พระอริยะบุคคลมี 4 ประเภท ดังนี้
*1.พระโสดาบันบุคคล
---คือ ท่านผู้ที่เพียรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้น ทั้ง 16 ญาณ เป็นครั้งแรก ทำให้กิเลสต่างๆ เบาบางอย่างมากมายและสามารถละกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง 3 ประการ ในสัญโญชน์ 10 ประการ คือ
---1.1สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือ การยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ
---1.2วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือ ความสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือความสงสัยในสิ่งต่างๆ จน ฟุ้งซ่านจนควบคุมจิตใจไม่อยู่ เป็นบ่อเกิดโรคจิต, โรคหวาดระแวงโดยไร้สาเหตุ, โรควิตกกังวัลจนผิดปกติ รวมความแล้วคือ สงสัยลังเลจนเลยเถิด
---1.3สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือ การถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง
---มากล่าวถึงคำว่า "สัญโญชน์ 10" ก็คือ กิเลสหรืออนุสัยกิเลสที่นอนสงบนิ่งอยู่ในจิต เมื่อมีสิ่งอื่นใดมากระตุ้นหรือกวนให้กิเลสนี้ กระจายขึ้นมา กลายเป็น ราคะ, โทษะและโมหะ ให้เห็นทั้งทางใจ, ทางวาจา และทางร่างกาย มี 10 ประการ ดังนี้
---1.สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือ การยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ
---2.วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือ ความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
---3.สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือ การถือข้อวัตรปฏิบัติผิด ไม่ถูกทางทั้ง 3 ประการข้างบน พระโสดาบัน ละได้อย่างเด็ดขาด
---4.กามราคะสัญโญชน์ คือ การมีกามราคะ
---5.ปฏิฆะสัญโญชน์ คือ ความขุ่นเคือง ความโกรธทั้ง 5 ประการข้างบน พระอนาคามี ละได้อย่างเด็ดขาด
---6.รูปราคะสัญโญชน์ คือ ความยินดีในรูปภพ
---7.อรูปราคะสัญโญชน์ คือ ความยินดีในอรูปภพ
---8.มานะสัญโญชน์ คือ ความถือตัว
---9.อุทธัจจะสัญโญชน์ คือ ความที่จิตฟุ้งไป ไม่สามารถตั้งอยู่อารมณ์เดียวได้นาน
---10.อวิชชาสัญโญชน์ คือ สภาพไม่รู้, ความมืดหลงของจิต, หรือโมหะทั้ง 10 ประการ พระอรหันต์ ละได้อย่างเด็ดขาด
---เมื่อท่านทั้งหลายทราบถึง สัญโญชน์ 10 ประการแล้ว ก็จะมากล่าวถึง "คุณวิเศษของพระโสดาบัน" ต่อ ดังมีอยู่ในพระสูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบ ให้ทราบถึงกิเลสและความทุกข์ที่เหลือของพระโสดาบันกับปุถุชน ให้เข้าใจดังนี้
---มีอยู่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกกับพระภิกษุว่า "ภิกษุทั้งหลายเธอ จงหยิบเศษดินบนแผ่นดินมาหนึ่งกำมือ"
---เมื่อภิกษุหยิบเศษดินขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้ว, พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามว่า "เธอทั้งหลายจงเปรียบเทียบดูจำนวนเศษดินที่อยู่ในมือกับแผ่นดิน ต่างกันมากใช่ไหม่"
---พระภิกษุตอบว่า "ใช่ครับ" พระพุทธเจ้าจึงอธิบายให้ทราบ "เศษดินที่อยู่ในมือเธอ เปรียบเสมือนกิเลสที่เหลืออยู่ ของพระโสดาบันบุคคล แต่แผ่นดินนั้น เปรียบเสมือนกิเลสที่มีอยู่ของปุถุชนทั้งหลาย ดังนั้นความทุกข์เร่าร้อนที่พระโสดาบันได้รับ ย่อมน้อยกว่าปุถุชนมากมายจนประมาณไม่ได้"
*คุณวิเศษที่พระโสดาบันได้รับมีดังนี้
---1.สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระโสดาบันได้
---2.จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัจฉาน, เปรต อสุรกายและสัตว์นรกอีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิด ทำกุศลกรรมที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อม ไม่มีอีกแล้ว
---3.จะเกิดในภพมนุษย์ หรือสวรรค์ หรือพรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิ ของแต่ละท่าน
---4.จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดไม่เกิน 7 ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน
*ประเภทของพระโสดาบันบุคคลแบ่งได้ 3 ประเภท
---1.เอกพิชีโสดาบัน
---คือ จะกลับมาเกิดในโลกมนุษย์เพียงชาติเดียว แล้วปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธ์ปรินิพพานในชาตินั้น
---2.โกลังโกละโสดาบัน
---คือ ท่านที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์อีก 2 ถึง 3 ชาติ แล้วมีโอกาศได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์สู่พระนิพพาน
---3.สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน
---คือ ท่านที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์ มากกว่า 3 ชาติ แต่ไม่เกิน 7 ชาติ แล้วมีโอกาศบรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์นิพพาน
*พระอริยะบุคคลประเภทที่ 2.
---พระสกิทาคามี
---คือ พระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณ ในรอบแรกแล้ว ยังเพียรกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญานบังเกิดขึ้นในรอบที่ 2 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญานที่ 12 อนุโลมญาณ
---ชึ่งวิปัสสนาญาณนั้น เกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อน แจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่เคยผ่านมาแล้ว และติดตามด้วย โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว
---หลังจากนั้น บรรลุถึงพระสกิทาคามีมรรค และเมื่อผ่านตลอดทั้ง 16 ญาณในรอบที่ 2 กิเลสที่มีอยู่จะเบาบางจากเดิมที่มีอยู่ในทันที่ แต่ไม่สามารถ ละสัญโญชน์ที่เหลืออยู่ให้ตัวใดตัวหนึ่งขาดหายโดยสิ้นเชิง แต่กิเลสของท่านเบาบางกว่าพระโสดาบันอย่างมาก ดำรงค์ฐานะเป็นพระสกิทาคามีบุคคล
*คุณวิเศษที่พระสกิทาคามีได้รับมีดังนี้
---1.สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระสกิทาคามีได้
---2.จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรมที่ร้ายแรง ที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
---3.จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิ ของแต่ละท่าน
---4.จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดเพียง 1 ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับขันธ์นิพพาน
*พระอริยะบุคคลประเภทที่ 3.
---พระอนาคามีบุคคล
---คือ พระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณในรอบที่ 2 แล้ว ก็ยังกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญานบังเกิดขึ้นในรอบที่ 3 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญานที่ 12 อนุโลมญาณ
---ชึ่งวิปัสสนาญาณนั้น เกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อน แจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่เคยผ่านมาแล้ว และติดตามด้วย โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว ก็บรรลุถึง พระอนาคามีมรรค และเมื่อผ่านตลอดทั้ง 16 ญาณในรอบที่ 3 กิเลสที่มีอยู่จะเบาบางจากเดิมที่มีอยู่ในทันทีและสามารถละสัญโญชน์ทีเหลืออยู่ได้อีก 2 สัญโญชน์อย่างสิ้นเชิง ได้แก่ กามราคะสัญโญชน์ และปฏิคะสัญโญชน์ ก็คือ ละกามและโทษะได้อย่างเด็ดขาด ดำรงฐานะเป็น พระอนาคามีบุคคล
*คุณวิเศษที่พระอนาคามีได้รับมีดังนี้
---1.สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอนาคามีได้ แต่ท่านที่เคยฝึกสมาธิถึงฌานที่ 4 ท่านสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้หรือบางท่านบังเกิดมีวิชา 3 อภิญญา 5 สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้
---2.ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ จะไปเกิดใน พรหมโลก ชั้นสุทาวาสพรหม อย่างเดียว จะไม่มาเกิดในมนุษย์โลกนี้อีกเลย แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์นิพพานบนสุทาวาสพรหมนั้น
---ชั้นสุทาวาสพรหม เป็นชั้นของพระพรหม ที่เป็นที่จุติของพระอนาคามีอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นในสุทาวาสพรหมได้อีก 5 ชั้น จากลำดับล่างไปสู่ชั้นสูง ดังนี้
---ชั้นอวิหาภูมิ
---ชั้นอตัปปาภูมิ
---ชั้นสุทัสสาภูมิ
---ชั้นสุทัสสีภูมิ
---ชั้นอกนิฏฐกาภูมิ
---ซึ่งพระอนาคามีท่านจะไปจุติตามชั้นต่างๆ ตามกำลังพละ 5 ของท่านที่เด่นชัด
---พระอริยบุคคลประเภทที่ ๔. พระอรหันต์ สิ้นอาสวะกิเลสสิ้นภพและชาติทั้งหมด
*อริยบุคคลแบ่งตามประเภทใหญ่
*เสขะ
---เสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษาอยู่ คือ ยังต้องศึกษาไตรสิกขา คือ อธิศีล, อธิสมาธิ, อธิปัญญา เพื่อบรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไปอีก เรียกเต็มว่า "พระเสขะ" หรือ "เสขบุคคล"
---เสขะ คือ พระอริยบุคคลที่ยังไม่ได้บรรลุ อรหันตผล หรือยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี เสขะ หากได้บรรลุอรหันตผลเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นอันพ้นจากความเป็นเสขะ และได้ชื่อว่าใหม่ว่า "อเสขะ"
*อเสขะ
---อเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษาอีก คือ ไม่ต้องศึกษาไตรสิกขา คือ อธิศีล, อธิสมาธิ, อธิปัญญา อีกต่อไป เพราะได้ศึกษาจบโดยได้บรรลุอรหันตผลแล้ว เรียกเต็มว่า "พระอเสขะ" หรือ "อเสขบุคคล"
---อเสขะ ได้แก่ พระอริยบุคคลระดับสูงสุด คือ พระอรหันต์ ผู้เสร็จกิจการศึกษาไตรสิกขาแล้ว ผู้ไม่มีกิจที่จะต้องบำเพ็ญเพื่อละกิเลสอีก
*อริยบุคคลแบ่งตามประเภทบุคคล
*โสดาบัน
---โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสธรรม ผู้แรกถึงกระแสธรรม (คืออริยมรรค) เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทแรกใน ๔ ประเภท คือ โสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี, อรหันต์ ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วด้วยการละสังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการได้คือ
---1.สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่เป็นตัวตนของเรา
---2.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่ สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ ๔ ว่ามีจริงหรือไม่
---3.สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือ ยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อนี้ขยายความได้ว่า รักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา
---ความเป็นพระโสดาบันนี้ ก็เช่นเดียวกับความเป็นพระอริยบุคคล ประเภทอื่นๆ ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต (นักบวช) เท่านั้น แม้ คฤหัสถ์ คือ ชายหรือหญิงผู้ครองเรือน ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้
---เช่น ในสมัยพุทธกาล คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมากได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิก อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น
---การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น เป็นการยกระดับจิตใจของท่านอย่างถาวร ทำให้ท่านไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน) ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน
*โสดาบันอาจจำแนกได้เป็น
---จูฬโสดาบัน คือ กัลยาณปุถุชนผู้แทงตลอดลำดับแห่งนามรูปปริเฉทญาณ ที่ ๑ ถึง ลำดับโคตรภูญาณที่ ๑๓ ตามสมควร
---มหาโสดาบัน คือ อริยบุคคลผู้แทงตลอดในลำดับแห่งญาณ ๑๖ โดยสมบูรณ์
*สกทาคามี
---สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับ ที่ ๒ ใน ๔ ประเภท ที่เรียกว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว" หมายถึง พระสกิทาคามี จะเกิดในกามาวจรภพ อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะถึงพระนิพพาน ผู้ได้บรรลุสกทาคามิผล คือ ผู้ที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการแรกได้ เช่นเดียวกับพระโสดาบัน อีกทั้งทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วยคือ
---กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
---ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียดหากสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสองประการนี้หมดไป ก็จะเป็น พระอนาคามี
*อนาคามี
---อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่า จะไม่กลับมาเกิด ในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ใน ๔ ประเภท คือ โสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี, อรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์) ทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ คือ
---1.รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
---2.อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
---3.มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
---4.อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
---5.อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
---อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อ จะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบ ที่ยังมีในปถุชน (ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล)เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา แต่สังโยชน์เบื้องสูง อันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลือ อยู่ในจิตใจของพระอนาคามีนั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปถุชนอย่างมาก
*อรหันต์
ดูบทความหลักที่ พระอรหันต์
---พระอรหันต์ คือ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด สามารถละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ.
............................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558
ขอบคุนครับ