัทเขาเลือกไว้ให้แล้ว หรือ จะไปเที่ยว ไปเดินตลาด ก็มักจะให้ความสนใจเรื่องสีอยู่บ้างเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น
---ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องสีเลย ให้ผสมสียังผสมไม่ถูกเลย เพียงแต่ว่า มันเกิดข้อสังเกตเท่านั้นเอง และอยากรู้เหมือนกันว่า มนุษย์มีความเชื่อเรื่องสีว่าอย่างไรบ้าง ในแง่จิตวิทยา
---วันนี้มาดูก่อนว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง “สี” ที่ปรากฏทั่วไปในสังคมโลกนั้น เขาเชื่อกันว่าอย่างไรบ้าง และในตอนท้ายผู้เขียนจะแสดงทัศนะประกอบ อันดับแรกนี้ มาดูความเชื่อเรื่องสี ของกลุ่มนักศึกษาเรื่อง “พลังออร่า” กลุ่มนี้เชื่อว่า ในร่างกายคนเรานั้นเซลล์ต่างๆ ขับแสงสีต่างๆ ออกมา และสีเหล่านั้น มีความหมายต่อชีวิตของคนๆ นั้นด้วย ด้านล่างนี้คือ ความหมายและรายละเอียดเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องสีต่างๆ ที่พวกเขามี
---ออร่า (Aura) ..คือ แสงสี ที่เกิดจากเซลล์ต่างๆ และอวัยวะส่วนสมองของเรา บ่งบอกถึงสภาวะจิต ความรู้สึกนึกคิด สุขภาพร่างกายของเราว่าเป็นอย่างไร ใครมีความคิดดี มีสมาธิดี มีสติปัญญา ความขยันหมั่นเพียร มีความสดชื่น สดใส แสงออร่าก็จะแผ่กว้างออก ยิ่งมีพลังมากก็จะแผ่กว้างมาก ใครที่ไม่มีสมาธิ ขาดสติปัญญา แสงออร่าก็จะน้อยไม่มีพลัง
---ในทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ว่า สมองของคนเรานั้น จะมีคลื่นพลังไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ที่เปล่งรัศมีเป็นพลังอำนาจออกมา ขนาดความกว้างและความสว่างของแสงนั้น ขึ้นอยู่กับคลื่นพลังสมองของผู้นั้น ในแถบยุโรปและอเมริกา ได้รับการยอมรับอย่างมากและสรุปสีที่ปรากฏ พร้อมกับให้ความหมายของสีต่างๆไว้ ดังนี้
---แสงสีทอง จิตใจมีเมตตากรุณา อยากช่วยเหลือผู้อื่น มีความพึงพอใจในตนเอง
---แสงสีขาว ความบริสุทธิ์ จริงใจ
---แสงสีม่วง เห็นสัจธรรมของโลก มีความคิดแจ่มใส
---แสงสีคราม มีไหวพริบดี ฉลาด รู้เท่าทัน เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้เร็ว
---แสงสีฟ้า อารมณ์อ่อนไหว ต้องการชื่อเสียง
---แสงสีเหลือง สมถะ พอเพียง รักสันโดษ รู้จักประมาณตน
---แสงสีแดง ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด ยึดติดอำนาจ ทรัพย์สิน
---แสงสีส้ม ฉลาด มีความคิด เอาตัวรอดเก่ง
---แสงสีชมพู ความรัก โรแมนติก สุนทรีย์
---แสงสีเขียว อารมณ์แปรปรวนง่าย ชอบเด่นดัง
---แสงสีเทา หรือดำ จิตขุ่นมัว มีความเคียดแค้น พยาบาทจองเวร
---ข้อสังเกต ในความหมายของสีต่างๆ ดังกล่าวนั้น มีลักษณะเหมือนเป็นคำทำนาย และคล้ายกับการเก็บสถิติของนักโหราศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งพวกเราผู้มีปัญญา อ่านแล้ว ฟังแล้ว สามารถตัดสินใจได้ว่า ควรเชื่อหรือไม่อย่างไร มาดูอีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มนี้เป็นนักศึกษาทางศาสนา และอธิบายความเชื่อเรื่องสีมาโยงกับความเชื่อทางศาสนา กลุ่มนี้ให้ความหมายของสีไว้อย่างนี้ ครับ
*สีดำ (Black)
---เป็นสัญลักษณ์ของ ความตายและยมโลก มาตั้งแต่ก่อนยุคของคริสตศาสนา พวกนอกรีต สังเวยสัตว์ สีดำเป็นเครื่องบวงสรวงบรรดาเทพเจ้าในยมโลก
*สีน้ำเงิน (Blue)
---เป็นสีของ ท้องฟ้า จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์และความรักแห่งสรวงสวรรค์ นอกจากนี้ สีน้ำเงินยังใช้เป็นสีแห่งสัจธรรมด้วย เพราะเป็นสีที่ปรากฏบนท้องฟ้า เมื่อเมฆหมอกหมดไป
*สีน้ำตาล (Brown)
---เป็นสีของ ความตายแห่งจิตวิญญาณและความเสื่อมทราม รวมทั้งการสละโลก ด้วยเหตุนี้ นิกายฟรานซิสกัน และนิกายคาปูชิน (Capuchin Order) จึงใช้สีน้ำตาลเป็นสีเครื่องแต่งกาย
*สีเทา (Gray)
---เป็นสีของ เถ้าถ่าน ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าโศกและความถ่อมตน เป็นสีที่บางครั้ง ใช้ในระหว่างฤดูถือบวช และเนื่องจากสีนี้ เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ทางเนื้อหนังและความเป็นอมตะ แห่งจิตวิญญาณ บางครั้งศิลปินจึงเขียนภาพพระคริสต์ทรงฉลองพระองค์สีเทาในวันตัดสินโลก สีเทาเป็นสีของ นิกายวอลลอมโบรเซียน (Vollombrosian Order) และนิกายเบเนดิคทีน
*สีเขียว (Green)
---เป็นสีของ พฤกษชาติและฤดูใบไม้ผลิ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะที่ฤดูใบไม้ผลิมีต่อฤดูหนาว ซึ่งก็คือ ชัยชนะของชีวิตที่มีต่อความตายนั่นเอง และเนื่องจาก สีเขียวเป็นสีผสมระหว่างสีเหลืองและสีน้ำเงิน จึงใช้เป็นเครื่องหมายของความเมตตา และการเกิดใหม่ของวิญญาณ พวกนอกรีตใช้สีเขียว เป็นสัญลักษณ์ของน้ำที่ใช้ในพิธีรับสามชิกใหม่เข้าสู่ลัทธิของตน สีเขียวจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของของการชักนำจิตวิญญาณเข้าสู่ศาสนา
*สีม่วงแดง (Purple)
---เป็นสีที่ใช้กับ กษัตริย์และแสดงให้เห็นถึงอำนาจของจักรพรรดิ์
*สีแดง (Red)
---เป็นสีของโลหิต ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของทั้งความรักและความเกลียดชัง ในหมู่ชาวโรมันถือว่า สีแดงเป็นสีของพลังที่ยิ่งใหญ่ คตินี้เหมือนกับของทางคริสต์ ซึ่งใช้สีแดงเป็นสีเครื่องแต่งกายของพระคาร์ดินัล รูปนักบุญจอห์น ผู้บันทึกพระคริสตประวัติมักอยู่ในเครื่องแต่งกายสีแดง เพื่อแสดงว่า ท่านเป็นผู้รักการปฏิบัติ ตามคตินิยมของคริสตจักร สีแดงเป็นสีที่ใช้กับบรรดานักบุญ ผู้ยอมรับทัณฑ์ทรมาน เพราะท่านเหล่านี้ ยอมรับความทรมานจากการประหัตประหารของพวกนอกรีต ยิ่งกว่าละทิ้งศรัทธาในองค์พระคริสต์ และเนื่องจากสีแดงเป็นสีของไฟจึงใช้ในเทศกาลเพนตีคอสต์ด้วย
*สีม่วงคราม (Violet)
---เป็นสัญลักษณ์ของ ความรักและสัจธรรมหรือความทุกขเวทนาและความเจ็บปวด
*สีขาว (Write)
---เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ความบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณและความศักดิ์สิทธิ์
*สีเหลือง (Yellow)
---เป็นสัญลักษณ์ ของสองสิ่งตรงข้ามกัน แล้วแต่ว่าจะใช้อย่างไร สีเหลืองทอง เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และพระผู้เป็นเจ้า ภาพเขียนยุคเรอเนสซองส์หลายรูปใช้สีเหลืองทองเป็นสีพื้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่ปรากฏในภาพนั้น
---ในกลุ่มทางศาสนานี้ อาจขาดความเชื่อ เกี่ยวกับบางสีไปบ้าง แต่ก็มีสีอื่นที่พอให้เห็นความเหมือนกันได้บ้าง เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับสีดำ อันนี้ดูเหมือนจะคล้ายๆกันทั่วโลก เป็นสีแห่งความมืดมัว หรือเป็นอัปมังคลว่างั้น
---ความเชื่อเหล่านี้ มนุษย์ได้ปล่อยให้มันแล่นเข้าสู่สมองและบันทึกเป็นหน่วยความจำเอาไว้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องสมมติบัญญัติทั้งนั้น แต่ว่าเป็นสมมติที่เกิดการยอมรับทั่วไปและมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ของมนุษย์เหลือเกิน มากจนกระทั่งบางคนยอมไม่ได้ ถ้าหากต้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ได้ตามที่ต้องการ
---มีคำพูดประโยคหนึ่ง ที่แพร่หลายมากเมื่อสองสามปีก่อน แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังได้ยินอยู่ คือ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ความจริงแล้วคนเราไม่จำเป็นต้องไปถกเถียงกับใคร ในเรื่องนี้ให้เสียเวลาหรอก เพราะว่า การไม่เชื่อก็ดี การลบหลู่ก็ดี เป็น “สิทธิ” อย่างหนึ่งของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องใดก็ตามในโลกนี้
---มนุษย์บางคนหรือหลายคนมี “สิทธิ์” ที่จะไม่เชื่อหรือเชื่อก็ได้ ไม่ใช่ความผิดอะไรของเขาที่เชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งสำคัญที่จะตัดสินว่า เขาเป็นคนดี เป็น “มิตรต่อโลก ต่อสังคม ต่อมนุษย์ด้วยกัน” หรือไม่ ก็คือ “การกระทำทั้งสามทาง คือ กาย วาจา และใจ” ของคนๆนั้น
---ส่วนเรื่องความเชื่อส่วนตัว ในบางเรื่องบางราว ถ้าเราฟังแล้ว เราไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบ ก็เฉยๆไว้ ในการปรับกระบวนการ ทางความคิดเห็นหรือทัศนะให้ถูกต้อง ตรงตามธรรมชาติ ตรงตามความเป็นจริงแท้ๆเลยเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลา เพราะความเชื่อบางอย่าง ของบางคนนั้นมัน “ฝังหัว” ไปแล้ว มันหลอมรวมเป็นหนึ่งกับเนื้อและกระดูกของเขาแล้ว
---ถ้าท่านจะไปถอนเขาออกจากความเชื่อนั้น มันยากลำบากพอๆ กับเทวดาตนหนึ่งไปพาหนอนในส้วม ซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นเพื่อนกัน ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์นั่นแหละ หนอนไม่ยอมไปเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่า บนสวรรค์นั้น การกินอยู่ลำบากกว่าการเป็นหนอนในส้วมมากนัก เป็นหนอนในส้วมไม่ลำบากเรื่องการกินอยู่ ถึงเวลาก็มีกินเอง ส่วนบนสวรรค์นั้น ลำบากขนาดจะกินยังต้องคิดเอาเลย....นี่เป็นเหตุผลของหนอน
---ความเชื่อบางอย่าง แม้จะดูเป็นเรื่องที่มีเหตุผลควรเชื่อน้อยไปหน่อย แต่ว่าบางทีก็เป็นจริยธรรม ที่ควบคุมบังคับชีวิตของมนุษย์คนนั้น ให้อยู่ในกรอบของความดีงามได้เหมือนกัน ในทัศนะของศาสนาบางศาสนาเช่น พุทธศาสนา ท่านสอนให้ใช้ความเชื่อเป็น “ก้าวแรก” เป็น “สะพาน” นำเราไปสู่ “สัจธรรม” ไปสู่ “การรู้แจ้ง” ด้วยตัวเราเอง การรู้แจ้งในที่นี้ท่านหมายถึง การเห็นความจริงแท้ในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่งหมดกิเลส สิ้นความทุกข์
---เมื่อเราก้าวถึงฝั่งที่ว่านี้แล้ว ความเชื่อต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป อุปมาเหมือนนักเรียนต้องเชื่อครู ที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆไปก่อน เมื่อตนเองเก่งกล้าสามารถ เข้าใจหลักวิชาได้ด้วยตนเอง อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว การที่ต้องกลับไปเชื่อครู ในหลักการเก่าๆ ก็ไม่จำเป็นอีก เพราะได้รู้เห็นได้เข้าใจด้วยตนเองแล้ว หรือ อุปมาเหมือนนักเรียนที่เรียนภาษาไทย แรกๆ ก็ต้องเชื่อครูก่อน ครูให้อ่านว่าอย่างไรก็อ่านไปก่อน ต่อมาเมื่อสามารถอ่านตัวหนังสือได้ด้วยตนเองแล้ว ต่อไปก็ไม่จำเป็นไปฟังครูอ่านคำเดิมๆ อีก เพราะเราสามารถอ่านเองได้แล้ว
---อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนหลังไม่ต้องเชื่อในตัวครูแล้ว แต่ท่านก็สอนให้เรา ไม่ลืมบุญคุณของครู เพราะที่เราก้าวถึงฝั่งคือ ความเข้าใจในหลักวิชาต่างๆ ได้ เพราะอาศัย “ความเชื่อ” ในตัวของครูเป็นเบื้องต้นนั่นเอง
---กล่าวโดยสรุปแล้ว "ความเชื่อเรื่องสี" เป็นความเชื่อที่มนุษย์ใช้วิธีสังเกตและเก็บสถิติ แล้วก็เขียนเป็นความหมาย กำกับเอาไว้ และบังเอิญว่า ความเชื่อเหล่านี้ไปโดนใจของมนุษย์ด้วยกันเข้า จึงทำให้ได้รับยอมรับและเผยแพร่อย่างแพร่หลายไปในที่สุด
---ความเชื่อเรื่องนี้ เรามีสิทธิอันชอบธรรม ที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้ ถ้าเชื่อแล้วมันทำให้ใจของท่านมีแต่ความระทมในภายหลัง ก็อย่าไปเชื่อเลยดีกว่า แต่ถ้าเชื่อแล้ว มันทำให้ใจของท่านเบาสบาย มีความสุขขึ้นมาบ้าง หายเครียดไปบ้าง ก็เชื่อไปเถอะ สิ่งสำคัญก็คือ ขอให้เชื่ออย่างมีปัญญา มีเหตุผล เพราะความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาหรือมีเหตุผลเท่านั้น ที่จะสามารถนำเราไปสู่ “สัจธรรม” ไปสู่ “ความเข้าใจ” “การเห็นแจ้ง” ตรงตามธรรมชาติอย่างแท้จริงได้ ฯ
(ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็อย่าเพิ่งเชื่อนะครับ กรุณาใช้ปัญญาพิจารณาก่อนครับ)
........................................................................
ขอบคุณแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสี
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 24 กันยายน 2558
ความคิดเห็น