ชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนา
ชาย โพธิสิตา
---บทความนี้ ต้องการแสดงทัศนะต่อชีวิตและความตาย จากมุมมองของพุทธศาสนา แม้ว่าเรื่องของชีวิตและความตาย จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของโลก แต่คนส่วนมากก็มักไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของมัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถกำหนดท่าทีและการกระทำที่ถูกต้องในเรื่องที่สำคัญนี้ได้ ผลที่ตามมา อาจเป็นความทุกข์ในระดับต่างๆ หรืออย่างน้อย ก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์ที่พึงได้ จากการเกิดมามีชีวิตในฐานะคนคนหนึ่ง
---ในการนำเสนอต่อไปนี้ เบื้องต้นจะเป็นการกล่าวถึง " ทัศนะของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับชีวิต" จากนั้นจะกล่าวถึง "มุมมองเกี่ยวกับความตาย" และ "ทัศนะที่เราควรมีต่อเรื่องความตาย" ทั้งนี้ โดยอาศัยการค้นคว้าจากเอกสารที่มีท่านผู้รู้ได้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้ก่อนหน้า ผู้อ่านโปรดเข้าใจว่า การค้นคว้าที่ลึกซึ้งควรจะได้อาศัยหลักฐานจากพระไตรปิฎกโดยตรง แต่นั่น ถ้าทำได้ก็คงต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าที่ผู้เขียนมีในขณะนี้ ชีวิตในทัศนะของพุทธศาสนา
*ชีวิตคืออะไร
---พุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลาย (รวมทั้งชีวิตและสิ่งอื่นๆ) ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการมีส่วนประกอบต่างๆ มารวมกันเข้า และมีความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
---ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและความอิงอาศัยกันนี้ นับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่และดำเนินไปได้ หมายความว่า ถ้าจะให้มีชีวิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินต่อไปได้ ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้น จะต้องไม่ใช่สักแต่ว่ามา “กองรวม” กันอยู่ โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องแบบอิงอาศัยกันเท่านั้น แต่ต้องมีความเชื่อมโยงและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกันอย่างเหมาะสมด้วย
---โดยเหตุที่ชีวิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินไปได้ เพราะอาศัยการประกอบกันเข้า ของส่วนต่างๆ ดังกล่าวมา พุทธศาสนาจึงถือว่า ตัวตนที่แท้จริง ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น “ไม่มี” เพราะ
---ประการแรก ตัวสิ่งที่ถือว่าเป็นชีวิตนั้น มาจากการรวมกันของส่วนประกอบต่างๆ
---ประการที่สอง แม้ส่วนประกอบต่างๆ ที่มารวมกันเข้าเป็นชีวิตนั้นเอง แต่ละส่วนก็เป็นผลมาจากการมีส่วนประกอบอื่นๆ มารวมกันเข้าเช่นเดียวกัน
---ดังนั้น สิ่งที่เราเรียกว่า ส่วนประกอบแต่ละส่วนนั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีตัวตนของมันจริงๆ เป็นแต่เพียงการประกอบกันเข้าอย่างเหมาะสมของส่วนต่างๆ เท่านั้น
---ถ้าจะอุปมาชีวิตในทัศนะเช่นนี้ ก็คงเหมือนกับสิ่งที่เราเรียกว่า “รถ” ซึ่งเกิดจากการนำเอาส่วนประกอบต่างๆ หลายส่วนมารวมกันเข้า โดยที่แต่ละส่วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน และทำงานสัมพันธ์กันเป็นระบบ การดำรงอยู่ของความเป็น “รถ” และการทำหน้าที่ของมัน ขึ้นอยู่ทั้งกับส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนต่างๆ และขึ้นอยู่กับลักษณะของความสัมพันธ์ต่อกัน ของส่วนประกอบเหล่านั้นด้วย เมื่อใดที่เรา แยกเอาส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน สิ่งที่เรียกว่า “รถ” ก็ไม่มี มีแต่ส่วนประกอบแต่ละส่วนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่ “รถ” และส่วนประกอบแต่ละส่วนนั้นเล่าก็มีส่วนประกอบย่อยของมันอีก
*ส่วนประกอบสำคัญของชีวิต
---ในทัศนะของพุทธศาสนา สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มีองค์ประกอบใหญ่ ๒ ส่วน คือ "ส่วนที่เป็นรูปธรรม" กับ "ส่วนที่เป็นนามธรรม" อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปว่า เป็นเรื่องของกายกับเรื่องของจิต องค์ประกอบใหญ่ทั้งสองส่วนนี้ รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "ขันธ์ ๕" (The Five Aggregates) ซึ่งประกอบด้วย รูป, เวทนา, สัญญา, สังขารและวิญญาณ
---ความหมายของส่วนทั้ง ๕ ตามแนวที่พระธรรมปิฎก (ปัจจุบันคือ พระพรหมคุณาภรณ์) ให้ไว้ในหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับดั้งเดิม, ๒๕๔๔) มีดังนี้
---รูป (Corporeality) คือ ส่วนประกอบที่เป็นด้านกายภาพ หรือด้านรูปธรรมทั้งหมด โดยสรุปก็คือ ร่างกาย (เนื้อหนังมังสา) และพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คือ ส่วนที่เป็นสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติและพฤติกรรมต่างๆ ของสสารและพลังงานเหล่านั้น
---เวทนา (Feeling) คือ ส่วนที่เป็นความรู้สึก ซึ่งเกิดจากการได้สัมผัสผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และทางใจ ความรู้สึกนั้นอาจมีหลากหลาย เช่น ความรู้สึกร้อน หนาว อบอุ่น เจ็บปวด ผ่อนคลาย ฯลฯ กล่าวรวมๆ ได้ว่า เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์
---สัญญา (Perception) คือ การกำหนดรู้ การจำได้ และการแยกแยะความแตกต่างของสิ่งที่รับเข้ามาทางประสาทสัมผัสต่างๆ ได้ เป็นอาการที่ใจรับรู้และสามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นๆ เป็นอะไร อันเป็นเหตุให้จำสิ่งนั้นๆ ได้ เช่น จำรูปร่าง สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอาการต่างๆ ได้
---สังขาร (Mental Formation) คำว่า "สังขาร" ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของร่างกายที่เป็นเนื้อหนัง คือ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นรูปธรรมหรือกายภาพ อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป แต่เป็นเรื่องของจิตหรือเกี่ยวกับจิตมากกว่า ความหมายในที่นี้จึงหมายถึง “สภาพที่ปรุงแต่งจิต” ให้มีลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว หรือเป็นกลางๆ (ไม่ดี ไม่ชั่ว) ก็ได้ ทั้งนี้ โดยมี เจตนา เป็นตัวนำ กล่าวอย่างง่ายๆ สังขาร นี้คือ ความนึกคิด ซึ่งอาจจะเป็นด้านดี ไม่ดี หรือเป็นกลางๆ ก็ได้
---วิญญาณ (Consciousness) ในที่นี้ก็ไม่ใช่อย่างเดียวกับสิ่งที่คนเชื่อกันทั่วไปว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวคนเมื่อยังมีชีวิต และเมื่อตายแล้วก็ล่องลอยไปในภพภูมิต่างๆ แต่วิญญาณในที่นี้ หมายถึง การรับรู้อารมณ์ (object) โดยผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และทางใจ คือ รู้โดยผ่านทางการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การรับสัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
---จะสังเกตว่า ในส่วนประกอบทั้ง ๕ ที่กล่าวข้างต้นนั้น ส่วนที่เป็นรูปธรรมหรือกายภาพ มีอยู่เฉพาะในขันธ์ ๕ ข้อที่ ๑ (รูป) เพียงข้อเดียวเท่านั้น ที่เหลืออีก ๔ ข้อ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้น เป็นส่วนที่เราอาจนิยามว่าเป็น "นามธรรม"
---ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น "ขันธ์" หรือส่วนประกอบแต่ละส่วน ก็มีส่วนประกอบย่อยของมันอีก จำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง ตามลักษณะของ ขันธ์ ข้อนั้นๆ ตัวอย่างเช่น รูป หรือส่วนประกอบที่จัดว่าเป็นส่วนกายภาพนั้น มีส่วนประกอบย่อยลงไปอีกถึง ๒๘ อย่าง ในจำนวนนี้ ส่วนประกอบที่เราคุ้นเคยกันโดยมากคือ เรื่องของธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มหาภูตรูป”) อันได้แก่
---ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน, solid element) คือ บรรดาสิ่งที่มีสภาพเป็นของแข็ง กินเนื้อที่
---อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ, fluid element) คือ ของเหลวหรือสภาวะที่ดูดซึม
---เตโชธาตุ (ธาตุไฟ, element of heat or radiation) คือ อุณหภูมิหรือสภาวะที่แผ่ความร้อน
---วาโยธาตุ (ธาตุลม, element of vibration) คือ สภาวะที่เคลื่อนไหว
(พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๖: ๙๓) ส่วนประกอบย่อยอื่นๆ มีอยู่อีกมากมาย จะไม่นำมากล่าวในที่นี้ เพราะเห็นว่าเป็นรายละเอียดที่เกินกว่าวัตถุประสงค์ของบทความนี้
---ชีวิตที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ นี้เป็นชีวิตในระดับที่คนทั่วไป มักไม่ได้สังเกตเห็น หรือไม่ได้ตระหนัก เพราะการดำเนินไปและการทำหน้าที่ ของส่วนประกอบแต่ละส่วน เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน สังเกตรู้ได้ยาก แม้การทำหน้าที่ของส่วนที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำงานของอวัยวะภายในบางส่วน เราแทบไม่สามารถสังเกตได้เลย เพราะทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ต่อเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับอวัยวะส่วนนั้นๆ เราจึงจะสามารถสังเกตได้ หรือใส่ใจอยากจะรู้ ไม่ต้องพูดถึงการทำหน้าที่ของส่วนที่เป็นนามธรรมก็ได้
---อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเราไม่ได้เข้าใจหรือมองเห็นชีวิตในความหมายที่ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จากการประกอบกันเข้าของส่วนต่างๆ ดังกล่าวมานี้ แต่เข้าใจหรือมองเห็นชีวิต เฉพาะในความหมายด้านปฏิบัติมากกว่า คือ ส่วนใหญ่เรารู้ชีวิต หรือตระหนักในการมีอยู่ของชีวิต เมื่อได้สัมพันธ์กับโลกภายนอกมากกว่า ชีวิตของคนเราสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยผ่านระบบ ๒ ระบบ คือ ระบบที่เป็นประตูแห่งการรับรู้ และ ระบบที่เป็นประตูแห่งการแสดงออก
---ระบบแรก (ระบบการรับรู้) ประกอบด้วยช่องทางการรับรู้ ๖ ช่องทาง (เรียกว่า ”ทวารทั้งหก” ก็ได้) คือ ตา เป็นช่องสำหรับรับรู้รูปหรือสี และทรวดทรงของวัตถุสิ่งของต่างๆ , หู รับรู้เสียง , จมูก รับรู้กลิ่น , ลิ้น รับรู้รส , กาย รับรู้การสัมผัส และ ใจ รับรู้อารมณ์ต่างๆ ช่องทางทั้ง 6 นี้ พุทธศาสนาเรียกว่า “อายตนะ” แปลว่า ช่องทางเชื่อมต่อให้เกิดความรู้หรือการรับรู้
---ระบบที่สอง (ระบบการแสดงออก) ประกอบด้วยช่องทางหลัก ๓ ช่องทาง คือกาย วาจา และ ใจ รูปแบบของการแสดงออก ที่เราคุ้นเคยกันดีโดยผ่านช่องทางทั้ง 3 นี้ คือ การทำ การพูด และการคิด หรือกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นั่นเอง
---ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ทั้งช่องทางการรับรู้และช่องทางการแสดงออก ต่างก็ขึ้นอยู่กับขันธ์ ๕ เพราะถ้าไม่มีการรวมกันเข้าของขันธ์ ๕ (นั่นคือไม่มีชีวิต) ช่องทางเหล่านี้ก็มีไม่ได้
---ชีวิตในส่วนที่เกี่ยวกับการสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยการรับรู้และการแสดงออก ผ่านช่องทางต่างๆ ดังกล่าวมานี้ คือ "ชีวิตที่คนทั่วไปตระหนักรู้" ทั้งนี้เพราะ วันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนหลับไปในตอนกลางคืน สิ่งที่ประจักษ์แก่ตัวเรา มีแต่เรื่องที่เราสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยการรับเข้ามา หรือมิฉะนั้น ก็แสดงออกไป โดยผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งนั้น จนดูเสมือนว่าส่วนที่สัมพันธ์กับโลกภายนอกนี้ คือส่วนที่เป็นชีวิตจริงและสำคัญที่สุด แต่แท้จริงแล้ว นี่เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
---ควรกล่าวตรงนี้ว่า ความรู้สึกว่ามีตัวตน, ความรู้สึกว่านี่เป็นเรา, นี่เป็นของเรา เป็นต้น เกิดขึ้นได้จากการที่ขันธ์ ๕ (ชีวิต) มีการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อมีการรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านช่องทาง (อายตนะ, ทวาร) ทั้ง 6 ดังกล่าวมา เราย่อมเกิดความรู้สึก หรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้น เช่น เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รัก โกรธ สุข ทุกข์ ฯลฯ
---ขึ้นอยู่กับลักษณะการรับอารมณ์ ในขณะที่เกิดการสัมผัสกับสิ่งนั้นๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น จะก่อให้เกิดความอยาก (ตัณหา) ในลักษณะต่างๆ ตามมา คือ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ตัวเอง ยังไม่ได้ยังไม่มีหรือยังไม่เป็น (กามตัณหา) เมื่อได้ หรือมี หรือเป็นสมใจแล้ว ก็อยากให้สิ่งที่ตัวเองได้มี และเป็นนั้นคงอยู่นานๆ (ภวตัณหา) หรือมิฉะนั้น ก็อยากให้ตัวเองพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (วิภวตัณหา) (พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๖; ศ. เสฐียรพงษ์ วรรณปก, ติดต่อส่วนตัว ๑๑ เมษายน ๒๕๔๙)
---เมื่อได้สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ทำให้เป็นสุข ความรู้สึกก็จะพัฒนาไปเป็นความยึดมั่นถือมั่น อยากครอบครองสิ่งนั้นๆ (นั่นคือเกิด อุปาทาน) ในขั้นนี้ขันธ์ ๕ (ชีวิต) ก็กลายเป็นขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทาน (อุปาทานขันธ์) ไม่ใช่ขันธ์ ๕ บริสุทธิ์อีกต่อไป และนี่คือ ชีวิตของปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ ทั่วไป
---ข้อเท็จจริงของชีวิตก็คือ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เข้าไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกเลย เมื่อมีการเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ก็มักจะมีเรื่องของตัณหาและอุปาทานตามมา ก็อะไรล่ะ ที่จะทำให้ชีวิตไม่ตกอยู่ในกระแสแห่งตัณหาและอุปาทาน ซึ่งเป็นที่มาแห่งทุกข์?
---ในเรื่องนี้พุทธศาสนา ชี้ทางว่า ควรฝึก มองสิ่งทั้งหลายตามภาวะล้วนๆ ของมัน หรือตามสภาววิสัย (objective) คือ มองเห็นสิ่งทั้งหลาย “ตามที่มันเป็น” ไม่เอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ อันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น อย่างที่เรียกว่า "สกวิสัย (subjective)" (พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๔: ๒๕)
---ที่กล่าวมาทั้งหมดในส่วนนี้ มีสาระสำคัญเพียงประเด็นเดียว นั่นคือ ชีวิตในทัศนะของพุทธศาสนา เป็นผลของการที่ส่วนประกอบ 5ส่วน (ขันธ์ ๕)มารวมกันเข้า โดยมีความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกันอย่างสอดประสาน ส่วนประกอบทั้ง 5นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ชีวิตในความหมายนี้ อาจกล่าวว่า เป็นชีวิตบริสุทธิ์ คือ ยังไม่มีเรื่องอื่นจากภายนอก หรือแม้แต่เรื่องของความรู้สึก ว่าเป็นตัวเรา เข้ามาเกี่ยวข้อง
---แต่ชีวิตในมุมมองนี้ ไม่ใช่ชีวิตที่คนส่วนมากเข้าใจกัน คนส่วนมากเข้าใจชีวิตหรือมองเห็นชีวิตในด้านที่เข้าไปสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยผ่านช่องทางแห่งการรับรู้ และช่องทางแห่งการแสดงออกหลายช่องทาง ดังได้กล่าวมาแล้ว
*ชีวิตเป็นอย่างไร
---ทัศนะที่ถือว่า ชีวิตเป็นผลมาจากการมีส่วนต่างๆ มาประกอบกันเข้า และแต่ละส่วนก็มีส่วนประกอบย่อยของตนอีกมากมายนั้น สะท้อนแนวคิดสำคัญของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับโลกและชีวิตว่า สิ่งทั้งหลายที่เราบัญญัติเรียกว่า คน สัตว์ สิ่งของต่างๆ นั้น ไม่ได้มีอยู่ เป็นอยู่ โดยตัวของมันเอง แต่ มีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ มาประกอบกันเข้า
---หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีอยู่เป็นอยู่โดยอิงอาศัยสิ่งอื่น ไม่ใช่ด้วยตัวของมันเอง ข้อนี้แปลต่อไปได้ว่า สิ่งทั้งหลายนั้น เป็นทั้งผลที่เกิดมาจากสิ่งอื่น และในขณะเดียวกันตัวมันเองก็เป็นเหตุปัจจัยของสิ่งอื่นด้วย เพราะมีสภาพเช่นนี้เอง สิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ ล้วนไม่มีตัวตนของมันอย่างเป็นอิสระ นี่เป็นสัจธรรมหรือเป็นกฎสากลที่เป็นจริงกับทุกสิ่งในโลกนี้
---ทัศนะที่ว่า การมีอยู่เป็นอยู่ของสิ่งทั้งหลาย เป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องแบบอิงอาศัยกันเช่นนี้ ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท (The Dependent Origination) ซึ่งว่าด้วย การเกิดการดับของสิ่งทั้งหลาย ว่ามีปัจจัยเป็นเหตุ ทำนองว่า “เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น และเพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงดับไป” ความหมายเดียวกันนี้จะกล่าวเสียใหม่ในทางกลับกันก็ได้ว่า “การที่สิ่งนี้เกิดก็เพราะมีสิ่งนี้ และการที่สิ่งนี้ดับไปก็เพราะไม่มีสิ่งนี้” สิ่งนี้ ตัวแรกนั้น ถ้ากล่าวแบบวิทยาศาสตร์ก็คือ อะไรก็ได้ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สิ่งอื่นเกิดขึ้น หรือมีอยู่เป็นอยู่ได้ นั่นเอง
---กล่าวในแง่ของชีวิต การที่ชีวิตเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ก็เพราะอาศัยปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมมารวมกัน ปัจจัยเหล่านั้น มีทั้งที่เป็นปัจจัยภายใน (ทั้งรูปธรรมและนามธรรม) และปัจจัยภายนอก (คือเรื่องของ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดในใจ)
---ในทางปฏิบัติทัศนะเช่นนี้ของพุทธศาสนาเป็นการปฏิเสธความเชื่อที่ว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ ในทัศนะของพุทธศาสนา ชีวิตไม่ได้ถูกสร้างแบบนั้น แต่ชีวิตเกิดมาจากการมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันเข้าอย่างเหมาะสม ไม่มีอำนาจเหนือธรรมชาติที่มาสร้างชีวิต ไม่ว่าจะเรียกอำนาจนั้นว่า พระผู้เป็นเจ้า พระพรหม หรือเรียกชื่อเป็น อย่างอื่นก็ตาม
---นอกจากอิงอาศัยสิ่งอื่นและไม่มีตัวตนเป็นอิสระแล้ว สิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม ยังมีอยู่ เป็นอยู่ ในรูปของกระแส นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดำรงอยู่ หรือเป็นไป ในรูปของกระบวนการ ที่มี การเกิดและการดับ สลับกันไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย การเกิดดับของส่วนประกอบทั้ง 5 ของชีวิต (ขันธ์ ๕) นั้นก็เช่นเดียวกัน แต่นี่เป็นกระบวนการที่ละเอียด ยากที่จะสังเกตได้ทัน ในแต่ละขณะ จึงดูเสมือนว่าชีวิตในแต่ละขณะนั้น เป็นสภาพที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความจริงแล้ว นี่คือ กระแสการเกิด-ดับ ที่สลับกันไป ไม่ขาดสาย
---ผู้รู้บางท่านอุปมา กระบวนการเกิด-ดับ สลับกันไปเช่นนี้ในชีวิตว่า เหมือนกับกระบวนการลุกไหม้ของตะเกียง แสงตะเกียงที่เรามองเห็นลุกสว่าง (เสมือนว่า)คงที่อยู่นั้น เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน กล่าวคือ ในตัวมันเองก็มีน้ำมันและไส้ตะเกียง นอกตัวมันออกไป ก็มีเรื่องของก๊าซออกซิเจน และประกายไฟ ที่มาจุดให้ติด
---เปลวไฟที่ติดและลุกไหม้อยู่นั้น ปรากฏให้เห็นเสมือนว่า เป็นสิ่งที่คงที่ แต่ที่จริง ในเปลวไฟของตะเกียงนั้น มีการเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ...ของไฟ ที่ไหม้อณูของน้ำมันและไส้ตะเกียง แต่ละอณู สลับและต่อเนื่องกันไป ตราบเท่าที่น้ำมันและไส้ตะเกียงนั้น ยังมีอยู่
---เมื่อไฟไหม้ ที่อณูหนึ่งก็จะเกิดเปลวไฟสว่างอยู่ (ช่วงนี้นับเป็นการเกิดขึ้น และดำรงอยู่) แต่เมื่ออณูนั้นถูกไฟไหม้หมด แสงสว่างจากการไหม้อณูนั้นก็หมดไป (ช่วงนี้เป็นการดับ) ถ้าน้ำมันและไส้ตะเกียง ยังไม่หมด (ยังคงมีเหตุปัจจัยอยู่) ก็จะมีเชื้อใหม่ถูกไหม้ต่อไปอีก
---โดยนัยนี้ กระบวนการ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ...ก็จะต่อเนื่องกันไป กระบวนการนี้ เป็นไปไม่ขาดสายและรวดเร็ว จนยากที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ในรูปของการเกิด-ดับ ที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะได้ ภาพที่เราเห็นจึงเป็นอะไรที่คงที่ อย่างน้อยก็ชั่วเวลาหนึ่งการดำรงอยู่ของชีวิตที่เราเห็นก็เป็นเช่นเดียวกัน
*ชีวิตเป็นเช่นนี้
---สภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้สิ่งทั้งหลาย มีธรรมชาติไม่เที่ยงแท้ ความไม่เที่ยงแท้นั้น นำไปสู่สภาพที่ ขัดแย้ง กดดัน หรือบีบคั้นในตัวเอง สภาพเช่นนี้ สำหรับชีวิตถือว่าเป็นสภาพที่ทนได้ยาก หรือเป็นสิ่งที่พุทธศาสนา เรียกว่า “ทุกข์” นี่นับว่าเป็นกฎธรรมชาติที่เป็นสากล
*ลักษณะสำคัญของกฎธรรมชาติที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ
---(๑)ความเปลี่ยนแปลง
---(๒)ความขัดแย้งอันก่อให้เกิดสภาพที่ทนได้ยาก
---(๓)ความปราศจากตัวตนอย่างอิสระ
---พุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า "สามัญลักษณะ" (The Common Characteristics) สิ่งทั้งหลายรวมทั้งชีวิตมนุษย์และตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาตินี้ ไม่มีข้อยกเว้น ชาวพุทธรู้จักกฎธรรมชาติอันนี้ว่า" เป็นกฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา"
---แต่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ท่านเรียกว่า "อนิจจตา ทุกขตา และ อนัตตตา" บางทีเราอ้างถึงลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ว่า "ไตรลักษณ์" คือ ลักษณะ หรือสภาพ ที่สิ่งทั้งหลายมีเหมือนๆ กัน (พระธรรมปิฎก ๒๕๔๔ : ๖๐) ให้ความหมายของลักษณะทั้ง ๓ นี้ ไว้ดังนี้
---อนิจจตา (Impermanence) คือ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่คงตัว ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายไป
---ทุกขตา (Conflict) ความเป็นทุกข์ คือ ภาวะที่ถูกบีบคั้น ด้วยการเกิดขึ้นแล้วสลายไป ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว อันเนื่องจากการ ที่ปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถให้คงอยู่ในสภาพเดิมได้
---อนัตตตา (Soullessness หรือ Non-Self) ความเป็นอนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนแท้จริง ที่จะสั่งบังคับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้
---ที่กล่าวมานี้ ถ้าถามว่า “ชีวิต” ในทัศนะของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ก็ตอบสั้นๆ ได้ว่า "ชีวิต" เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบกันเข้า ไม่มีตัวตนที่เป็นอิสระ ดำเนินไปในลักษณะของกระแสการเปลี่ยนแปลง อันมีการเกิด-ดับ สลับกันไป เป็นลักษณะสำคัญ ด้วยสภาพที่อิงอาศัยปัจจัยอื่น และด้วยลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ชีวิตจึงมีสภาพที่ขัดแย้ง กดดัน และทนได้ยาก กฎธรรมชาติของชีวิต จึงเป็นกฎแห่งความไม่มีตัวตน ไม่เที่ยงแท้ และเป็นทุกข์
---เพื่อเป็นการสนับสนุน สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในหัวข้อนี้ ขอยกเอาข้อความบางส่วนจากพระไตรปิฎกมาแสดง ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย ขันทวารวรรค (พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๒๗-๑๒๙ หน้า ๘๒-๘๔) พระพุทธเจ้าทรงแสดงสามัญลักษณะของขันธ์ ๕ ( คือชีวิต) แก่ภิกษุสาวกด้วยการสนทนา ความตอนหนึ่งว่า
---ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมีความเห็นเป็นไฉน รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง
---ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
---ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
---เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
---ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเฝ้าเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เรา เป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา
---ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
(ตรัสถามเช่นนี้ทีละอย่างๆ จนถึงขันธ์ ๕ ข้อสุดท้าย คือ วิญญาณ แล้วทรงสรุปว่า)
---ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูป... เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่ป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งภายในและภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้อง ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา”
(ข้อความจากพระไตรปิฎกที่ยกมาข้างต้น คัดมาจากการแปลถอดความโดย พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๔: ๖๒)
*ความตายในทัศนะของพุทธศาสนา
---ถ้าเข้าใจชีวิตในทัศนะของพุทธศาสนา ดังที่กล่าวมาข้างต้น "เรื่องความตาย" ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ไม่ยาก โดยเฉพาะความตายในความหมาย
ที่เกี่ยวโดยตรงกับชีวิต แต่ก็มีความหมายอื่นของความตายที่ควรทราบด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ในที่นี้จะพูดถึงความตาย ๒ ประเภท คือ ความตายของชีวิต หรือตายทางร่างกาย กับความตายโดยที่ยังไม่สิ้นลมหายใจ อาจเรียกว่า เป็นความตายทางจิตใจ ท่านพุทธทาสภิกขุ มักเรียกว่าเป็น "การตายก่อนตาย"
*ความตายในรูปของการเปลี่ยนแปลง
---พุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตมีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ มาประกอบกันอย่างเหมาะสม และปัจจัยสำคัญก็คือ "ขันธ์ ๕ " ดังที่ได้แสดงมาแล้ว ตามความเชื่อนี้ ความตายก็เป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจาก คือ ความสิ้นไปแห่งปัจจัยเหล่านั้น หรือ มิฉะนั้น ก็เป็นการประกอบส่วนที่ผิดเพี้ยนไป อันเกิดจากความไม่เที่ยงและความไม่มีตัวตน ของปัจจัยเหล่านั้น
---นี่เป็นหลักกว้างๆ ที่อิงอยู่กับหลักธรรมเรื่อง ไตรลักษณ์ และหลักธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ที่ว่าด้วยความเป็นเหตุเป็นผล แบบอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย ทำนองว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงดับไป
---ความสิ้นไปแห่งเหตุปัจจัยนั้น อาจมองว่าเป็นเพียงมิติหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ชีวิตยังมีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงนี้ คือ กระบวนการที่ทั้งความเกิดและความดับ เกิดต่อเนื่องสลับกันไป มองในแง่นี้ ในชีวิตก็มีทั้งการเกิด การดับอยู่ตลอดเวลา การเกิดและการดับ ในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตหมดไป คือ ไม่ตาย
---ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป แต่ก็แน่นอนว่า ย่อมทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม ดังจะเห็นได้ จากการที่หน้าตาและร่างกายของเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถ้าถือว่าเป็นการตาย นี่ก็คือ การตายจากสภาวะหนึ่ง แล้วไปเกิดในอีกสภาวะหนึ่ง เช่น จากเด็กเล็กเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ และเป็นคนชรา เป็นต้น
---ในความตายแบบนี้ เหตุปัจจัยแห่งชีวิตไม่ได้หมด และชีวิตก็ไม่ได้สิ้นไปจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสภาวะไปเท่านั้น แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง ชนิดที่ทำให้สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยของชีวิตหมดไป ก็ถือว่าเป็นความตาย ตามหลักความเชื่อในพุทธศาสนา ความเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตหมดไป (คือตาย) อาจเกิดได้ในกรณีต่อไปนี้ (พระมหาบุญมี มาลาวชิโร, ๒๕๔๗; พระดุษฎี เมธังกุโร, ๒๕๔๔)
*๑.สิ้นอายุขัย (อายุกขยมรณะ)
---คือ ตายเพราะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกิดมา กล่าวคือ ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎแห่งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น แม้จะไม่มีโรคภัยหรือเหตุอื่นให้เสียชีวิตไ ปก่อนวัยอันควร ก็ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
---ถ้าจะเปรียบก็คงจะเหมือนชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นจากนั้นไป ชิ้นส่วนนั้นก็หมดสภาพ คือ ไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ต่อไป ชีวิตของคนเรา ก็คล้ายกัน นั่นคือ มีอายุขัยที่จำกัด นอกจากนี้ อายุขัยของคนเรายังไม่เท่ากัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยหลายด้าน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และรูปแบบ ตลอดจนพฤติกรรมการดำรงชีวิต เป็นต้น---การตายเพราะสิ้นอายุขัยนั้น อาจเปรียบได้กับตะเกียงที่ไส้หมด แม้น้ำมันจะยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถจะให้เปลวไฟที่มีแสงสว่างต่อไปได้
*๒.สิ้นกรรม (กัมมักขยมรณะ)
---คือ ตายเพราะสิ้นกรรม "กรรม" นั้นคือ การกระทำซึ่งมีผลสืบเนื่องตามมา (consequences) อาจเป็นกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งอาจไกลออกไปจนถึงในอดีตชาติ หรืออาจเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น การดูแลอนามัย เป็นต้น และอาจเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้น เป็นฝ่ายดีหรือไม่ดี กรรมที่ทำไว้นั้น มีหน้าที่ช่วยสนับสนุน รูปและนาม (ชีวิต) ในภพที่เราเกิดมา เมื่อผลกรรมสิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่น้ำมันหมด แม้ไส้ตะเกียงจะยังเหลืออยู่ เปลวไฟและแสงสว่างก็หมดไป
*๓.สิ้นทั้งอายุและกรรม (อุภยักขยมรณะ)
---คือ ทั้งอายุขัยและกรรม สิ้นไปในเวลาเดียวกัน การตายในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้ เช่น การตายของผู้สูงอายุที่แก่หง่อม รูปและนาม (ร่างกายและจิตใจ) หมดสภาพ อีกทั้งกรรม คือ การกระทำที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้รูปและนามทำหน้าที่ของมัน ก็หมดไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้หมดไปด้วยกัน
*๔.มีเหตุหรือกรรมอย่างอื่นมาตัดรอน (อุปัจเฉทมรณะ)
---ทำให้ชีวิตสิ้นไปกะทันหัน ทั้งที่น่าจะอยู่ต่อไปได้ ในกรณีนี้ ทั้งอายุและกรรมยังไม่หมด แต่เกิดเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่น การตายด้วยอุบัติเหตุ หรือโรคระบาดเฉียบพลันร้ายแรง ท่านเปรียบการตายในกรณีเช่นนี้เหมือนกับตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้ยังคงมีอยู่ แต่ไฟดับไป เพราะเหตุอื่น เช่น มีลมพัดมาแรง (เหตุภายนอก) จนทำให้เปลวไฟดับไป เป็นต้น
---ไม่ว่าความตายจะเกิดขึ้นในกรณีใด สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ในทุกกรณีล้วนมีเหตุปัจจัยที่สามารถอธิบายได้ และความตายในทุกกรณีเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลง
*ความตายกับเรื่องของชาติหน้า
---เรื่องความตายกับชาติหน้า เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก และเป็นข้อกังวลที่คนทั่วไปติดใจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพุทธศาสนาจะไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของชาติหน้า และเรื่องการตายแล้วเกิด แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้มาก เหมือนกับเรื่องที่เกี่ยวโดยตรงกับ ชีวิตในโลกนี้
---ในหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงและขยายความ, ๒๕๒๙: ๑๙๙) อันเป็นงานค้นคว้าหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ลุ่มลึกที่สุดเท่าที่มีอยู่ใน ประเทศไทยปัจจุบัน พระราชวรมุนี (ปัจจุบันคือ พระพรหมคุณาภรณ์) ผู้รจนา กล่าวไว้ว่า
---“บาลีชั้นเดิม (หมายถึงพระไตรปิฎก –ผู้ขียน) คือ พระสูตรทั้งหลาย กล่าวบรรยายเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์ ไว้น้อยนัก โดยมากท่านเพียงเอ่ยถึงหรือกล่าวถึงเท่านั้น แสดงถึงอัตราส่วน ของการให้ความสนใจแก่เรื่องนี้ว่า มีเพียงเล็กน้อย ในเมื่อเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในโลก หรือข้อปฏิบัติจำพวก ศีล สมาธิ ปัญญา”
---หลักฐานในคัมภีร์พุทธศาสนา ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องตายแล้วเกิด หรือเรื่องชาติหน้า ดังจะเห็นได้จากคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่สามารถสรุป เพื่อตอบคำถามนี้ได้ว่า ถ้าตราบใด ที่ยังมีเหตุปัจจัยอยู่ แม้ตายแล้ว ก็ยังเกิดใหม่ได้อีก เหตุปัจจัยของการเกิดใหม่นั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องกรรมและผลของกรรม ในรูปแบบต่างๆ (รายละเอียดเรื่องนี้อยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของบทความนี้ จึงขอเว้นไม่กล่าวถึงในที่นี้)
---ประเด็นที่ต้องการเน้นในที่นี้คือ ในทัศนะของพุทธศาสนา การให้ความสนใจ ในเรื่องของชาติหน้า มีประโยชน์น้อย เพราะถึงคัมภีร์ จะกล่าวไว้อย่างไร เรื่องนี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ตรงของใคร เนื่องจากคนที่มีประสบการณ์ด้วยการตายจริงๆ เขาก็ตายไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาบอกเล่าประสบการณ์ของเขาให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่รู้ได้ ว่าตายไปแล้วเกิดใหม่หรือไม่
---สิ่งที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ทำได้ดีที่สุด ก็แค่เชื่อหรือไม่เชื่อ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ หรือตามที่คนอื่นชี้แจงไว้เท่านั้น แต่การเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็เป็นคนละเรื่องกับความจริง เพราะว่าความเชื่อนั้น ถึงอย่างไรก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะถือว่าเป็นความจริง ถ้าความจริงปรากฏว่า ตายแล้วเกิด ถึงใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ ความจริงอันนี้ก็ยังเป็นความจริงอยู่นั่นเอง
*สรุปว่า การตายแล้วเกิดนั้น
---ถึงแม้จะเป็นไปได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ได้ในชีวิตนี้ (นอกจากจะทดลองตายดูเอง แต่นั่นก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปได้พุทธศาสนาหรือศาสนาไหนๆ ก็ไม่เคยสอนให้ทำ)ต่างจากการทำความดีหรือความชั่วในชาตินี้ ซึ่งเราสามารถทดลองและประจักษ์ผลได้แม้ในชาติปัจจุบัน
---ดังนั้น การหมกมุ่นครุ่นคิด และมุ่งพิสูจน์ ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ในทัศนะของพุทธศาสนา เพียงคิดจะทำก็ผิดแล้ว เนื่องจากการตายแล้วเกิด ไม่ใช่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ด้วยการคิด หรือการหาเหตุผลเชิงตรรกะ หากไปมัวเสียเวลาคิด เพื่อพิสูจน์เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่ ก็จะไม่ต่างอะไรกับการมุ่งใช้ตาร้อยตา เพื่อพิสูจน์กลิ่น หรือใช้หูร้อยหู เพื่อพิสูจน์รส จะทำสักกี่ครั้งก็เปล่าประโยชน์ (พระราชวรมุนี, ๒๕๒๙)
---อย่างไรก็ตาม การเชื่อในเรื่องชาติหน้า หรือเรื่องตายแล้วเกิดนั้น ในตัวของมันเองก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย ตราบเท่าที่ ความเชื่อนั้นมีผลทำให้เกิด ท่าทีและพฤติกรรมที่ถูกต้อง ถ้าเชื่อว่าต้องทำดีในชีวิตนี้เพื่ออานิสงส์แห่งกรรม จะได้ส่งผลให้เป็นความดี ทั้งแก่ตนและคนอื่น ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตในชาติหน้า ก็ยังพอนับได้ว่าถูกต้อง
---แต่ถ้าหมกมุ่นแต่ในเรื่องของชาติหน้า ถึงขนาดที่ว่าทำดีอะไรขึ้นมา ก็มุ่งผลที่จะได้ในชาติหน้าอย่างเดียวนั้น พุทธศาสนาไม่สนับสนุน เพราะนั่นเท่ากับเป็นการมุ่งหากำไร หรือทำดีเพื่อหวังค้ากำไร การทำความดีแบบหวังค้ากำไรนั้น ไม่ว่าจะเพื่อชีวิตในชาตินี้หรือในชาติหน้า ก็ไม่ถูกทั้งนั้น
---โดยสรุป จะเชื่อว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ก็ไม่สำคัญ ที่สำคัญกว่าก็คือ อย่าให้ความเชื่อ เช่นนั้น มาเป็นอุปสรรคต่อการทำชาติปัจจุบันให้ดีที่สุด ในเรื่องนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้อย่างแหลมคมและตรงประเด็นว่า
---“...ชาวพุทธเรา เขามัวถามว่า ตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่ อะไรไปเกิด ไปเกิดอย่างไร ช่วยบอกที นั่นคือเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรู้ เรื่อง
---คน โง่ เรื่องบ้า มันไม่ต้องรู้ รู้แต่ว่า ที่นี่จะต้องทำอย่างไรต่างหากเล่า จะต้องรู้ว่าที่นี่เดี๋ยวนี้จะต้องทำอย่างไร แล้วทำให้ถูกเถอะก็ พอแล้ว แล้วมันจะเกิดผลดี มันจะไม่เกิดก็เป็นผลดี มันจะเกิดด้วย อะไรก็ยังเป็นผลดีอยู่ เพราะว่าเราทำถูกต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้ว ....ก็เป็นอันว่าทำให้ถูกต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้มันก็เพียงพอ มันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตามใจมันเถอะ มันมีแต่ผลดีทั้งนั้น”
(จากคำบรรยายเรื่อง การบำเพ็ญบารมีที่ถูกแนวทาง ของ พุทธทาสภิกขุ อ้างใน พระดุษฎี เมธังกุโร, ๒๕๔๔: ๗)
*ตายก่อนตาย
---หัวข้อนี้ ก็บอกชัดอยู่แล้วว่า นี่ไม่ใช่การตาย เพราะสิ้นชีวิตหรือเพราะหมดลมหายใจ แต่เป็นกลวิธีที่จะดำเนินชีวิต อย่างไม่ต้องให้ความตายมาเป็นปัญหารบกวน ไม่ต้องหวาดกลัวความตาย และเป็นการทำให้ชีวิตที่ยังไม่ตายนั้น เป็นชีวิตที่มีคุณค่า สามารถเข้าถึงแก่นของการมีชีวิตอย่างแท้จริง ท่านพุทธทาสภิกขุ ใช้คำนี้ในการสอนธรรมของท่าน แต่ท่านได้เริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
---" การตายก่อนตาย" มีความหมาย ๒ อย่าง คือ
---หมายถึง การตายจากความดีหรือความชั่ว อย่างหนึ่ง
---อีกอย่างหนึ่งคือ การพิจารณาเห็นความตาย ว่าเป็นสิ่งธรรมดาของชีวิต และตัวเราหรือใครๆ ก็ตาม ไม่สามารถจะได้รับการยกเว้นจากความตายไปได้
---การพิจารณาเช่นนี้เป็นการเจริญ "มรณสติ" ผู้ที่เจริญมรณสติ ถึงที่สุดแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่วิตกกังวลหรือหวาดกลัวต่อความตาย ในทางจิตใจ สามารถอยู่เหนือความตาย หรือเปรียบเสมือนว่า ได้ตายในทางจิตวิญญาณไปก่อนแล้ว ก่อนที่ความตายจริงๆ ของชีวิตจะมาถึง
---ในระดับจริยธรรมพื้นๆ "การตายจากความดี" คือ ไม่มีความดีอะไรเหลืออยู่เลย เป็นการตายทั้งเป็น รูปแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่ดี ส่วน "การตายจากความชั่ว" หมายถึง การละกรรมชั่วได้ ชีวิตก็มีค่า ยิ่งละได้มากชีวิตก็ยิ่งมีค่ามาก แม้ตายไปแล้วก็เสมือนว่ายังไม่ตาย
---ในระดับที่สูงขึ้นไปเหนือจริยธรรม "การตายก่อนตาย" หมายถึง การละกิเลสส่วนที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น จนเข้าถึงภาวะที่ “ไม่มีตัวตน” คือ ว่าง (สุญญตา) ในความหมายที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ย้ำเสมอในขั้นนี้ บุคคลได้ยกระดับจิตสูงขึ้น จนข้ามพ้นความยึดมั่น ด้วยอำนาจแห่งกิเลสคือ โลภะ โทสะ และโมหะ และตัณหาทั้งปวง มองเห็นและเข้าใจชีวิตอย่างที่มันเป็น ไม่เอาความรู้สึกอยาก หรือความยึดมั่นใดๆ เข้าไปจับ
---ท่านพุทธทาสภิกขุสอนว่า การที่จะเข้าถึง ความตายก่อนตาย ได้ต้องศึกษาและปฏิบัติตามหลัก อิทัปปัจจยตา (คือ ปฏิจจสมุปบาท) จนรู้แจ้งในความจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลาย ต่างอิงอาศัยกัน เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีได้ ไม่มีอะไรที่เป็นได้ มีได้ ด้วยตัวมันเอง จึงไม่ควรยึดว่าเป็นตัวตน เพราะในสภาวะที่เป็นจริงนั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตน สิ่งทั้งหลายล้วนว่างจากการมีตัวตน ไม่มี “ตัวกู” “ของกู” ผู้ที่พิจารณาเห็นและเข้าถึงสภาวะเช่นนี้ จะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในความตาย มองความตาย ว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลง มองสรรพสิ่งว่ามันเป็นเช่นนั้น ชีวิตและความตายก็เป็นเช่นนั้น (ตถตา)
*สรุป.............
---เราจะเข้าใจชีวิตและความตาย ในทัศนะของพุทธศาสนาได้ชัดขึ้น ถ้าเริ่มต้นจากเรื่องของ อิทัปปัจจยตา (ปฏิจจสมุปบาท) และ ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา คือ กฎแห่งการเกิดและการดับ ของสิ่งทั้งหลายที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด ชีวิตจึงมีได้ เพราะเหตุปัจจัยดับไป ชีวิตจึงดับ (ตาย) เหตุปัจจัยที่ใกล้ชิดของชีวิตก็คือ เรื่องของ ขันธ์ ๕
---ซึ่งกล่าวโดยสรุป ได้แก่เรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่า กายกับจิต ส่วนประกอบเหล่านี้เอง แต่ละอย่างก็มีเหตุปัจจัยอันเป็นที่มาของมันอีกทีหนึ่ง ชีวิตเป็นกระบวนการที่ส่วนต่างๆ มาสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน ถ้าส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนที่มาประกอบกันเข้านั้นหายไป สิ่งที่อิงอาศัยส่วนเหล่านั้นเป็นอยู่ ก็หายไปด้วย (ในภาษาทางพุทธศาสนาคือ “ดับไป”) ชีวิตและความตายก็เป็น เช่นนั้น
---กฎแห่งความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน ของกระบวนการชีวิตนี้ มีคุณสมบัติที่อาจถือว่า เป็นสัจธรรมอยู่ 3 ประการ เรียกว่า "ไตรลักษณ์" หรือ "สามัญลักษณะ" คือ ในเมื่อการมีชีวิต อาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างก็มีเหตุปัจจัยมาจากสิ่งอื่นอีกทีหนึ่ง ชีวิตจึงมีธรรมชาติไม่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) คำว่า “ไม่เที่ยง” ในความหมายของพุทธศาสนา นอกจากจะบ่งนัยว่า มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังหมายถึง การไม่สามารถกำหนดหรือบังคับ ให้เป็นไปตามอำนาจของผู้เป็นเจ้าของชีวิตนั้นด้วย (อนัตตา)
---และความเปลี่ยนแปลงก็ดี การไม่สามารถบังคับหรือควบคุมให้เป็นไปได้ตามใจของผู้เป็นเจ้าของก็ดี (เช่น ไม่อยากให้แก่ มันก็แก่, ไม่อยากสูญเสีย มันก็สูญเสีย, ไม่อยากตาย มันก็ตาย ฯลฯ) แม้จะเป็นกฎธรรมชาติ แต่ก็เป็นสิ่งที่รับได้ยาก ทนได้ยาก บีบคั้น ฯลฯ นั่นคือ เป็นทุกข์ (ทุกขัง) กฎสากลอันนี้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและเปิดเผยแก่ชาวโลก (พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสร้างกฎนี้ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบเท่านั้น)
*เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
---ประการแรก ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ธรรมชาติและกฎธรรมชาติของชีวิตที่กล่าวมานี้ ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้ เช่น ไม่มีใครที่เกิดมาแล้ว ไม่แก่และไม่ตาย เป็นต้น ดังนั้น ทางที่จะไม่ให้เป็นทุกข์กับเรื่องของความตายมากเกินไปก็คือ ต้อง “ทำใจ” นี่เป็นการกล่าวแบบทั่วไป ในทางพุทธศาสนาการ “ทำใจ” มีความหมายที่ลึกซึ้ง
---เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจและความเห็นในเรื่องธรรมชาติของชีวิตให้ถูกต้อง ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร (สัมมาทิฏฐิ) ไปจนถึงการละตัณหา (ความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง) และอุปาทาน (การยึดติดในตัวตนและในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาทั้งหลาย) ทำได้เช่นนี้ ชีวิตจะเป็นทุกข์น้อยลง “ทำใจ” ได้มากเท่าไร ก็ทุกข์น้อยเท่านั้น
---และมีโอกาสที่จะถึงจุดที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า เป็น “ตายก่อนตาย” ได้ด้วย คือ ตายจากความยึดมั่นถือมั่นใน ตัวกู ของกู แล้วตั้งแต่ยังไม่หมดลมหายใจ ในสภาพจิตเช่นนั้น แม้ความตายจริงๆ จะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ มองความตายว่า “มันเป็นเช่นนั้น” (ตถตา) เท่านั้น
---ประการที่สอง อิทัปปัจจยตา และ ไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎสากลแห่งชีวิตและธรรมชาตินั้น สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงชีวิตนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นได้ ในทุกทาง แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพของชีวิตและความมีอายุยืน (ยืดเวลาของชีวิตให้ยาวออกไป) อันเป็นเรื่องที่นักประชากรศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วไปให้ความสนใจ ก็เป็นไปได้
---อิทัปปัจจยตา นั้นคือ กฎแห่งการอิงอาศัยกัน ของเหตุปัจจัยต่างๆ ทำนองว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ฯลฯ นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ และนักพัฒนาสังคม เป็นต้น อาจจะหยิบเอาข้อนี้ มาเป็นหลักในการทำงานเพื่อบรรลุจุดหมายว่า จะต้องสร้างเหตุปัจจัยอะไร จึงจะนำไปสู่การมีชีวิตที่มีคุณภาพ และความมีชีวิตยืนยาวของประชาชนทั่วไปได้ (ต้องทำสิ่งนี้ให้มี สิ่งนี้จึงจะมีได้)
---ส่วนหลักแห่ง ไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้สองทางเสมอ คือ อาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือเสื่อมลงก็ได้ ดังนั้น ถ้าจะใช้หลักนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็ต้องมุ่งสร้างเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พูดแบบ "อิทัปปัจจยตา" ก็คือ ต้องทำสิ่งนี้ (เหตุปัจจัยอันจะนำไปสู่ความเจริญ) แล้วสิ่งนี้ (ความเจริญ) จึงจะมีโดยนัยนี้
---"กฎแห่งไตรลักษณ์" จึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เรางอมืองอเท้า หรือรอให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นฝ่ายกระทำต่อเราแต่ฝ่ายเดียว นั่นคือ ไม่ยอมจำนนต่อความเปลี่ยนแปลง ความจริง การที่สิ่งทั้งหลาย มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถพลิกสิ่งที่ไม่ดีให้กลับดีได้ ประเด็นหลักอยู่ที่ต้องสร้างปัจจัยและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีให้ได้
---ประการที่สาม การมองให้ทะลุว่า ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง คือ มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดับไปเป็นธรรมดานั้น จะทำให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ เราจะได้เตือนตนให้เร่งทำสิ่งที่ดีที่ควรทำ ไม่ผัดผ่อนหรืออ้างเหตุ ว่ายังมีเวลาในชีวิตอีกมาก ความตายยังอยู่อีกไกล ฯลฯ แล้วไม่ลงมือทำกิจที่ควรทำ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การมีท่าทีที่ถูกต้องในเรื่องชีวิตและความตาย โดยนัยที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้เราพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้
*เรื่องของชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนา มีสาระโดยสังเขปดังได้วิสัชนา มาฉะนี้แล
..................................................................................
เอกสารอ้างอิง
พระดุษฎี เมธังกุโร. ๒๕๔๔. “ปาฐกถาเรื่อง ความตายในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ,” ใน ความตายในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ.
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย (รวบรวม). กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). ๒๕๔๔. พุทธธรรม (ฉบับเดิม), (พิมพ์ครั้งที่ ๑๐). กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). ๒๕๔๖. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, (พิมพ์ครั้งที่ ๑๑). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระมหาบุญมี มาลาวชิโร. ๒๕๔๗. พระพุทธศาสนากับความตาย. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้าวิชาการ จำกัด.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). ๒๕๒๙. พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 24 กันยายน 2558
ความคิดเห็น